บูมพื้นที่ 3 ทำเลทอง ราคาที่ดินพุ่งรับอานิสงค์ "ริเวียร่า"


ผู้จัดการรายสัปดาห์(28 ตุลาคม 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

- ฟันธง 3 ทำเลทอง "ชะอำ-หัวหิน-ปราณบุรี" โตต่อเนื่อง นักลงทุนแห่ซื้อที่ดินผุดรีสอร์ท คอนโดฯ บ้านพักตากอากาศริมทะเล
-ระบุราคาที่ดินพุ่งพรวด 50-100% ในช่วง 2 ปีขานรับโครงการริเวียร่า-เส้นทางลงใต้สายใหม่
-อบต.สามร้อยยอดเผยยอดจัดเก็บภาษีโอนในช่วง 2-3 ปีเพิ่ม คาดสามร้อยยอดบูมกว่าหัวหิน

ความหวาดระแวงของนักท่องเที่ยวภายหลังจากเกิดเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิถาโถมเข้าใส่พื้นที่ 6 จังหวัดภาคใต้ที่อยู่ติดชายฝั่งทะเลอันดามัน เมื่อวันที่ 26 ธ.ค.ที่ผ่านมา ส่งผลให้ธุรกิจท่องเที่ยวแถบชายฝั่งทะเลอันดามันชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัด ภาครัฐจึงเร่งพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งอ่าวไทยให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่

โดยให้ความสำคัญกับการโปรโมทพื้นที่ท่องเที่ยวย่านชะอำ หัวหิน ไล่เรื่อยไปจนถึงปราณบุรี และ ด้วยความสวยงามของชายหาดหัวหิน ประกอบกับภาพลักษณ์ของเมืองหัวหินที่ได้ชื่อว่าเป็นพื้นที่ที่มีความปลอดภัย ทำให้นักท่องเที่ยวจำนวนมากหลั่งไหลเข้าสู่พื้นที่ดังกล่าว จนทำให้ชายหาดหัวหินกลับมาคึกคักขึ้นอีกครั้ง

ชี้ 3 ทำเลทองรับอานิสงค์"ริเวียร่า"

กิติศักดิ์ จำปาทิพย์พงศ์ รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท ฮาริสัน(ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผย "ผู้จัดการรายสัปดาห์"ว่า ปัจจุบันพื้นที่ชะอำ - หัวหิน - ปราณบุรี มีอัตราการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ 3 ทำเลหลัก ประกอบด้วย บริเวณเขาเต่าทั้งทางด้านฝั่งซ้ายและฝั่งขวาของ ถ.เพชรเกษม ซึ่งราคาที่ดินปรับเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากเป็นพื้นที่ใกล้ทะเลสามารถมองเห็นหาดทราย เอื้อประโยชน์ต่อการพัฒนาที่ดินเพื่อรองรับธุรกิจท่องเที่ยว

ส่วนทำเลที่ 2 ที่คาดว่าจะมีการเติบโตสูงคือพื้นที่โดยรอบบริเวณเขาหินเหล็กไฟ ซึ่งน่าจะเป็นทำเลทองของการลงทุนพัฒนาโครงการในรูปแบบบ้านเดี่ยวที่เริ่มมีผู้ประกอบการเข้าไปลงทุนพัฒนาพื้นที่แล้ว และสำหรับทำเลสุดท้ายที่คาดว่าน่าจะมีศักยภาพการเติบโตในอนาคตคือบริเวณปากน้ำปราณฯ ซึ่งปัจจุบันมีนักลงทุนเข้าไปพัฒนาโครงการในรูปแบบบูติก รีสอร์ท ขนาดเล็กที่มีเนื้อที่โครงการประมาณ 3 ไร่ เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวนมาก

ในช่วง 1-2 ปีก่อน ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในย่านชะอำ-หัวหิน มีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ราคาที่ดินปรับสูงขึ้น 40-50% เช่น ที่ดินบริเวณเชิงเขา ราคาเพิ่มขึ้นเป็น 1 ล้านบาทต่อไร่ จากเดิมที่มีราคาขายแค่ 500,000-600,000 บาทต่อไร่ และที่ดินส่วนใหญ่ถูกเปลี่ยนมือจากเจ้าของเดิมเป็นกลุ่มนายทุน

