PMAT จุดชนวน 'ร่างมาตรฐานคน HR'


ผู้จัดการรายสัปดาห์(27 ตุลาคม 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

- ใบประกอบวิชาชีพ แพทย์ วิศวกร สถาปนิก ทนายความ ผู้ตรวจสอบบัญชี เห็นกันมาเยอะแล้ว
- เตรียมมาลุ้นยลโฉมใบอนุญาต HR ใหม่ถอดด้ามอีกใบ ภายใต้การผลักดันของ 'PMAT'
- "ยกร่างมาตรฐานวิชาชีพคน HR" ประเด็นหลักอยู่ที่การสร้างคุณค่าในระดับองค์กรและสังคม โดยไม่ต้องรอให้กฎหมายออกก่อนแล้วค่อยคิดลงมือทำ
- หลากทัศนะความคิดของทุกแวดวงที่เกี่ยวข้อง ยิ่งเสร็จเร็วยิ่งดี สะท้อนแก่นแท้ HR มือโปร

'HR' หนึ่งในวิชาชีพแถวหน้าของการสร้างดอกผลให้องค์กร ทั้งในแง่ของการพัฒนาคนและสร้างรายได้ให้ธุรกิจ กำลัง transform ตัวเองไปอีกขั้นสู่มาตรฐานวิชาชีพในงาน HR ภายใต้การออกแรงครั้งสำคัญของ PMAT หรือ "สมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย" ที่มองว่า ถึงเวลาแล้วที่เส้นทางสายนี้ ควรจะมีหลากหลายองค์ประกอบของจรรยาบรรณ ความรู้ ความสามารถ และพฤติกรรมที่พึงประสงค์มาเป็นตัวกำกับ

ระหว่างนี้ PMAT พยายามจะยกร่างมาตรฐานวิชาชีพ HR ด้วยการระดมทุกวิธีคิดจากทุกฟากที่เกี่ยวข้อง เอามาเชื่อมต่อให้เป็นเนื้อเดียวกัน บางส่วนของนานาทัศนะเหล่านี้ จึงถือเป็นประกายความคิดให้ชาว HR ไปช่วยกันต่อยอดในวงกว้าง เตรียมพร้อมสำหรับการใช้งานในเร็ววัน

ฉัตรพงษ์ วงษ์สุข นายกสมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย (PMAT) และผู้จัดการฝ่ายวางแผนและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ บริษัท ปิโตรเคมีแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) กล่าวกับ "ผู้จัดการรายสัปดาห์" ว่า องค์ประกอบหลักของการสร้างมาตรฐานวิชาชีพ จะเป็นการมองถึงจรรยาบรรณ การสร้างแรงบันดาลใจ การได้รับการยกย่องนับถือ และการพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ๆ ที่สอดรับและจำเป็นกับการทำงาน สิ่งที่มาตรฐานนี้มุ่งเน้นคือ ต้องไปกำกับความรู้ ความสามารถ และเชิงพฤติกรรมกับทัศนคติที่มีผลต่อการเติบโตขององค์กร

"หน้าที่ของ PMAT คือเราจะต้องประสานเชื่อมโยงองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน เข้ากับสถาบันต่างๆ ที่มีหน้าที่เผยแพร่ความรู้ โดยสร้างเป็นเครือข่ายขึ้นมาและแสดงตัวว่าเราเป็นมืออาชีพ ช่วงหลังนี้บทบาทของ HR มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากทั้งรัฐและเอกชน การรวมตัวกันสร้างมาตรฐานวิชาชีพที่เด่นชัด จะทำให้อาชีพนี้ได้รับการยอมรับทั้งระดับองค์กรและระดับสังคมมากขึ้น"

ขณะที่ ดร.จำเนียร จวงตระกูล President & CEO บริษัท Business Law Center International จำกัด ที่ปรึกษาทางด้านบริหารจัดการองค์กร กล่าวเสริมว่า การก้าวย่างสู่ความเป็น HR Professional ต้องมองทั้งสองส่วนคือ 1. มุมมองวิชาชีพในทางวิชาการ (discipline) กับ 2. มุมมองวิชาชีพในภาคปฏิบัติ (practice)

โดยทางวิชาการคือมองว่า งานด้าน HR นี้เป็นวิชาชีพแล้วหรือยัง? ก็ต้องไปไล่ตามข้อกำหนดเท่าที่มีอยู่ ส่วนในทางปฏิบัติเป็นการพิจารณาว่าผู้ปฏิบัติงานในสาขาอาชีพนั้น มีความเป็นวิชาชีพมากน้อยแค่ไหน? เป็นการมองไปที่ตัวผู้ปฏิบัติงานในสายงาน HR นั้นโดยตรง

ซึ่งการโฟกัสว่าใครมืออาชีพหรือไม่? ต้องใช้มาตรฐานของวิชาชีพเป็นตัวตั้ง แล้วจับเอาคน HR มาวัดผลการปฏิบัติงาน ถ้าทำได้ตามเกณฑ์หรือดีกว่าเกณฑ์ ก็จะได้รับการขึ้นทะเบียนว่าเป็น HR professional และได้รับใบอนุญาตในการประกอบวิชาชีพ เช่นเดียวกับ แพทย์ พยาบาล วิศวกร สถาปนิก หรือ ครู

