เปิดลายแทงประกันภัย"บัวหลวง" สัมพันธ์ไชนิส คอนเน็คชั่นไม่ง่าย


ผู้จัดการรายสัปดาห์(20 ตุลาคม 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

"ชัย โสภณพนิช"สอนบทเรียน "ไชนีส คอนเน็คชั่น"ต้องมั่นใจในหุ้นส่วน โดยเฉพาะการเปิดเส้นทางลงทุนธุรกิจ"ประกันภัย" นอกแผ่นดินแม่ เป็นเรื่องลำบาก หากไม่รู้จักพันธมิตรอย่างใกล้ชิด ยิ่งการบุกเข้าไปขุดขุมทรัพย์ถึงถิ่น "พญามังกร" ที่กินอาณาบริเวณกว้างขวาง เต็มไปด้วยนักรบชั้นเซียน ก็ยิ่งอธิบายถึงสภาพสนามรบที่แสนสาหัสได้คมชัดขึ้น...

แบงก์ใหญ่ระดับแถวหน้า ไม่ว่า บัวหลวงตระกูล "โสภณพนิช" เคแบงก์หรือกสิกรไทยของ "ล่ำซำ" และค่ายไทยพาณิชย์ จำเป็นต้องอาศัยสายสัมพันธ์ "ไชนีส คอนเน็คชั่น" เพื่อบุกเบิกเส้นทางการค้ากับ "เจ้าถิ่น" มหาอำนาจยักษ์ใหญ่อย่าง "พญามังกร" เพื่อเปิดประตูบ้านเจ้าของที่มีกฎระเบียบค่อนข้างเข้มงวด

แต่ใครจะรู้ว่า...การเข้าไปลงทุนทำธุรกิจกับคนที่ไม่รู้จักนอกแผ่นดินเกิดนั้นไม่ใช่เรื่องหมูๆ ตรงกันข้ามกลับลำบากยิ่งกว่าการลงสนามรบราฆ่าฟันกับคู่แข่งในประเทศมากเป็นเท่าตัว

นายแบงก์ยุคบุกเบิก ต่างพลิกตัวแทบไม่ทัน เพราะสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่โตอย่างรวดเร็วของถิ่นพญามังกร

การเข้าไปเปิดตัว ผ่านสำนักงานตัวแทนและสาขาหลายแห่งเมื่อสิบกว่าปีก่อนแทบไม่ได้ช่วยลดทอนเส้นทางเดินที่ขรุขระให้ราบรื่น แต่กลับกลายเป็นเรื่องท้าทายกำลังความสามารถที่มีอยู่อย่างคาดไม่ถึง
เป็นเรื่องที่ปฏิเสธได้ยาก ถ้าจะบอกว่าการเปิดลายแทงขุมทรัพย์ของสถาบันการเงินในต่างประเทศ ก็คือ การเปิดชายแดนทางการค้าให้กับบริษัทในเครืออย่าง "ประกันภัย" ไปด้วยในตัว

ตระกูล "โสภณพนิช" ค่ายแบงก์บัวหลวง ประกาศตัวยิ่งใหญ่ด้วยการจับมือกับพันธมิตรคือ PICC หรือ พีเพิล อินชัวรันส์ ไชน่า คอร์ปอเรชั่น ควบคู่ไปกับการเปิดสาขาในปักกิ่ง แต่นี่ก็ยังไม่ใช่การรุกเข้าไปลงทุนในธุรกิจประกันภัยนอกประเทศเป็นครั้งแรก ของค่ายนี้ เพราะก่อนหน้านั้น "กรุงเทพประกันภัย" บริษัทลูกก็ถือหุ้นใน "ต้าตี้" เป็นพันธมิตรเก่าแก่ในถิ่นนี้แล้ว

" ต้องใช้เงินเยอะมาก สำหรับ 2 บริษัทในจีน ซึ่งถือว่ามากแล้ว เพราะปัญหาคือ จีนตั้งกฎเกณฑ์เกี่ยวกับเงินกองทุนค่อนข้างสูง การเข้าไปถือหุ้นในบริษัทหนึ่งๆต้องใช้เงินมหาศาล แต่เทียบกับสัดส่วนการถือหุ้น จะเหลือเปอร์เซ็นต์เล็กนิดเดียว"

ชัย โสภณพนิช กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.กรุงเทพประกันภัย เปิดใจถึง เส้นทางเดินในตลาดที่ไม่ค่อยคุ้นเคยหรือรู้จักมากนัก เต็มไปด้วยอุปสรรคขวากหนาม ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบอย่างที่หลายคนหลับตาจินตนาการ เงื่อนไขเหล่านี้เองที่ทำให้กรุงเทพประกันภัย เบรกการลงทุนนอกแผ่นดินเกิดอย่างทันท่วงที รวมการลงทุนในย่านนี้และในจีนคิดเป็นเม็ดเงินราว 200 ล้านบาท

