|
มนุษย์ทองคำหลบตลาดเหวี่ยง บัวหลวงเทน้ำหนักวาณิชธุรกิจ
ผู้จัดการรายสัปดาห์(20 ตุลาคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
"ตลาดหุ้นไทย"ที่ผันผวนขึ้นลงไม่แน่นอน ในขณะที่ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจไม่ได้เปลี่ยนรูปร่างไปมากมายนัก ได้กลายมาเป็นตัวแปรสำคัญทำให้โบรกเกอร์แทบทุกราย หันเหทิศทางการทำธุรกิจจากเดิมที่กินพื้นที่ "นายหน้าค้าหลักทรัพย์" หรือ โบรกเกอร์ มากกว่า 90% มาจับงาน "วาณิชธุรกิจ" หรือให้บริการที่ปรึกษาในสัดส่วนที่มากขึ้น...
ปริมาณวอลุ่มการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ยังเหวี่ยงตัวไปตามการเก็งกำไรและกระแสข่าวด้านลบ นอกจากจะฉุดให้ดัชนีตลาดวิ่งขึ้นลงแบบเอาแน่เอานอนไม่ได้ ก็ยังแสดงให้เห็นถึงสัญญาณรายได้ของธุรกิจโบรกเกอร์กำลังดิ่งหัวลงในทิศทางเดียวกัน
แต่ภาพ "มนุษย์ทองคำ" ของคนในแวดวงโบรกเกอร์ ก็ยังไม่ได้แตกต่างไปจากเดิมสักเท่าไร เพราะส่วนใหญ่แทบทุกโบรกเกอร์เลือกที่จะหันหัวเรือไปจับธุรกิจที่จะทำรายได้มากกว่าแทน โดยเฉพาะ "วาณิชธุรกิจ" หรือ การให้บริการที่ปรึกษาในรูปแบบต่างๆ
" ธุรกิจให้คำปรึกษา นอกจากมาร์จิ้นค่อนข้างสูงแล้ว การเป็นที่ปรึกษานำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ก็จะไปเอื้อให้กับธุรกิจโบรกเกอร์ด้วย" จิรายุทธ รุ่งศรีทอง กรรมการผู้จัดการ สายงานวาณิชธุรกิจคนล่าสุด บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) บัวหลวง ย้ำถึงความสำคัญของงานวาณิชธุรกิจ
การเทน้ำหนักความสำคัญไปทางฝั่งวาณิชธุรกิจจึงไม่ใช่แค่การดึงเอารายได้จากส่วนอื่นมาโปะรายได้จากธุรกิจนายหน้าค้าหลักทรัพย์ที่วอลุ่มเบาบางลงแทบทุกวันเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการพยายามผลักดันรายได้จากงานชิ้นใหม่ไปช่วยค้ำยันตลาดที่เริ่มขาดความน่าสนใจ จากที่มีหุ้นน่าสนใจไม่กี่ตัว
ทีมงานวาณิชธนากรชุดใหม่ของบัวหลวง ย้ายมาจากรังเดิมคือ บล.ยูไนเต็ด รวมทีมงานทั้งหมด 17 ชีวิต กลุ่มนี้จะเป็นทั้งที่ปรึกษาธุรกิจที่จะเข้ามาระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ และเป็นที่ปรึกษาให้กับธุรกิจไทยที่จะไปลงทุนในต่างประเทศ รวมถึงธุรกิจจากต่างประเทศที่จะเข้ามาลงทุนในไทย โดยเน้นหนักไปที่กลุ่มพลังงาน
เนื่องจากประสบการณ์ที่ผ่านมาของทีมงานชุดนี้ เคยเป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านการแปรรูปให้กับธุรกิจด้านพลังงานรายใหญ่ๆอย่าง บมจ.ปตท ราชบุรีโฮลดิ้ง และบมจ. กฟผ. ในสมัยที่อยู่ เลห์แมนบราเธอร์ ประเทศไทย
นอกจากนั้น การขยายอาณาบริเวณงานวาณิชธุรกิจและรายได้จากค่าธรรมเนียมที่จะเพิ่มสัดส่วนจาก 20% เป็น 40% ในระยะยาว ก็จะออกมารองรับลูกค้าแบงก์กรุงเทพที่กำลังขยายตัวมากขึ้นเรื่อยๆ พร้อมกับการเข็นหุ้นน้องใหม่เข้าสู่ตลาด
ขณะที่ไตรมาส 3 ปีนี้ เป็นที่ปรึกษาในการซื้อขายหุ้นให้กับบริษัท MINOR AH และ ACLและอยู่ระหว่างยื่นข้อมูลรายการหรือ ไฟล์ลิ่ง ไอพีโอ 2 บริษัทคือ
