|
นัดชี้ชะตาทีพีไอ2พ.ย. จพท.เปิดช่องตั้งกก.เพิ่มได้-ศาลไม่ให้ปลด'ประชัย'
ผู้จัดการรายวัน(26 ตุลาคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
ประชัย ยื่นคำร้องคัดค้านการแก้ไข ข้อบังคับบริษัทฯตามที่คลังเสนอเพื่อเปิดทางให้ "ปตท." ฮุบทีพีไอ ฉุน "จพท." ไร้ความเป็นกลาง ยกตัวอย่าง บางคดีฯที่ศาลไฟเขียวตั้งกรรมการบริษัทฯเพิ่มโดยไม่ต้องเรียกประชุมผู้ถือหุ้นระหว่างที่อยู่ในกระบวนการฟื้นฟูกิจการ จวกรัฐไม่ใช่ที่พึ่งของประชาชนอีกต่อไป โดยศาลฯนัดฟังคำสั่ง 2 พ.ย.นี้ "กิตติรัตน์" เมินคำสั่ง ศาลห้ามปลด "ประชัย" พ้นกรรมการ ย้ำเป็นคนละกรณี กับการกล่าวโทษของก.ล.ต. เดินหน้าปลด "ประชัย" พ้น 3 บริษัท "TPI-TPIPL-BUI"
วานนี้ (25 ต.ค.) ศาลล้มละลาย กลางนัดพิจารณาคดีที่ผู้บริหารแผน ฟื้นฟูกิจการบริษัท อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด (มหาชน) (ทีพีไอ) ได้ยื่นคำร้องเพื่อแก้ไขข้อบังคับบริษัทฯ โดยให้ผู้บริหารแผนฯ จัดการประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อเปลี่ยน แปลงกรรมการบริษัทฯภายหลังจาก ทีพีไอออกจากกระบวนการฟื้นฟูกิจการ เพื่อเปิดทางให้พันธมิตรร่วมทุน อาทิ บมจ. ปตท. เข้ามาดำรงตำแหน่งกรรมการ บริษัทฯแทน โดยนายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ ประธาน เจ้าหน้าที่บริหารทีพีไอและผู้บริหารลูกหนี้ ได้ยื่นคำ ร้องคัดค้านการขอแก้ไขข้อบังคับของผู้บริหารแผนฯ
นายองอาจ งามมีศรี ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะ ศาลล้มละลายกลาง ได้เปิดโอกาสให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายได้ชี้แจงคำร้องดังกล่าว โดยศาลฯได้นัดฟังคำสั่งคำร้องการขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อบังคับบริษัทฯ เพื่อกำหนดการประชุมผู้ถือหุ้นแต่งตั้งกรรมการชุดใหม่ ในวันที่ 2 พ.ย. นี้ เวลา 9.30 น.
ทั้งนี้ทนายความของผู้บริหารแผนฯ กล่าวว่า กระทรวงการคลังในฐานะผู้บริหารแผนฯทีพีไอได้จัดหาผู้ร่วมทุนซื้อหุ้นทีพีไอ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการชำระค่าหุ้นที่ราคา 3.30 บาท/หุ้น ซึ่งการขอแก้ไขข้อบังคับบริษัทฯเป็นแนวทางที่จะทำให้พันธมิตรเชื่อมั่นใจการชำระค่าหุ้น หากกรณีที่ไม่สามารถขายหุ้นให้ผู้ร่วมทุนได้ ทีพีไอจะต้องทำการแปลงหนี้เป็นทุน ทำให้ชำระหนี้ได้เพียง 650 ล้านเหรียญสหรัฐต่ำกว่าการขายหุ้นให้พันธมิตรที่จะได้เงิน 7.2 หมื่นล้านบาท และมูลค่าหุ้นทีพีไอจะอยู่ที่ 2.12 บาท/หุ้น ต่ำกว่าที่ขายให้พันธมิตรร่วมทุน
นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงวาระการประชุมเพื่อแต่งตั้งกรรมการทั้งชุดนั้น จะใช้ตามกฎหมายบริษัทมหาชน ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อผู้ถือหุ้นรายย่อยที่จะมีกรรมการเข้าไปตรวจสอบดูแล
นายเชาวลิต อรรถศาสตร์ ทนายความของผู้บริหารลูกหนี้ กล่าวว่า คำร้องขอแก้ไขข้อบังคับของผู้บริหารแผนฯมีเจตนาที่ต้องการเปลี่ยนแปลงด้านการบริหารของลูกหนี้ ซึ่งได้พยายามหลายครั้งก่อนหน้านี้ เพียงแต่ครั้งนี้ได้เลี่ยงประเด็นไปที่การประชุม ผู้ถือหุ้นฯ เพื่อให้กรรมการเดิมพ้นจากตำแหน่ง แล้ว ตั้งกรรมการชุดใหม่แทน โดยผู้บริหารแผนฯขอเป็น ผู้ดำเนินการนัดประชุมผู้ถือหุ้นเอง ซึ่งตามกฎหมายระบุชัดเจนว่าการเรียกประชุมผู้ถือหุ้นเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการบริษัทฯ
นอกจากนี้ การที่ขอแก้ไขข้อบังคับในครั้งนี้ยัง เป็นการดำเนินการพิจารณาซ้ำและซ้อน เพราะคลังได้เคยยื่นคำร้องเมื่อวันที่ 6 ก.ย.2547 และทางผู้บริหารลูกหนี้ได้ยื่นคัดค้านแล้ว โดยศาลสั่งเมื่อวันที่ 10 พย.2547 ไม่เห็นด้วยในการเปลี่ยนแปลงด้านการบริหาร รวมถึงการแก้ไขข้อบังคับ และการให้กรรมการพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ
ล่าสุด ผู้บริหารแผนฯได้ยื่นคำร้องขอแก้ไขข้อบังคับในช่วงส.ค.2548 โดยเพิ่มเติมบทเฉพาะข้อ 56, 57 เพื่อให้มีการเปลี่ยนแปลงด้านการบริหารของลูกหนี้ โดยกำหนดให้คณะกรรมการเดิมพ้นจากตำแหน่ง และแต่งตั้งกรรมการชุดใหม่แทน ซึ่งศาลฯไม่อนุญาต ดังนั้นผู้บริหารแผนฯได้ขอขยายเวลาการยื่นอุทธรณ์คดีให้ถึง 16 พ.ย. 2548
การที่ผู้บริหารแผนฯ มีข้อตกลงกับผู้ร่วมทุนว่า จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงการบริหารของลูกหนี้ โดยนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงข้อบังคับของบริษัทฯถือ ว่าเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งนี้ทีพีไอเป็นลูกหนี้ ที่มีมูลหนี้สูงสุด การฟื้นฟูกิจการจำเป็นต้องปฏิบัติตามกฎหมาย หากตัวแทนคลังใช้นโยบายที่ไม่สอด คล้องกับกฎหมายเพื่อให้แผนฯบรรลุเป้าหมาย จะก่อให้เกิดปัญหาเรื่องการใช้กฎหมายต่อสังคมตามมา
นอกจากนี้ นายประชัย ในฐานะผู้บริหารลูกหนี้และผู้ค้ำประกัน กำลังดำเนินการหาผู้ร่วมทุนเพื่อ นำเงินทั้งหมด 7.2 พันล้านเหรียญมาชำระให้เจ้าหนี้ ซึ่งจะทำให้การปฏิบัติตามแผนฟื้นฟูฯสำเร็จ จพท.ชี้ช่องตั้งกก.เพิ่มโดยไม่เรียกประชุมฯ
ตัวแทนเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ (จพท.) ได้กล่าวแสดงความเห็นว่า ประเด็นสำคัญของคดีนี้อยู่ที่การเพิ่มกรรมการบริษัทในระหว่างฟื้นฟูฯจะทำได้หรือไม่ ซึ่งที่ผ่านมามีบางคดีที่ศาลล้มละลายกลางได้อนุญาตให้เพิ่มกรรมการบริษัทฯ ได้โดยไม่ต้องมีการเรียกประชุมผู้ถือหุ้น แม้ว่าบริษัทฯจะอยู่ในกระบวนการฟื้นฟูกิจการก็ตาม แต่การตั้งกรรมการใหม่จะต้องไม่กระทบต่อกรรมการชุดเดิมของบริษัทฯ
อย่างไรก็ตาม หากศาลยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ แล้ว คณะกรรมการบริษัทฯจะเป็นผู้เรียกประชุมผู้ถือหุ้น แต่ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับศาลฯจะพิจารณาให้มีการเพิ่มจำนวน กรรมการระหว่างที่ทีพีไออยู่ในการฟื้นฟูฯหรือไม่
นายอภิชาติ พันธุ์เกษร เลขานุการคณะกรรมการเจ้าหนี้ทีพีไอ กล่าวว่า คณะกรรมการเจ้าหนี้ มีความเห็นว่าการหาพันธมิตรร่วมทุนเป็นแนวทางที่สำคัญในการทำให้การฟื้นฟูกิจการทีพีไอสำเร็จ ดังนั้น คณะกรรมการเจ้าหนี้จึงไม่คัดค้านการขอแก้ไขข้อบังคับฯตามที่ผู้บริหารแผนฯทีพีไอเสนอ ส่วนแนวทาง ที่นายประชัย จะหาเงินมาชำระหนี้ 7.2 พันล้านเหรียญสหรัฐนั้น เจ้าหนี้ได้ยินมาแต่ก็เงียบหายไป
ศาลยกคำร้องปลด "ประชัย"
ส่วนคดีที่ผู้บริหารแผนฯยื่นศาลฯขอให้มีคำสั่งปลดนายประชัย ออกจากตำแหน่งกรรมการและผู้บริหารทุกตำแหน่งในทีพีไอ สืบเนื่องจากตลาด หลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวโทษนายประชัย กรณีทำให้ราคาหุ้นบริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) มีราคาเพิ่มสูงขึ้นเมื่อวันที่ 18 ส.ค. 2548 โดยศาลพิเคราะห์ให้ยกคำร้องดังกล่าว เนื่องจากนายประชัย ไม่มีอำนาจในการบริหารและจัดการทรัพย์สินของทีพีไอเป็นการชั่วคราวระหว่างอยู่ในแผนฟื้นฟูฯ
ซึ่งผู้บริหารแผนฯมีอำนาจหน้าที่ในการจัดการ เกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ รวมทั้งมีสิทธิออกข้อกำหนดให้นายประชัยกระทำหรือละเว้นการกระทำในเรื่องการจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้ได้
แหล่งข่าวจากคณะกรรมการเจ้าหนี้ กล่าวว่า ทางคณะกรรมการเจ้าหนี้ได้ยื่นคำร้องต่อจพท.ที่จะขอแก้ไขแผนฟื้นฟู เรื่องการเลื่อนระยะเวลาแผนฯออกจากไปจากเดิมที่สิ้นสุดธ.ค.48 เป็น 30 มิ.ย.49 ขณะที่ผู้บริหารแผนฯได้ยื่นขอขยายแผนฟื้นฟูฯออก ไปแค่ 3 เดือนสิ้นสุด 31 มี.ค.49 โดยจะมีการประชุม เจ้าหนี้เพื่อโหวตรับการแก้ไขแผนฯในวันที่ 28 ต.ค.นี้ และศาลฯได้นัดฟังคำสั่งคำร้องดังกล่าวในวันที่ 1 พ.ย.48
ประชัยจวกรัฐไม่ใช่ที่พึ่งปชช.
นายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ ผู้บริหารลูกหนี้ กล่าว ภายหลังการฟังคำสั่งศาลฯว่าโดยส่วนตัวมองว่าอำนาจรัฐรังแกประชาชน ตั้งแต่คลัง ก.ล.ต. และจพท. ไม่อาจเป็นที่พึ่งพิงของประชาชนได้แล้ว เนื่องจากตามกฎหมายมหาชนแล้วหลังจากออกจากแผนฟื้นฟูฯ อำนาจการบริหารจะขึ้นอยู่กับผู้บริหารลูกหนี้ จากนั้นจึงได้มีการเรียกประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารต่อไป
“ผมคิดว่าภาครัฐรังแกประชาชน ซึ่งรัฐเป็นที่พึ่งของประชาชนไม่ได้แล้ว ต้องพึ่งอำนาจศาลเพียงอย่างเดียว”
นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ ทีมงานผู้บริหารแผนฯ กล่าวว่า จพท.ชี้ชัดว่าการเพิ่มกรรมการบริษัทฯระหว่างการฟื้นฟูฯโดยไม่ปลดกรรมการเดิมนั้นสามารถทำได้ไม่ผิด เพราะก่อนหน้านี้ ศาลฯมีคำสั่งให้บริษัท ท่าเรือระยองในเครือบมจ.ปุ๋ยเอ็นเอฟซี แต่งตั้งกรรมการเพิ่มขึ้นได้ โดยบริษัทดังกล่าวอยู่ภายใต้กฎหมายฟื้นฟูฯ
ปัจจุบันทีพีไอมีกรรมการทั้งสิ้น 12 คน(เดิม 15 คน) และแต่งตั้งได้เพิ่มขึ้นอีกไม่เกิน 25 คน ซึ่งผู้บริหารแผนฯอาจจะเลือกการแต่งตั้งเพิ่มขึ้นอีก 13 คนแทนที่จะปลดกรรมการชุดเดิมก็ได้
"กิติรัตน์" เมินคำสั่งศาล จี้ปลด "ประชัย" ต่อ
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ถึงแม้ศาลล้มละลายกลางจะมีคำวินิจฉัยให้นายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการและผู้บริหารต่อไปนั้น เป็นคนละกรณีที่สำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวโทษนั้น นายประชัยจะต้องพ้นจากการ เป็นกรรมการและผู้บริหาร ของบริษัทจดทะเบียน เพราะการเป็นบริษัทจดทะเบียนนั้นมีข้อกำหนดเฉพาะ และเข้มงวดกว่ากฎหมาย หากผู้บริหารบริษัทใดถูกกล่าวโทษจากสำนักงาน ก.ล.ต. ผู้บริหารดังกล่าวจะต้องพ้นจากการเป็นกรรมการและผู้บริหารของบริษัทจดทะเบียน
"หากบริษัท TPI, TPIPL และ BUI ไม่ได้เป็นบริษัทจดทะเบียน เมื่อศาลมีการวินิจฉัยอย่างไร ก็ถือเป็นไปตามนั้น แต่เมื่อทั้ง 2 เป็นบริษัทจดทะเบียน ก็จะต้องมีการปฏิบัติตามข้อบังคับดังนั้น นายประชัย ก็จะต้องพ้นจากการเป็นกรรมการและผู้บริหาร โดย เชื่อว่านายประชัยนั้นเป็นผู้ที่มีชื่อเสียง ซึ่งหลายคนก็มองว่า นายประชัยมีสปีริตที่ดี ดังนั้นเมื่อนายประชัย ลาออกเองทุกคนก็จะมองว่านายประชัยเป็นผู้บริหาร ที่ดี ทุกคนก็จะชื่นชม โดยหากไม่ลาออกจากการที่เป็นกรรมการจากที่มีชื่อเสียง ก็จะกลายเป็นชื่อเสีย"
สำหรับที่มีการกำหนดว่าเมื่อตลาดหลักทรัพย์มีการทำหนังสือแจ้งไปยัง 3 บริษัทแล้ว จะต้องมีการพิจารณาให้นายประชัย พ้นจากการเป็นกรรมการ และผู้บริหารใน 60 วันนั้น ไม่อยากกำหนดกรอบว่า จะต้องพ้นภายในกี่วัน เพราะบุคคลที่มีน้ำใจนักกีฬา นั้นก็ไม่ต้องที่จะรอให้ครบกำหนด
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|