ดอกเบี้ยกู้บ้าน ธอส.แซงหน้าแบงก์พาณิชย์ ลูกค้าลอยตัวรับกรรมจ่ายแพงกว่า0.5%


ผู้จัดการรายสัปดาห์(28 ตุลาคม 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

ดอกเบี้ยบ้านพ่นพิษภายในกันยายนเดือนเดียว ธอส.ปรับขึ้น 0.5% ส่งผลดอกเบี้ยกู้โดดไปที่ 6.75% สูงกว่าแบงก์พาณิชย์อยู่ 50 สตางค์ ส่งผลลูกหนี้ ธอส.ต้องจ่ายแพง-เป็นหนี้นานกว่า เหตุต้นทุนสินเชื่อแพงกว่าแบงก์ทั่วไป ผู้ที่ยังต้องผ่อนบ้านอยู่อาจจะรู้สึกแปลกใจว่า ใบเสร็จรับเงินที่แจ้งมาในช่วง 1-2 เดือนอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ขยับขึ้นอย่างต่อเนื่อง หรืออาจจะเรียกได้ว่าภายในรอบ 30 วัน ดอกเบี้ยปรับเพิ่มขึ้น 2 ครั้ง ครั้งละ 0.25% เบ็ดเสร็จผู้กู้ต้องแบกรับกับอัตราดอกเบี้ยใหม่ที่เพิ่มขึ้นจากเดิมอีก 0.5%

ทั้งนี้เป็นผลจากธนาคารแห่งประเทศไทยได้ปรับอัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตร 14 วัน ตั้งแต่ 29 เมษายนเป็นต้นมา แต่บรรดาธนาคารพาณิชย์ต่างเริ่มปรับอัตราดอกเบี้ยทั้งเงินกู้และเงินฝากขึ้นในช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา ดอกเบี้ยเงินกู้ที่ปรับเพิ่มขึ้นนั้น ผู้ผ่อนบ้านที่ยังอยู่ระหว่างดอกเบี้ยคงที่ตามสัญญาคงไม่ได้รับผลกระทบใด ๆ แต่คนที่ผ่อนชำระที่อยู่ในเงื่อนไขดอกเบี้ยลอยตัวคงต้องทำใจและเตรียมปรับตัวสำหรับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น

กู้ ธอส. 6.75%

สำหรับสถาบันการเงินที่เป็นผู้ให้สินเชื่อบ้านรายใหญ่ได้แก่ ธนาคารพาณิชย์ ที่ในช่วงครึ่งแรกของปี 2548 ปล่อยสินเชื่อไปแล้ว 5.72 แสนล้านบาท ตามมาด้วยธนาคารอาคารสงเคราะห์(ธอส.) ซึ่งเป็นธนาคารที่มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อช่วยเหลือให้คนมีบ้าน ปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัย 4.33 แสนล้านบาท หากเทียบเฉพาะรายธนาคารถือว่า ธอส. เป็นธนาคารที่ปล่อยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยรายใหญ่ที่สุดของประเทศไทย

ธอส. ได้ชื่อว่าเป็นแหล่งกู้เงินหลักของผู้ต้องการมีบ้าน โดยเฉพาะบ้านเอื้ออาทรล้วนแล้วต้องใช้บริการของ ธอส. ทั้งสิ้น รวมถึงประชาชนทั่วไปที่ต้องการมีบ้านเป็นของตัวเอง

ในรอบ 1-2 เดือนที่ผ่านมาสถาบันการเงินส่วนใหญ่ต่างปรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เพิ่มขึ้นตามทิศทางของดอกเบี้ยในตลาด เมื่อพิจารณาเฉพาะดอกเบี้ยเงินกู้ยืมสำหรับผู้ซื้อที่อยู่อาศัย สถาบันการเงินทั่วไปมักจะใช้อัตราลูกค้าเงินกู้รายใหญ่ชั้นดี (Minimum Loan Rate) หรือ MLR ที่ปัจจุบันคิดที่ 6.25%

