จากถนนลูกรังสู่เส้นทางลาดยาง BTเปิดรับทุนนอกเสริมเขี้ยวเล็บ


ผู้จัดการรายสัปดาห์(20 ตุลาคม 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

เส้นทางเดินของไทยธนาคารเมื่อ 5 ปีก่อน ไม่ได้ต่างอะไรไปจากถนนลูกรังที่เต็มไปด้วยหลุมบ่อแห่งอุปสรรคของการเดินทาง ทำให้การก้าวไปข้างหน้าแต่ละครั้งต้องเป็นไปอย่างระมัดระวัง แต่ถึงวันนี้ หลุมบ่อแห่งถนนลูกรังกำลังถูกเปลี่ยนแปลงไปเป็นถนนลาดยางหลังจัดการกับCAP หมดสิ้นภายในปีนี้ ซึ่งจะทำให้ธนาคารเดินหน้าได้เต็มสูบ ขณะเดียวกันก็ปรับผังองค์กรรองรับแผนธุรกิจ และเจรจาหาผู้ร่วมทุนใหม่เสริมความแข็งแกร่งไทยธนาคาร

แม้วันนี้ไทยธนาคารจะยังคงต้องแก้ปัญหาสินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่ได้รับการชดเชย(Covered Asset Pool หรือ CAP) อยู่ แต่ทุกอย่างจะจบภายในสิ้นปีนี้ และเริ่มต้นทางเดินสายใหม่ในปีหน้า ซึ่งทำให้ธนาคารต้องเตรียมตัวเพื่อรับกับการเปลี่ยนแปลงและแผนธุรกิจที่จะมีขึ้นใหม่ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการปรับโครงสร้างองค์กรใหม่แบบยกแผง

พีรศิลป์ ศุภผลศิริ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ไทยธนาคาร บอกว่า ธนาคารได้มีการปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ ซึ่งเป็นรูปแบบที่มีความเป็นสากล สอดคล้องกับแผนธุรกิจของธนาคารที่เน้นการพัฒนาและนำเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินให้แก่กลุ่มลูกค้าได้อย่างหลากหลาย ตรงตามความต้องการ ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายของธนาคารที่จะมุ่งสู่การเป็นธนาคารที่ให้บริการอย่างครบวงจร(Universal Bank)

แผนผังองค์กรที่ปรับใหม่ครั้งนี้มีความสำคัญอย่างมากต่อการดำเนินธุรกิจในอนาคต เพราะนอกจากทำให้เกิดความชัดเจนในการปฏิบัติหน้าที่ของแต่ละฝ่ายแล้ว ยังช่วยในการกำหนดเป้าหมาย แผนธุรกิจตลอดจนความสามารถในการวัดผลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

โดยในโครงสร้างใหม่นี้จะแบ่งงานออกเป็น 2 ส่วน คืองานธุรกิจ และงานสนับสนุน ซึ่งในส่วนของงานธุรกิจเน้นจะรับผิดชอบในเรื่องของผลิตภัณฑ์ งานบริหารการขาย ช่องทางการให้บริการ และงานบริหารการปฏิบัติการ ซึ่งแต่ละส่วนจะมีขอบข่ายการรับผิดชอบที่ชัดเจน

กล่าวได้ว่าทุกหน่วยงานมีความสำคัญต่อองค์กรโดยเฉพาะในส่วนของงานบริหารการขาย ซึ่งมีหน้าที่หลักในการติดต่อและดูแลลูกค้า ดังนั้นจึงได้แบ่งกลุ่มลูกค้าออกมาเป็น 3 กลุ่มเพื่อให้สามารถดูแลและบริการได้ทั่วถึง โดยแบ่งออกมาเป็นกุล่มสายงานบรรษัทธุรกิจ 1 และ 2 ซึ่งจะดูแลลูกค้าที่เป็นธุรกิจขนาดใหญ่ บริษัทห้างร้าน กลุ่มสายงานสถาบัน ดูแลหน่วยงานสถาบัน หน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ ลูกค้าขนาดใหญ่

และกลุ่มสุดท้าย ซึ่งเป็นฐานลูกค้าที่สำคัญในอนาคตของบริษัท นั่นคือ กลุ่มสายงานธุรกิจรายย่อย ซึ่งจะดูแลลูกค้าบุคคลทั่วไป โดยในสายงานส่วนนี้ ในอนาคตธนาคารจะเพิ่มสัดส่วนให้มากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันฐานลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มสถาบัน

