เปลวเพลิงเงินเฟ้อร้อนรุ่ม ป่วนเสถียรภาพเศรษฐกิจ


ผู้จัดการรายสัปดาห์(28 ตุลาคม 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

เงินเฟ้อขยับตัวพุ่งแรงเมื่อกันยายนที่ผ่านมาส่งสัญญาณกดดันต่อเสถียรภาพในประเทศ โดยความร้อนแรงนี้ยังมีโอกาสพุ่งขึ้นสูงอีกในไตรมาส 4 ปีนี้ อันจะส่งผลกระทบต่อประเทศจนแบงก์ชาติไม่อาจนิ่งเฉยได้ ต้องดันดอกเบี้ยอาร์/พีขึ้นอีก0.50% ลดแรงกดดันและรั้งเงินเฟ้อพื้นฐานไม่ให้เกินกรอบ3.5% แต่เชื่อว่าปีหน้าระดับเงินเฟ้อจะลดลงหลังราคาน้ำมันทรงตัวไม่ผันผวน พร้อมดึงมาตรการคลังเข้ามาหนุน ออกพันธบัตรดูดสภาพคล่องส่งเสริมการออม

สัญญาณเงินเฟ้อมีมาได้พักใหญ่แล้ว แต่เริ่มเห็นภาพได้ชัดเจนมากขึ้นก็ตอนที่ภาครัฐปล่อยให้ราคาน้ำมันลอยตัวหลังจากที่อุ้มมานาน ซึ่งการปล่อยให้น้ำมันสะท้อนราคาที่แท้จริงนั้น ทำให้ผู้ผลิตสินค้ามีต้นทุนที่สูงขึ้น และต้นทุนดังกล่าวก็ได้ถูกผลักภาระมาให้ประชาชน ซึ่งหลังจากที่ราคาน้ำมันลอยตัวแล้ว อัตราเงินเฟ้อทั่วไปก็เริ่มขยับขึ้นเรื่อย ๆ จนประชาชนรับรู้ได้ถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากขีดความสามารถในการใช้จ่ายลดลง นั่นคือบริโภคสินค้าในปริมาณเท่าเดิมแต่มีราคาสูงขึ้น

เงินเฟ้อทั่วไปได้เร่งตัวสูงขึ้นตามความผันผวนของราคาน้ำมัน และเร่งตัวสูงสุดไปยืนอยู่ที่ 6%ในเดือนกันยายน ในขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐานจากเดิมที่ไม่ห่วงมากนักก็ได้ส่งสัญญาณสร้างความกังวลมากขึ้น เมื่อขุนคลัง ทนง พิทยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังออกมาแสดงความเป็นห่วงว่าเงินเฟ้อพื้นฐานจะเกินกรอบที่กำหนดไว้ 3.5%

เพราะเงินเฟ้อพื้นฐานได้ปรับขึ้นเป็นเท่าตัวเมื่อเทียบกับช่องต้นปีที่ผ่านมาซึ่งอยู่ที่ 1.2% มาอยู่ที่ 2.3%ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นสัญญาณไม่ดีที่บ่งบอกถึงความเป็นไปได้ที่เงินเฟ้อพื้นฐานจะเกินกรอบที่กำหนดไว้ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นย่อมส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพและความเชื่อมั่นของนักลงทุน

บัณฑิต นิจถาวร รองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ก็มองไปในแนวทางเดียวกับขุนคลังว่ามีความเป็นไปได้ ที่เงินเฟ้อพื้นฐานจะเกินกรอบที่กำหนดไว้ ซึ่งปัจจัยที่เป็นตัวแปรสำคัญก็คือน้ำมัน อย่างไรก็ตามการปรับขึ้นดอกเบี้ยอาร์/พีในวันนี้ 0.50% ก็เป็นการลดแรงกดดันของเงินเฟ้อพื้นฐานเช่นกัน และมั่นใจว่าการปรับขึ้น0.50%ในครั้งนี้และครั้งที่แล้วจะช่วยลดแรงกดดันของเงินเฟ้อที่จะเร่งตัวสูงในไตรมาส 4 ได้ดีขึ้น ด้วยความพยายามของคณะกรรมการที่ต้องการให้เงินเฟ้ออยู่ในกรอบ

