"เอ็มดีewc" ร่วมทุนนักธุรกิจ ผุดโรงงานพลัง"RE"10แห่งป้อนกฟภ.


ผู้จัดการรายสัปดาห์(20 ตุลาคม 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

ดร.นพ สัตยาศัย เอ็มดีคนใหม่ บริษัท EWC ร่วมมือนักธุรกิจ-นักวิชาการ เตรียมผุดโรงงานพลังงานทางเลือก ด้วยการสร้างก๊าซธรรมชาติจาก ต้นไม้ ผลิตกระแสไฟฟ้า 10 แห่ง กระจายโรงงานสู่ทุกภูมิภาค ต่อยอดทำน้ำมันและเอธานอล พร้อมเชิญชวนนักลงทุนที่สนใจเข้าร่วม โครงการนี้ได้ บีโอไอและมีเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำไว้รองรับ!

ภาวะราคาน้ำมันที่มีราคาพุ่งสูงอย่างไม่หยุดหย่อน กระทบต่อภาคเศรษฐกิจโดยรวมจนทำให้ต้องลดการคาดการณ์จีดีพีของประเทศลงไป เนื่องเพราะอัตรางเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นตามราคาน้ำมัน จึงทำให้หลายฝ่ายต้องหันหน้าเข้ามาหากัน เพื่อหาแนวทางในการหาพลังงานทางเลือกอื่นมาทดแทน ปัจจุบันสิ่งที่ภาครัฐกำลังแก้ปัญหาอยู่ก็คือ ชักจูงให้ประชาชนประหยัดพลังงาน และพยายามโฆษณาให้คนไทยหันมาใช้พลังงานทางเลือกอื่นเช่น ติดตั้งก๊าซธรรมชาติแทนการเติมน้ำมันและชักจูงให้ประชาชนหันมามาใช้เอธานอล

ใช้ก๊าซธรรมชาติผิดทิศทาง

นักวิชาการด้านพลังงานอย่าง ดร.นพ สัตยาศัย กรรมการผู้จัดการบริษัทอีสเทิรน์ไวน์ คนใหม่ (EWC ) เป็นหนึ่งในกลุ่มนักวิชาการอีกหลายคนกำลังหาพลังงานแนวใหม่เพื่อมาทดแทนพลังงานที่ใช้หมดไปอย่าง Fuel energy เช่น ก๊าซธรรมชาติ และ น้ำมัน เขามองว่า Fuel Energy เป็นพลังงานที่มีวันหมดไป และควรที่จะมีการสำรองไปถึงลูกหลานไปอีกหลายๆปีมากกว่าที่จะรีบขุดขึ้นมาใช้แทนน้ำมัน เพราะหากเร่งรีบขุดกันต่อไปจะเกิดภาวะเช่นเดียวกับน้ำมันที่กำลังจะหมดไป

ดังนั้น ปตท.ควรจะเป็นผู้มีส่วนในการช่วยเหลือไม่ให้ขุดกาซธรรมชาติมาใช้จนเกินไปและเมื่อได้ก๊าซธรรมชาติที่ได้มาก็ควรนำมาทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพราะก๊าซธรรมชาติเป็นสมบัติของทุกคนในชาติ รัฐควรจะเร่งหาแหล่งพลังงานที่ไม่หมดไปอย่าง Renewal Energy มากกว่า

"ตอนนี้รัฐบาลกำลังดำเนินนโยบายที่ผิดแนวทาง เหมือนกับการขุดก๊าซธรรมชาติมาเผาเล่นแทนที่จะเก็บไว้ให้ลูกหลานได้ใช้ในอนาคต และขุดขึ้นมาใช้เพื่อประโยชน์สูงสุดให้ได้มูลค่ามากที่สุด เช่น การนำก๊าซธรรมชาติไปกลั่นจนได้ก๊าซพีโพลีน เพื่อได้มูลค่าของสินค้าสูงสุด"

