มือถือซีดีเอ็มเอสะดุด "หัวเหว่ย"อืดตั้งสถานีฐานไม่ทัน


ผู้จัดการรายวัน(25 ตุลาคม 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

โครงการ มือถือซีดีเอ็มเอ.ของ กสท. มีปัญหา เผยยักษ์ใหญ่เทเลคอมจากจีน " หัวเหว่ย " ที่ชนะประมูล ด้วยราคาต่ำสุด 7พันล้าน ทำงานไม่เสร็จ อีก 4 เดือนต้องส่งมอบสถานีฐาน 800 แห่งยัง แต่ติดตั้งได้ไม่ถึงครึ่ง วัดใจบอร์ดกสท กล้าปรับวันละกว่า 90 ล้านบาทหรือไม่ เผยมีคนในวิ่งเต้นสร้างเงื่อนไขเลี่ยงค่าปรับ

นายอำนวยศักดิ์ ทูลศิริ รองประธานคณะกรรมการ บริษัท กสท โทรคมนาคมกล่าวถึงความคืบหน้าโครงการโทรศัพท์มือถือซีดีเอ็มเอในภูมิภาคว่า ปัจจุบันกลุ่มร่วมค้าบริษัท หัวเหว่ย เทคโนโลยี (ประเทศไทย) และ บริษัท หัวเหว่ย เทค อินเวสเมนท์ ติดตั้งสถานีฐานได้ไม่ถึง 300 สถานีฐาน ในขณะที่เงื่อนไขในสัญญา ในเฟสแรกหัวเหว่ยต้องติดตั้งสถานีฐานให้ครบ 800 สถานีฐานในเดือนม.ค. 2549 และเฟสที่ 2 ครบ 1,600 สถานีฐาน ในปีถัดไป เพื่อให้ทันกับแผนการเปิดตัวบริการมือถือซีดีเอ็มเอ ขอ งกสท. อย่างไม่เป็นทางการ (Soft Launch Marketing) ในเดือนมกราคม 2549 จึงคาดว่า หวัเหว่ยจะไม่สามารถติดตั้งได้ครบตามสัญญาอย่างแน่นอน กสทจะทำการ ในเดือนม.ค.2549 จะไม่สามารถติดตั้งได้ตามสัญญา ซึ่งหมายถึงจะต้องมีรายการปรับเกิดขึ้น

นายอำนวยศักดิ์กล่าวว่า กสทได้ตั้งกรรมการร่วมหรือ Steering Committee เพื่อบริหารโครงการติดตั้งอุปกรณ์ทั้งชุมสายและสถานีฐาน แต่ก็ยังไม่มีรายงานที่ชัดเจนจากกรรมการชุดนี้ถึงความล่าช้าแต่อย่างใด

หากหัวเหว่ยไม่สามารถติดตั้งอุปกรณ์ 800 สถานีฐานในเฟสแรกตามสัญญา ก็ต้องมีการพิจารณาว่าความล่าช้าเกิดจากกสท. หรือเกิดจากหัวเหว่ย ถ้าเป็นความผิดของหัวเหว่ยก็จะต้องเสียค่าปรับวันละ 70 ล้านบาทบวกกับ 0.2% ของมูลค่าสัญญา หรือรวมเป็นเงินที่ต้องเสียค่าปรับวันละ 90 กว่าล้านบาท แต่จะต้องพิจารณาว่าจะปรับทันทีหลังจากที่ครบเวลาตามเฟสแรกหรือว่าจะรอปรับครั้งเดียวหลังครบเวลาส่งมอบทั้งโครงการเลย

**เอื้อหัวเหว่ย ไม่ให้โดนปรับ

ด้านแหล่งข่าวจากคณะกรรมการร่วมบริหารโครงการ กล่าวว่าขณะนี้ผู้บริหารและพนักงานกสทต่างสงสัยพฤติกรรมของ ผู้รับผิดชอบโครงการนี้ ที่ทำงานในลักษณะเอื้ออำนวยประโยชน์ให้กับหัวเหว่ย โดยพยายามเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขในการส่งมอบอุปกรณ์บางอย่างด้วยการเพิ่มจำนวนซัปพลายเออร์ พร้อมทั้งสร้างเงื่อนไขเพื่อให้เกิดการเลื่อนเวลาส่งมอบ ทำให้บริษัทไม่ต้องเสียค่าปรับจำนวนมาก รวมทั้งจะให้คิดค่าปรับเมื่อเสร็จโครงการทั้ง 2 เฟส หลังจากรู้แน่ชัดว่าหัวเหว่ยไม่สามารถติดตั้งอุปกรณ์ได้ตามสัญญา

