จี้ลงโทษหนักเอกชนทุจริตล้างบ้านรับกระแสลงทุนเข้าไทย2ปีข้างหน้า


ผู้จัดการรายวัน(27 ตุลาคม 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

"สมคิด" เชื่อ 2-3 ปีหน้ากระแสการลงทุนจะมุ่งเข้ามาในไทย แนะเร่งกำจัดคอร์รัปชั่นภาคธุรกิจทั้งในและนอกตลาดหุ้นแม้ไทยสอบผ่านบรรษัทภิบาล ใครไซฟ่อน-ตกแต่งบัญชี ให้ใช้บทลงโทษรุนแรง ระบุ BOI ปรับนโยบายให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีตามธุรกิจ เชื่อ"หวัดนก"กระทบจีดีพีแค่เล็กน้อย

วานนี้ (26 ต.ค.) สภาธุรกิจตลาดทุนไทย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ร่วมจัดงานสัมมนา เรื่อง"ทัศนะธนาคารโลกต่อ CG ไทย และทิศทางในอนาคต" โดยมี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ "วิสัยทัศน์ การพัฒนาบรรษัทภิบาลที่ดีของตลาดทุนไทย" ว่าในช่วงที่ผ่านมาภาครัฐได้เดินทางไปต่างประเทศเพื่อให้ข้อมูลรวมถึงสร้างความมั่นใจกับนักลงทุนต่างชาติอย่างต่อเนื่อง โดยเชื่อว่าในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า กระแสของการลงทุนจากภายนอกประเทศจะไหลเข้ามาสู่ประเทศไทยมากขึ้น

แต่ต้องระมัดระวังไม่ให้เกิดการสะดุดเองภายในประเทศ ทั้งนี้ การเร่งสร้างความน่าเชื่อถือและความมั่นใจให้กับนักลงทุน ทั้งในเรื่องนโยบายทางการเมืองและนโยบายทางเศรษฐกิจ เนื่องความภาพของความกังวลและความรู้กับประเทศไทยว่าเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดเหตุการณ์วิกฤตเมื่อปี 2540 โดยเหตุผลหลักเป็นเรื่องที่ธุรกิจในภูมิภาคเอเชียยังไม่มีการดูแลเรื่องบรรษัทภิบาลที่ดี

แต่อย่างไรก็ตามสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงในเรื่องดังกล่าวหลังจากที่คณะกรรมการบรรษัทภิบาลแห่งชาติ ซึ่งได้รับการประเมินจากธนาคารโลกในเรื่องบรรษัทภิบาลของบริษัทจดทะเบียนไทย ว่า ประเทศไทย สอบผ่านเกณฑ์ตามมาตรฐานสากลถึง 69% แต่ก็ยังไม่เพียงพอ เพราะหากจะทำให้เกิดความสำเร็จจะต้องสร้างค่านิยมอย่างต่อเนื่องและทำให้ประเทศไทย เป็นประเทศบรรษัทภิบาลที่ดี

"แม้ว่าเราจะสอบผ่านตามมาตราฐานสากล แต่ระยะทางที่จะพิสูจน์และสร้างความเชื่อมั่นใจเรื่องบรรษัทภิบาลยังถือว่าเส้นทางยังอีกยาวไกล"นายสมคิดกล่าว

นายสมคิด กล่าวอีกว่า ความสำเร็จในเรื่องดังกล่าวหากจะสะท้อนให้เห็นผลโดยเร็ว ภาครัฐเอกชนต้องเข้ามาให้ความร่วมมือกับรัฐบาลมากขึ้น การส่งเสริมให้บริษัทที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์หรือนอกตลาดหลักทรัพย์ซึ่งจำนวนมากเป็นธุรกิจแบบครอบครัวเร่งทำให้มีการบริหารงานภายใต้บรรษัทภิบาลที่ดี สิ่งที่จะตามมาทั้งในด้านภาพลักษณ์ที่สามารถสร้างความน่าเชื่อถือ ยังจะส่งผลต่อผลการดำเนินงานของบริษัทด้วย