"Renewal energy" 10 โรงงาน

อย่างไรก็ดี ดร.นพ บอกว่า เขาและนักธุรกิจรายอื่นๆกว่า 10 ราย ได้เล็งเห็นประสิทธิภาพของโรงงานผลิต Renewable energy หรือพลังงาน RE จึงได้ร่วมมือกันจะผลิตโรงงานเหล่านี้ 10 แห่งประจายไปทั่วภูมิภาค มูลค่ากว่า 800 ล้านบาท เพื่อกระจายผลิตกระแสไฟฟ้าขายต่อให้กับการไฟฟ้าภูมิภาค โดยคาดว่าจะขายได้ที่ราคา 2 บาท / กิโลเมกกะวัตต์ ปัจจุบันความต้องการใช้ไฟฟ้าของทั้งประเทศอยู่ที่ 28,000 เมกกะวัตตต์/ ชั่วโมง ดังนั้นการเข้ามาเป็นพลังงานอีกหนึ่งทางเลือกตรงจุดนี้คาดว่าจะได้รับผลตอบรับที่ดีพอสมควร เมื่อเทียบกับการที่ต้องใช้น้ำมันในการผลิตกระแสไฟฟ้า

สำหรับกระบวนการในการทำ Renewable energy คือการนำเปลือกไม้หรือพืชพันธ์พืชมาเข้ากระบวนการ Gasification Pyrolysis ซึ่งเป็นกระบวนการเผาไหม้ไม่ทำให้เกิดควัน ซึ่งผลหลังจากที่เกิดการเผาไหม้แล้วจะออกมาเป็น ก๊าซธรรมชาติ เพียงแต่มีความหนาแน่นน้อยกว่า ขณะนี้ได้มีการทำโรงงานผลิตไฟฟ้าจากกระบวนการเหล่านี้ที่ประเทศอินเดียขึ้นหลายแห่งเป็นจำนวนมาก ซึ่งอินเดียได้มีการศึกษาโครงการนี้ตั้งแต่ ค.ศ. 1980 หรือเมื่อ 25 ปีที่แล้ว

ดร.นพ บอกว่า ในไม้หรือพืชพันธุ์ธรรมชาติ1.2 กิโลกรัมเมื่อผ่านกระบวนการ Gasification Pyrolysis แล้วจะได้ก๊าซธรรมชาติซึ่งมาทำกระแสไฟฟ้าได้ 1 กิโลวัตต์ มีต้นทุนการทำโรงงานพลังงานใหม่เช่นนี้อยู่ที่ 65 ล้านบาทในการซื้อเครื่องจักรมาใช้ต่อการสร้างโรงงานเพื่อให้พลังงานไฟฟ้า 1 เมกกะวัตต์/ชั่วโมง และต้องมีทุนอีกประมาณ 20 ล้านบาทเพื่อทำการซื้อเนื้อที่ในการปลูกป่าให้ได้วัตถุดิบจากต้นไม้มาทำก๊าซธรรมชาติก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนการไปเป็นกระแสไฟฟ้าต่อไป นั่นคือถ้าต้องการไฟฟ้า 1 เมกกะวัตต์/ ชั่วโมง ต้องใช้เนื้อที่ปลูกป่า 2,000 ไร่ ถ้าต้องการไฟฟ้า 1,000 เมกกะวัตต์ ก็ต้องใช้เนื้อที่ 200 ล้านไร่

"ผมและเพื่อนๆจะเร่งทำให้ได้ภายในสิ้นปีนี้ คาดว่าจะปลูกต้นไม้แบบโตเร็ว และในตอนนี้ก็มีที่ส่วนตัวที่ จ. นครราชสีมา ที่จะสร้างโรงงานของและที่จะเข้าไปปลูกป่า อีกทั้งตอนนี้ได้เตรียมเศษวัสดุจากธรรมชาติตุน อย่าง ฟางข้าว ไว้ผลิตกระแสไฟฟ้าได้กระแสไฟฟ้า ประมาณ 4,000 เมกกะวัตต์แล้ว"

