|
เปิดปูม "เทเลนอร์"
ผู้จัดการรายสัปดาห์(27 ตุลาคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
ชื่อของบริษัท เทเลนอร์ เอเอสในเวทียุโรปไม่ได้ด้อยไปกว่าบริษัทยักษ์ใหญ่โทรคมนาคมรายอื่นในยุโรปเท่าไรนัก เทเลนอร์เป็นกิจการโทรคมนาคมสัญชาตินอร์เวย์รายใหญ่ที่สุดในประเทศ ซึ่งได้มีการลงทุนในธุรกิจโทรคมนาคมไปทั่วยุโรป และเอเชีย โดยให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ผ่านบริษัทในเครือมากกว่า 12 ประเทศทั่วโลก โดยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เทเลนอร์มีบริษัทที่ร่วมลงทุนอยู่ในสี่ประเทศหลัก ได้แก่ บังคลาเทศ มาเลเซีย สิงคโปร์และประเทศไทย
ธุรกิจโทรคมนาคมของเทเลนอร์มีตั้งแต่ธุรกิจบรอดแบนด์ บริการระบบแปลงสัญญาณไอพีระหว่างประเทศ (Internet protocal) โครงสร้างพื้นฐาน ที่ใช้มีทั้งไฟเบอร์ออพติกเคเบิลใต้ทะเลข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก และการเชื่อมสัญญาณดาวเทียม
ผลประกอบการประจำไตรมาส 2 ปี 2548 ของเทเลนอร์สามารถยอดขายได้ 16.54 พันล้านโครน (ประมาณ 103,916 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 8.6% จาก 15.23 พันล้านโครน (ประมาณ 95,686 ล้านบาท) ของไตรมาส 2 ปี 2547 และหลังจากหักค่าใช้จ่ายต่างๆ ไปแล้ว เหลือเป็นกำไรสุทธิทั้งสิ้น 2.04 พันล้านโครน (ประมาณ 12,816 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 19.4% จาก 1.71 พันล้านโครน (ประมาณ 10,743 ล้านบาท) ของไตรมาส 2 ปี 2547
ปัจจุบัน เทเลนอร์มีผู้ถือหุ้นรายใหญ่อยู่ 20 กลุ่มรวม 74.99% โดยรัฐบาลนอร์เวย์ถือครองกิจการราว 53.97% และมีลูกค้าที่ใช้บริการอยู่ทั้งหมด 24.8 ล้านราย
กิจการโทรคมนาคมของเทเลนอร์มีจุดเริ่มต้นมาจากปี 1855 ที่ประเทศนอร์เวย์เริ่มมีการติดตั้งสายโทรเลขโดยสำนักงานโทรเลขนอร์เวย์ จากนั้น จึงมีการติดตั้งโทรศัพท์ในปี 1880 ติดตามด้วยระบบสลับสัญญาณโทรศัพท์อัตโนมัติในปี 1918 และบริการเทเล็กซ์ในปี 1946 อีกทั้งเครือข่ายแปลงสัญญาณสำหรับโทรทัศน์ ที่เริ่มต้นปี 1960 บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เริ่มขึ้นในปี 1966
ระบบแปลงสัญญาณควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์เปิดตัวครั้งแรกในนอร์เวย์ช่วงกลางทศวรรษ 1970 และอีกหกปีต่อมาก็เริ่มมีระบบดาวเทียมแห่งชาติที่เรียกว่า NORSAT ที่เชื่อมโยงฐานสำรวจน้ำมันในทะเลเหนือกับแผ่นดินใหญ่ เทเลนอร์ยังเป็นผู้ริเริ่มสถานีชายฝั่งระบบอัตโนมัติเต็มรูป เพื่อส่งสัญญาณเดินเรือเชื่อมกับระบบดาวเทียมอินมาร์แซตในปี 1982 และ 1 ปีต่อมาก็ปรับระบบแปลงสัญญาณโทรศัพท์เป็นแบบอัตโนมัติได้ทั้งหมด