พันธมิตรบริษัทนี้ถือเป็นเพื่อนสนิทรุ่นลายคราม เพราะต้าตี้ซึ่งมีฐานที่มั่นในเซี่ยงไฮ้ก็คือ "ไชน่ารี" ที่ถือหุ้นโดยรัฐบาลจีน ฮ่องกง และหุ้นส่วนต่างประเทศ ขณะเดียวกัน"ไชน่ารี" ก็เป็นพันธมิตรที่ "รับประกันภัยต่อ" จากกรุงเทพประกันภัยมาตั้งแต่แรก

"ลงทุนในจีนต้องมั่นใจกับหุ้นส่วน เพราะเราถือหุ้นค่อนข้างเล็ก หากไม่มั่นใจ ก็คงไม่กล้าที่จะเปิดบริษัทใหม่ๆ เยอะๆ เพราะบริษัทประกันภัยใหม่ที่เข้าไปลงทุนในจีน ที่มีกำไร มีค่อนข้างน้อยมาก"

ชัย เฝ้าบอกบทเรียนการลงทุนในตลาดที่มีพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาล เป็นเรื่องที่ลำบาก เพราะไม่รู้จักคนและองค์กรในพื้นที่ ต่างจากสถานการณ์ในประเทศที่รู้จักดีกว่า ยกเว้นการแข่งขันที่ค่อนข้างรุนแรง ส่วนในจีนมีอาณาบริเวณใหญ่โต และมีกฎเกณฑ์ที่ค่อนข้างเข้มงวด

การจับคู่แต่งงานกับต้าตี้ฯ เริ่มต้นมาปีกว่าๆ โดยได้ใบอนุญาตประกอบธุรกิจที่สามารถเปิดสาขาได้ไม่จำกัดเมืองหรือมณฑล ขณะที่ประกันภัยต่างประเทศที่เข้าไปซื้อกิจการหรือลงทุนในระยะหลังๆ มักจะได้ใบอนุญาตประกอบธุรกิจเฉพาะมณฑล

" ที่เซี่ยงไฮ้คู่แข่งเยอะมาก โดยเฉพาะบริษัทประกันภัยจากต่างประเทศ" ชัย บอกว่า การลงทุนในต้าตี้ต้องใช้เงินลงทุนสูง เพราะเกณฑ์ลงทุนในบริษัทใหม่กำหนดให้เงินกองทุนสูงถึง 5 พันล้านบาท โดยกรุงเทพประกันภัยลงทุนราว 50ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนเพียง 1%

ขณะที่การลงทุนร่วมกับ PICC ผ่านทางแบงก์บัวหลวง มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงปักกิ่ง โดยPICC เป็นบริษัทของรัฐบาล ที่เข้าไปเปิดบริษัทประกันภัยในฮ่องกง

อย่างไรก็ตาม การลงทุนในธุรกิจนี้ต้องลงทุนเป็นเวลานานกว่าจะถึงจุดคุ้มทุนและมีกำไร ส่วนใหญ่ใช้เวลากว่า5-6 ปี จึงจะถึงจุดคุ้มทุน ในรายของต้าตี้ 3-4 ปีแรกขาดทุนและคาดว่าปีหลังๆจะมีกำไร รวมแล้วต้องใช้เวลานานถึง 6 ปี

ชัยบอกว่า การพิจารณาลงทุนหรือเปิดบริษัทใหม่ในต่างประเทศ โดยเฉพาะจีนในแต่ละครั้ง จะไม่ค่อยมั่นใจถ้าไม่มีความรู้ด้านนี้ แต่ที่กล้าเข้าไปลงทุน เพราะรู้จัก คุ้นเคยกับธุรกิจและคนในธุรกิจนี้มาตั้งแต่แรก

" การลงทุนในต่างประเทศเท่าที่ผ่านมา กรุงเทพประกันภัยได้ลงทุนไปแล้ว 6 ประเทศ ใช้เงินลงทุนไปแล้ว 200 ล้านบาท แต่หลังจากนี้คงยังไม่มีการลงทุนเพิ่มอีก"

กรุงเทพประกันภัยมีธุรกิจที่ร่วมลงทุนใน กัมพูชา 2 แห่งคือ เอเชีย อินชัวรันส์ กัมโบเดีย และกัมโบเดียรี อินชัวรันส์ ที่ถือหุ้น 15% และจะเริ่มจ่ายเงินปันเป็นแห่งแรก

ในเวียดนามได้ร่วมลงทุนกับแบงก์ที่ถือหุ้นโดยรัฐบาลเวียดนาม ในกรุงฮานอย โดยกรุงเทพประกันภัยถือหุ้นอยู่ 10% และการลงทุนในฟิลิปปินส์...


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.