|

บอร์ดกสทเอื้อ"หัวเหว่ย" เลื่อนเปิดบริการซีดีเอ็มเอ
ผู้จัดการรายวัน(26 ตุลาคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
บอร์ด กสท เลื่อนเปิดบริการซีดีเอ็มเอ ส่อเอื้อประโยชน์ "หัวเหว่ย" ไม่ต้องเสียค่าปรับเฟสแรก 800 สถานีฐาน ที่ต้องส่งมอบ ม.ค.49 ซึ่งถือเป็นการแก้สัญญาที่ผิดทีโออาร์ เผย ยิ่งช้าก็ยิ่งให้เวลา "เอไอเอส" และผู้ให้บริการเดิมปรับตัวมากขึ้น ในขณะที่ "สรอรรถ" ยันหากมีปัญหาจะเรียกประธานบอร์ดชี้แจง
แหล่งข่าวจากบริษัท กสท โทรคมนาคม กล่าวว่า การที่นายธีระศักดิ์ กาญจนศักดิ์ชัย กรรมการบอร์ด กสท ยอมรับว่าไม่สามารถเปิดให้บริการโทรศัพท์ มือถือในระบบซีดีเอ็มเอได้ทัน ต้นปี 2549 จริง เนื่องจากต้องการรอให้การติดตั้งเสร็จทั้ง 1,600 สถานีฐาน ซึ่งคาดว่าจะเป็นช่วงเดือนสิงหาคมแล้วจึงเปิดให้บริการ พร้อมกันแสดงให้เห็นชัดว่า บอร์ด กสท มีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไข ทีโออาร์ที่เดิมกำหนดให้ บริษัทหัวเหว่ย ต้องส่งมอบ 800 สถานีฐานภายในเดือนม.ค.49 และหากไม่สามารถส่งมอบได้ ต้องเสียค่าปรับวันละ 90 กว่าล้านบาท
สิ่งที่บอร์ดกสททำคือแก้ไขทีโออาร์ หรือเรียกได้ว่าแก้สัญญาเพื่อเอื้อประโยชน์หัวเหว่ยโดยตรง เหมือนส่งมอบเฟสแรกไม่ทัน ก็ยังไม่ปรับ แต่กสทกลับยอมเลื่อนเวลาเปิดบริการออกไป แล้วอ้างว่ารอให้ครบทั้ง 1,600 สถานีฐาน ซึ่งเป็นคนละเรื่องกัน
ตามสัญญา บริษัท หัวเหว่ย (ประเทศไทย) และ บริษัท หัวเหว่ย เทค อินเวสเมนท์ ต้องส่งมอบ 800 สถานีฐานภายใน 1 ปีแรก หลังเซ็นสัญญาหรือ ภายในเดือนม.ค.49 และครบ 1,600 สถานีฐาน ภายใน 2 ปี นับจากเซ็นสัญญาเมื่อวันที่ 4 ก.พ.48 แต่ปัจจุบันทำไปได้ไม่ถึง 300 สถานี
ชี้ "หัวเหว่ย" ไม่มีประสบการณ์
แหล่งข่าวกล่าวว่า การที่หัวเหว่ยไม่สามารถติดตั้งและส่งมอบอุปกรณ์ได้ทัน เป็นเพราะขาดประสบการณ์ในการบริหารโครงการภายในประเทศ เนื่องจากเดิมโครงการซีดีเอ็มเอ เคยมีการเจรจาที่จะให้กลุ่มยูคอมเข้ามาช่วยประสานงานในการติดตั้งและการทำงานภายในประเทศ แต่เมื่อตกลงกันไม่ได้หัวเหว่ยจำเป็นต้องหาผู้บริหารจากภายนอกไม่ว่าจะเป็นคนจากอัลคาเทล และคนจากอีกหลายบริษัทเข้ามาทำงานร่วมกันในเวลาอันสั้น ทำให้ไม่สามารถทำงานได้อย่างราบรื่น
