|
มวยคู่ใหม่"เทเลนอร์-เอไอเอส"
ผู้จัดการรายวัน(21 ตุลาคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
การขายหุ้นยูคอมของตระกูลเบญจรงคกุล ทิ้งฐานที่มั่นบริษัทอายุกว่า 40 ปีที่รุ่นพ่อก่อร้างสร้างตัว จากการเป็นตัวแทนจำหน่ายวิทยุสื่อสารโมโตโรล่า งานประมูลภาครัฐ เป็นเรื่องที่น่าตกใจและคาดไม่ถึง แต่หากมองในแง่ดี อาจเป็นการ reborn ของบุญชัย-วิชัยอีกครั้ง หลังจากธุรกิจปัจจุบันติดขัดทั้งฐานทุน การกำกับดูแล การแข่งขัน ที่หลังจากพยายามขยับตัวทุกวิถีทางแล้วแต่ก็ไม่เป็นผล
ธุรกิจโทรศัพท์มือถือเรียกได้ว่าเป็น Capital Intensive แพ้ชนะต้องวัดกันที่ฐานเงินทุนที่เข้มแข็ง ดีแทคถึงแม้มีเงินจากเทเลนอร์ แต่ก็อาจไม่มากพอที่จะชนะศึกที่มีเอไอเอสเป็นผู้นำตลาด นอกจากนี้ดีแทคยังถูกกฎเกณฑ์กำกับดูแลที่เข้มงวด และแตกต่างจากคู่แข่งอย่างเอไอเอส ชนิดที่เรียกว่า หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างครั้งใหญ่ในอุตสาหกรรม ก็ยากที่จะเกิดการแข่งขันเสรีหรือพลิกฟื้นขึ้นมาเป็นผู้ชนะ โดยเฉพาะค่าเชื่อมโยงหรือแอ็คเซ็สชาร์จ ที่ดีแทคต้องจ่ายเลขหมายละ 200 บาทต่อเดือนในระบบโพสต์เพด หรือ 18%ต่อเลขหมายสำหรับระบบพรีเพด เป็นต้นทุนปีละกว่าหมื่นล้านบาทที่คู่แข่งไม่ต้องเสีย และในอนาคตยากที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลง
สิ่งดีๆที่บุญชัย เบญจรงคกุล ย้ำถึงเหตุผลในการขายหุ้นคือเป็น Win –Win หากมองในมุมเบญจรงคกุล ยังเหลือหุ้นอีก 16% ในบริษัท ไทย เทเลคอม โฮลดิ้ง (ทีทีเอช) ซึ่งก็เท่ากับยังมีส่วนเป็นเจ้าของยูคอมและดีแทคอยู่บ้าง ไม่ได้ทิ้งฐานธุรกิจแสนล้านบาทแบบไม่มีเยื่อใย แต่สิ่งที่ 2 พี่น้องจะไปบุกเบิกคือการไปสร้างฐานระดับรากหญ้า ที่หว่านผลไว้นานแล้วไม่ว่าจะเป็นโครงการรักษ์บ้านเกิด วิทยุชุมชนร่วมด้วยช่วยกัน และการพัฒนาดิจิตอล คอนเทนต์ ที่เป็นอนาคตสำคัญของบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง รวมทั้งโทรศัพท์มือถือ 3G
บุญชัยย้ำชัดเจนว่าจะยังไม่แตะบริการที่ต้องขอไลเซนต์ประเภท 3 หรือต้องมีเน็ตเวิร์กเป็นของตัวเองจากกทช. หมายถึงอะไรที่เป็นฮาร์ดแวร์ เป็นเน็ตเวิร์กจะไม่สนใจให้บริการ แต่จะไปมุ่งธุรกิจประเภทคอนเทนต์หรือซอฟต์แวร์ สิ่งที่เป็นทรัพย์สินทางปัญญาที่ทำกำไรสูงกว่า และการลงรากหญ้าก็หมายถึงการเล่นกับแมสวอลลุ่ม โดยที่จะขอซื้อธุรกิจคืนมาจากยูคอม แต่จะไม่แตะต้องธุรกิจที่ยังผูกพันหรือติดสัญญากับรัฐอย่างดีแทค หรือยูไอเอชและยูบีที ซึ่งให้บริการสื่อสารข้อมูลความเร็วสูงโดยเป็นการร่วมทุนกับบริษัท กสท โทรคมนาคมและบริษัท ทีโอที
การทิ้งหุ้นยูคอม และปล่อยให้เทเลนอร์ ลุยเดี่ยวในธุรกิจโทรศัพท์มือถือดูจะเป็นโอกาสของดีแทค เพราะเทเลนอร์จะถมเงินทุนได้เต็มที่ หลังจากได้อำนาจบริหารเบ็ดเสร็จ ซึ่งช่วงที่ผ่านมามีความพยายามขยายการลงทุนของเทเลนอร์เพื่ออำนาจบริหาร แต่ไม่ประสบความสำเร็จในช่วงที่นายซิคเว่ เบรกเก้ ชักเข้าชักออกจากตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม นอกจากนี้การปรับโครงสร้างการถือหุ้นทำให้เกิดการขยายฐานทุนเชื่อมโยงกันไปหมดทั้งดีแทค ยูคอม ทีทีเอช บริษัท เบญจจินดาของบุญชัย และประเด็นสำคัญคือการหลบจากกระแสการเมืองที่ตระกูลเบญจรงคกุลมีภาพอิงกับพรรคประชาธิปัตย์มาตลอด
สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือการเปลี่ยนหน้าใหม่ไปสู้กับคู่แข่ง หลังตระกูลเบญจรงคกุลผ่าทางตันธุรกิจการเมืองไม่สำเร็จ ต่อไปเทเลนอร์จะอัดทั้งเงินทุนและเทคโนโลยีเข้าถล่มคู่แข่ง หลังจากพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าในช่วง 5 ปีที่เข้ามาในดีแทคทำให้ช่องห่างฐานลูกค้าระหว่างดีแทคกับเอไอเอสแคบลงจาก 1 0เท่าก็เหลือเพียงแค่เกือบ 2 เท่า มีนวตกรรมใหม่ๆด้านการตลาด ไม่ใช่มีแค่การดัมป์ราคา ราคาหุ้นปรับตัวสูงขึ้นและผลประกอบการดีขึ้น รวมทั้งลูกค้าระดับบนที่มีรายได้ต่อเลขหมายมากๆ ก็อยู่กับดีแทคในสัดส่วนที่มากกว่าคู่แข่ง
การขายหุ้นยูคอมทิ้งไม่ใช่จุดจบ แต่เป็นจุดเริ่มต้นของมวยคู่ใหม่เทเลนอร์-เอไอเอส และการเกิดใหม่ในธุรกิจดิจิตอล คอนเทนต์ ไอที บรอดแบนด์ และการสร้างเครือข่ายชุมชนระดับรากหญ้าของบุญชัย-วิชัย เบญจรงคกุล
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|