ขณะที่ดอกเบี้ย MLR ของ ธอส.นั้น ใช้กับผู้ประกอบการทั่วไปและผู้กู้สร้างแฟลต คิดที่อัตรา 6% ส่วนที่คิดจากผู้ซื้อที่อยู่อาศัยนั้น ธอส. คิดจากลูกค้าในอัตราลูกค้ารายย่อยชั้นดี(Minimum Retail Rate) หรือ MRR ปัจจุบันคิดที่อัตรา 6.75% ถือว่าสูงที่สุดเมื่อเทียบกับธนาคารพาณิชย์ของไทย

จากการสอบถามธนาคารอาคารสงเคราะห์ตอบว่า "เราปรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ช้าที่สุดในระบบแล้ว โดยปรับขึ้นจากเดิมอีก 0.25% เมื่อ 1 กันยายน 2548 และปรับอีกครั้งเมื่อ 30 กันยายนที่ผ่านมา เป็นไปตามสภาพตลาด"

ต้นทุนแพง

แหล่งข่าวจากวงการสินเชื่อกล่าวว่า ในอดีตดอกเบี้ยสำหรับผู้กู้ซื้อบ้านของ ธอส.จะต่ำกว่าดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ทั่วไปรวมทั้งธนาคารออมสินอยู่ราว 0.5% แต่ในระยะหลังสถานการณ์เริ่มเปลี่ยนไป ดอกเบี้ยของ ธอส.เริ่มสูงกว่าดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการแข่งขันกันปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ที่ต้องแย่งชิงลูกค้าดีและดอกเบี้ยเงินฝากในระยะที่ผ่านมาต่ำมาก

ส่วน ธอส. นั้น ต้นทุนในการปล่อยสินเชื่อในระยะหลังค่อนข้างสูง ทั้งจากดอกเบี้ยเงินฝากที่ให้สูงกว่าธนาคารพาณิชย์ ที่สำคัญคือเงินกู้ยืมระยะยาวของ ธอส.หลายรายการให้อัตราดอกเบี้ยที่ค่อนข้างสูง ข้อมูลจากงบการเงินปี 2547 ระบุว่า พันธบัตรเงินกู้-ธอส. วงเงิน 26,000 ล้านบาท ที่เสนอขายให้กับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงิน ที่ครบกำหนดระหว่างปี 2548-2552 กำหนดดอกเบี้ยไว้ตั้งแต่ 1.75-9.45% หรือเงินกู้ยืมจากกระทรวงการคลัง 200 ล้านเหรียญสหรัฐ ครบกำหนดปี 2550 อัตราดอกเบี้ย 7.75% เป็นต้น

เมื่อต้นทุนในการดำเนินงานสูง ก็ต้องผลักภาระดังกล่าวให้กับลูกค้า ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติของผู้ประกอบการ ต้องไม่ลืมว่าภาพของ ธอส. นั้นเป็นสถาบันการเงินที่ช่วยเหลือให้คนมีรายได้ปานกลางจนถึงรายได้น้อยมีบ้านเป็นของตนเอง ที่ผ่านมา ธอส. ได้สนับสนุนให้กับผู้ที่ต้องการซื้อบ้านของการเคหะแห่งชาติ ที่สร้างบ้านให้คนมีรายได้น้อย หรือปล่อยกู้ให้กับบรรดาข้าราชการที่ต้องการมีบ้านในหลายหน่วยงาน รวมทั้งนโยบายของรัฐบาลไทยรักไทยที่ผุดโครงการบ้านเอื้ออาทรขึ้นมาทั่วประเทศที่ยังโชคดีที่ได้ดอกเบี้ยคงที่ 5 ปี

ดังนั้นอัตราดอกเบี้ยกู้ลอยตัวของ ธอส. วันนี้ อาจจะทำให้ลูกค้าของ ธอส. ต้องคิดหนัก โดยเฉพาะลูกค้าทั่วไปที่ผ่านเงื่อนไขดอกเบี้ยคงที่มาแล้ว เมื่อเปรียบเทียบกับสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ที่คิดอัตรา 6.25% กับ 6.75% ของ ธอส. ในวงเงินกู้ 500,000 บาท ระยะเวลากู้ 20 ปี จะมีส่วนต่างของค่างวดราว 200 บาทต่อเดือน หรือ 2,400 บาทต่อปี ถือว่าเป็นเงินจำนวนไม่น้อยสำหรับผู้มีรายได้น้อย