เตรียมผลิตน้ำมันต่อยอด

นอกจากนั้นแล้วในสารประกอบทางเคมีของก๊าซธรรมชาติเอง ประกอบด้วยไฮโดเจนและ ออกซิเจน เป็นสารประกอบเช่นเดียวกันกับ น้ำมัน คาดว่าเมื่อทำโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าประสบความสำเร็จแล้ว กลุ่มของดร.นพ จะพัฒนากระบวนการผลิตต่อยอดมาทำน้ำมันอีกขั้นหนึ่ง ซึ่งเป็นแผนงานในระยะยาว และต้องใช้เงินลงทุนอีกจำนวนหนึ่ง

นอกนจากผลิตต่อยอดน้ำมันได้แล้ว ด้วยวิธีการเดิมสามารถผลิต เอธานอลและเมธานอลได้อีกด้วย ดร. นพเชื่อว่าถ้ามีการลงทุนทำโรงงานผลิตพลังงานแบบ Gasification Pyrolysis นี้จะเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า เพราะจะทำให้เราสามารถผลิตพลังงานได้ด้วยตัวเองอย่างครบวงจร แม้จะใช้การลงทุนในช่วงแรกด้วยเม็ดเงินจำนวนมาก แต่ก็เป็นการสร้างฐานพลังงานของชาติที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งนอกจากจะได้พลังงานแล้ว ยังได้ประโยชน์ต่อส่วนรวมอีกด้วย

ผุดพลังงานทางเลือกชุมชนได้ประโยชน์

สำหรับการตั้งโรงงานแห่งหนึ่งซึ่งมีขนาด 1 กิโลวัตต์ ต่อชั่วโมง ต้องมีเนื้อที่กว่า 20 ล้านไร่เพื่อปลูกป่ามาใช้เป็นวัตถุดิบป้อนโรงงาน จึงต้องใช้แรงงานจากชุมชนเข้ามาช่วย คาดว่าต้องใช้แรงงานคนในพื้นที่กว่า 10,000 คน กระจายไปตามโรงงานทั่วประเทศ ถือได้ว่าเป็นการกระจายรายได้ไปสู่ชุมชนได้อย่างแท้จริง อีกทั้งการปลูกป่าก็ไปเสริมระบบนิเวศน์ให้มีความยั่งยืนยืน ซึ่งดีกว่าไปปลูกพืชอย่างอื่นที่เป็นการทำลายหน้าดิน ขณะที่การทำเพียงเอทานอลเพียงอย่างเดียวนั้นต้องทำการปลูกพืชอย่าง มัน อ้อย ซึ่งเป็นพืชทางเศรษฐกิจที่สามารถนำไปผลิตอย่างอื่นได้อยู่แล้ว แต่การผลิตก๊าซธรรมชาติแบบนี้นั้นไปจำเป็นต้องใช้พืชทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว

แต่การผลิตตามรูปแบบนี้นอกจากจะใช้ไม้ในการผลิตแล้ว เศษวัสดุธรรมชาติต่างๆอย่าง ฟางข้าว เศษมันสำปะหลัง ซังข้าวโพด หรือเศษที่เหลือจากพืชไร่พืชสวน ก็สามารถนำมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตได้ อีกทั้งโรงงานก็มีขนาดไม่ใหญ่ สามารถตั้งกระจายกันอยู่ทั่วภูมิภาค ต่อไปชาวบ้านจะมีรายได้เพิ่มขึ้น โดยไม่ต้องขนวัสดุต่างๆในพื้นที่ไปขายที่อื่น แต่จะมีโรงงานอยู่ใกล้บ้านคอยรับเศษวัสดุธรรมชาติต่างๆ ไปป้อนการผลิตแก่โรงงาน

