'ศศินทร์-ธุรกิจบัณฑิตย์-ชินวัตร' คิกออฟ ชิงแชร์ตลาด หลักสูตรสร้างด็อกเตอร์


ผู้จัดการรายสัปดาห์(20 ตุลาคม 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

3 สถาบันการศึกษาซอยเท้าลงสนามหลักสูตรปั้นนักธุรกิจดีกรีปริญญาเอก 'ศศินทร์' หลังนับนิ้วอาจารย์ครบจำนวน ควงคู่ 'Kellogg' เจาะนักการเงิน-นักการตลาด ด้าน 'ธุรกิจบัณฑิตย์' เฟ้นพันธมิตร สร้างโอกาสให้มืออาชีพ เปิดควบทั้งภาคไทย-อินเตอร์ ขณะที่ 'ชินวัตร' พลิกกลยุทธ์ ชูสหวิทยาการ ด้วยฐานปริญญาโท ประสานเสียงระบุซัพพลายจะโตต่อเนื่อง รับยุคเศรษฐกิจฐานความรู้

จำนวนหลักสูตรด้านบริหารธุรกิจระดับปริญญาเอกสำหรับปีนี้ยังคงเติบโตต่อเนื่องจากปีที่แล้ว เพราะตั้งแต่ช่วงกลางปี ก็มีการเปิดตัวหลักสูตรการจัดการดุษฎีบัณฑิต หรือ D.M. ของมหาวิทยาลัยศรีปทุม และก่อนส่งท้ายปี ยิ่งคึกคักเพิ่มขึ้น เพราะมีอีก 3 สถาบันที่เคลื่อนขบวนตามติดมา ประกอบด้วย สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ และมหาวิทยาลัยชินวัตร

'ศศินทร์' จับคู่ Kellogg เจ้าเก่า เปิด Ph.D. การเงิน-การตลาด

ศศินทร์ เป็นสถาบันที่เปิดหลักสูตรเอ็มบีเอมากว่า 20 ปี แต่เพิ่งจะเปิดเกมรุกในตลาดหลักสูตรปริญญาเอก ศ.เติมศักดิ์ กฤษณามระ ผู้อำนวยการ สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์ ให้เหตุผลกับ "ผู้จัดการรายสัปดาห์" ว่า เพราะเป็นจังหวะที่สภาพแวดล้อมของธุรกิจขับเคลื่อนสู่ยุคไร้พรมแดนชัดเจน โดยมีเทคโนโลยีการสื่อสารเป็นปัจจัยสนับสนุน รวมถึงนโยบายรัฐบาลเรื่องการเปิดเขตการค้าเสรี ซึ่งศศินทร์นอกจากมีหน้าที่ผลิตบัณฑิตแล้ว ต้องเร่งสร้างองค์ความรู้ให้ทันสมัย เพื่อนำกลับมาพัฒนาหลักสูตรปริญญาโทให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

สำหรับปริญญาเอกของศศินทร์ เลือกเปิดเป็นโปรแกรม Ph.D. (ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต) และยังคงมี Kellogg เป็นพันธมิตรเช่นเคย นิสิตปริญญาเอกจะใช้เวลาเรียนประมาณ 2 ปี ปีแรกที่ศศินทร์ และปีที่ 2 ซึ่งเป็นปีหลักจะเรียนที่ Kellogg และหลังจากนั้นอีก 2 ปีเป็นช่วงการทำวิจัย

แม้จะมี Kellogg มหาวิทยาลัยชั้นนำในอเมริกาเป็นพันธมิตร แต่เพื่อให้ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ของนิสิตเป็นอาจารย์ประจำ Ph.D. ของศศินทร์ จึงเลือกเปิดเพียง 2 โปรแกรม คือ การเงิน และการตลาด ซึ่งมีความพร้อมของจำนวนอาจารย์ในสัดส่วนที่รองรับนักศึกษารวม 2 สาขา รุ่นละ 6-10 คนได้

"มีบางคนไปต่างประเทศ แต่กลับมาทำวิจัยในไทย ก็ไม่รู้ว่าผู้ตรวจเขาจะเข้าใจพฤติกรรมของคนไทยไหม ข้อมูลอาจถูก แต่จะสมบูรณ์หรือเปล่า ไม่แน่ใจ"