ทั้งนี้ ในเรื่องดังกล่าวได้มีการมอบหมายให้สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) หอการค้าไทย สภาธุรกิจตลาดทุน เร่งรณรงค์ให้หอการค้า และอุตสาหกรรมทุกจังหวัด จัดกิจกรรมส่งเสริมบรรษัทภิบาลที่ดี

นอกจากนี้ ประเด็นสำคัญที่จะช่วยให้ภาพบรรษัทภิบาลเด่นขึ้น คือ การเร่งสร้างค่านิยมในการกำจัดการคอรรัปชั่นในภาคธุรกิจ โดยในเรื่องดังกล่าวต้องให้มีการระบุถึงบทลงโทษที่รุนแรงสำหรับบุคคลที่กระทำผิดทั้งในส่วนของการไซฟ่อนเงิน ตกแต่งบัญชี หรือ มีการกระทำทุจริตต่อบริษัท โดยในเรื่องดังกล่าวต้องให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบและกดดันหากกระบวนการยุติธรรมมีความไม่ปกติเกิดข้น

อย่างไรก็ตาม หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ผู้ตรวจสอบบัญชี ก็ต้องสร้างความโปร่งใสในองค์กรเองด้วย

เปลี่ยนเกณฑ์รับสิทธิภาษี

นายสมคิด กล่าวอีกว่า ในช่วงเดือนพ.ย.นี้ คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(BOI) จะมีการแก้ไขนโยบายเพื่อกำหนดมาตรการในการให้สิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีเพื่อเอื้อประโยชน์ให้นักลงทุนต่างชาติ โดยที่ผ่านมาการให้สิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีจะเป็นในในลักษณะการแบ่งพื้นที่ แต่ที่จะเปลี่ยนแปลงไปจะเป็นลักษณะการให้สิทธิประโยชน์สูงในธุรกิจที่พร้อมจะเข้ามาสร้างฐานการผลิตในประเทศ

ทั้งนี้ ในเรื่องดังกล่าวจะช่วยทำให้ธุรกิจหลายที่สนใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทยมีแรงจูงใจมากขึ้น และพร้อมจะเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้นด้วย

หวัดนกกระทบเล็กน้อย

นายสมคิด กล่าวถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไข้หวัดนกว่า เรื่องดังกล่าวจะกระทบกับจีดีพีเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เนื่องจากกาาควบคุมการแพร่ระบาดทำได้ดีขึ้นจากประสบการณ์ที่เคยมีการเกิดขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา ทั้งนี้สิ่งที่ทำให้เกิดการวิตกกังวล เนื่องจากเป็นการแพร่ระบาดเกิดขึ้นในกลุ่มประเทศยุโรปซึ่งยังไม่เคยมีการระบาด การดูแลและมีแนวทางในการป้องกันที่ดีจะทำให้สถานการณ์ทุกอย่างดีขึ้น

เชื่อปรับผู้ว่าเฟดไม่กระทบ

นายสมคิด กล่าวว่า การปรับเปลี่ยนประธานธนาคารกลางของสหรัฐ จากนายอลัน กรีนสแปน เป็น เบน เบอร์นากี เชื่อว่าในส่วนของนโยบายเชื่อว่าจะไม่มีการปรับเปลี่ยนเนื่องจากเชื่อว่าการคัดเลือกของประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู บุช คงเลือกคนที่เก่งที่สุดเข้ามาทำงาน

แต่ทั้งนี้คงต้องใช้เวลาซักระยะในการสร้างความน่าเชื่อถือต่อไป

ก้องเกียรติแนะนักลงทุนสถาบันควรมีบทบาทมากขึ้น

นายก้องเกียรติ โอภาสวงการ ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยว่า กฎหมายที่จะคอยกำกับดูแลที่จะไม่ให้บริษัทเอาเปรียบผู้ถือหุ้นรายย่อย หรือคอยดูแลผู้ถือหุ้นรายย่อยนั้นถือเป็นแค่แนวทางเท่านั้น โดยสิ่งที่สำคัญขึ้นอยู่กับสามัญสำนึก ของผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน ควรที่จะมีบรรษัทภิบาลที่ดี

