ธปท.เล็งปรับเป้าจีดีพีปี48เกิน4%


ผู้จัดการรายวัน(21 ตุลาคม 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

"หม่อมอุ๋ย" มั่นใจขยับดอกเบี้ย 0.50% 2 ครั้งติดไม่กระทบตลาดเงินและนักลงทุน ระบุสภาพคล่องลดหลังออกพันธบัตรดูดซับสภาพคล่องไปช่วงครึ่งปีแรก ขณะที่ดัชนีวัดเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น เตรียมปรับประมาณการเศรษฐกิจปี 48 ใหม่ให้สูงกว่า 4% จากเดิมตั้งไว้ 3.50-4.50% พ.ต.ท.ทักษิณ ชี้ทิศทางดอกเบี้ยสอดคล้องกับเฟดเพื่อสกัดเงินไหลออก ด้านแบงก์พาณิชย์ยังตรึงดอกเบี้ย "บัณฑูร" เผยรอให้แบงก์อื่นนำทัพปรับก่อน ส่วน "ประสาร" เชื่อดอกเบี้ยออมทรัพย์ขยับเร็วๆ นี้

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึง การประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตร (อาร์/พี) ระยะเวลา 14 วัน 0.50% ถึง 2 ครั้งติดกัน ว่า เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม ไม่ช้าหรือเร็วจนเกินไป และเชื่อว่าจะไม่กระทบกับนักลงทุนและประชาชนมากนัก รวมทั้งยังจะช่วยสกัดไม่ให้อัตราเงินเฟ้อไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ปรับตัวเพิ่มสูงมากอย่างที่ ธปท. คาดการณ์ไว้ นอกจากนี้ยังเชื่อว่าการดำเนินนโยบายดังกล่าวจะช่วยให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่แท้จริงกลับมาเป็นบวกในกลางปี 2549 ได้

ส่วนกรณีที่อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทที่มีความผันผวนในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น เป็นการปรับตัวตามภาวะของตลาดเงิน ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยหรือการเข้ามาเก็งกำไรอัตราดอกเบี้ย ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าค่าเงินบาทได้แข็งค่าขึ้นมาตั้งแต่ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาแล้ว

"ตอนที่เงินบาทแข็งค่าขึ้นไปในอัตราที่สูงกว่าค่าเงินสกุลอื่นๆ ในภูมิภาค ก็ไม่ได้มากจนกระทบภาคการส่งออก ซึ่ง ธปท.ก็ติดตามดูอย่างใกล้ชิด แต่ไม่ถึงขนาดเข้าไปแทรกแซงตลาด และตอนนี้ค่าเงินบาทได้เริ่มกลับมาอ่อนค่าลงอีกครั้งก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีแสดงให้เห็นถึงเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทที่มีมากขึ้น"

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวต่อว่า การที่ ธปท.ได้ออกพันธบัตร ธปท.เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2547 ถึง 280,000 ล้านบาท ในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมานั้น เนื่องจากสภาพคล่องในระบบในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2548อยู่ในระดับที่สูงมาก ดังนั้น ธปท.จึงจำเป็นต้องออกพันธบัตรดูดซับสภาพคล่อง เพื่อกระตุ้นให้ธนาคารพาณิชย์ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้

"ธปท. ออกพันธบัตรธปท.เพื่อดูดซับสภาพคล่องในระบบ ซึ่งออกมากที่สุดในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเดือนเมษายนที่ ธปท.ส่งสัญญาณขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่อง แต่แบงก์พาณิชย์ยังไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตาม เพราะยังมีสภาพคล่องเหลืออยู่มาก แต่ตอนนี้สภาพคล่องในระบบเริ่มลดลงแล้วแบงก์พาณิชย์จึงปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และธปท.ไม่จำเป็นต้องดูดซับสภาพคล้องเพิ่มขึ้นอีก"

