กระตุ้นยอดส่งออกหลัก เร่งพัฒนา 3 อุตสาหกรรมหลัก


ผู้จัดการรายสัปดาห์(20 ตุลาคม 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

ในอดีต ไทยมีรายได้จากการส่งออกสินค้าจาก 3 อุตสาหกรรมหลัก เครื่องนุ่งห่ม เครื่องหนังและอัญมณีได้เป็นอย่างมากกว่า 300,000 ล้านบาท เพราะไทยมีจุดแข็งที่ค่าแรงที่ถูกและฝีมือการผลิตที่ประณีต โดยมีตลาดหลักอยู่ที่สหรัฐอเมริกาและยุโรป แต่ตอนนี้ภาคการผลิตทั้ง 3 ต้องมีการปรับตัวให้ทันกับสภาวะโลกอย่างมาก

กระตุ้นผู้ผลิตปรับตัว

ปราโมทย์ วิทยาสุข ผู้อำนวยการสำนักงานโครงการกรุงเทพฯ เมืองแฟชั่นกล่าวว่าผู้ประกอบการทั้ง 3 ภาคอุตสาหกรรมต้องปรับตัวให้ทันเข้ากับสิ่งแวดล้อมการแข่งขันที่แตกต่างจากเดิม เช่นในภาคสิ่งทอ ก็ควรที่จะปรับเปลี่ยนการผลิตลายผ้าจากเดิมที่ทำแบบละปริมาณมากๆ มาเป็นการทำหลายๆลายและทำปริมาณร้อยๆ ส่วนเส้นใยผ้าก็ควรจะเน้นที่การพึ่งพิงธรรมชาติเป็นหลักไม่ว่าจะเป็นผ้า ค็อตตอน หรือ ไหม เพราะการปรับเปลี่ยนทั้งสองอย่างนี้ต่างเป็นที่ต้องการของตลาด และยังคงต้องเน้นการพัฒนาสินค้าเพื่อสร้างแบรนด์มากกว่าที่จะเน้นการขายตัดราคาอย่างที่เคยเป็นมา

และในส่วนของอุตสาหกรรมเครื่องหนังนั้น จะต้องมีการเสาะแสวงหาวัตถุดิบราคาถูกในตลาดใหม่ๆอย่าง จีนและเวียดนาม เพื่อลดต้นทุนการผลิตอีกทั้งเน้นการออกแบบให้มีความเป็นเอกลักษณ์ ซึ่งเชื่อว่าต่อไปเครื่องหนังไทยจะสามารถสู้บนเวทีตลาดโลกได้

ซึ่งทางสมาคมเครื่องนุ่งห่มไทยก็ได้สนับสนุนการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมสิ่งทอไทยด้วยการหาพันธมิตรมาช่วยในการลงทุน เพื่อเป็นการตอบสนองความต้องการอันหลากหลายของตลาดโลก เช่นที่ผ่านมาได้มีการผสมผสานความชำนาญ ฝีมือและคุณภาพด้านการตัดเย็บไทยกับวัสดุสิ่งทอให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น โดยร่วมมือกับ สิ่งทอไต้หวันกว่า 30 บริษัท เพื่อสร้างความหลหากหลายให้กับอุตสาหกรรมสิ่งทอให้มีทางเลือกมากขึ้น

ตั้งเป้าพัฒนาคนทั้ง 3 ภาคอุตสาหกรรม

เพราะเมื่อมองที่มูลค่าการส่งออกสิ่งทอของไทยในปี 2547 ทั้งปีมีมูลค่า 6,402 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีอัตราขยายตัวเพิ่มขึ้น 17.1% เมื่อเทียบกับปี 2546 ที่อยู่ที่ 5,466 ล้านเหรีญสหรัฐและล่าสุดในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา ภาพรวมภาคส่งออกเครื่องนุ่งห่มโตขึ้น 3.54% เมื่อเทียบกับที่ 2547 มูลค่า 1,207.05 ล้านเหรียญสหรัฐคาดว่าการส่งออกในปี 2548 จะเป็นไปตามเป้าที่ตั้งไว้คือ 3,975 ล้านเหรีญสหรัฐเพิ่มจากปี 2547 กว่า17% นั้น แม้จะมียอดการเติบโตที่สูงขึ้น แต่ไม่อาจปฏเสธได้ว่าเราโดนแย่งสัดส่วนการตลาดไปอย่างมาก เพราะเมื่อจีนและเวียดนามได้เปิดประเทศมากซึ่งได้เปรียบประเทศไทยจากการที่มีต้นทุนการผลิตต่ำกว่าขึ้นและมีค่าแรงที่ถูกกว่า ส่งผลให้ทั้งสองประเทศโดยเฉพาะจีนเป็นผู้แข่งขันที่สำคัญในตลาดสิ่งทอโลก

ทั้งนี้ทางโครงการกรุงเทพฯเมืองแฟชั่นได้มีโครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการทั้ง 3 ภาคอุตสาหกรรม ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำให้มีความรู้มากยิ่งขึ้น โดยมีสถาบันการศึกษาอย่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ ประสานมิตร, สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล เป็นผู้ให้การฝึกอบรมและแนะแนวแก่ผู้ผลิตให้พัฒนาศักยภาพผลตภัณฑ์ของตนต่อไป


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.