"ในงาน HR จะแบ่งออกเป็น 2 ระดับ คือ Professional HR (PHR) และ Senior Professional HR (SPHR) ดังนั้นถ้ามองในมุมของการปฏิบัติงาน HR ที่เป็นมืออาชีพก็จะต้องมีการควบคุมกำกับดูแลการปฏิบัติงานของ HR ที่ได้รับการรับรองด้วย"

โดยแนวทางการควบคุมคือ มองในรูปแบบของจรรยาบรรณวิชาชีพ (Ethical Code of Conduct) และการประเมินหรือการทดสอบแล้วทำการรับรอง (Certified หรือ Re-Certified) คืออาจมีการพัก หรือถอนการรับรองได้ ถ้าหากผู้ปฏิบัติงาน HR ผู้นั้นปฏิบัติไม่ได้ตามเกณฑ์มาตรฐานทั้งในแง่ของผลการปฏิบัติงานและความประพฤติ

"แง่วิชาการเรายังไม่ได้มีการกำหนดความเป็นวิชาการในวิชาชีพเด่นชัด ขณะที่แง่วิชาชีพเองก็ยังไม่ได้กำหนดเช่นกัน เพราะมีหลายปัจจัยที่ทำให้ HR ไทยเรายังห่างกับความเป็นวิชาชีพมาก อย่างเช่น HR ปัจจุบันยังไม่สามารถใช้ดุลยพินิจของตนได้อิสระ ไม่เหมือนทนายความหรือวิศวกร หรือแพทย์ ดังนั้นในส่วนนี้จะต้องพัฒนาไปอีกมาก แต่แนวทางยกร่างที่ PMAT ทำถือว่าเดินมาถูกทาง เพราะวิชาการนั้นมาจากการปฏิบัติ กล่าวคือ มีการศึกษาวิจัยการปฏิบัติแล้วสร้างองค์ความรู้หรือสร้างทฤษฎีขึ้นมา จึงเห็นว่าเราต้องปฏิบัติไปก่อนจากนั้นวิชาการก็จะตามมา"

วรพงษ์ รวิรัฐ Director - Human Resource บริษัท โอสถสภา จำกัด แสดงทัศนะว่า มาตรฐานวิชาชีพ HR มีความสำคัญต่อผู้ประกอบวิชาชีพ และเป็นอาชีพท็อปฮิตที่ทั่วโลกมี เมืองไทยเรามีผู้ประกอบวิชาชีพนี้เยอะมาก ดังนั้นสิ่งที่คนประกอบวิชาชีพนี้ต้องรู้คือ คนที่จะประกอบวิชาชีพจะต้องมีมาตรฐานอย่างไร? ควรจะมีคุณสมบัติ ความรู้ สมรรถนะอย่างไร? ถึงจะสามารถประกอบวิชาชีพนี้ และได้รับการยอมรับจากสังคมทั่วไป

"ถ้าเป็นสมาคมอื่นๆ เช่น วิศวะ แพทย์ พอมีกฎหมายรับรองคนก็จะเห็นความสำคัญของใบรับรองมาตรฐานการประกอบวิชาชีพ แต่สายงาน HR ปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายรองรับ ซึ่งจุดนี้ PMAT เองก็ต้องการเข้ามาผลักดัน ส่งเสริมขึ้นมาให้เป็นรูปเป็นร่าง แทนที่จะรอให้มีกฎหมายก่อนแล้วค่อยมาทำเพื่อให้สังคมรับรู้

เรื่องนี้จะมีคุณค่าต่อเมื่อสังคมให้ความสำคัญ ใครก็ตามที่ได้รับผ่านมาตรฐานนี้รับรองได้จนกระทั่งคนยอมรับ ก็จะมีคุณค่าด้วยตัวเอง แต่ถ้าจะรอให้กฎหมายรองรับก็จะช้าเกินไป สิ่งที่เราจะต้องทำก็คือทำให้คนในวิชาชีพเรายอมรับ คนที่เกี่ยวข้องยอมรับวิชาชีพนี้จริงๆ ตรงนี้คือคุณค่า ปัญหาอุปสรรคก็คือยังไม่เป็นกฎหมายเท่านั้น เราต้องพยายามสร้างให้มีคุณค่า และคนที่ประกอบอาชีพก็ต้องเห็นคุณค่า"

เขามองว่า คนที่จะเป็น HR ในปัจจุบัน ต้องวิ่งไปข้างหน้า มองไปข้างหน้า และจะต้องพัฒนาตนเองให้กลายเป็นมืออาชีพให้ได้ "ผมคิดว่าคนที่เป็นนักบริหารงานบุคคลทุกคนต้องการความสำเร็จ แต่เขาจะสำเร็จได้ต่อเมื่อเขาพัฒนาตนเองให้มีขีดความสามารถ ความสามารถที่เรากำลังจะบอกมีขนาดไหน? ซึ่งเขาดูได้ง่ายเลยคือมาตรฐานในด้าน HR ซึ่งจะทำให้เขารู้ว่าเขาอยู่ตรงไหน? แล้วในสังคม ได้รับการยอมรับไหม? เขาจะมีโอกาสประสบความสำเร็จไหม?"

