เบียร์ช้างเดินหน้าแจงปชช. ระดมทุนหวังบุกตลาดนอก


ผู้จัดการรายวัน(26 ตุลาคม 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

"เบียร์ช้าง" ออกโรงแจงทุกข้อกล่าวหาเข้าระดมทุนหวังรุกตลาดต่างประเทศ ไม่เกี่ยวกับการทุ่มงบโฆษณากระตุ้นยอดขาย เผยงบฯวางไว้แค่ปีละ 300 ล้านบ.ไม่จำเป็นต้องนำเงินจากตลาดไปใช้ พร้อมยืนยันเดินหน้าเข้าตลาดหุ้นไทย เมินตลาดหุ้นต่างประเทศ ชื่นชมการตัดสินใจของ ก.ล.ต.ที่สร้างความเข้าใจก่อนที่จะตัดสิน ประกาศพร้อม รับคำตัดสินของ ก.ล.ต.

นายเกษมสันต์ วีระกุล ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารองค์กร บริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่าในช่วงที่ผ่านมา ได้มีการประชุมผู้บริหารของบริษัทและเห็นว่าควรที่จะมีการปรับท่าทีใหม่ จากอดีตที่บริษัทมีการชี้แจงน้อยมาก แต่ต่อไปบริษัทพร้อมที่จะชี้แจงผ่านสื่อเพื่อให้คนทั่วไปได้รับทราบมากขึ้น

"ที่ผ่านมาเราพร้อมรับฟังและเคารพความเห็นของฝ่ายที่มีความเห็นคัดค้าน เพราะมองว่าทุกฝ่ายล้วนมีความปรารถนาดี แต่อาจจะมีข้อมูลที่แตกต่างกันได้ ดังนั้นเราก็พร้อมที่จะชี้แจงด้วยเหตุและผล ในหลักวิชาการที่อธิบายได้ซึ่งที่ผ่านมานั้นเราอาจจะชี้แจงน้อยไป ดังนั้นต่อจากนี้เราก็จะมีการปรับท่าทีใหม่เพื่อสร้างความเข้าใจให้มากขึ้น" นายเกษมสันต์กล่าว

ทั้งนี้การที่บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ ต้องการเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เพราะต้อง การที่จะขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศ ซึ่งบมจ.ไทยเบฟเวอเรจ จะเป็นบริษัทที่มีขนาดใหญ่ในประเทศไทย โดยมียอดขายเกือบ 1 แสนล้านบาท และมีผล ประกอบการมีกำไรประมาณหมื่นล้านบาท แต่ถ้าเทียบกับบริษัทที่ประกอบธุรกิจประเภทเดียวกันซึ่งเป็นบริษัทต่างประเทศ จะพบว่าบริษัทไทยเบฟเวอเรจ ถือว่ามีขนาดเล็กกว่าบริษัทจากต่างประเทศมาก

การเจรจากับคู่ค้าต่างประเทศนั้น ถ้าเป็นบริษัทใน ตลท.สามารถเจรจาได้ง่ายกว่าบริษัทมหาชน ทั่วไป เพราะมีองค์กรคอยกำกับดูแลทั้งตลาดหลักทรัพย์ฯ และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) รวมถึงมีการเปิดเผยข้อมูลซึ่งทำให้เกิดความเชื่อมั่นในระดับหนึ่ง การระดมทุนออกตราสารหนี้ก็ทำได้ง่าย และมีความน่าเชื่อถือมากกว่า

เงินลงทุนที่จะขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศต้อง ใช้จำนวนมากพอสมควรสำหรับธุรกิจเบียร์ ดังนั้นการ ที่จะขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศจึงจำเป็นที่จะต้องสร้างฐานการผลิตที่ใกล้กับตลาดมากที่สุด โดยที่ผ่านมาได้มีการเจรจากับหลายประเทศทั้งในเอเชียและยุโรป ที่จะเข้าไปทำการตลาดในประเทศเหล่านี้

นายเกษมสันต์ กล่าวชี้แจงว่า ขณะนี้บริษัทมีกระแสเงินสดจำนวน 1.8 หมื่นล้านบาท และใช้งบประมาณในการโฆษณาเพียง 300 ล้านบาทเท่านั้นถือว่าน้อยมาก ซึ่งถ้าบริษัทต้องการโฆษณาเพิ่ม ก็ยังมีเงินทุนที่จะใช้ได้อีกมาก โดยไม่จำเป็นต้องนำเงินจากการเข้าตลท.เลย

"ในกระแสสังคมและเศรษฐกิจปัจจุบันนี้บริษัทไม่ได้โหม โฆษณาแต่อย่างใด ซึ่งทิศทางการโฆษณาของบริษัทในช่วงที่ผ่านมาถือว่าดำเนินอย่างถูกต้อง ไม่มีออกโฆษณาในลักษณะของสีเทา บริษัทระมัดระวังอย่างมาก"