กิติศักดิ์ กล่าวว่า สาเหตุที่นักลงทุนขยายการลงทุนในพื้นที่ชะอำ หัวหิน และปราณบุรี เนื่องจากมองเห็นศักยภาพการขยายตัวของตลาดในอนาคต โดยเฉพาะธุรกิจท่องเที่ยวซึ่งคาดว่าจะมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติหันมาเที่ยวทะเลในฝั่งอ่าวไทยมากขึ้น เนื่องจากเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีความสงบ สวยงามและปลอดภัยกว่าทะเลชายฝั่งอันดามัน

นอกจากนี้ทำเลดังกล่าวยังได้รับอานิสงค์จากความพร้อมด้านระบบคมนาคมขนส่ง ซึ่งมีทั้งสนามบิน และถนนสายหลักที่ใช้ระยะเวลาในการเดินทางจาก กทม.ไม่เกิน 4 ชั่วโมง และในอนาคตจะมีเส้นทางหลักสายใหม่ที่อยู่ระหว่างการศึกษาเส้นทางลงทุนทดแทนโครงการเส้นทางลัดสู่ภาคใต้ หรือแหลมผักเบี้ย ซึ่งจะช่วยให้การเดินทางโดยรถยนต์มีความคล่องตัวมากขึ้น

สาเหตุหลักอีกประการหนึ่งที่ทำให้ทำเลชะอำ หัวหิน และปราณบุรีมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากนโยบายการลงทุนของภาครัฐ ซึ่งมีแนวคิดพัฒนาพื้นที่ในย่านบางสะพาน หัวหิน และประจวบฯ ให้เป็นคอมเพล็กซ์ขนาดใหญ่ มารีน่า โรงแรม รีสอร์ท 5-6 ดาวขึ้นไป และเอ็นเตอร์เทนเมนท์ครบวงจร ภายใต้ชื่อโครงการริเวียร่า ซึ่งเป็นนโยบายของภาครัฐในการดึงกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติให้เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวตามแหล่งท่องเที่ยวในย่านดังกล่าว

คอนโดฯติดทะเลเฟื่อง

ต้องยอมรับว่าในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาพื้นที่ชะอำ-หัวหินมีการแข่งขันสูงขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการจัดสรรรายใหญ่จากส่วนกลางขยายการลงทุนพัฒนาโครงการในทำเลดังกล่าว โดยลงทุนพัฒนาโครงการในรูปแบบคอนโดมิเนียมและบ้านเดี่ยว เจาะตลาดบ้านหลังที่2 เพราะมองเห็นศักยภาพการขยายตัวของตลาดและดีมานด์ในย่านหัวหินที่ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง

โดยเฉพาะโครงการคอนโดมิเนียมติดชายทะเล ราคาขายเฉลี่ย 2-5 ล้านบาท ได้รับความนิยมจากกลุ่มลูกค้าชาวไทยมาก คอนโดมิเนียมในหัวหินจึงมีอัตราการขยายตัวสูง เมื่อเทียบกับตลาดบ้านเดี่ยวระดับบนที่มีราคาขายเฉลี่ยสูงกว่า 20 ล้านบาทต่อยูนิต ซึ่งไม่เหมาะกับการทำตลาดในหัวหิน เพราะฐานลูกค้าส่วนใหญ่เป็นคนไทย ในขณะที่ภูเก็ตและพัทยามีฐานลูกค้าหลักเป็นชาวต่างชาติ

ผลกระทบจากการขยายตัวของตลาดชะอำ-หัวหิน ทำให้ที่ดินในย่านปราณบุรี จ.ประจวบฯ ปรับเพิ่มสูงขึ้นเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะที่ดินติดทะเลเหลือน้อยลง เพราะนักลงทุนทั้งในส่วนกลางและนักลงทุนท้องถิ่นเข้าไปบุกเบิกพื้นที่ทำรีสอร์ทรองรับการขยายตัวของธุรกิจท่องเที่ยว โดยภาพรวมของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์โซนชะอำ หัวหิน ในปีนี้มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปี47 และมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้า ซึ่งคาดว่าจะมีอัตราการเติบโต 5-10%