ทั้งนี้ผู้ถือหุ้นที่เป็นนักลงทุนสถาบันควรที่จะมีบทบาทมากกว่านี้ ซึ่งถ้ามีวาระหรือเรื่องใดที่ไม่เห็นด้วยก็ควรที่จะเปิดเผยอย่างชัดเจน โดยเสนอผ่านเว็บไซต์ของบริษัท ซึ่งจะช่วยทำให้บริษัทจดทะเบียนได้รู้ถึงมุมมองของนักลงทุนสถาบันได้ และทำให้เป็นแนวทางให้กับนักลงทุนรายย่อยได้รู้

ขณะเดียวกันผู้ลงทุนสถาบันก็สามารถที่จะร่วมกับสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย แสดงให้เห็นถึงมุมมองดังกล่าวได้ และจะทำให้มีน้ำหนักมากยิ่งขึ้น โดยนักลงทุนสามารถตรวจเช็คได้ในเว็บไซต์ได้

นายวิชัย พูลวรลักษณ์ นายกสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย เปิดเผยว่า ในช่วงที่ผ่านมาพบว่ามีบริษัทจดทะเบียนบางรายที่ขาดความรับผิดชอบ โดยได้ส่งหนังสือเพื่อเชิญประชุมผู้ถือหุ้นประจำปี และเมื่อสมาคมได้ส่งตัวแทนที่เป็นอาสาพิทักษ์สิทธิไปประชุม และคอยสังเกตการณ์พบว่าบริษัทดังกล่าวไม่ได้มีการจัดประชุมแต่อย่างใด

"บริษัทจดทะเบียนบางแห่งขาดความรับผิดชอบ เช่นได้ส่งหนังสือเชิญเข้าร่วมประชุมผู้ถือหุ้นประจำปี แต่เมื่อสมาคมได้ส่งตัวแทน ซึ่งเป็นอาสาพิทักษ์สิทธิไปพบว่าสถานที่จัดประชุมเป็นลานจอดรถ และเมื่อไปแจ้งให้ทราบเขาก็ขอเวลาประมาณ 15 นาทีแล้วจัดเตรียมสถานที่จัดประชุม โดยผู้เข้าร่วมการประชุมพบว่าเป็นคนของเขาทั้งหมด"นายวิชัยกล่าว

ทั้งนี้บทบาทหน้าที่ของสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทยนั้น จะคอยคุ้มครองผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นรายย่อย โดยที่ผ่านมาก็ได้เข้ามาผลักดันในกรณีของบริษัทรอยเนท ที่มีการตกแต่งบัญชีและผู้ถือหุ้นใหญ่ขายหุ้นออกมาโดยไม่ได้แจ้งให้ทราบ ทำให้มีการรวบรวมเสียงของผู้ถือหุ้นรายย่อย เพื่อขอให้มีการเปิดประชุม ซึ่งในที่สุดก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงกรรมการของบริษัทและต่อมาบริษัทก็ถูกตลาดหลักทรัพย์สั่งเพิกถอนออกจากการเป็นบริษัทจดทะเบียน

รวมถึงกรณีของบริษัทปุ๋ยแห่งชาติ ที่สมาคมเป็นตัวแทนของนักลงทุนรายย่อย และสามารถผลักดันให้บริษัทออกใบสำคัญแสดงสิทธิหรือ
วอร์แรนต์ปัจจุบันนี้ประเทศไทยยังขาดกฎหมายที่จะคุ้มครองรายย่อยอย่างชัดเจน เพราะถ้าผู้ถือหุ้นรายย่อยมีการฟ้องร้อง คดีทางแพ่ง ซึ่งถ้าชนะคดีเงินที่ได้รับก็จะไปยังบริษัท ผู้ถือหุ้นรายย่อยที่ฟ้องจะไม่ได้รับแต่อย่างใด ซึ่งจะแตกต่างจากกฎหมายของต่างประเทศ

