The Eyes

โดย ฐิติเมธ โภคชัย
นิตยสารผู้จัดการ( ธันวาคม 2545)



กลับสู่หน้าหลัก

ในฐานะลูกชายคนเดียว เขารับรู้ถึงการรับช่วงบริหารกิจการต่อจากบิดา แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างไม่คาดฝัน เขาจำเป็นต้องเข้ามาดูแลกิจการเร็วกว่าที่คิด

เป็นเวลามากกว่าหนึ่งปีแล้ว ที่ตัวเลขผู้ป่วยนอก (OPD) เข้ามารักษาดวงตากับโรงพยาบาลจักษุรัตนินประมาณ 70,000 คนต่อปีและคาดว่าในอนาคตตัวเลขดังกล่าวจะเพิ่มสูงขึ้นเท่าตัวจากการขยายกิจการออกไป

ด้วยอายุ 39 ปีในฐานะผู้อำนวยการโรงพยาบาล จักษุรัตนิน นายแพทย์สรรพัฒน์ รัตนิน จักษุแพทย์ที่มีทั้งศาสตร์และศิลป์ในคนเดียว กันต้องพยายามรักษาชื่อเสียงธุรกิจของครอบครัวแห่งนี้ไว้ในฐานะโรงพยาบาลเฉพาะทางอันดับหนึ่งของประเทศ

ด้วยวิถีชีวิตที่ขีดเส้นให้เขาเดิน โรงพยาบาลแห่งนี้จะต้องอยู่ภายใต้การบริหารของเขาเมื่อถึงเวลาอันเหมาะสม แต่โชคชะตาผลักดันให้เขาเข้ามาเร็วกว่าที่กำหนด

วันเสาร์ที่ 19 ธันวาคม 2535 ณ โรงพยาบาล Baptist Medical Center สหรัฐอเมริกา วงการจักษุแพทย์ของโลกต้องสูญเสียบุคลากรสำคัญยิ่ง ด้วยระบบการหายใจล้มเหลวชนิด รุนแรง ศาสตราจารย์นายแพทย์อุทัย รัตนิน ผู้ก่อตั้งและเจ้าของ โรงพยาบาลจักษุรัตนิน

เหตุการณ์ดังกล่าว ไม่มีใครคาดคิดว่าหมออุทัยจะจากไป เร็วเช่นนี้ และดูเหมือนว่าวันเวลาที่เหลืออยู่ไม่มากนักนั้นได้รับการจัดสรรจากจังหวะชีวิตโดยหมออุทัยเองก็ไม่รู้ตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งอนาคตของโรงพยาบาลจักษุรัตนินที่ต้องมีผู้สืบทอดภายใต้ช่วงเวลาที่เหมาะสม

แม้ว่านายแพทย์อุทัยรับรู้มานานแล้วว่าทายาทคนต่อไปคือ ลูกชายคนโตและคนเดียวของตระกูลรัตนิน "นายแพทย์ สรรพัฒน์" จักษุแพทย์ที่ถอดแบบมาจากตนเองทั้งด้านการทำงานและการดำเนินชีวิต โดยวางแผนอนาคตว่าลูกชายจะมาช่วยงานที่โรงพยาบาลทันทีที่จบเป็นจักษุแพทย์เต็มตัวในเดือนมิถุนายน 2536 หลังจากนั้นเมื่อเรียนรู้และศึกษาปัญหาทางจักษุวิทยาในเมืองไทยสักระยะหนึ่งแล้วจะต้องกลับไปศึกษาค้นคว้าในฐานะ Fellow แต่เมื่อเหตุการณ์เกิดขึ้นอย่างกะทันหัน นายแพทย์สรรพัฒน์ตัดสินใจศึกษาต่ออีก 2 ปีก่อนจะเข้ามาดูแลธุรกิจของครอบครัวอย่าง เต็มตัว

"เมื่อเป็นเด็ก ใครถามว่าโตขึ้นอยากเป็นอะไร ผมตอบแบบไม่ต้องลังเลเลยว่าอยากเป็นหมอเหมือนคุณพ่อ พอโตขึ้นใกล้ถึงเวลาเลือกทางเดินจริง คุณพ่อเป็นคนหนึ่งที่ไม่เคี่ยวเข็ญแต่ปล่อยให้ผมคิดด้วยตัวเอง" เป็นความในใจของนายแพทย์สรรพัฒน์ที่เขียนไว้ในหนังสือนัยน์กาย นัยน์ใจ ของรฤก งานพระราชทานเพลิงศพ ศ.นพ.อุทัย รัตนิน