อย่างไรก็ตาม แม้ว่า ธปท.จะออกพันธบัตร ธปท.เพิ่มขึ้นมาก แต่ก็สามารถจ่ายภาระดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นได้เนื่องจากเงินที่ได้มาจากการขายพันธบัตร ธปท.นั้น ได้เอาไปลงทุนต่อในสินทรัพย์อื่น ซึ่งมีรายรับเพียงพอที่จะจ่ายดอกเบี้ยได้ ทำให้การดูดซับสภาพคล่องจากระบบการเงินไม่ได้เพิ่มภาระให้ ธปท. ซึ่ง ธปท.พร้อมที่จะดูดซับสภาพคล่องได้ต่อเนื่องหากมีความจำเป็น

ด้านนายเกริกไกร จิระแพทย์ กรรมการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธปท. กล่าวว่า ฝ่ายนโยบายการเงิน ธปท.จะปรับประมาณการการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยปี 2548 ที่จะประกาศในรายงานแนวโน้มเงินเฟ้อ ณ สิ้นเดือนตุลาคมนี้ใหม่ โดยจะปรับเพิ่มขึ้นเป็น 4% กว่าจากเดิมที่ประมาณการไว้ 3.5-4.5% เนื่องจากแนวโน้มของธุรกิจภาคการส่งออกขยายตัวได้ดี

ขณะเดียวกัน ทุนสำรองทางการ ภาคการท่องเที่ยว ดุลการค้า และดุลบัญชีเดินสะพัดต่างก็ปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้เศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัวสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ 3 เดือนก่อน พร้อมทั้งจะต้องปรับประมาณการเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นด้วยเพราะอัตราเงินเฟ้อขยับขึ้นไปเร็วมาก

สำหรับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.50% ถึง 2 ครั้งติดกัน นั้น กนง.จำเป็นต้องปรับขึ้นเพื่อดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นการปรับตัวตามสภาพของเศรษฐกิจที่แท้จริง และที่ผ่านมาการดำเนินนโยบายการเงินของ ธปท.ไม่เคยละเลยที่จะดูแลการขยายตัวของเศรษฐกิจของประเทศให้ขยายตัวได้ต่อเนื่อง

"การดูแลต้องทำให้เกิดความสมดุลทั้ง 2 ด้าน ซึ่งตอนนี้ ธปท.มองว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2548 จะสูงกว่าประมาณการเดิมที่ ธปท.ประมาณการไว้ในรายงานแนวโน้มเงินเฟ้อเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา แต่ในด้านเสถียรภาพมีปัญหามากกว่า ก็ต้องหันมาดูแลด้านเสถียรภาพมากขึ้น "นายเกริกไกร กล่าว

พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธปท. อีก 0.50% เป็นไปในทิศทางเดียวกันธนาคารกลางสหรัฐฯ และแนวโน้มดอกเบี้ยที่อยู่ในช่วงขาขึ้น รวมทั้งธปท.เองต้องพิจารณาอย่างละเอียดเพื่อป้องกันปัญหาเงินเฟ้อ และเงินไหลออกจากประเทศ เนื่องจากเงินดอลลาร์สหรัฐเป็นสกุลเงินที่ประเทศไทยใช้อิงเป็นจำนวนมาก

ขณะที่ประเด็นสำคัญคือ จะต้องให้ความสำคัญกับส่วนต่างระหว่างเงินฝากและเงินกู้ไม่ให้ต่างกันมากเกินไป ดังนั้นธนาคารพาณิชย์จะต้องปรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ควบคู่กันไปด้วย เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการออมในภาคประชาชน ส่วนการออกพันธบัตรเพื่อกระตุ้นการออมในอนาคตนั้นได้กำชับในที่ประชุมครม. ว่าจะต้องจัดสรรให้กับประชาชนทั่วไปก่อนที่จะจัดสรรให้กับสถาบันการเงิน

นายทนง พิทยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การปรับขึ้นดอกเบี้ยอาร์/พีของธปท. ครั้งนี้ จะไม่ส่งผลกระทบต่อหุ้นในกลุ่มธนาคาร เพราะปัจจุบันสถานการณ์ทางด้านเศรษฐกิจยังคงอยู่ในช่วงที่ดี บวกกับกลุ่มธนาคารเองมีการบริหารจัดการที่ดีเพียงพอที่จะไม่ทำให้เกิดปัญหาต่อราคาหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ อย่างแน่นอน