อย่างไรก็ดี กลุ่มเป้าหมายของ 2 หลักสูตรจะมีความแตกต่างกัน โปรแกรมการเงิน เน้นความสามารถการคำนวณ โดยเฉพาะผู้ที่มีพื้นฐานเศรษฐศาสตร์ ฟิสิกส์ คณิตศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ ไม่จำเป็นต้องมีประสบการณ์การทำงานมาก่อน ขณะที่การตลาด เน้นผู้ที่มีพื้นฐานสังคมศาสตร์ และพฤติกรรมศาสตร์ มีประสบการณ์การทำงานมา 2-3 ปี

ทั้งนี้ การเรียนปริญญาเอกที่ศศินทร์ ศ.เติมศักดิ์ ให้ความเห็นว่า เหมาะกับคนรุ่นใหม่ ที่พร้อมทำงานหนักมากกว่านักบริหารที่มีภารกิจงานค่อนข้างมาก แต่ไม่ได้จำกัดเรื่องการทำงานในอนาคตว่าต้องเป็นอาจารย์เท่านั้น เพราะปัจจุบันนักบริหารหลายองค์กรจบการศึกษาระดับปริญญาเอกมากขึ้น

ด้านค่าใช้จ่ายต่อคนประมาณ 3,500,000 บาท ซึ่งค่อนข้างสูง จึงคิดเพียง 2,000,000 บาท โดยส่วนที่ศศินทร์ต้องรับผิดชอบนี้ ศ.เติมศักดิ์ มองเป็นการลงทุนสร้างองค์ความรู้ให้มหาวิทยาลัย

ศ.ดร. Dipak C.Jain คณบดี Kellogg School of Management, Northwestern University ประเทศสหรัฐอเมริกา กล่าวเสริมว่า การเปิดหลักสูตรปริญญาเอกของศศินทร์ไม่ช้าเกินไป เพราะเป็นช่วงที่เศรษฐกิจของประเทศในเอเชียมีพัฒนาการสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว หลายภูมิภาคทั่วโลกจึงเริ่มเห็นความสำคัญขององค์ความรู้จากเอเชีย ซึ่งเป็นจุดที่สร้างดีมานด์ได้อย่างดี ส่วนแผนในอนาคต อาจจะมีโครงการแลกเปลี่ยนให้นักศึกษาของ Kellogg มาทำงานวิจัยในไทยด้วย

'ธุรกิจบัณฑิตย์' ใช้ D.B.A. รุกควบทั้งไทย-นานาชาติ

แม้จะเปิดหลักสูตรไล่เลี่ยกัน แต่ ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ เลือกวางตำแหน่ง เน้นเจาะนักบริหารที่มีประสบการณ์ทำงาน ในวัย 30-45 ปี ที่มาเรียนพร้อมปัญหาที่พบจากการทำงาน และต้องการสร้างองค์ความรู้ใหม่ของตนเองขึ้นมา โดยเลือกเปิดเป็นโปรแกรม D.B.A. (บริหารธุรกิจดุษฎีบัณฑิต) ที่เน้นศาสตร์เชิงประยุกต์มากกว่า pure science และมีให้เลือกทั้งหลักสูตรภาษาไทย และนานาชาติ

ผศ.ดร.โอม หุวะนันทน์ ผู้อำนวยการโครงการดุษฎีบัณฑิตบริหารธุรกิจ ม.ธุรกิจบัณฑิตย์กล่าวถึงกลุ่มเป้าหมายว่า ปัจจุบันเป็นยุคของการบริหารธุรกิจที่เน้นการใช้ข้อมูลข่าวสารในการตัดสินใจ สอดคล้องกับแก่นของการเรียนปริญญาเอกที่เน้นการตอบปัญหา ด้วยข้อมูลการศึกษาวิจัย ขณะที่คนจบเอ็มบีเอมีมากขึ้น ความต้องการศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นจึงเพิ่มขึ้นด้วย

ดูเหมือนเปิดโอกาสให้นักบริหารได้ต่อยอดสู่การศึกษาขั้นสูงสุด แต่ก็จำกัดจำนวนรับเช่นกัน โดยหลักสูตรภาษาไทย 10 คน ขณะที่หลักสูตรนานาชาติ ไม่เกิน 15 คน ซึ่งเกณฑ์คัดเลือกนี้ เน้นรับผู้ที่มีหัวข้อวิทยานิพนธ์แล้ว