ส่วนทางด้านสายงานสนับสนุนจะประกอบด้วย งานบริหารความเสี่ยง งานด้านการเงินควบคุม งานด้านกิจการองค์กร และงานด้านทรัพยากรบุคคล

อาจกล่าวได้ว่าการปรับผังองค์กรใหม่ของไทยธนาคาร เสมือนการปรับแต่งใหม่สู่ความเป็นสากลเพื่อรองรับการเข้ามาของผู้ถือหุ้นรายใหม่ที่จะเข้ามา

พีรศิลป์ บอกว่าในส่วนของผู้ถือหุ้นรายใหม่ยังไม่มีการสรุปในเร็ววันนี้ และอยู่ระหว่างการเจรจาหาพันธมิตรอยู่ ซึ่งจะสามารถสรุปได้ในปี 2549 ซึ่งการเข้ามาของผู้ถือหุ้นรายใหม่คือการเตรียมความพร้อมต่อการแข่งขันในยุคที่การเปิดเสรีภาคการเงินกำลังคืบคลานเข้ามา ไทยธนาคารต้องสร้างองค์กรให้แข่งแกร่งรับการเปลี่ยนแปลง

อย่างไรก็ตามการจะเข้ามาของผู้ถือหุ้นรายใหม่นั้น ไทยธนาคารต้องสร้างให้ตนเองมีความน่าสนใจด้วย ซึ่งไทยธนาคารจะหมดภาระCAPในสิ้นปีนี้ หลังการประมูลอีก 1 ครั้ง ที่มูลค่า 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งเชื่อว่าตรงจุดนี้จะทำให้ไทยธนาคารมีความน่าสนใจมากขึ้น

พีรศิลป์ บอกอีกว่า ไทยธนาคารจะเพิ่มทุนใหม่ให้กับพันธมิตรที่เข้ามา ซึ่งเป็นชาวต่างชาติที่ได้มีการ เจรจามาระยะหนึ่งแล้ว และที่ผ่านมาก็ได้หารือกับกองทุนฟื้นฟูในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่แล้วความชัดเจนในเรื่องนี้ปี2549ถึงจะตอบได้

ผู้ถือหุ้นที่ธนาคารต้องการนั้น คือจะต้องนำไทยธนาคารไปสู่ความเป็นสากล มีความแข็งแกร่ง ไม่ได้หมายความว่าไทยธนาคารต้องการผู้ถือหุ้นเพราะเงินทุน เนื่องจากเงินกองทุนขั้นที่ 1 ไทยธนาคารก็ไม่ได้มีปัญหา อยู่ที่ 9% เพียงพอที่จะขยายธุรกิจ ซึ่งหากธนาคารต้องการเงินทุนก็สามารถเพิ่มเงินกองทุนขั้นที่ 2 แทนได้ ดังนั้นเรื่องเงินทุนจึงไม่ใช่จุดประสงค์หลักของธนาคาร

ขณะที่จุดประสงค์หลักของ ไทยธนาคาร จะต่างออกไปจากแบงก์ใหญ่อื่น ที่มีทั้งทุนและเทคโนโลยี เหมือนกับค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ ที่มีฐานลูกค้ากระจายอยู่ทุกหย่อมหญ้า ตรงกันข้าม ไทยธนาคารจะเป็นแบงก์ขนาดจิ๋ว เหมือนค่ายเพลงขนาดเล็กที่มีกลุ่มเป้าหมายชัดเจน แต่เป็นแฟนเพลงที่ติดตามผลงานโดยตลอดและเหนียวแน่น

ขณะเดียวกันก็นิยามตัวเองเป็นแบงก์เล็กเพื่อเป็นทางเลือก และยังเป็นกันชนไม่ให้แบงก์ใหญ่รวบรัดตัดตอน ฮั้วกันขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ ที่สำคัญอย่างยิ่งคือ แบงก์เล็กยังทำหน้าที่กดดันให้แบงก์ใหญ่ขยับขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากได้เร็วขึ้น

เห็นได้ชัดแล้วว่า บทบาทของแบงก์ขนาดเล็กก็ไม่ได้ด้อยไปกว่าแบงก์ใหญ่ที่กินพื้นที่เป็นบริเวณกว้าง


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.