ธีระ วีรธรรมสาธิต รองประธานฝ่ายบริหารทรัพยากรมนุษย์ บริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด มองว่า มาตรฐานวิชาชีพเป็นกลไกที่ยิ่งทำได้เร็วก็ส่งผลดีเร็ว ไม่อย่างนั้นใครๆ ก็ก้าวมาเป็น HR ได้ การตั้งมาตรฐานจะช่วยเสริมสร้างความเข้าใจอันดีร่วมกันในสังคมวิชาชีพ และ 4 คุณลักษณะเด่นของ HR professional ในมุมมองของเขาคือ 1. ต้องเก่งคิดทั้งเชิงกลยุทธ์และสถานการณ์ 2. เก่งคน ซึ่งเป็นความจำเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว 3. เก่งงาน รู้ธุรกิจและออกแบบงาน 4. เก่งเงิน เข้าใจกำไรขาดทุนบริษัท รู้ภาษาการเงิน

ทางด้าน น.ท.บดินทร์ วิจารณ์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาขีดความสามารถทางเทคนิค บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ประเด็นสำคัญคือ ทำให้ได้รู้ว่ามีขีดความสามารถอยู่จุดไหน? สามารถเทียบเคียงกับองค์กรอื่นได้ว่าขีดความสามารถของผู้ประกอบวิชาชีพทางด้าน HR เป็นอย่างไร? เมื่อรู้ตัวเอง ก็จะรู้ต่อว่าจะสร้างคนอย่างไร? เป็นการสร้างความเชื่อมั่นอย่างหนึ่งของคนในองค์กรด้วย

ดร.กังวาน ยอดวิศิษฎ์ศักดิ์ Associate Director - Administration คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในแง่ของสถาบันการศึกษาเอง ก็พยายามผลักดันหลักสูตร HR ที่เอื้อต่อการทำงานจริงๆ และสอดรับกับความต้องการของตลาด โดยหลักสูตรที่ออกมาจะเน้นความรู้ในวิชาชีพที่เพิ่มมากขึ้นทั้งทางด้านการตลาด การเงิน บัญชี ไอที และวิชาต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

"เดี๋ยวนี้คนในองค์กรมีความหลากหลายสูงมาก มาจากหลายแห่ง วัยต่างกัน การศึกษาต่างกัน HR วิชาชีพต้องเข้าใจคนให้มากขึ้น หลักสูตรสมัยก่อนเน้นฟังก์ชั่น แต่ตอนนี้ต้องเน้นที่ตัวคนและใส่ใจในความเป็นธุรกิจ และเราต้องสร้าง block HR ที่ตรงกับ spec ของธุรกิจมากขึ้น"

ทั้งหมดนี้คือ ช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อของการ transform บทบาท HR ไปสู่มาตรฐานวิชาชีพเต็มใบ ...

10 องค์ประกอบวิชาชีพ HR
1. มีองค์ความรู้ที่สำคัญและจัดเป็นระเบียบ
2. ผู้ประกอบวิชาชีพจะต้องระบุตนเองกับวิชาชีพ มีความภาคภูมิใจในวิชาชีพ มีการรวมกลุ่มกันเป็นสมาคมหรือองค์การ
ของผู้ประกอบการ วิชาชีพนั้นๆ เพื่อเป็นตัวแทนของผู้ประกอบวิชาชีพ
3. มีข้อกำหนดความสามารถของอาชีพ มีเกณฑ์มาตรฐานการปฏิบัติงาน
4. การเข้าสู่วิชาชีพจะต้องมีการควบคุม และจะต้องมีการเรียนรู้ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฎิบัติ
จากสถาบันที่มีการสอน ในหลักสูตรที่เป็นที่ยอมรับ
5. มีงานวิจัยอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ โดยมีการนำเสนองานวิจัยต่อสาธารณะอย่างกว้างขวางและเป็นที่ยอมรับ
6. มีการนำผู้ประกอบวิชาชีพนั้น เข้ามาเกี่ยวข้องในการจัดหลักสูตรการเรียนการสอนในสาขาวิชาชีพนั้นๆ
7. มีโครงการศึกษาต่อเนื่องสำหรับผู้ประกอบวิชาชีพ
8. ผู้ที่สำเร็จการศึกษาสามารถใช้ดุลยพินิจโดยอิสระในการประกอบวิชาชีพ
9. มีจรรยาบรรณของผู้ประกอบวิชาชีพ
10. มีวารสารวิชาการหรืองานวิจัยเผยแพร่งานวิจัยวิชาการอย่างแพร่หลาย


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.