ตัวตนของ "บุญชัย เบญจรงคกุล"


ผู้จัดการรายสัปดาห์(27 ตุลาคม 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

ถึงเวลานี้หลายคนอาจจะยังไม่รู้จักตัวตนที่แท้จริงของผู้ชายชื่อ "บุญชัย เบญจรงคกุล" ผู้ที่ทำให้วงการโทรศัพท์มือถือต้องช็อกไปตามๆ กัน จากการขายหุ้นที่ตระกูลเบญจรงคกุลถือหุ้นอยู่ทั้งหมดในบริษัท ยูไนเต็ดคอมมูนิเกชั่น จำกัด(มหาชน) หรือยูคอม ให้กับบริษัท ไทย เทลโค โฮลดิ้งส์ จำกัด ซึ่งถือหุ้นใหญ่ โดย "เทเลนอร์"

บุญชัย เป็นบุตรคนแรกจากทั้งหมด 4 คน ของสุจินต์และกาญจนา เบญจรงคกุล เขาเกิดในย่านคนจีน ซอยตรอกโรงเลี้ยงเด็ก ในช่วงที่ครอบครัวกำลังก่อร่างสร้างตัวจากการค้าขาย ก่อนที่จะขยายธุรกิจออกไปมากมาย ทำให้บุญชัยได้รู้ประสบการณ์ธุรกิจทั้งโดยตรงและโดยอ้อมจากทั้งพ่อและแม่ในขณะนั้น ได้เรียนรู้กลไกการทำตลาดในหลายสไตล์ที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในช่วงเวลาต่อมา

หลังจากเรียนจบด้านบริหารธุรกิจ จากบอสตัน ยูนิเวอร์ซิตี้ บุญชัยกลับมาช่วยกิจการของครอบครัว แต่น่าเสียดายที่พ่อของบุญชัยจากไปในเวลาอันรวดเร็ว การเรียนรู้ธุรกิจจึงน้อยมาก ที่สำคัญเขายังต้องเข้ามาแก้ไขปัญหาหนี้สิน 300 ล้านบาทที่พ่อทิ้งไว้ด้วยวัยเพียง 27 ปี

บุญชัยใช้เวลากว่า 7 ปีในการไขปัญหาหนี้สินทั้งหมด ก่อนที่เขาจะนำพาธุรกิจพ้นวิกฤต และนำยูคอมก้าวไปสู่ยุคของการเติบโตมากที่สุด โดยบุญชัยได้มีการเข้าปรับปรุงสินค้าให้มีความหลากหลายมากขึ้น จากการที่เป็นตัวแทนให้กับเจ้าของผลิตภัณฑ์โมโตโรล่าเพียงอย่างเดียว

จากลูกค้าที่เคยค้าขายอุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคมไร้สายให้การสื่อสารแห่งประเทศไทย ได้ขยายไปสู่องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศ ด้วยการนำอุปกรณ์โทรคมนาคมแบบมีสายเข้ามาจำหน่ายเพิ่มขึ้น

ที่สำคัญช่วงแห่งการขยายกิจการในครั้งนั้น บุญชัยได้ตัดสินจ้างมืออาชีพเข้ามาช่วยบริหารกิจการที่ใหญ่โตขึ้น และกลายเป็นฐานที่ทำให้ยูคอมสามารถสร้างธุรกิจไปสู่ธุรกิจโทรศัพท์มือถือในเวลาต่อมา ยูคอมได้จัดตั้งบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือแทค ขึ้นมารับผิดชอบการให้บริการโทรศัพท์มือถือ

การโตของธุรกิจภายใต้การทำงานของบุญชัย มีความมั่งคงและเจริญเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว จนเขาสามารถทำให้ตระกูล "เบญจรงคกุล" ติดอันดับต้นๆ มหาเศรษฐีของเมืองไทย ถึงขนาดซื้อเครื่องบินเจ็ทส่วนตัว มาไว้ใช้ส่วนตัว เพื่อบินไปที่ต่างๆ ที่ต้องการได้ทันที

แต่แล้วเศรษฐีอันดับต้นๆ ของเมืองไทยคนนี้ ต้องประสบกับปัญหาใหญ่หลวงจากการประกาศลอยค่าเงินบาท ทำให้หนี้สินระยะสั้นเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณกว่า 7 หมื่นล้านบาท เขาต้องเข้ามาแก้ไขปัญหาด้วยการหาพาร์เนอร์ต่างชาติ และเจรจากับเจ้าหนี้เพื่อขอประนอมหนี้ รวมทั้งการแก้ไขปัญหาภายในบริษัทจากมืออาชีพที่เข้าจ้างมา นำไปสู่การเข้ามาดูแลกิจการแบบเต็มตัวอีกครั้ง