"การขอเพิ่มซัปพลายเออร์ตู้คอนเทนเนอร์ที่ต้องส่งมอบในเฟส 1 จากเดิมเป็นของ A.L.T. Inter Corporation 900 ตู้กลายเป็นเหลือ 450 ตู้และเพิ่มบริษัท ไทยเทเลคอนเทนเนอร์ (TTC) อีก 450 ตู้ เป็นหนึ่งในตัวอย่างที่เห็นได้ชัดว่ามีความพยายามช่วยเหลือกันเต็มที่เพื่อไม่ให้เสียค่าปรับ นอกจากนี้ยังมีกรณีอื่นๆอีก" สำหรับผู้บริหารโครงการนี้คือ นายวิชัย ดีเจริญกุล

แหล่งข่าวกล่าวว่าเป็นที่น่าสังเกตว่าโครงการซีดีเอ็มเอ เป็นโครงการหนึ่งที่เกิดความสับสนอย่างมากโดยเฉพาะในช่วงการเปิดประมูลในขั้นตอน Bid Conference ซึ่งผู้เข้าร่วมประมูลมีคำถามมากมายเกี่ยวกับทีโออาร์ แต่สิ่งที่กสทตอบกลับเป็นเพียงให้ยึดตามทีโออาร์ แต่ประเด็นที่สำคัญคือในเรื่องค่าปรับตามเงื่อนไขข้อ 12.4 ที่ระบุว่าการขอต่ออายุสัญญาโดยการงดหรือลดค่าปรับจะกระทำมิได้เว้นแต่เป็นเหตุสุดวิสัย หรือเป็นความผิดพลาดหรือความบกพร่องของฝ่ายผู้ว่าจ้างหรือเหตุเกิดจากพฤติการณ์อันหนึ่งอันใดที่ผู้รับจ้างไม่ต้องรับผิดชอบตามกฎหมาย

เงื่อนไขดังกล่าวถือว่ากว้างมาก และเปิดทางให้ใช้ดุลยพินิจของกสทในการตีความว่า "เหตุสุดวิสัย" จะเข้าเงื่อนไขที่ต้องถูกปรับหรือไม่ เรื่องนี้จึงอยู่ที่ความเด็ดขาดของกสทว่าหากมีการผิดเงื่อนไข มีความล่าช้าที่เกิดขึ้นจากการติดตั้งของเอกชน กสทจะใช้ดุลยพินิจอย่างไร เพราะก่อนหน้านี้ก็มีการตั้งข้อสังเกตมาก่อนว่าผู้ชนะจะเป็นซัปพลายเออร์ที่เสนอราคที่ถูกมาก เนื่องจากมีการเจรจากันก่อนหน้าว่าถ้าหากทำไม่ทันก็จะได้รับดุลยพินิจที่เอื้อประโยชน์

ตัวอย่างความล่าช้าที่อาจนำไปสู่การใช้ดุลยพินิจเช่น หากผู้รับจ้างไม่สามารถส่งมอบสิ่งของหรือส่งมอบสิ่งของไม่ถูกต้องหรือไม่ครบจำนวน จะถือว่าผิดทีโออาร์หรือไม่ และหากดำเนินการไม่ได้ตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ผู้รับจ้างยินยอมให้ปรับเป็นเงิน 0.2%ของวงเงินตามสัญญาต่อวันนั้นโดยวิธีการตีความอาจตีความเป็นอุปกรณ์ชิ้นใดก็ได้หรือตีความว่า ไม่ดำเนินการในเรื่องใดก็ได้ เพราะการปรับมีระดับชั้นของการปรับด้วย

"ความสงสัยดังกล่าวกสทไม่เคยให้ความกระจ่างกับเวนเดอร์ตอนประมูลโดยปล่อยให้เงื่อนไขข้อ 12.4 ค้างคาไว้ตามความเข้าใจแต่ละคน และอาจใช้เพื่อเอื้อประโยชน์ให้บางรายอย่างที่กำลังจะเกิดขึ้น"

สำหรับโครงการโทรศัพท์มือถือซีดีเอ็มเอในภูมิภาคงบประมาณ 1.34 หมื่นล้านบาท มีการประมูลด้วยวิธีอี-ออคชั่นเมื่อวันที่ 24 ม.ค.2548 โดยมีบริษัทเข้าร่วมประมูล 3 ราย คือ 1.บริษัท โมโตโรล่า(ประเทศไทย) 2.คอนซอร์เตี้ยมบริษัท อีริคสัน(ประเทศไทย) บริษัท อีริคสัน ไทยเน็ทเวอร์ค และบริษัท อีริคสัน ผลิตกรรม(ประเทศไทย)และ 3.คอนซอร์เตี้ยมหัวเหว่ย ประกอบด้วย บริษัท หัวเหว่ย เทคโนโลยี(ประเทศไทย) และบริษัท หัวเหว่ย เทค อินเวสเมนท์ ซึ่งปรากฏว่ากลุ่มหัวเหว่ยเสนอราคาต่ำสุดในวงเงิน 7,199,988,000 บาท และมีการเซ็นสัญญาไปเมื่อวันที่ 4 ก.พ.2548 โดยต้องส่งมอบ 800 สถานีฐานใน 12 เดือนหรือม.ค.2549 และ 1,600 สถานีฐานใน 24 เดือนหลังเซ็นสัญญา


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.