สิ่งที่กระตุ้นให้เขามีความคิดนี้มาจากการได้เห็นคุณพ่อทำงานมาตั้งแต่เด็ก เพราะสนามวิ่งเล่นอยู่บริเวณชั้น 5 ซึ่งเป็นห้องยาของรัตนินจักษุคลินิก ทำให้การปลูกฝังเกิดขึ้นโดยที่ตนเองไม่รู้ตัว "วัยเด็กผมซุกซนมาก บางครั้งเล่นจนหัวเข่าแตกก็เย็บกันที่ห้องผ่าตัดตากันเลย" เขาเล่า

ดังนั้น เขาจึงได้รับอิทธิพลจากบิดาค่อนข้างมากจากการได้เห็นความรักที่บิดามีต่องาน และคนไข้ทำให้เขารู้ว่านี่คืออาชีพที่ทำประโยชน์ให้ผู้อื่นด้วยความรู้และน้ำมือของตนเอง

"ไต๋" ชื่อที่ทุกคนเรียก หมอสรรพัฒน์เกิดที่บอสตัน อเมริกา ขณะที่หมออุทัยกำลังทำ Fellow ด้านจอประสาทตา เมื่อประมาณปี 2503 โดยมีภรรยา คุณหญิงจำนงศรีเดินทางไปด้วย และวันที่ 13 มีนาคม 2506 คุณหญิงให้กำเนิดบุตรชายหน้าตาน่ารักสัญชาติไทย/อเมริกัน ณ โรงพยาบาล Mount Auburn หลังจากหมออุทัยสำเร็จการศึกษาก็พาครอบครัวกลับมาใช้ชีวิตในเมืองไทย ขณะที่ไต๋เกิดได้เพียง 3 เดือน

หมอสรรพัฒน์เรียนระดับชั้นประถมศึกษาที่สาธิต มศว.ประสานมิตร แล้วไปต่อที่สาธิตปทุมวันจนกระทั่งอายุได้ 12 ปี ถูกส่งไปเรียนต่อที่ Blundellžs Public School ซึ่งมีอายุเก่าแก่เกือบ 400 ปี (ก่อตั้งปี 1604 โดย Peter Blundell ตั้งอยู่เมือง Tiverton ใน Devon ประเทศอังกฤษ "เป็นโรงเรียนประจำตั้งอยู่ห่างไกลความเจริญมาก ที่คุณแม่ไปดูแล้วชอบ เพราะไม่มีคนไทยอาศัยอยู่เลย จึงมองว่าภาษาอังกฤษของผมจะไปได้เร็ว" เขาเล่า "ที่สำคัญโรงเรียนแห่งนี้มีสถิติของการเข้าเรียนแพทย์สูง"

เมื่อสำเร็จระดับมัธยมแล้วเขาได้เข้าไปเป็นนักเรียนแพทย์ตามความตั้งใจที่มหาวิทยาลัยลอนดอนและได้ฝึกงานด้านแพทย์ตั้งแต่ปี 2525-2530 จนกระทั่งปีถัดมาได้เป็นแพทยศาสตรบัณฑิต จากนั้นเดินทางไปแคนาดา เพื่อศึกษาต่อที่ University of Toronto ด้าน Corneal & External Diseases

"สาเหตุที่เลือกเรียนที่นี่เพราะมีระบบการศึกษาที่ให้เราสังเกตการณ์คนไข้มากกว่าพึ่งการตรวจหรือทดสอบด้วยวิธีอื่น" หมอสรรพัฒน์กล่าว โดยปี 2532-2536 เป็นแพทย์ประจำบ้านด้านจักษุวิทยา แผนกจักษุวิทยามหาวิทยาลัยโตรอนโต

จนกระทั่งเขาได้วุฒิบัตรผู้เชี่ยวชาญด้านจักษุวิทยา ด้าน Vitreo-Retinal Surgery และ Corneal & External Diseases ของมหาวิทยาลัยดังกล่าว และวุฒิบัตรผู้เชี่ยวชาญด้าน จักษุวิทยาจากราชวิทยาลัยแพทย์และศัลยแพทย์แห่งแคนาดา