บมจ.กระเบื้องหลังคาตราเพชร และบมจ.ASCON Construction รวมถึงอยู่ระหว่างยื่นไฟล์ลิ่งเสนอขายหุ้นกู้ให้กับ บมจ.โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ คาดปี 2549 จะมีหุ้นไอพีโอราว 6-8 ราย และที่ปรึกษาการเงินอีก 3-4 ราย
ญาณศักดิ์ มโนมัยพิบูลย์ กรรมการผู้อำนวยการ บล.บัวหลวง ตั้งข้อสังเกตุว่า ธุรกิจหลักทรัพย์หรือโบรกเกอร์ส่วนใหญ่ทำรายได้จาก นายหน้าค้าหลักทรัพย์เป็นสัดส่วนที่สูงกว่า 90% ขณะที่บัวหลวงมีอยู่ 80% โดยลูกค้าหลักยังเป็นรายย่อย แต่ไม่นานมานี้ได้ขยายพื้นที่ไปยังนักลงทุนสถาบันมากขึ้น เพราะนักลงทุนรายย่อยมีปริมาณการเทรดยังไม่มากนัก
" ระยะสั้นอยากให้รายได้ส่วนอื่นๆ เช่น ค่าธรรมเนียมและวาณิชธุรกิจเพิ่มมากขึ้น เพื่อกระจายรายได้ไปยังส่วนอื่นๆ ไม่ได้กระจุกอยู่ที่รายได้จากค่านายหน้าเพียงอย่างเดียว"
ที่สำคัญคือ พื้นที่ของสัดส่วนรายได้จากโบรกเกอร์ มักจะอิงกับวอลุ่มการซื้อขายหลักทรัพย์เป็นหลัก ถ้าช่วงไหนวอลุ่มมากรายได้จากส่วนนี้ก็มาก ตรงกันข้ามถ้าวอลุ่มหดตัวลงเรื่อยๆ รายได้ส่วนนี้ก็จะลดถอยลงไป ในระยะหลังจึงเริ่มเห็นโบรกเกอร์แทบทุกรายเบนเข็มมาจับงานวาณิชธุรกิจมากขึ้น
ญาณศักดิ์บอกว่า การปรับโครงสร้างธุรกิจใหม่ของบล.บัวหลวงจะสอดคล้องกับการเตรียมเปิดตัวโครงการให้บริการที่ครบวงจรของแบงก์กรุงเทพ ที่จะเริ่มในช่วงปลายปี โดยจะขยายการให้บริการในธุรกิจที่เกี่ยวกับตราสารทุน ตราสารหนี้ หุ้น ประกันภัยและประกันชีวิต ซึ่งจะทำคู่ขนานกันไป แต่มีกลุ่มเป้าหมายเดียวกันคือ ฐานลูกค้าเงินฝากที่มีค่อนข้างสูง
การทำการตลาดแบบคู่ขนานกันไป จะเป็นลักษณะของ "บริดจ์ ไฟแนนซ์" คือ มีกิจกรรมที่ส่งเสริมซึ่งกันและกัน เช่น ลูกค้าบล.บัวหลวงที่ต้องการระดมทุนในตลาดและต้องการเงินก่อนเข้าระดมทุนก็จะได้รับการสนับสนุนด้านการเงินจากธนาคารกรุงเทพ รวมถึงการทำกิจกรรมการตลาดร่วมกัน หรือการแนะนำลูกค้าผ่านไปทางแบงก์กรุงเทพ ไม่ใช่จะรับลูกค้าจากแบงก์กรุงเทพอยู่ฝ่ายเดียว...
เห็นแล้วว่า ถึงแม้วอลุ่มซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์จะไม่หนาแน่นเหมือนกับ 2 ปีก่อน บวกกับมีปัจจัยลบกระจายอยู่รายรอบ แต่ "มนุษย์ทองคำ" ก็ยังไม่เคยจนมุม...
ผลดำเนินงานธุนกิจหลักไตรมาส 3 ปี 2548
ธุรกิจนายหน้าค้าหลักทรัพย์
- ส่วนแบ่งตลาด 3.32 %
- ลูกค้าสถาบันเพิ่มขึ้น 20 %
- ขยายฐานลูกค้าธนาคารกรุงเทพ %
- งานวิจัยคลุม 140 หลักทรัพย์คิดเป็น 85% ของมูลค่าตลาด
วาณิชธุรกิจ
- ที่ปรึกษาระดมทุนเพื่อซื้อหุ้น MINT ให้กับ MINOR
- ที่ปรึกษาระดมทุนให้กับ AH
- เรทติ้ง แอดไวซอรี่ให้กับ BH
- ยื่นไฟล์ลิ่ง IPO 2 บริษัทคือ DRT และ ASCON
ธุรกิจบริการกองทุนส่วนบุคคล
- มูลค่ากองทุนที่จัดการ 7.572 พันล้านบาท
- เป็นกองทุนส่วนบุคคล 5.784 พันล้านบาท
- กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 1.788 พันล้านบาท
เพิ่มขึ้น 7 % เมื่อเทียบกับมูลค่ากองทุนรวม สิ้นไตรมาส 2
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|