|
กมลประกันภัยพลิกลำ คว้าพอร์ตนอนมอเตอร์
ผู้จัดการรายสัปดาห์(20 ตุลาคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
การเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นที่เกิดขึ้นใน "กมลประกันภัย" เป็นสิ่งท้าทายสำหรับผู้บริหารหน้าใหม่ที่เข้ามาจับธุรกิจประกันภัยในยามภาวะการแข่งขันรุนแรง การวางหมากกลยุทธ์ต่าง ๆ เพื่อเดินไปสู่เส้นทางเบื้องหน้าไม่ใช่เรื่องง่ายเหมือนที่ผ่านมา แม้การทำงานจะมีพันธมิตรทางธุรกิจคอยหนุนก็ตาม แต่ในสถานการณ์ปัจจุบันแค่เพื่อนร่วมทางยังไม่พอ ต้องมีการสร้างจุดเด่นที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวให้สังคมได้รับรู้มากขึ้น
กมลประกันภัย เป็นชื่อที่เปลี่ยนมาจาก กมลสุโกศลประกันภัย หลังบริษัทดังกล่าวมีการเปลี่ยนผู้ถือหุ้นรายใหม่ เดิมที่ในยุคที่เป็นกมลสุโกศลประกันภัยผู้ถือหุ้นใหญ่เป็นกลุ่มดีลลเลอร์รถยนต์ พอร์ตงานส่วนใหญ่จึงเป็นมอเตอร์มีลูกค้าเฉพาะกลุ่มและดำเนินธุรกิจอย่างเก็บตัว
หลังจากเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นกลุ่มใหม่ นโยบายการดำเนินธุรกิจมีการปรับเปลี่ยนไปบ้างจากเดิมที่เน้นประกันภัยรถยนต์ก็หันมาเน้นประกันภัยที่ไม่ใช่รถยนต์มากขึ้น อย่างประกันอัคคีภัย ประกันภัยเบ็ดเตล็ด เป็นต้นซึ่งการเปลี่ยนนโยบายในครั้งนี้เองทำให้บริษัทต้องมีการเปิดตัวให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น เพื่อขยายฐานลูกค้าที่ไม่ค่อยได้จับมาก่อน
ปัจจุบัน พอร์ตงานมอเตอร์ของบริษัทอยู่ที่ประมาณ 60% และที่เหลือเป็นนอนมอเตอร์ แต่แผนหรือความตั้งใจในอนาคตนั้นบริษัทอยากให้นอนมอเตอร์มีสัดส่วนอยู่ที่ 60% เนื่องจากสามารถทำรายได้ได้ดีกว่ามอเตอร์ ที่ปัจจุบันมีทั้งการแข่งขันที่รุนแรงทั้งแย่งลูกค้าและตัดเบี้ยประกันภัย
มนัส บินมะฮมุด กรรมการผู้จัดการใหญ่ กมลประกันภัย บอกถึงโครงสร้างผู้บริหารชุดใหม่ว่ามีประมาณ 5-6 กลุ่ม นำโดย กลุ่มไดมอนด์สตาร์ ซึ่งดำเนินธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ถือหุ้นอยู่ประมาณ 40% มิตซุยสุมิโตโมผู้ถือหุ้นกลุ่มเดิม 10% นายมนัส บินมะฮมุด 10% และกลุ่มอื่น ๆ อีก
อย่างไรก็ตามสัดส่วนนั้นอาจมีการปรับเปลี่ยนไปหลังจากต้องเพิ่มทุนอีก แต่อาจไม่ต่างจากที่เดิมมากนักซึ่งก็จะทำให้โครงสร้างผู้ถือหุ้นยังไม่ลงตัวดีนักใน ดังนั้นสำหรับช่วงนี้บริษัทจึงอยู่ระหว่างการปรับเปลี่ยนโครงสร้างองค์กร เพื่อให้ทุกอย่างเข้าที่เข้าทางมากกว่านี้ แต่ก็ทำควบคู่ไปกับแผนการดำเนินธุรกิจ และหลังจากทุกอย่างเรียบร้อยซึ่งเชื่อว่าจะจบได้ในปีนี้ ปีหน้ากมลประกันภัยจะได้เดินหน้าทำงานเต็มสูบ
การเข้ามาของผู้ถือหุ้นใหม่นั้นได้นำจุดเด่นในเรื่องไอทีเข้ามาด้วย ซึ่งมนัส บอกว่าเพราะได้เห็นถึงความสำคัญของการใช้ไอทีเพื่อช่วยในการทำงาน การให้บริการ และสนองความต้องการลูกค้า จึงได้เลือกซอฟแวร์ที่สามารถเข้ามาช่วยในการทำงานได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งทางบริษัทได้ตัดสินใจโดยมอบให้ จีเอบีเข้ามาดำเนินการติดตั้งระบบGIS (General Insurance System) เป็นซอฟแวร์รองรับการดำเนินธุรกิจประกันวินาศภัยแบบครบวงจร
อย่างไรก็ตามการเข้าหาลูกค้าไม่ใช่เรื่องง่าย การมีระบบงานที่ดี หรือโรงสร้างบริษัทที่แข็งแกร่งยังไม่เพียงพอที่จะทำให้จับเข้าถึงลูกค้าได้ง่าย ดังนั้นจุดนี้เองทำให้กมลประกันภัย เปิดตัวด้วยชื่อ และโลโก้ใหม่ ที่มีรูปเป็นตัวหนังสือคำว่า กมล สีน้ำเงิน ล้อมรอบด้วยรูปหัวใจสีแดง ซึ่งการสร้างแบรนด์หรือโลโก้ถือเป็นแผนการรต่อสู่ในสนามแข่งยุคใหม่ของธุรกิจประกันวินาศภัย
ณ วันนี้ยังมองไม่ออกว่าหลังจากที่ กมลประกันภัย เปลี่ยนผู้ถือหุ้นใหม่ ทิศทางหรือนโยบายจะต่างไปจากเดิมมากน้อยเพียงใด ในแง่การเปิดตัวให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น เพราะในการแข่งขันยุคปัจจุบันเรื่องดังกล่าวกลายเป็นความจำเป็นที่เลี่ยงได้ยาก ดังนั้นเส้นทางเดินของกมลประกันภัยในอนาคตจะเป็นอย่างไรจึงขึ้นอยู่กับนโยบายของผู้ถือหุ้นชุดใหม่
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|