หมออุทัย รัตนิน

โดย ฐิติเมธ โภคชัย
นิตยสารผู้จัดการ( ธันวาคม 2545)



กลับสู่หน้าหลัก

เรื่องราวของนายแพทย์คนไทยที่ไม่มีใครคาดคิดว่าจะกลายเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญยิ่งต่อวงการจักษุแพทย์ไทยและ ต่างประเทศ มีเพียงตัวหมอเท่านั้นที่เข้าใจตนเองสำหรับเส้นทาง การดำเนินชีวิตตลอดระยะเวลา 64 ปี

วันที่ 3 กันยายน 2471 เวลา 5.21 น. ณ บ้านพักแพทย์ ผู้ปกครองโรงพยาบาลปัญจมาธิราชอุทิศ พระนครศรีอยุธยา ยินดีต้อนรับทารกเพศชายและรู้จักกันดีในฐานะผู้สืบสายตระกูลแพทย์ยุคที่ 3 ต่อจากพ่อและปู่ "ศ.นพ.อุทัย รัตนิน"

"อิน" ปู่ของหมออุทัยเป็นหมอแผนโบราณ มีเรือนแพเป็นร้านขายยาไทยอยู่ที่ อ.ผักไห่ อยุธยา ซึ่งคำว่า อิน นำมาผสม กับ "รัตน" เป็นนามสกุลพระราชทานในสมัยรัชกาลที่ 6 เป็น "รัตนิน"

เช่นเดียวกับ "จ๊วน รัตนิน" บิดาของหมออุทัย คือ นักเรียนแพทย์โรงพยาบาลศิริราช สมัยยังไม่มีปริญญาบัตร เรียนจบเป็นแพทย์ประจำโรงพยาบาลแห่งนี้

เส้นทางชีวิตของหมออุทัยดูเหมือนถูกลิขิตให้เดินตั้งแต่ลืมตาดูโลก

หลังจากเรียนชั้นประถมและมัธยมต้นจากโรงเรียนประจำจังหวัดแล้วจึงเข้ามาเรียนต่อที่โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัยในปี 2483 โดยมีศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์ณัฐ ภมรประวัติ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นเพื่อนสนิททั้งในโรงเรียนวชิราวุธ และคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลศิริราช "เรานอนเตียงติดกันในห้องนอนซึ่งจัดแบบโรงทหาร

มีสิ่งที่เล่นด้วยกันหลายอย่างระหว่างเรียน เคยหลงใหลการ์ตูนฝรั่งเศส ได้รู้จักและชื่นชมในตัวฟลาซ กอร์ดอนนักบินอวกาศ

ที่เดินทางไปโลกพระอังคารและกำลังดังในโลกการ์ตูนอเมริกัน" หมอณัฐเล่าถึงอดีตชีวิตนักเรียนไว้ในหนังสือนัยน์การ นัยน์ใจ ของรฤกงานพระราชทานเพลิงศพ ศ.นพ.อุทัย รัตนิน

หมออุทัยเป็นคนฉลาด พูดน้อยแต่ทำจริง เรียนหนังสือดีและสุภาพ ความสุภาพอ่อนโยนอาจทำให้บางครั้งมองไม่ออกว่าหมออุทัยเป็นคนสุขุมลึกซึ้ง จะทำสิ่งใดก็ได้คิดและไตร่ตรองอย่างรอบคอบ ไม่ชอบแสดงว่ารู้ทันความเฉลียวฉลาดหรือความนึกคิดของคนอื่น และไม่ต้องการหักล้างความเห็นผู้อื่นด้วยวาจาหรือ การโต้เถียงที่เคร่งเครียดนัก แต่เมื่อตัดสินใจในเรื่องต่างๆ หลังจากคิดทบทวนเป็นอย่างดีแล้วและทำในเรื่องที่แน่ใจแล้วอย่างมั่นคง

นิสัยและบุคลิกเหล่านี้เหมาะสำหรับอาชีพนายแพทย์ แต่เขากลับตั้งใจที่จะเรียนทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ โดยได้แนวคิด มาจากอุดม รัตนิน ผู้เป็นอาที่คลุกคลีมาตั้งแต่เด็ก และอุดมจบวิศวกรรมศาสตร์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

"ผมเคยเล่าถึงสิ่งที่น่าชื่นชมของอาชีพช่างให้อุทัยฟังเสมอๆ พร้อมกับเปรียบเทียบการเป็นหมอว่าเป็นอาชีพที่พบแต่ความเศร้าหมอง คนไข้แต่ละรายที่มารักษามีลักษณะที่ไม่น่ารื่นรมย์ หมอต้องทำงานหนักจนแทบไม่มีเวลาของตนเอง" อุดมบรรยายอดีตที่เคยพูดคุยกับหลานชาย