ส่วนความแตกต่างระหว่างหลักสูตรไทยและนานาชาติ ผศ.ดร.โอม กล่าวว่า เนื้อหาค่อนข้างใกล้เคียงกัน แตกต่างเพียงภาษาที่ใช้ในการสอน เวลาในการเปิดรับนักศึกษา จำนวนหน่วยกิต จำนวนกลุ่มวิชาเลือกซึ่งหลักสูตรนานาชาติมี 4 แขนงวิชา คือ การจัดการทั่วไป การบริหาร การบริหารธุรกิจระหว่างประเทศ และการตลาด ขณะที่ภาคภาษาไทย มีเฉพาะการจัดการทั่วไป นอกจากนี้คือค่าใช้จ่ายในการเรียน และเกณฑ์จบหลักสูตร

ด้านการบริหารหลักสูตรในภาพรวม ผศ.ดร.โอม กล่าวว่า ธุรกิจบัณฑิตย์ใช้เครือข่ายที่มีสรรหาอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญจากภายนอกเข้ามาสอนได้จากทั้งในและต่างประเทศ นอกจากนี้จะติดต่อกับองค์กรต่างๆ เพื่อเสนอทำวิจัยให้ ซึ่งนอกจากจะสร้างเครือข่ายด้านบุคลากรแล้ว ยังได้ฐานข้อมูลด้วย

สำหรับที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ ซึ่งมักเป็นปัญหาใหญ่ของผู้เรียน ได้กำหนดไว้ 3 ระดับ คือ โปรเฟสเซอร์ที่ดูแลในภาพรวม รู้ว่าใครทำอะไร มีความก้าวหน้าอย่างไร รวมถึงเชิญอาจารย์ที่มีชื่อเสียงมาบรรยายให้ตรงกับความต้องการ ระดับที่ปรึกษาส่วนบุคคล และระดับพี่เลี้ยง ที่เป็นอาจารย์จบการศึกษาระดับปริญญาเอก นอกจากนี้ระหว่างหลักสูตรจะจัดสัมมนา เน้นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำวิจัย ความคิดเห็น และความก้าวหน้าของวิทยานิพนธ์ ทั้งนักศึกษาไทยและนักศึกษาชาวต่างชาติ

ผศ.ดร.โอม ยอมรับว่า จุดอ่อนหนึ่งของธุรกิจบัณฑิตย์ คือ แบรนด์ ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาพิสูจน์คุณภาพ เกณฑ์หนึ่งที่กำหนดขึ้นมารับประกันบัณฑิต คือ ให้คณาจารย์ หรือผู้เชี่ยวชาญจากภายนอกเป็นผู้ตรวจดุษฎีนิพนธ์จำนวน 3 คน โดยเป็นคนไทย 1 คน และชาวต่างชาติอีก 2 คน

เขาทิ้งท้ายไว้ว่า หลักสูตรปริญญาเอกไม่ใช่หลักสูตรสร้างรายได้ แต่จะสร้างองค์ความรู้ให้แก่ทั้งผู้เรียนและสถาบันการศึกษา เชื่อว่าอนาคตจะเปิดมากขึ้น เพราะอาจารย์ที่มีประสบการณ์จากมหาวิทยาลัยรัฐ และเกษียณจากราชการ กระจายอยู่ในรั้วสถาบันการศึกษาของเอกชนเป็นจำนวนมาก

'ชินวัตร' เน้นสหวิทยาการ ไม่หวั่นภาพลักษณ์สถาบันใหม่

ด้าน ม.ชินวัตร แม้จะเป็นมหาวิทยาลัยที่เปิดรับนักศึกษาเพียง 3 ปี ก็ขยายแนวรุกสู่หลักสูตรระดับปริญญาเอกด้วยเช่นกัน รศ.ชูเวช ชาญสง่าเวช รองคณบดีคณะการจัดการ และผู้ประสานงานหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาการจัดการ กล่าวว่า เป้าหมายของม.ชินวัตร นอกจากพัฒนาความรู้ใหม่ รวมถึงตอบสนองผู้เรียนที่อยากต่อยอดความรู้ตนเองแล้ว ยังเป็นเครื่องมือเพื่อสร้างพันธกิจความเป็นมหาวิทยาลัยแห่งการวิจัย ซึ่งต้องมีผลงานทางวิชาการในระดับนานาชาติอย่างต่อเนื่อง