ศ.หิรัญ รดีศรี ประธานที่ปรึกษา ศูนย์พัฒนาการกำกับดูแลกิจการบริษัทจดทะเบียน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ตามระบบสากลการเชิญผู้ถือหุ้นเข้าร่วมประชุมนั้นจะให้เวลา 30 วัน เพื่อที่จะให้ผู้ถือหุ้นมีเวลารวมกันกันไปโหวตว่าจะเลือกบุคคลใดที่เหมาะสมมาเป็นกรรมการบริษัทจดทะเบียน ขณะที่ของประเทศไทยนั้นเราให้เวลาน้อยมากประมาณ 7 วันและในเชิงปฏิบัติสามารถทำได้จำนวน 14 วัน

ทั้งนี้สามารถแก้ไขได้ โดยให้บริษัทจดทะเบียนจัดทำเว็บไซต์ขึ้นมาและระบุวาระต่างๆ ในเว็บไซต์รวมถึงบุคคลที่จะเสนอให้เป็นกรรมการบริษัท ซึ่งจะทำให้ผู้ถือหุ้นมีโอกาสได้รู้ข้อมูล และเตรียมตัวดำเนินการได้ก่อนที่จะไปประชุมผู้ถือหุ้น สำหรับในแง่ของฟรีโฟลทหุ้นที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์นั้น จะต้องพิจารณา 2 ประเด็นคือกรณีที่เป็นรัฐวิสาหกิจนั้น ทางภาครัฐประกาศที่จะเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วนไม่ต่ำกว่า 75%

ดังนั้นฟรีโฟลทจึงเหมือนถูกล็อตไว้ว่าจะไม่สามารถเกินได้ในระดับ 25% แต่สำหรับบริษัทจดทะเบียนทั่วไปนั้นก็พบว่าจะมีฟรีโฟลทอยู่ในระดับประมาณ 30-40% ส่วนในแง่ของกรรมการอิสระนั้นควรที่จะมีกรรมการที่มีความรู้เกี่ยวกับระบบบัญชีอย่างน้อย 1 คนและมองว่า

กรรมการอิสระไม่น่าจะถือหุ้นเกินกว่า 5% เพราะถ้าถือหุ้นเกินกว่าจำนวนดังกล่าว โดยเฉพาะในหุ้นที่มีขนาดใหญ่เช่น บริษัทปูนซีเมนต์ไทย หรือบริษัทปตท.นั้น ถือว่ามีนัยสำคัญ แต่ถ้าถือหุ้นในบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอในระดับ 5% อาจจะไม่มีผลมากนัก

นายชาญชัย จารุวัสตร์ กรรมการผู้อำนวยการ สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทยกล่าวว่า ขณะนี้เชื่อว่ากรรมการของบริษัทจดทะเบียนประมาณ 70-80% จะมีความเข้าใจว่าการเข้ามาเป็นกรรมการของบริษัทนั้นเกิดจากผู้บริหารของบริษัท แต่ในความเป็นจริงคนที่เข้ามาเป็นกรรมการได้นั้น เพราะได้รับความเห็นชอบจากผู้ถือหุ้น ดังนั้นการทำงานของกรรมการจึงต้องดำเนินการเพื่อบริษัทโดยรวม

นอกจากนี้กรรมการบางคนที่เข้ามานั้นถือเป็นตัวแทนของกลุ่มผู้ถือหุ้นใด กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ดังนั้นจึงกรรมการดังกล่าวจะพยายามปกป้องผลประโยชน์ของกลุ่มผู้ถือหุ้นของตนเอง ซึ่งโดยหลักการแล้วจะต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นทุกกลุ่ม ซึ่งเชื่อว่าเมื่อมีกฎหมายที่เข้มงวดขึ้นจะทำให้บริษัทดังกล่าวจะต้องทำให้ถูกต้องขึ้น


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.