อย่างไรก็ตามคงต้องรอดูว่าดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์จะปรับขึ้นมาเท่ากับ ธอส. หรือไม่ เพราะที่ผ่านมา ธอส.ได้ปล่อยสินเชื่อค่อนข้างมากซึ่งส่วนใหญ่เป็นการสนับสนุนโครงการของรัฐบาล

ธอส.ส่งเสริมให้คนมีบ้าน

"ธนาคารได้ทำหน้าที่สานฝันให้กับประชาชนผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลางให้มีบ้านเป็นที่อยู่อาศัยของตน ตามอุดมการณ์และเจตนารมณ์ของธนาคารที่มีมาตั้งแต่เริ่มดำเนินการในปี พ.ศ.2496" วิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ ประธานกรรมการธนาคารอาคารสงเคราะห์ จากรายงานประจำปี 2547

ธนาคารอาคารสงเคราะห์ เป็นสถาบันการเงิน สังกัดกระทรวงการคลังก่อตั้งขึ้นโดยพระ ราชบัญญัติธนาคารอาคารสงเคราะห์ พ.ศ.2496 ซึ่งกำหนดให้ ธนาคารอาคารสงเคราะห์เป็นหน่วย งานของรัฐบาล ทำหน้าที่ช่วยเหลือทางการเงินให้กับประชาชน ได้มีที่อยู่อาศัยตามสมควรแก่อัตภาพ โดยการให้กู้ยืมเงิน และ จัดสรรที่ดินเพื่อก่อสร้างที่อยู่อาศัย ต่อมาในปี พ.ศ.2515 สมัยรัฐบาลจอม พลถนอม กิตติขจร ได้ตั้งหน่วยงานการเคหะแห่งชาติขึ้นเพื่อรับผิดชอบการ ดำเนินงานในอันที่จะ ให้ประชาชนได้มีที่อยู่ อาศัยและได้โอนกิจการงานบางอย่าง ที่เกี่ยวกับการให้เช่าซื้อที่ดินหรืออาคาร ของธนาคารอาคารสงเคราะห์ไปขึ้นอยู่กับการเคหะแห่งชาติ

ดังนั้น กิจการของธนาคารสงเคราะห์ จึงจำเป็นต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงใหม่เพื่อให้ สอดคล้องและประสานกันกับกิจการของการเคหะแห่งชาติด้วยเหตุนี้ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ตาม พระราชบัญญัติธนาคารอาคารสงเคราะห์พ.ศ.2496 ซึ่งได้แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะปฏิวัติฉบับ ที่ 317 จึงเป็นหน่วยงานของรัฐบาลที่ประกอบธุรกิจในการส่งเสริมและช่วยเหลือประชาชนนำเงินไป ลงทุนเกี่ยวกับการสร้างอาคารและที่ดินโดยตรงทำหน้าที่เสมือนสื่อกลางในการนำเงินไปใช้ประโยชน์ ์ในกิจการเคหะและเป็นสถาบันการเงินที่ดำเนินธุรกิจ โดยมีวัตถุประสงค์เฉพาะอย่างซึ่งแตกต่างจาก สถาบันการเงินอื่นๆทั่วไป

งานหลักของธนาคารอาคารสงเคราะห์ที่สำคัญ คือ ช่วยเหลือทางด้านการเงินเพื่อให้ประชาชนได้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองโดยมีการระดมทุนโดยวิธีต่างๆ อาทิเช่น ขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลออกพันธบัตรหุ้นกู้หรือกู้ยืมเป็นครั้งคราวและ รับเงินฝากจากผู้ออมทรัพย์ เป็นต้น เพื่อให้มีกำลังพอที่จะดำเนินงานของ ธนาคารฯ ต่อไปได้ในปัจจุบันนี้ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ นอกจากจะนำเงินไปใช้ประโยชน์ โดยให้ประชาชนแต่ละรายกู้ยืมแล้วยังต้องช่วยเหลือทางการเงิน แก่การเคหะแห่งชาติ และเอกชนผู้ลงทุนประกอบกิจการเคหะในรูปของเงินให้กู้ยืมด้วยตลอดจน ให้บริการ ในด้านการค้ำประกันและการซื้อลดเครดิตที่เกี่ยวกับกิจการเคหะ


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.