หลังเรียนจบจากวชิราวุธหมออุทัยกลับเข้าศึกษาต่อ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลศิริราช จากคำร้องขอของบิดาและไม่ทำให้ผิดหวังเมื่อเรียนจบแพทย์ในปี 2495 แต่ความฝันตั้งแต่ วัยเด็กยังเต็มเปี่ยม ดังนั้นวันที่เพื่อนร่วมรุ่นรับพระราชทานปริญญาแพทยศาสตรบัณฑิต กลับเป็นวันที่หมออุทัยอยู่บนเครื่องบิน เพื่อเดินทางไปออสเตรเลียเพื่อศึกษาในสาขาวิศวกรรมศาสตร์

"หมอเคยเล่าให้ผมฟังว่ามีความรู้สึกว่าได้เรียนแพทย์เพื่อตามใจคุณพ่อแล้ว คราวนี้ขอให้คุณพ่อตามใจหมอบ้าง ซึ่งคุณพ่อ ก็ยินยอม" หมอณัฐบอก

หมออุทัยกลับพบว่าเป็นความล้มเหลวโดยสิ้นเชิง "แค่สองเดือนแรกผมเริ่มรู้สึกอึดอัดกับการเรียนวิศวะ ไม่เหมือนกับที่เรา นึกฝันไว้" หมออุทัยเคยกล่าวไว้

อย่างไรก็ตาม เขายังอดทนเรียนเป็นเวลาหนึ่งปีแล้วตัดสินใจกลับมาเรียนแพทย์ใหม่โดยเดินทางไปนิวยอร์กจากการติดต่อ กับเพื่อนรุ่นพี่เพื่อไปเป็นแพทย์ฝึกหัดที่โรงพยาบาล Mount Vernon และเมื่อครบปีได้รับคัดเลือกเป็นแพทย์ประจำบ้านของ โรงพยาบาลโรคตาและโรคหูแห่งนิวยอร์ก (New York Eye and Ear Infirmary)

"เหตุผลที่เรียนสาขาจักษุวิทยาเพราะตอนเลือกสาขาเรียนชอบทางผ่าตัดและทางยา ยานี่ก็น่าเรียนคิดว่าจะเรียนสาขาที่ได้ ทั้งผ่าตัดและให้ยา ซึ่งก็มีจักษุที่เป็นวิชาหนึ่งที่เด่นออกมาใน ความรู้สึกของผม" หมออุทัยเคยกล่าวเอาไว้

นอกจากจะทำหน้าที่แพทย์ฝึกหัดแล้ว ยังได้ริเริ่มโครงการวิจัยความแตกต่างนานาชนิดด้านกายวิภาคของจอประสาทตา ส่วนริมของดวงตาปกติ และการแปรสภาพตามวัยของคนปกติ แต่หมออุทัยต้องวางมือกลับเมืองไทยเนื่องจากข่าวการป่วยของบิดา

หมออุทัยใช้ชีวิตอยู่อเมริกาประมาณ 6 ปี จึงเดินทางกลับเมืองไทยและได้รับบรรจุเป็นอาจารย์โทที่มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลศิริราช และมาพร้อมกับความฮือฮาในแผนกจักษุโสตนาสิกลาริงซ์วิทยา (ชื่อเรียกในสมัยนั้น) โดยนำเอาวิทยาการสมัยใหม่ เช่น การใช้กล้องส่องตรวจจอประสาทตาแบบ Binoculars Indirect Ophthalmoscope และการผ่าตัดจอรับภาพมาเผยแพร่

นอกเหนือไปจากการเป็นอาจารย์และหมอในโรงพยาบาลศิริราช ยังเปิดคลินิกของตนเองรักษาเฉพาะโรคตาในช่วงปี 2502 ด้วยการเช่าห้องเล็กๆ บนชั้น 2 ของร้านขายแว่นตาสามยอด ใกล้วังบูรพาโดยใช้เวลาช่วงเย็นเข้ามาทำงาน

อย่างไรก็ตาม แม้จะอยู่ทำงานอยู่ที่เมืองไทยแต่ทาง อเมริกาโดยเฉพาะคณะแพทย์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด พยายามติดต่อหมออุทัยไปทำงานวิจัยหลายครั้ง แต่เนื่องจากขณะนั้น โรงพยาบาลศิริราชขาดแคลนจักษุแพทย์ที่มีความรู้และประสบการณ์ โดยเฉพาะหมออุทัยที่ชำนาญเป็นพิเศษด้าน การรักษาโรคทางจอประสาท (Retina)

ในที่สุดโรงพยาบาลจึงอนุมัติให้หมออุทัยเดินทางไปบอสตัน เพื่อสานโครงการอันยิ่งใหญ่ต่อภายในเวลากำหนด 6 เดือน ซึ่งเป็นงานที่ยากลำบากมาก เพราะเกี่ยวกับจอประสาทตาที่ต้องวาดขึ้นเป็นภาพเต็มโดยสมบูรณ์ และเป็นครั้งแรกในโลกส่งผลให้หมออุทัยเริ่มมีชื่อเสียง และเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง

