|

เงินเฟ้อพื้นฐานคุมไม่อยู่ปี49หลุดกรอบที่ระดับ3.7%
ผู้จัดการรายสัปดาห์(28 ตุลาคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาค ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า การที่อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นจากที่เป็นอยู่ในปัจจุบันมีสาเหตสำคัญมาจากกระบวนการส่งผ่านผลกระทบของราคาน้ำมันไปยังราคาสินค้าต่าง ๆ ยังไม่สิ้นสุดลง
จากการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างราคาน้ำมันดีเซลกับอัตราเงินเฟ้อในอดีต พบว่า ระยะเวลาในการส่งผ่านผลกระทบจะใช้เวลาประมาณ 10-12 เดือน สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไป และ14-16เดือนสำหรับเงินเฟ้อพื้นฐาน ซึ่งสาเหตุสำคัญที่ทำให้การส่งผ่านมีความล่าช้าเนื่องมาจากมาตรการรัฐที่ใช้ในการควบคุมราคา
จากสถานการณ์ดังกล่าว ทำให้ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาค เชื่อว่ามีความเป็นไปได้สูงที่นโยบายการเงินของไทยจะตึงตัวมากขึ้นในระยะต่อไป อย่างน้อยจนถึงประมาณกลางปี 2549เพื่อสกัดกั้นการเร่งตัวของอัตราเงินเฟ้อไม่ให้สูงเกินเป้าหมายพื้นฐาน3.5% และป้องกันไม่ให้ผลตอบแทนที่แท้จริงของการฝากเงินติดลบซึ่งจะมีผลต่อการออมของประเทศ และทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดมีการขาดดุลต่อเนื่องยืดไปอีกในปี2549-2550
ในระยะที่ผ่านมาผลตอบแทนที่แท้จริงของการฝากเงินซึ่งคำนวณจากอัตราดอกเบี้ยเงินฝากระยะเวลา 1 ปี หักด้วยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยติดลบ 0.8%และ1.8%ในปี 2546และ2547 ตามลำดับ และการเร่งตัวของเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นเป็นผลทำให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากระยะ1 ปี ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2548 ติดลบมากขึ้นเป็น2.3%
และแม้ธนาคารพาณิชย์จะเริ่มมีการปรับดอกเบี้ยขึ้นบ้างก็ตาม ตั้งแต่เดือนกันยายนที่ผ่านมา แต่ก็ยังคงติดลบอยู่ 2.1% ดังนั้นเมื่อพิจารณาจากความพยายามของแบงก์ชาติที่ต้องการเห็นดอกเบี้ยเงินฝากเป็นบวกภายในครึ่งปีแรกของปี 49 ก็ทำให้คาดได้ว่าจะมีการปรับดอกเบี้ยอาร์/พีขึ้นอีกจนอาจจะสูงถึง 4.5%ภายในไตรมาส 2 ปี 49 ซึ่งจะดึงให้ธนาคารพาณิชย์ต้องปรับดอกเบี้บเงินกู้และเงินฝากให้สูงขึ้นด้วย
นอกจากแรงกดดันจากเงินเฟ้อที่ทำให้อัตราดอกเบี้ยต้องขยับขึ้นแล้ว การปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องของอัตราดอกเบี้ยFed Funds Rate ของสหรัฐฯ และการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดก็เป็นอีกปัจจัยที่คอยกดดัน อีกทั้งการใช้นโยบายกระตุ้นอุปสงค์จากภาครัฐที่ผ่านมาก็จะส่งผ่านการใช้นโยบายการเงินเพื่อแก้ปัญหาเงินเฟ้อไม่ได้ผลเท่าที่ควร ซึ่งในกรณ๊นี้ดอกเบี้ยอาจต้องเพิ่มสูงกว่าที่ควรจะเป็นเพื่อชะลอเงินเฟ้อที่เกิดจากการกระตุ้นอุปสงค์ด้วย
สถานการณ์ที่เกิดขึ้นสรุปได้ว่า เงินเฟ้อทั่วไปและเงินเฟ้อพื้นฐานยังมีแนวโน้มเพิ่มต่อไปได้อีกในระยะ9-12 เดือนข้างหน้า ซึ่งเป้นผลกระทบจากราคาน้ำมันจนอาจทำให้เงินเฟ้อทั่วไปเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนสูงขึ้นถึง7-8%ในบางเดือนของครึ่งแรกปี 2549
ในขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐานอาจเกินกรอบกำหนด 3.5% อยู่ที่ 3.7%ในช่วงไตรมาส 2 ปี 2549 จึงยังมีความเป็นไปได้สูงที่อัตราดอกเบี้ยจะปรับขึ้นอีกในช่วงที่เหลือของปี
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|