การกลับมาของเขาในครั้งนี้ต้องเผชิญกับการแข่งขันอย่างดุเดือดรุนแรง จากคู่แข่งขัน ไม่ว่าจะเป็นจากเอไอเอส และออเร้นจ์ในขณะนั้น การร่วมมือกับเทเลนอร์ พาร์ตเนอร์ต่างชาติ ได้สร้างปรากฎการณ์ต่างๆ ให้กับวงการนี้อย่างมากมาย ไล่ตั้งแต่การสร้างแบรนด์ "ดีแทค" เพื่อลบจุดอ่อนของการมีแบรนด์จำนวนมาก การปลดล็อคอิมี่ การปรับสูตรการคิดอัตราค่าบริการใหม่สร้างอัตราเดียวกันทั่วประเทศ ไม่คิดค่าบริการรายเดือน การคิดค่าแอร์ไทม์เป็นวินาที

เมื่อสถานการณ์ของดีแทคผ่านพ้นช่วงวิกฤตและกำลังเดินไปตามสีสันการตลาดรูปแบบใหม่ บุญชัยใช้เวลาส่วนใหญ่ในการผลักดันโครงการ "สำนึกรักบ้านเกิด" ที่เป็นเรื่องของการสร้างเครือข่ายชุมชน สร้างคน สร้างผลิตภัณฑ์ การสร้างเครือข่ายการค้าออนไลน์ ทั้งหมดเกิดจากแรงผลักดันจากการแข่งขัน ทำให้บุญชัยต้องหันมาให้ความสำคัญกับการสร้างเครือข่ายชุมชน

บุญชัยต้องการสร้างผู้นำขึ้นในชุมชน สร้างแหล่งทำกิน สร้างผลิตภัณฑ์ของชุมชน สร้างเครือข่ายการแลกเปลี่ยนความแข็งแกร่งให้กับชุมชนทั่วประเทศ โดยอยู่บนพื้นฐาน ทุนใหญ่ช่วยทุนเล็ก และเมื่อทุนเล็กแข็งแกร่งจะกลับมาช่วยทุนใหญ่

บุญชัย เคยให้สัมภาษณ์ในผู้จัดการรายเดือน ว่าโครงการสำนึกรักบ้านเกิดการเกษตรและสำนึกรักบ้านเกิดสหกรณ์ร่วมด้วยช่วยกัน จะเกิดขึ้นทุกตำบลทั่วประเทศ เป็นเรื่องการผลิตสินค้าชุมชน การสร้างช่องทางในการขายสินค้าที่จะมีทั้งร้านค้าจริง คือสหกรณ์ ที่จะต้องมีการเชื่อมโยงเครือข่ายออนไลน์ข้อมูลทั่วประเทศ ในการใช้ประโยชน์แลกเปลี่ยนสินค้าและเป็นช่องทางในการขยายไปยังตลาดใหม่ๆ จะถูกเชื่อมด้วยเครือข่ายเคเบิลใยแก้วนำแสงของยูไอเอชที่วางไปแล้วทั่วประเทศ

เขากล่าวว่า เครือข่าย information superhigh way จะถูกปลุกความต้องการโดยคน 7,000 ตำบล"

ในความหมายของบุญชัย ก็คือเมื่อทุกคนเริ่มมีการซื้อขายผ่านระบบออนไลน์ จะเป็นแรงผลักดันให้หน่วยงานภาคราชการ กรมสรรพากร ธนาคาร ปรับปรุงตัวเองเข้าสู่ระบบออนไลน์ เมื่อเป็นเช่นนั้นสิ่งที่บุญชัยสร้างไว้ก็จะมีผู้คนใช้เต็มไปหมด

จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมวันนี้เขาจึงมุ่งมั่นเต็มที่ที่จะพัฒนาชุมชนให้ก้าวขึ้นมายืนได้ด้วยตนเอง และโดยบุคคลิกของบุญชัย เองที่ผ่านมาเติบโตจากครอบครัวที่มาจากศูนย์อยู่แล้ว การที่เขาจะลงไปคลุกคลี่กับผู้คนในชนบท และพัฒนาพวกเขาเหล่านั้น ตามแนวคิดทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง ย่อมบ่งบอกถึงตัวตนของผู้ชายที่ชื่อ "บุญชัย เบญจรงคกุล" ได้เป็นอย่างดี เพราะเขาบอกว่า "ชีวิตนี้เขาไม่ต้องเล่นละคร มีแต่ชีวิตจริงที่ต้องเดินหน้าต่อไป"


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.