เชื่อหาดสามร้อยยอดบูมกว่าหัวหิน

ด้วยจำนวนนักท่องเที่ยวที่หลั่งไหลเข้ามาอย่างไม่ขาดสาย ทำให้พื้นที่ชายหาดใกล้เคียงไล่เรื่อยลงไปถึงชายหาดสามร้อยยอด อ.ปราณบุรี จ.ประจวบฯ ได้รับอานิสงค์จากการขยายตัวของธุรกิจท่องเที่ยวตามไปด้วย

แหล่งข่าวระดับสูง จากองค์การบริหารส่วนตำบลสามร้อยยอด อ.ปราณบุรี จ.ประจวบฯ เปิดเผย "ผู้จัดการรายสัปดาห์" ว่า ปัจจุบันมีกลุ่มนายทุนเป็นจำนวนมากเข้ามากว้านซื้อที่ดินบริเวณเลียบชายหาดสามร้อยยอดที่มีพื้นที่รวมประมาณ 1,400 ไร่ เพื่อนำพื้นที่ไปพัฒนาเป็นที่พักตากอากาศในรูปแบบของ บูติก รีสอร์ท ที่กำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในขณะนี้

โดยพบว่าราคาที่ดินในช่วงหัวหิน เขาหัวหะโหลก จนถึงชายหาดสามร้อยยอด มีความเคลื่อนไหวตลอดเวลา ตั้งแต่สมัยรัฐบาลของพลเอก ชาติชาย ชุณหวัณ ราคาที่ดินที่มีโฉนดปรับเพิ่มขึ้นถึง 4-5 เท่า จาก ราคา 400,000-500,000 บาทต่อไร่ เพิ่มขึ้นเป็น 4-5 ล้านบาทต่อไร่ และที่ดินบางแปลงมีราคาขายสูงถึง 10 ล้านบาทต่อไร่ โดยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา พบว่า ที่ดินจำนวนมากถูกเปลี่ยนมือจากเจ้าของเดิมเป็นของกลุ่มนายทุนจากกทม.และต่างชาติ

แม้ว่าที่ดินจะมีการเปลี่ยนมือเป็นจำนวนมาก แต่ อบต.ยังคงมีรายได้จากการจัดเก็บภาษีที่ดินเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย โดยในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมามีรายได้จากการจัดเก็บภาษีการโอน 700,000-800,000 บาทต่อปี เพราะที่ดินส่วนใหญ่ที่ทำการซื้อขายเป็นที่ดินสาธารณะไม่มีโฉนด ทำให้การซื้อขายเป็นการซื้อขายแบบปากเปล่า และอาศัยความไว้ใจกัน ซึ่งไม่ผ่านขั้นตอนการทำนิติกรรมกับหน่วยงานของรัฐเหมือนที่ดินที่มีโฉนด จึงทำให้ยอดจัดเก็บภาษีไม่เพิ่มขึ้นมากนัก

ที่ผ่านมา อบต. ได้พยายามผลักดันให้ภาครัฐเร่งออกโฉนดที่ดินบริเวณชายหาดสามร้อยยอดมาโดยตลอด แต่ไม่ได้รับคำตอบจากรัฐบาล ปัญหาที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ นายทุนที่เข้ามากว้านซื้อที่ดินสาธารณะต้องยอมแบกรับภาระความเสี่ยงในการลงทุนเอง เพราะการขายที่ดินสาธารณะเท่ากับเป็นการขายที่มือเปล่า เนื่องจากไม่สามารถออกโฉนดได้ ปัจจุบันพื้นที่บริเวณชายหาดสามร้อยยอดรวมกว่า 108 ตารางกิโลเมตรถูกครอบครองโดยกลุ่มนายทุนจากกรุงเทพถึง 50% ที่เหลือยังอยู่ในมือของเจ้าของเดิม


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.