กสิกรไทยรอให้แบงก์อื่นปรับก่อน

นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ธนาคารจะไม่เป็นผู้นำในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย แต่หากมีธนาคารอื่นปรับตามดอกเบี้ยอาร์/พี ธนาคารเองคงจะต้องขยับดอกเบี้ยตามแน่นอน เพื่อให้ให้สูญเสียฐานลูกค้า เนื่องจากขณะนี้การแข่งขันของธนาคารพาณิชย์มีความรุนแรงมากขึ้น

"สภาพคล่องช่วงที่ผ่านมาเหลืออยู่มาก จึงไม่มีใครทำอะไร แต่พอดอกเบี้ยขยับขึ้น ทุกคนกลับมาโลภ ดังนั้นแต่ละแห่งต้องจับตามองกันอย่างไม่กระพริบตา และผู้บริโภคก็จะกลายเป็นทางออกสำหรับธนาคารพาณิชย์ในท้ายที่สุด"

อย่างไรก็ตาม อัตราดอกเบี้ยสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามสภาวะตลาด โดยผู้ฝากเงินจะได้รับประโยชน์ในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น ขณะที่ลูกค้าเงินกู้จะต้องรับภาระต้นทุนที่สูงขึ้น ขณะที่แนวโน้มการปรับดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ มีโอกาสปรับขึ้นตลอดเวลา แต่ขึ้นกับธนาคารรายใดจะเป็นผู้นำตลาด

ส่วนความเป็นไปได้ของการประชุม กนง.ในวันที่ 14 ธันวาคม ซึ่งเป็นการประชุมครั้งสุดท้ายของปีนี้ จะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกหรือไม่นั้น นายบัณฑูร กล่าววว่า ขึ้นกับการพิจารณาของ ธปท. และสถานการณ์ในขณะนั้น แต่เชื่อว่า ธปท. คงจะประเมินความเหมาะสมอย่างรอบด้าน

ส่งสัญญาณขยับดอกเบี้ยออมทรัพย์

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ขณะนี้ธนาคารยังไม่มีแผนจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยออมทรัพย์ แต่รอดูธนาคารอื่นจะขยับอัตราดอกเบี้ยออมทรัพย์หรือไม่ หากธนาคารมีการเปลี่ยนแปลง ธนาคารกสิกรไทยก็คงต้องขยับอัตราดอกเบี้ยตามไปด้วย

"ขณะนี้เริ่มเห็นสัญญาณที่จะมีธนาคารปรับอัตราดอกเบี้ยออมทรัพย์แล้ว เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยอาร์พีถือว่าอยู่ในระดับที่สูงสุด (Peak) แล้ว"

ส่วนอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ นายประสาร กล่าวว่า ธนาคารได้พิจารณาถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับผู้ผ่อนบ้านไว้แล้ว และทางธนาคารได้คิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เผื่อล่วงหน้าไว้แล้วประมาณ 2% จึงน่าจะรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ สำหรับการเติบโตของสินเชื่อ คาดว่าจะเติบโตประมาณ 6-7% ต่ำกว่าปีก่อนหน้าที่โต 9%

ด้านนายอรุณ จิรชวาลา กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารนครหลวงไทย กล่าวว่า อัตราดอกเบี้ยธนาคารพาณิชย์อยู่ในช่วงขาขึ้น แต่จะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งจะขึ้นอยู่กับการบริหารสภาพคล่องของแต่ละแห่ง โดยธนาคารนครหลวงไทยจะยังไม่ปรับอัตราดอกเบี้ยในช่วงนี้ เพราะได้ปรับขึ้นไปแล้วก่อนหน้านี้และสภาพคล่องยังมีพอรองรับการปล่อยสินเชื่อธนาคาร

แบงก์ชาติ-คลังถกแก้เอ็นพีแอลวันนี้

รายงานข่าวจากกระทรวงการคลัง แจ้งว่า ในวันนี้ (21 ต.ค.) ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ผู้ว่าการธปท. จะเข้าพบรมว.คลัง เพื่อหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ทั้งระบบให้ลดลงเหลือเพียง 2% ในปี 2549 โดยผู้ว่าการธปท. จะนำเสนอแผนการแก้ไขปัญหาดังกล่าว และแนวทางที่จะให้กระทรวงการคลังช่วยเหลือต่อไป


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.