|

แบงก์ไม่พร้อมเปิดเสรีการเงิน
ผู้จัดการรายวัน(25 ตุลาคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
ผู้ว่าการ ธปท. "ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล" ระบุ ไทยยังไม่เปิดเสรีภาคการเงินระหว่างไทย-สหรัฐฯ เหตุสถาบันการเงินต้องมีความพร้อมมากกว่านี้ ด้านที่ปรึกษารัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ เผยกำลังอยู่ระหว่างคิดเรื่องช่วงเวลาเปิดที่เหมาะ ย้ำอย่าห่วงรัฐบาลจะเร่งเปิดเสรี ทำอะไรต้องดูความพร้อมเสมอ
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงกรณีที่กระทรวง การคลังได้ออกมากล่าวว่าอาจจะมีการทบทวนการเปิดเสรีภาคการเงินกับประเทศสหรัฐฯ ให้เร็วขึ้นกว่าเดิม ว่า ประเทศไทยยังไม่มีการ เปิดเสรีทางการเงินในระยะเวลาอันใกล้นี้แน่นอน เพราะ ธปท.จะให้เวลาสถาบันการเงินได้ปรับตัวสักระยะหนึ่งก่อนหลังจากที่ ธปท. ได้ออกแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน(มาสเตอร์แพลน) ในปี 2547 ซึ่งขณะนี้สถาบันการเงินหลายแห่งกำลังอยู่ในช่วงของการปรับตัวหลังจากที่มีการขอยกระดับเป็นธนาคารพาณิชย์ และบางแห่งกำลังอยู่ระหว่างการควบรวมกิจการกัน
"ยังไม่มีความคิดจะเปิดเสรีเอฟทีเอกับสหรัฐฯ เพราะไทย เพิ่งจะใช้มาสเตอร์แพลนมาได้ประมาณ 1 ปีเท่านั้น ถ้าจะเปิดเสรีเราจะต้องดำเนินแผนมาสเตอร์ แพลนอย่างน้อย 3 ปี เพื่อให้สถาบันการเงินมีความพร้อม และแข็งแกร่งมากกว่านี้ จะทำอะไรก็ต้องนึกถึงประเทศชาติเป็นหลัก" ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าว
ขณะที่นายณรงค์ชัย อัคร-เศรณี หนึ่งในคณะที่ปรึกษาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยก็เหมือนมีการเปิดเสรี เพียงแต่ว่ายังเปิดไม่หมดเท่านั้น ซึ่งสังเกตได้จากภาคธุรกิจสถาบันการเงินในปัจจุบัน มีบริษัทต่างชาติเข้ามาทำธุรกิจเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นใน ส่วนของภาคธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ที่มีต่างชาติเข้ามาซื้อหุ้นควบรวมกิจการบริษัทหลักทรัพย์ที่เป็นของต่างชาติ รวมทั้งบริษัทประกันชีวิตที่มีผู้ถือหุ้นเป็นชาวต่างชาติเช่นกันเพียงแต่ว่าในภาคปฏิบัติยังไม่มีกฎหมายออกมาชัดเจนเท่านั้น
"ยอมรับว่าภาคการเงินไทยยังไม่มีความพร้อมในหลายเรื่อง ตอนนี้เท่าที่พูดกันก็คือเราจะเปิดกรอบให้ต่างชาติเข้ามาได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งคนที่ทำธุรกิจอยู่แล้วก็ต้องเปิดให้เขาทำการเจรจาเอฟทีเอเข้าใจว่าคงจะต้องมีการตกลงช่วงเวลา ซึ่งเข้าใจว่าผู้แทนการเจรจาเขาก็ต้องดูความพร้อม และอย่าห่วงว่ารัฐบาลจะเร่งเปิดเสรี เพราะหากมีการเปิดเสรีจริงเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา และรัฐเองต้องมีเงื่อนไข เชื่อว่ารัฐบาลยังไม่มีนโยบายเร่งเปิดเสรี ภาคการเงินคงต้องรอให้ภาค ธุรกิจเร่งปรับตัวก่อน"
สำหรับคำถามที่ว่าในภาคการเงินที่อ่อนไหว เราจะเปิดช้าหรือไม่ นายณรงค์ชัย กล่าวว่า ในส่วนของภาคที่มีผลกระทบต่อความอ่อนไหวนั้น โดยเฉพาะผู้ที่มีเงินออมและผู้ที่กู้เงินต้องมีการพิจารณาอย่างรอบคอบ เพราะหากมองในแง่ของผู้ฝากเงินหากมีการเปิดเสรีจริงอาจจะทำให้คนนำเงินไปฝากในต่างประเทศมากกว่า เช่น การ นำเงินไปซื้อพันธบัตร หรือการนำเงินไปลงทุนใน กองทุนต่างๆ ที่มีความมั่นคงและให้ผลตอบแทน ที่มากกว่า ซึ่งตรงนี้เป็นจุดที่อ่อนไหว เพราะอาจจะทำให้เงินไหลออกได้ ซึ่งจะส่งผลกระทบมายังผู้กู้เงินที่ไม่มีเงินให้กู้
นักวิจัยจากสถาบันการเงินแห่งหนึ่ง กล่าวว่า การเปิดเสรีทางการเงินไม่ใช่เรื่องที่จะเร่งทำได้ง่าย เพราะนอกเหนือจากการเตรียมความพร้อมของสถาบันการเงินทุกแห่งแล้วจะต้องมีเรื่องการแก้ไขกฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ดังนั้น จึงต้องแก้ไขกันทั้งระบบ และขณะนี้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องก็อยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อม ซึ่ง จะต้องใช้เวลาพอสมควร
ขณะนี้ยังไม่มีรายละเอียดปลีกย่อยที่ชัดเจนออกมา เพราะก่อนอื่นจะต้องเตรียมความพร้อมก่อน และเปิดเสรีภาคการเงินไม่ใช่เฉพาะแบงก์พาณิชย์ แต่เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องทุกอย่างที่เป็นด้านการเงิน ทั้งตลาดหุ้น นอนแบงก์ และอื่นๆ ดังนั้น ทุกฝ่ายต้องเตรียมตัว ไม่ใช่เร็วๆ นี้จะทำได้ แต่ที่สุดแล้วการเปิดเสรีต้องเกิดขึ้น แหล่งข่าว กล่าว
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|