หมออุทัยต้องใช้เวลาค้นคว้านานถึง 16 เดือน จนกระทั่งปลายปี 2503 โรงพยาบาลศิริราชจำเป็นต้องขอตัวหมอกลับมาทำงานอีกครั้ง สร้างความเสียดายให้กับฮาร์วาร์ดเป็นอย่างยิ่ง และตัวหมอเองก็ต้องการจะใช้ส่วนหนึ่งของข้อมูลที่ค้นคว้าประกอบวิทยานิพนธ์เพื่อทำปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยนิวยอร์กด้วย

การกลับมาของหมออุทัยครั้งนี้ทำให้ได้พบรักกับจำนงศรี ล่ำซำ บุตรสาวของจุลินทร์ ล่ำซำ แห่งล็อกซเล่ย์ ทั้งสองรู้จักสนิทสนมกันหลังจากที่จุลินทร์เป็นคนไข้ของหมออุทัย และทั้งคู่ก็ตกลงใจแต่งงานเมื่อเดือนมีนาคม 2505

ต่อมาสถาบันวิจัยด้านจักษุวิทยาที่บอสตัน เสนอตำแหน่งให้หมออุทัยเป็นนักวิจัยประจำสถาบัน เพื่อจะได้กลับไปดำเนินโครงการวิจัยต่อให้สำเร็จ ในที่สุด ต้นปี 2506 ได้รับอนุญาตจากต้นสังกัดเป็นเวลา 6 เดือน และการไปบอสตันครั้งนี้สองสามีภรรยาได้ทายาทคนแรก (นายแพทย์สรรพัฒน์ รัตนิน) ส่วนงานในคลินิก หมออุทัยได้อาศัยเพื่อนที่ทำงานร่วมกันในแผนกจักษุโรงพยาบาลศิริราชช่วยดูแล

อย่างไรก็ดี หมออุทัยใช้เวลานานถึง 9 เดือนสำหรับ การศึกษาข้อมูล และครอบครัวรัตนินทั้งสามก็เดินทางกลับ เมืองไทย โดยหมออุทัยตั้งใจจะมาเขียนรายงานวิจัยให้สำเร็จ แต่เขาต้องเผชิญกับข้อจำกัดทางด้านเวลาทั้งงานประจำที่ โรงพยาบาล งานสอนหนังสือ และงานคลินิก

โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานที่คลินิก ที่เริ่มมีคนไข้เพิ่มมากขึ้น จนกระทั่งต้องขยายพื้นที่และในปี 2507 "รัตนินจักษุคลินิก" เริ่มก่อตั้งขึ้นภายในบริเวณบ้านเก่าที่บิดาของคุณหญิงจำนงศรี มอบให้ในซอยอโศก โดยมีเตียงผู้ป่วยใน 4 เตียง ต่อมาอีก ประมาณ 5 ปีปรับปรุงเพิ่มเติมเป็น 7 เตียง

ขณะที่งานวิจัยประสบความสำเร็จในปี 2510 รายงานชิ้นนี้ 4 เรื่องเป็นที่ยอมรับว่าเป็นพื้นฐานของจักษุวิทยาจึงได้รับการตีพิมพ์ และรายงานนี้ถูกยึดถือเป็นหลักวิชาพื้นฐานสำคัญของจักษุวิทยาจนถึงวันนี้ อีกทั้งยังเป็นผู้วาดภาพจอประสาทตาสมบูรณ์เป็นคนแรกของโลก

สำหรับเมืองไทย หมออุทัยคือผู้ริเริ่มวิธีผ่าตัดรักษาโรคจอประสาทตาหลุดและถือเป็นผู้บุกเบิกวงการจักษุวิทยาอย่างแท้จริง อีกทั้งยังเป็นผู้ก่อตั้งภาควิชาจักษุวิทยาและหัวหน้าภาควิชาคนแรกของโรงพยาบาลรามาธิบดี

ปี 2518 หมออุทัยลาออกจากราชการเพื่อมาทำงานคลินิกเต็มตัวและได้ขยายกิจการจนกลายเป็นโรงพยาบาลเฉพาะจักษุ แห่งแรกและแห่งเดียวในเมืองไทยจนถึงปัจจุบัน

ตลอดระยะเวลา 38 ปีที่หมออุทัยบริหารโรงพยาบาลจักษุรัตนินจากประสบการณ์ผสมผสานความแม่นยำทางวิชาการ พร้อมเทคโนโลยีทันสมัยเพื่อการรักษาดวงตาครบวงจร ทำให้เป็น ที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวาง จนกระทั่งวันที่ 19 ธันวาคม 2535 วงการจักษุวิทยาของโลกต้องสูญเสียบุคลากรที่ทรงคุณค่าไปอย่างกะทันหันด้วยการหายใจล้มเหลวชนิดรุนแรง ณ โรงพยาบาล Baptist Medical Center สหรัฐอเมริกา



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.