นอกจากนี้โรงงานผลิตพลังงานเช่นนี้จะไม่ทำให้เกิดมลภาวะแบบโรงไฟฟ้าชนิดอื่นๆที่พบเห็นกันมาอย่าง แม่เมาะ ซึ่งต้องใช้การเผาไหม้วัตถุดิบ แต่ระบบ Gasification Pyrolysis นั้นเป็นการกระบวนการที่ไม่ใช่การเผาไหม้ จึงไม่เกิดมลพิษ แต่จะได้ขี้เถ้า ออกมา ซึ่งจะนำไปเป็นปุ๋ยเพื่อลดต้นทุนการผลิตต่อไป

"โครงการนี้ได้ติดต่อขอรับการสนับสนุนจากบีโอไอไว้แล้ว จึงไม่เป็นอุปสรรคสำหรับผู้ที่ต้องการจะลงทุน" ดร.นพ กล่าว และบอกว่า ในส่วนของเงินลงทุนที่ใช้ในเบื้องต้นในการซื้อเครื่องจักรทางบีโอไอจะเป็นผู้สนับสนุนในการลงทุนโดยยื่นข้อเสนอด้านสิทธิด้านภาษีไว้แล้ว อีกทั้งตอนนี้ยังได้รับการสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำในช่วง 3-5 ปีแรก ซึ่งคาดว่าในด้านงบประมาณลงทุนไม่น่าจะเป็นปัญหา

"แต่เพื่อประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ไทยควรเข้าร่วมกับพิธีสารเกียวโตหรือKyoto Protocol ซึ่งเป็นการลงนามกันเพื่อให้ประเทศที่พัฒนาแล้วให้เงินสนับสนุนประเทศที่กำลังพัฒนาเพื่อช่วยไม่ให้ประเทศเหล่านั้นปล่อยสาร CFC ออกมาทำลายชั้นบรรยากาศโลก ซึ่งไทยควรจะเข้าร่วมเพื่อได้รับเงินอุดหนุนมาพัฒนาสร้างพลังงานที่ยั่งยืนและบริสุทธิ์แก่คนในประทศ" ดร.นพ ระบุ

ดร.นพ สัตยาศัย เคยทำงานเป็นที่ปรึกษาให้กับสำนักงานคณะกรรมการพลังงานแห่งชาติ ในปี พ.ศ. 2523 และเป็นที่ปรึกษา USAID ( U.S. Agency for International Development) ในโครงการ non-conventional renewable energy เพื่อศึกษาการทำพลังงานทดแทนแบบ Renewable energy ซึ่งผลการศึกษาพบว่าการทำโรงงานพลังงานแบบนี้ให้ผลตอบแทนทางธุรกิจได้ แต่เนื่องจากตอนนั้นราคาน้ำมันลดต่ำลง โครงการนี้จึงไม่มีการสานต่อ

ปัจจุบัน ดร.นพ เข้าดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการบริษัทอีสเทิร์นไวร์จำกัด (มหาชน) แทน ภิรมย์ ปริยาวัตร เมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2548 ซึ่ง ภิรมย์ ได้ขายหุ้นให้กับกลุ่มสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ทั้งหมด 11 ล้านหุ้นเมื่อเดือน พฤษภาคมที่ผ่านมา สำหรับ บริษัทอีสเทิร์นไวร์นอกจากจะมีการทำโครงการหลักในด้านก่อสร้างแล้ว ยังมีการวางแผนการทำธุรกิจด้านอื่นเพื่อลดความเสี่ยง ขณะนี้มีบริษัทลูกอยู่ในมือสองบริษัทคือ บริษัท ระยองไวร์ อินดัสตรี่ จำกัด และบริษัทเอื้อวิทยา จำกัด ซึ่งทั้งสองบริษัทต่างทำการผลิตสายไฟอุกรณ์การก่อสร้างซึ่งเป็นธุรกิจหลัก


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.