ช่วงกลางทศวรรษ 1980 กิจการในตอนนั้นเริ่มเป็นที่รู้จักในชื่อนอร์วีเจียน เทเลคอม (Televerket) ปี 1984 เริ่มเปิดตัวระบบโทรศัพท์ไร้สายแบบปรับปรุงใหม่และระบบเพจเจอร์แบบตัวเลข ปี 1986 ระบบสลับสัญญาณโทรศัพท์แบบดิจิตอลเริ่มนำมาใช้ และได้มีการปรับโครงสร้างเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ผู้ดำเนินการโทรศัพท์ในประเทศ แผนกการขายและหน่วยงานออกกฎควบคุมและอนุมัติการใช้โทรศัพท์ ส่วนบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้ถูกกันไว้เป็นแผนกธุรกิจต่างหากในชื่อ "เทเลโมบิล" ในปี 1990 และตั้งเป็นบริษัทจำกัดในปีต่อมา โดยมีคู่แข่งคือ "เน็ตคอม" อีกสองปีต่อมาจึงเปิดตัวระบบแปลงสัญญาณข้อมูล เพื่อแข่งกับคู่แข่ง และนำสายโทรศัพท์แบบเช่าซื้อ ที่มีส่วนเกินอยู่ออกจำหน่ายใหม่
ปี 1993 เทเลเวอร์เกตปรับโครงสร้างกิจการภายใต้ชื่อ "นอร์วีเจียน เทเลคอม กรุ๊ป" และเข้าร่วมกับกลุ่มบริษัทสัญชาตินอร์ดิก และฮังกาเรียนได้สัมปทานเป็น ผู้ดำเนินการโทรศัพท์ไร้สายในฮังการี อีกหนึ่งปีต่อมากิจการก็มีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจ และเปลี่ยนชื่อเป็น "เทเลนอร์" ในปี 1995 ปีเดียวกันนั้นเอง เทเลนอร์ร่วมมือกับบริติช เทเลคอมและเทเลเดนมาร์กตั้งกิจการ "เทเลนอร์เดีย" (Telenordia) โดยเทเลนอร์ และบริติช เทเลคอมถือหุ้นสัดส่วน 50-50 บริษัทยังขยายกิจการโดยมีการดำเนินการเพิ่มเติมรวมทั้งเข้าถือหุ้นในกิจการโทรศัพท์ไร้สายในไอร์แลนด์ ที่ชื่อ ESAT Digifone และมีกิจการเครือข่ายเพจจิ้งในจีนด้วย เทเลนอร์มีหุ้น 10% ใน VIAG Interkom
โดยร่วมทุนกับบริติช เทเลคอม และ VIAG แห่งเยอรมนี ในปี 1997 เพื่อดำเนินการโทรศัพท์ทั้งแบบไร้สาย และแบบติดตั้งคู่สายในเยอรมนี (กิจการดังกล่าวมีชื่อว่า "E.ON" ต่อมาบริติช เทเลคอมซื้อหุ้นกิจการเพิ่มโดยถือครองเป็นสัดส่วน 90%) ปีเดียวกันนั้น เอง เครือข่าย นอร์วีเจียนเทเลคอมก็ดำเนินการระบบดิจิตอลได้สำเร็จ และเริ่มให้บริการอินเทอร์เน็ต โดยใช้ชื่อว่า "เทเลนอร์ เน็กซ์เทล" ซึ่งปี 2000 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น เน็กซ์ตรา- Nextra)เทเลนอร์ขยายกิจการด้านอินเทอร์เน็ตในยุโรปเมื่อตลาดโทรคมนาคมของนอร์เวย์ผ่อนคลายข้อกำหนดเรื่องการควบคุมในปี 1998 และเป็นการเพิ่มคู่แข่งหน้าใหม่ไปด้วย
1 ปีต่อมาเทเลนอร์มีแผนผนวกกิจการกับ "ทีเลีย" กิจการโทรคมนาคมแห่งสวีเดน และปี 2000 ก็ได้เปลี่ยนชื่อแผนกบริการ และการติดตั้งเป็น "บราวิดา" (Bravida) แล้วแยกเป็นบริษัทต่างหาก เทเลนอร์ซื้อหุ้น 54% ในโซโนโฟน (Sonofon) ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการโทรศัพท์ระดับนำของเดนมาร์ก โดยหุ้นส่วน ที่เหลือเป็นของเบลเซาธ์แห่งสหรัฐฯ ปี 2000 เช่นกันรัฐบาลนอร์เวย์นำหุ้น 20% ในกิจการเทเลนอร์ออกขายแก่สาธารณชน
ธุรกิจโทรศัพท์มือถือที่เทเลนอร์เข้าร่วมลงทุน
Telenor Mobile ประเทศ Norway
Telenor Mobile ประเทศ Sweden
Sonofon ประเทศ Denmark
Pannon GSM ประเทศ Hungary
Promonte ประเทศ Montenegro
DiGi ประเทศ Malaysia
GrameenPhone ประเทศ Bangladesh
DTAC ประเทศ Thailand
VimpeCom ประเทศ Russia
One ประเทศ Austria
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|