ต้นเดือนพฤศจิกายน 2535 วิทยาลัยทางจักษุแห่งสหรัฐ อเมริกา (American Academy of Ophthalmology) จัดประชุมประจำปีทางจักษุวิทยา และหมออุทัยไม่เคยพลาด และปีนั้นก็เช่นเดียวกันที่ได้เดินทางไปอเมริกา ส่วนลูกชายบินมาพบ บิดา ขณะนั้นเขาเป็นแพทย์ฝึกหัดทางจักษุวิทยาปีสุดท้ายพอดี

ช่วงระยะเวลาดังกล่าว สองพ่อลูกได้มีโอกาสนั่งวางแผน เพื่ออนาคตของโรงพยาบาลจักษุรัตนิน แต่ทั้งคู่หารู้ไม่ว่า นี่เป็นครั้งสุดท้ายสำหรับการพูดคุยเพราะอีกไม่กี่วันต่อมานายแพทย์สรรพัฒน์ได้รับข่าวร้ายที่สุดในชีวิต

เมื่อหมออุทัยถึงแก่อนิจกรรม เขาไปแคนาดาอีกครั้งเป็นเวลาเกือบ 2 ปีจึงกลับมาเมืองไทยเพื่อสานต่อเจตนารมณ์ของบิดาภายในโรงพยาบาลจักษุรัตนิน

ปี 2541 โรงพยาบาลจักษุรัตนินได้ต้อนรับผู้อำนวยการคนใหม่ที่ชื่อนายแพทย์สรรพัฒน์ รัตนิน ซึ่งเขารู้ดีถึงเส้นทางชีวิตของตนเอง "ผมรู้ว่าจะต้องมาดูแลกิจการต่อจากคุณพ่อซึ่งเป็นธุรกิจของครอบครัวซึ่งผมเป็นลูกชายคนเดียวและเป็นจักษุแพทย์อีกด้วย" นายแพทย์สรรพัฒน์เล่า

นับตั้งแต่โรงพยาบาลจักษุรัตนินก่อตั้งขึ้นจากความคิดของคุณหมออุทัย เมื่อ 38 ปีที่เริ่มจาก "รัตนินคลินิก" ที่มีเตียงผู้ป่วยในเพียง 4 เตียงและดำเนินงานแบบครอบครัวบนสนามหน้าบ้านในซอยอโศก จนกระทั่งเติบโตเป็นที่ยอมรับ

อย่างไรก็ตาม เจตนารมณ์ของคุณหมออุทัยยังไม่สมบูรณ์แบบตามที่ตั้งใจไว้จึงเป็นภารกิจของผู้สืบทอดรุ่นถัดมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรักษาและมีจักษุแพทย์ครบทุกสาขาของโรคตา "ตอนที่คุณพ่อเสียยังขาดอยู่ 3 สาขา เพราะยังไม่มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยเฉพาะ คือ แผนกตาปลอม แผนก Uveitis และแผนก Neouro-Ophtalmology" นายแพทย์สรรพัฒน์บอก "ปัจจุบันมีครบหมดแล้ว ดังนั้นผมได้ทำตามเจตนารมณ์ของคุณพ่อในเรื่องนี้สมบูรณ์แล้ว"

เหนือสิ่งอื่นใดเขาต้องรักษาชื่อเสียงที่สั่งสมมาเป็นเวลานานเอาไว้ แม้ว่าจะไม่ได้เรียนด้านการบริหารธุรกิจ แต่จากการคลุกคลีอยู่ภายในโรงพยาบาลมาตั้งแต่เด็ก ย่อมรู้ถึงความต้องการของคนไข้อย่างแท้จริง อีกทั้งการรับรู้ในความตั้งใจของบิดาว่าต้องการให้โรงพยาบาลเป็นอย่างไร การสืบทอดเจตนา รมณ์จึงเป็นไปอย่างราบรื่น