ส่วนตำแหน่งที่จะต้องสร้างสถานีฐานนั้น ตาม ทีโออาร์ของกสทกำหนดพิกัดไว้ชัดเจน โดยส่วนมากเป็นที่ของกสท หรืออาจต้องซื้อที่เองบ้างแต่ก็เป็นจำนวนน้อย ซึ่งไม่ใช่เหตุผลที่หัวเหว่ยจะนำมากล่าวอ้างได้ เพราเป็นสิ่งที่เอกชนรู้ล่วงหน้า ตั้งแต่ก่อนประมูลด้วยซ้ำ ส่วนการอ้างปัญหาการ นำเข้าอุปกรณ์ว่า ต้องติดระเบียบของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ก็เป็นการกล่าวอ้างเกินเลย เพราะ กทช.ก็ได้มีการปรับแก้ไขระเบียบดังกล่าวให้คล่องตัวมากขึ้น "ประเด็นสำคัญคือ หัวเหว่ยไม่มีผู้บริหารโครงการในประเทศที่มีความเชี่ยวชาญ ทำให้โครงการล่าช้าและสะดุด
ยิ่งช้ายิ่งเป็นคุณกับ "เอไอเอส"
สำหรับบริการซีดีเอ็มเอนั้น กสท เชื่อว่ายังมีตลาดอีกจำนวนมาก โดยเล็งเป้าหมายที่กลุ่มลูกค้าที่ต้องการเปลี่ยนเครื่องเพื่อมาใช้บริการมัลติมีเดียหรือบริการดาต้า ซึ่งเป็นจุดแข็งของซีดีเอ็มเอในภูมิภาคที่ใช้ระบบ EV-DO ที่ถือเป็นระบบ 3G ซึ่งจะแตกต่างจากผู้ให้บริการรายอื่น โดยเป็นกลุ่มลูกค้าที่มีประสบการณ์ในการใช้โทรศัพท์มือถือมาบ้างแล้ว และมองหาความแตกต่างบริการมัลติมีเดีย
แหล่งข่าวกล่าวว่า ยิ่งซีดีเอ็มเอภูมิภาคของกสทเปิดบริการล่าช้ามากเท่าใดก็เท่ากับเป็นการเปิดโอกาสให้โอเปอเรเตอร์ที่มีอยู่ในตลาดปรับปรุงโครงข่าย พัฒนาบริการเสริมให้เข้มแข็งมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะเอไอเอสซึ่งอยู่ระหว่างการทดสอบ โครงข่าย 3G และมีโรดแมปบริการ 3G อยู่ในใจแล้ว โดยเฉพาะการสร้างแพลตฟอร์มฐานข้อมูลของบริการเสริมให้รองรับโครงข่าย 3G ในอนาคตด้วย
ด้านนายสรอรรถ กลิ่นประทุม รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กล่าวว่า หากหัวเหว่ยทำงานไม่เสร็จตามกำหนด รวมทั้งยังมีข่าววิ่งเต้นปรับเงื่อนไข ก็คงต้องสอบถาม กสท ว่ามีการ ประสานงานกับหัวเหว่ย อย่างไร และดำเนินการ ไปถึงไหน อย่างไรก็ตาม จากรายงานที่ทราบล่าสุด มีการแก้ปัญหาการส่งมอบพื้นที่ที่สามารถแก้ไขได้ และขณะนี้ยังเหลือปัญหาของการนำเข้า ที่ติดขัดในเรื่องของภาษี เชื่อว่าคงจะไม่มีปัญหาอะไรมากมาย แต่ก็ต้องรีบแก้ไข ไม่เช่นนั้นจะทำให้เกิดปัญหาในประเด็นการบวกเงื่อนเวลาในการส่งมอบทำให้งานอาจจะล่าช้าไปอีก และอาจจะไม่สามารถดำเนินการได้ตามสัญญาที่ระบุไว้ หมายความว่า หากจะนำเรื่องนี้ไปปรับ บริษัทก็จะนำมาอ้าง
"ถ้าผมสอบถามไปยังประธานบอร์ด กสท แล้วหากมีปัญหาก็คงจะมาปรึกษาเพื่อความคืบหน้า แต่ในหลักการทั่วๆไปก็อยู่ในอำนาจของประธานบอร์ด ที่จะต้องพิจารณาเร่งรัดในส่วนนี้ โดยเฉพาะเรื่องของผู้บริหารเองก็คงจะต้องเร่งเช่นกัน อย่างไรก็ตาม การเปิดใช้มือถือซีดีเอ็มเอก็จะเป็นไปตามเงื่อนเวลา ในปี 2549 หากส่งมอบไม่ทันก็จะมีค่าปรับ กสท ก็จะต้องพยายามทำ หากมีอะไรนอกเหนือกว่านั้น ก็จะต้องรายงานมาอีกครั้ง" นายสรอรรถ กล่าว
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|