ส่วนการลงทุนของนักลงทุนก่อนที่จะเข้าซื้อหุ้นจะต้องมีการศึกษาหนังสือชี้ชวน โดยได้มีการระบุว่าการลงทุนนั้นมีความเสี่ยงอย่างไรบ้าง ดังนั้นจึงถือได้ว่านักลงทุนได้รับทราบแล้ว และการลงทุนของนักลงทุนนั้นจะกระจายในหลายหลักทรัพย์ และถ้ามีมาตรการใดของภาครัฐซึ่งมีผลกระทบต่อการ ดำเนินธุรกิจของบริษัทนักลงทุนก็สามารถขายออกไปก่อนได้ แต่ถ้ามีผลประกอบการที่ดีก็อาจจะทำให้นักลงทุนเข้ามาซื้อหุ้น

ทั้งนี้จากการศึกษาของ WHO พบว่าในปี 2524-2544 พบว่าประเทศ 4 แห่ง ซึ่งประกอบด้วยเยอรมนี, สหรัฐออสเตรเลียและฝรั่งเศส มีบริษัทที่ประกอบธุรกิจเหล้าเบียร์เข้ามาจดทะเบียนใน ตลท.และพบว่าการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลดลงทุกประเทศ หลายประเทศได้มีการรณรงค์อย่างได้ผล โดยให้ข้อมูลแก่ผู้บริโภคอย่างถูกต้องที่จะทำให้การบริโภคลดลง

ในช่วงที่ผ่านมามีตลาดหลักทรัพย์หลายแห่งได้แสดงความสนใจที่จะดึง บมจ.ไทยเบฟเวอเรจเข้า จดทะเบียน แต่เจตนารมณ์ของนายเจริญ สิริวัฒน-ภักดี ผู้ถือหุ้นใหญ่ไม่เคยคิดที่จะนำบริษัทไปจดทะเบียนในตลาดหุ้นต่างประเทศเลย โดยธุรกิจของบริษัทถือว่าทำประโยชน์ต่อประเทศชาติและสังคม ซึ่งไม่มีอะไรที่ขัดต่อกฎหมาย ซึ่งถ้าอธิบายให้ทุกฝ่าย เกิดความเข้าใจตรงกัน

ขณะนี้ก็ไม่มีแผนสำรองในกรณีที่ไม่สามารถนำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ได้ ซึ่งยังเชื่อใจหน่วยงานของภาครัฐที่จะให้ความเป็นธรรม แก่บริษัท

นายเกษมสันต์ กล่าวต่อว่า บมจ.ไทยเบฟเวอเรจนั้น ถือเป็นบริษัทที่ทำประโยชน์เพื่อสังคม โดยที่ผ่านมาได้มีการเสียภาษีให้กับภาครัฐปีละประมาณ 5 หมื่นล้านบาทหรือคิดเป็น 5% ของเงินงบประมาณใช้จ่ายของรัฐบาล ไม่นับรวมการว่าจ้างงาน โดยตรงจำนวน 2 หมื่นกว่าคน และบริษัทที่กลุ่ม ที่ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องก็มีการจ้างงานให้เกิดขึ้นอีกมาก

"เมื่อมีการชี้แจงข้อมูลนี้แล้ว ผู้รับผิดชอบคือสำนักงานก.ล.ต. จะใช้เหตุผลในการพิจารณาซึ่งเราก็หวังว่าจะได้รับความเป็นธรรม และเราก็ขอชื่นชมภาครัฐ ที่จะพยายามทำให้ทุกฝ่ายเกิดความเข้าใจเสียก่อน ถึงจะตัดสินใจ ถึงแม้ว่าจะต้องใช้เวลาในการพิจารณานานก็ตาม และอาจจะมีผลต่อแผนการขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศบ้าง ซึ่งก็จะรอ และบริษัทก็ชะลอแผนการโรดโชว์ออกไป จนกว่าจะได้ความชัดเจนในส่วนนี้"

ทั้งนี้ไม่ว่าสำนักงาน ก.ล.ต.จะตัดสินออกมาเป็นอย่างไร บริษัทก็พร้อมที่จะรับคำตัดสินนั้น แต่ก็มั่นใจว่าสำนักงานก.ล.ต.พิจารณาด้วยความเป็นธรรม ซึ่งถ้ามีผู้มาชุมนุมประท้วง บริษัทก็พร้อมที่จะชี้แจงและให้ข้อมูลเพื่อให้เกิดความเข้าใจ

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง กรรมการและ ผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า กรณีบริษัทไทยเบฟเวอเรจ ที่มีการเคลื่อนไหวแถลงเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ นั้น ตนในฐานะกรรมการผู้จัดการ จะรับเข้าจดทะเบียนหรือไม่ ขึ้นอยู่กับมติของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งจะไม่ปฏิบัติตามบุคคลที่มากดดันหรือมาประท้วง


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.