"ต้องเข้าใจว่านี่ไม่ใช่การทำธุรกิจเพียงอย่างเดียวแต่เป็นปลายทางของผู้ป่วยที่มีปัญหา เราจึงต้องช่วยเหลืออย่าง เต็มที่" เขาอธิบาย "คุณพ่อเคยบอกว่าสิ่งที่ทำมาตลอดคือโรงพยาบาลแห่งนี้มีแพทย์ที่ดี มีเครื่องมืออันทรงประสิทธิภาพ แม้อาจจะไม่เป็นรุ่นทันสมัยแต่วางใจได้"

อย่างไรก็ตาม ด้วยวิวัฒนาการการดำเนินธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนที่มีความทันสมัยมากขึ้น และมีการแข่งขันที่ค่อนข้างสูงประกอบกับแพทย์มีประสิทธิภาพ ย่อมส่งผลกระทบกระเทือนต่อโรงพยาบาลเฉพาะทางอย่างจักษุรัตนินเมื่อเทียบกับคู่แข่งที่บริหารงานแบบครบวงจร แต่ดูเหมือนว่าจะไม่เป็นที่กังวลของนายแพทย์สรรพัฒน ์เพราะเขาได้เพิ่มความสำคัญด้านการบริการ ซึ่งจะได้เห็นแพทย์หรือพนักงานของจักษุรัตนินมีสิ่งที่เรียกว่า Service Mind เนื่องเพราะทุกวันนี้คนไข้มีความรู้เรื่องโรคภัยไข้เจ็บที่ตนเองเผชิญอยู่มากขึ้น และเมื่อไปรักษาจะรู้ว่าแพทย์กำลังทำอะไร ต่างจากในอดีตที่คนไข้มีความศรัทธาและไว้วางใจต่อแพทย์สูงมาก ดังนั้นนอกเหนือหน้าที่การรักษาแล้ว แพทย์จะต้องให้ความสำคัญในด้านบริการ

"จักษุแพทย์ที่นี่ไม่ใช่มีความรู้เรื่องตาอย่างเดียว ยังต้องมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีและสามารถอธิบายกับคนไข้ได้" นายแพทย์สรรพัฒน์ชี้ "ปัจจุบันความสุข ความพอใจของคนไข้ไม่ได้อยู่ที่การรักษาเท่านั้น แต่ต้องการการดูแลเอาใจใส่จากแพทย์อีกด้วย"

วิธีการดังกล่าวเรียกว่า Wholly Medicine ที่แพทย์ต้องอธิบายให้คนไข้เข้าใจในอาการป่วยซึ่งทำให้ทั้งสองฝ่ายเข้าใจซึ่งกันละกัน ไม่ใช่รักษาด้วยการให้ยาเท่านั้น "คำว่ารักษาในภาษาต่างประเทศ คือ Treatment แต่การให้บริการที่ครอบคลุม ทั้งหมดเรียกว่า Management ซึ่งพวกเราต้องการอย่างหลัง"

กล่าวอีกนัยหนึ่ง เขาพยายามสร้างโรงพยาบาลให้เป็นมากกว่าสถานที่รักษาคนไข้และคุณภาพด้านวิชาการเท่านั้น หากพิจารณาถึงวงการแพทย์ในประเทศไทยปัจจุบันให้ความสำคัญต่อการรักษ าซึ่งเหตุการณ์นี้เกิดจากจำนวนแพทย์มีจำนวนไม่มาก เมื่อเทียบกับจำนวนประชากร ดังนั้นการให้เวลากับคนไข้ต่อรายจึงมีค่อนข้างจำกัด

เมื่อจุดประสงค์เป็นเช่นนี้ นโยบายการรับแพทย์เข้ามาทำงานในจักษุรัตนินจะต้องผ่านการฝึกฝนจากต่างประเทศเพื่อความรู้วิชาการหรือเทคโนโลยีใหม่ๆ โดยเฉพาะแพทย์ที่จบจากโรงเรียนแพทย์ในประเทศจะได้รับประสบการณ์โดยตรง

"พวกเขาจะรู้ว่าหมอต่างประเทศคุยกับผู้ป่วยและรักษาคนไข้อย่างไร และใช้เวลาในการรักษาต่อคนเป็นชั่วโมงไม่ใช่ 3 นาที 5 นาที" นายแพทย์สรรพัฒน์เล่า "มีแพทย์รุ่นน้องคนหนึ่งแฟกซ์มาบอกผมว่าตั้งแต่เช้าถึงหนึ่งทุ่มตรวจคนไข้ได้เพียง 11 ราย ซึ่งแตกต่างกับจำนวนคนไข้ที่รักษาจากแพทย์ในเมืองไทยมาก"

