|

ชี้การบินแข่งดุANAขยายคาร์โก้ลดเสี่ยงรายได้
ผู้จัดการรายวัน(27 ตุลาคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
ธุรกิจการบินแข่งดุ แอร์นิปปอน แอร์เวย์ หันเปิดเที่ยวบินคาร์โก้ ลดความเสี่ยง และสร้างฐานรายได้ของธุรกิจให้แข็งแกร่ง ระบุ ตลาดคาร์โก้ ระหว่างไทย-ญี่ปุ่น มีโอกาสเติบโตสูง รับอานิสงส์จากการเปิด FTA อีกทั้งตลาดนี้ยังมีคู่แข่งขันน้อยราย ตั้งเป้า ปีหน้าปรับสัดส่วนรายได้ คาร์โก้ ขึ้นเป็น 40% จากปีนี้อยู่ที่ 30%
นายฟูยูฮิโกะ โอตะ ผู้จัดการฝ่ายบริหารและฝ่ายขายสายการบิน All Nippon Airways หรือ ANA เปิดเผยว่า ในเดือนกุมภาพันธ์ 2549 บริษัทฯจะเปิดให้บริการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ (คาร์โก้) ระหว่างไทยกับญี่ปุ่น ซึ่งหากไม่นับรวมประเทศจีนแล้ว ไทยถือเป็นประเทศแรกที่ ANA เปิดเที่ยวบินคาร์โก้ เพื่อขนส่งสินค้าโดยเฉพาะ ซึ่งปีแรกกำหนดบิน 4 เที่ยวต่อสัปดาห์ ใน 2 เส้นทาง คือ สนามบินคันไซ เมืองโอซาก้า 3 เที่ยวต่อสัปดาห์ และ นาโกย่า 1 เที่ยวต่อสัปดาห์
ทั้งนี้สาเหตุที่บริษัทฯให้ความสำคัญกับการเปิดเที่ยวบินคาร์โก้ ส่วนหนึ่งเกิดจากความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศ ที่มีแน่นแฟ้นขึ้น มีการตกลงร่วมมือกันทางด้านเศรษฐกิจ การเปิดเขตการค้าเสรีระหว่างกัน (FTA) ตลอดจนความร่วมมือด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยว ประกอบกับปัจจุบันธุรกิจการบินขนส่งผู้โดยสารมีการแข่งขันสูง มีคู่แข่งรายใหม่ๆ เข้ามา เช่น สายการบินสิงคโปร์ แอร์ไลน์ ต้นทุนค่าน้ำมันเพิ่มขึ้น แต่ไม่สามารถปรับราคาค่าบริการได้มากนัก ดังนั้นการหันเข้ามาให้ความสำคัญกับธุรกิจคาร์โก้ น่าจะส่งผลดีขึ้นเพราะตลาดคาร์โก้ มีคู่แข่งขันน้อยราย จึงมีโอกาสเติบโตของรายได้ค่อนข้างมาก
“สำหรับเที่ยวบินคาร์โก้ เราจะใช้เครื่อง B767-300 รับน้ำหนักบรรทุกต่อเที่ยวได้ 45 ตัน เบื้องต้นใช้บินในเส้นทางกรุงเทพฯก่อน 1 ลำ วางแผนเพิ่มเป็น 8 ลำในปี 2552 โดยกระจายบินคาร์โก้ในหลายๆประเทศ นอกเหนือจากประเทศไทย”
การเพิ่มเที่ยวบินคาร์โก้ จะส่งผลให้สัดส่วนรายได้ของบริษัทฯจากปัจจุบันคือ 70% เป็นรายได้จากผู้โดยสาร และ 30% เป็นรายได้จากคาร์โก้ โดยจะเพิ่มสัดส่วนเป็นรายได้จากคาร์โก้ 40% และ รายได้จากตั๋วผู้โดยสารจะเป็นสัดส่วน 60% ในสิ้นปี 2549 และภาพรวมของรายได้บริษัทฯจะเติบโตเฉลี่ย 10% ทุกๆปี
ทั้งนี้ปัจจุบัน ANA มีเที่ยวบินขนส่งผู้โดยสารในเส้นทาง กรุงเทพ – โตเกียว สัปดาห์ละ 14 เที่ยว โดยใช้เครื่องบิน B767-300 บรรทุกผู้โดยสารได้ 214 ที่นั่ง มีอัตราจำนวนที่นั่งต่อผู้โดยสารต่อเที่ยวบิน (โหลดแฟกเตอร์) เฉลี่ย 80% โดยตั้งแต่วันที่ 30 ตุลาคมศกนี้ เป็นต้นไป บริษัทฯจะเปลี่ยนมาใช้เครื่อง B777-200 ที่มีขนาดใหญ่ขึ้น ขนผู้โดยสารต่อเที่ยวได้ 292 ที่นั่ง ซึ่งจะบิน 7 เที่ยวต่อสัปดาห์ สำหรับเที่ยวบิน NH953 และ NH954 และที่เหลืออีก 7 เที่ยวต่อสัปดาห์สำหรับเที่ยวบิน NH915 และ NH916 จะยังคงใช้เครื่อง B767-300 เช่นเดิม ซึ่งการเปลี่ยนเครื่องบินให้มีขนาดใหญ่ขึ้น จะทำเพิ่มความสามารถในการรองรับผู้โดยสารได้มากกว่าเดิมอีก 18%
“การเปิดเที่ยวบินคาร์โก้และการเปลี่ยนเครื่องบินให้ใหญ่ขึ้น ก็เพื่อสนองนโยบายเปิดเสรีการค้าและตอบความต้องการของนักเดินทางทั้งชาวญี่ปุ่นและคนไทย ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มนักธุรกิจ นักท่องเที่ยวและอื่นๆ โดยในส่วนของคาร์โก้ ที่ไทยส่งไปญี่ปุ่น ส่วนใหญ่เป็นสินค้าเกษตรและจะเพิ่มเป็นสินค้าประเภทชิ้นส่วนอิเลคทรอนิค ขณะที่สินค้าญี่ปุ่นที่ส่งมาไทย เช่น เครื่องจักรอุตสาหกรรม ชิ้นส่วนมอเตอร์ เป็นต้น”
อย่างไรก็ตามในเส้นทางระหว่างกรุงเทพ-ญี่ปุ่น บริษัทฯมีคู่แข่งโดยตรง 3 ราย คือ สายการบินไทย สายการบินญี่ปุ่น และนอร์เวย์ ซึ่งบริษัทฯได้ออกแคมเปญบีชควีน เป็นแพ็กเกจการเดินทางราคาพิเศษเริ่มตั้งแต่กลางเดือนพฤศจิกายนนี้-เดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มจำนวนโดยสารคนไทยได้10% ในช่วงเวลาดังกล่าว
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|