แม้อาจารย์จะต้องทำวิจัยอยู่แล้ว แต่การเปิดหลักสูตรระดับปริญญาเอกจะช่วยเพิ่มจำนวนผลงานทางวิชาการที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างอาจารย์และผู้เรียนได้อีกทางหนึ่ง ซึ่งมีการกำหนดดัชนีชี้วัดอย่างชัดเจน คือ ในระยะ 3 ปี ต้องมีงานวิจัยเฉลี่ย 0.75 ชิ้นต่อคนต่อปี และระยะ 5 ปี มีงานวิจัยเฉลี่ย 1 ชิ้นต่อคนต่อปี จากปัจจุบันที่มีอยู่ประมาณ 0.5 ชิ้นต่อคนต่อปีเท่านั้น

ทั้งนี้ ทรัพยากรหลักของม.ชินวัตร คือ คณาจารย์ที่จบการศึกษาระดับปริญญาเอก มีประสบการณ์การสอนปริญญาเอกมาก่อนด้วย และหลักสูตรระดับปริญญาโทที่เปิดสอนอยู่ ซึ่งมีหลายสาขาวิชาให้เรียนเป็นวิชาเลือก ตามที่สนใจจะทำวิจัย เช่น MBA, MS in Management, MS in Management Technology ม.ชินวัตรจึงเลือกเปิดเป็นโปรแกรม Ph.D. in Management และกำหนดที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์จำนวน 2 คนต่อนักศึกษา 1 คน เรียกว่า ที่ปรึกษาหลัก และที่ปรึกษาร่วม ซึ่งจะทำให้นักศึกษาได้ความรู้จาก 2 คน และทำงานวิจัยให้เป็นเชิงสหวิทยาการได้

ผศ. ชูเวช กล่าวว่า ม.ชินวัตรกำหนดจำนวนนักศึกษาภาคการศึกษาละ 2-3 คนเท่านั้น เกณฑ์รับจะดูจากหัวข้อวิทยานิพนธ์ กับความพร้อมของอาจารย์ที่ปรึกษาว่าเชี่ยวชาญสอดคล้องหรือไม่

"เราเน้นบริหารแบบ Matching เช่น มีนักศึกษาลาวคนหนึ่งสนใจทำปริญญาเอกด้านบริหารทรัพยากรมนุษย์ ม.ชินวัตรมีอาจารย์ 1 คนสนใจศาสตร์นี้ และมีอีก 1 คนเชี่ยวชาญเรื่องกลุ่มประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ดังนั้นการมีที่ปรึกษา 2 คน เชื่อว่านักศึกษาจะทำงานง่ายขึ้น และส่วนใหญ่ผู้เรียนดูที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์เป็นเกณฑ์ในการเลือกสถาบัน"

ขณะที่การรับประกันคุณภาพบัณฑิต กำหนดให้ผู้เรียนสามารถสอบป้องกันวิทยานิพนธ์เพื่อจบการศึกษาได้ ต่อเมื่อมีผลงานตีพิมพ์ในวารสาร และนำเสนอในที่ประชุมเชิงวิชาการระดับนานาชาติเท่านั้น และจะให้อาจารย์จากภายนอก 1 คน เป็นผู้ตรวจวิทยานิพนธ์ของนักศึกษา

กลยุทธ์ของม.ชินวัตร คือ อาจารย์ประจำที่ไม่อนุญาตให้รับงานนอก เพื่อให้นักศึกษาเข้าพบได้ตลอดเวลา สถานที่และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เช่น ห้องประจำสำหรับทำงานวิจัย รวมถึงแผนในอนาคต ที่จะเร่งสร้างความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ โดยเฉพาะสถาบันการศึกษาของอาจารย์ที่ตรวจวิทยานิพนธ์ เพื่อสร้างโอกาสให้นักศึกษาได้ทำงานวิจัยกับอาจารย์ผู้ตรวจ ซึ่งจะทำให้ผลงานได้รับการตีพิมพ์เร็วขึ้น


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.