นอกเหนือจากให้ความสำคัญการบริการคนไข้ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่ดีของแพทย์แล้ว เป้าหมายผลประกอบการถือเป็นเรื่องที่นายแพทย์สรรพัฒน์ละเลยไม่ได้เนื่องเพราะเป็นองค์กรเอกชน แม้ว่าการแสวงหาผลกำไรไม่ใช่เป้าหมายสูงสุดก็ตาม

หากพิจารณาแล้วสิ่งที่เขาต้องการ คือ ความไว้วางใจจากคนไข้รวมถึงการที่พวกเขาเลือกแพทย ์ถือเป็นการวัดความสำเร็จที่ดีอย่างหนึ่งสำหรับการดำเนินธุรกิจโรงพยาบาล "พวกเรามีเป้าหมายอยู่ที่คุณภาพ วิชาการ และกำไร ที่สำคัญจักษุรัตนินเป็น One Stop Service คนไข้มาหาเราไม่ต้องไปรักษาโรคตาที่อื่น"

แนวคิดของนายแพทย์สรรพัฒน์ดูเหมือนไม่เฉพาะแค่เป็นจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น เขายังเป็นนักบริหารธุรกิจโรงพยาบาลที่น่าจับตามองคนหนึ่งจากวิสัยทัศน์ที่แสดงออกมา "ต้องเข้าใจว่าธุรกิจนี้ต่างจากธุรกิจอื่นๆ เพราะเป็นเรื่องการรักษาและสิ่งที่เราต้องการมีมากกว่าคำว่าการทำธุรกิจ"

อย่างไรก็ตาม การเติบโตของจักษุรัตนินมาจากกระบวน การธุรกิจครอบครัว ดังนั้นนอกเหนือจากนายแพทย์สรรพัฒน์ ที่เข้ามาดูแลงานยังมีน้องสาวทั้งสามคน ได้แก่ อโนมา รัตนิน เข้ามาบริหารงานด้านการเงิน, จิตรจารี รัตนิน ดูแลด้านการตลาด, วรัดดา หลีอาภรณ์ ดูด้านอินเทอร์เน็ต และภรรยาของเขา ศิริธร เข้ามาดูแลด้านการบริหารทั่วไป

ส่งให้ผลงานเชิงการบริหารภายใต้ผู้นำอย่างนายแพทย์สรรพัฒน์ออกมาดูดีโดยเฉพาะในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ อัตราคนไข้ลดลงเพียง 2-3% และเป็นสถานการณ์ระยะสั้นๆ เพราะหลังจากนั้นอัตราการเติบโตขยับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง "ผมมองว่าเป็นธุรกิจที่น่าสนใจ" นายแพทย์สรรพัฒน์กล่าว

นอกจากนี้เขายังพยายามขยายความสำเร็จออกไปยังแถบประเทศเพื่อนบ้านด้วยการร่วมมือกับพันธมิตร อาทิ โรงพยาบาลในกัมพูชา มาเลเซีย และเวียดนาม เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนในเชิงธุรกิจซึ่งกันและกัน เพราะทุกวันนี้มีคนไข้จาก แถบอาหรับเข้ามารักษาที่จักษุรัตนินประมาณ 14% ของจำนวนคนไข้ทั้งหมด

"คนไข้เหล่านั้นเริ่มรู้ถึงคุณภาพและระดับค่าใช้จ่าย ประกอบกับพวกเราพยายามโปรโมตด้วย ทำให้คนไข้ต่างชาติเริ่มมีมากขึ้น"

ด้วยวิสัยทัศน์อันโดดเด่นประกอบกับความเชี่ยวชาญ ในวิชาชีพส่งผลให้นายแพทย์สรรพัฒน์ทายาทรุ่นที่ 2 แห่ง โรงพยาบาลจักษุรัตนิน สามารถสร้างความเติบใหญ่ต่อจาก รุ่นก่อนได้อย่างรวดเร็ว



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.