บัณฑิต บอกอีกว่า แนวโน้มที่อัตราเงินเฟ้อจะเร่งตัวสูงยังคงมีให้เห็นโดยเฉพาะในไตรมาส4ปีนี้ ทำให้คณะกรรมการนโยบายการเงินมีความเห็นตรงกันว่าต้องปรับอัตราดอกเบี้ยอาร์/พีอีก 0.50%ในการประชุมครั้งที่ 7 นี้ทำให้อัตราดอกเบี้ยอาร์/พีของของไทยยืนอยู่ในระดับเดียวกันกับเฟดที่ 3.75%

“คณะกรรมการเห็นว่าเศรษฐกิจยังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แต่มีความเสี่ยงเรื่องของเงินเฟ้อซึ่งส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพอันมีความสำคัญมากกว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจดังนั้นคณะกรรมการจึงขึ้นอัตราดอกเบี้ยอาร์/พีอีก0.50%เพื่อรักษาเสถียรภาพและดูแลเศรษฐกิจต่อไป”

ทั้งนี้การขยายตัวของเงินเฟ้อนั้นมีทั้งปัจจัยบวกและปัจจัยลบ การที่เงินเฟ้อขยับไม่สูงมากนักแสดงให้เห็นถึงดีมานซึ่งจะนำมาสู่การกระตุ้นให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจทางด้านการลงทุน การผลิต การจ้างงาน และรายได้ประชาชาติเพิ่มขึ้น

ในทางกลับกันถ้าเงินเฟ้อขยับขึ้นสูงเกินไปก็จะกระทบต่อการลงทุนและการผลิต เพราะต้นทุนจะสูงขึ้น ทำให้ราคาสินค้าก็จะสูงตามขึ้นไป ประชาชนจะประสบปัญหาค่าครองชีพสูงขึ้นโดยได้รับความเดือดร้อนเรื่องราคาสินค้าแพงอย่างที่เกิดขึ้นในทุกวันนี้ ซึ่งเมื่อถึงจุดนี้ทางภาครัฐก็จะยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือโดยใช้มาตรการทางการเงินและการคลัง

การปรับขึ้นดอกเบี้ยอาร์/พี2ครั้งที่ผ่านมาถือว่าค่อนข้างแรก และกลายเป็นความกังวลว่าจะกระทบต่อครัวเรื่องที่มีภาระหนี้ต้องผ่อนชำระ และการดำเนินงานของภาคธุรกิจ ซึ่งในเรื่องนี้ บัณฑิต บอกว่าทางคณะกรรมการได้พิจารณามองในทุกจุดที่เกี่ยวข้องแล้วเห็นว่าการขึ้นดอกเบี้ยในครั้งนี้จะไม่เป็นการเพิ่มภาระให้กับประชาชนและภาคธุรกิจมากนัก

อีกทั้ง เงินเฟ้อมีแนวโน้มที่จะลดลงในช่วงต้นปีหน้า หลังจากจากที่ระดับราคาน้ำมันคงตัวทำให้คณะกรรมการสามารถดูแลดอกเบี้ยที่แท้จริงของประเทศได้ชัดขึ้นว่าควรอยู่ในระดับใด

ระดับเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นถือได้ว่าประเทศไทยได้รับผลกระทบค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในโลก เพราะนอกจากราคาน้ำมันที่เป็นปัจจัยหลักเร่งให้เกิดเงินเฟ้อแล้ว ปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นในไทยยังเป็นอีกตัวแปรที่กดดันให้เงินเฟ้อสูงกว่าที่อื่น

และในฐานะผู้กำกับดูแลด้านการเงินอย่างแบงก์ชาติก็ไม่อาจนิ่งดูดายให้เงินเฟ้อเล่นงานเสถียรภาพ ประเทศได้ อันส่งผลให้การปรับดอกเบี้ยอาร์/พีในครั้งที่แล้วและครั้งล่าสุดขึ้นแรงกว่าที่ผ่านมา ขณะเดียวกันก็ควรถ้าหนุนด้วยมาตรการคลังออกพันธบัตรขายให้ประชาชน เพื่อดูดซับสภาพคล่องให้กับระบบ เพิ่มการออมเงินและลดการใช้จ่าย


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.