|
จับเทรนด์ 'ร้านขายยา' โอกาสทองนักลงทุน
ผู้จัดการรายสัปดาห์(21 ตุลาคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
ธุรกิจร้านขายยา เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่น่าจับตามองสำหรับผู้ที่กำลังเล็งหาช่องทางการลงทุน ถ้าดูปัจจัยเบื้องต้นสินค้าประเภทยาเป็นปัจจัยพื้นฐาน หรือปัจจัย 4 ที่ผู้บริโภคยังต้องกินต้องใช้ยามเจ็บป่วย หรือเป็นสินค้าที่มีความจำเป็น โดยไม่ขึ้นกับภาวะเศรษฐกิจเช่นเดียวกับอาหารการกิน
ถ้าดูจากมูลค่าการค้าสินค้ายา รวมอาหารเสริมเพื่อสุขภาพสูงถึงปีละ 1 แสนล้านบาท และมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ด้วยความหลากหลายของสินค้าที่มุ่งสู่กลุ่มอาหารเสริมเพื่อสุขภาพและเวชสำอางที่ผ่านช่องทางร้านขายยามากขึ้น รวมถึงการเข้ามาลงทุนของกลุ่มทุนข้ามชาติของ Boot และ Watson ที่เน้นพื้นที่ทำเลในห้างสรรพสินค้าเปิดให้บริการ
ขณะเดียวกัน จะเห็นว่าช่วงระยะ 4-5 ปีที่ผ่านมา ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเหล่านี้ พยายามตอบสนองผู้บริโภค ที่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการจับจ่าย ที่เน้นสินค้าในร้านที่มีความครบวงจรมากขึ้น สถานที่ทำเลต้องสะดวก และการบริการภายในร้านที่มีเภสัชกรประจำเพื่อให้คำปรึกษาแนะนำ
จะเห็นรูปแบบของร้านขายยาโฉมใหม่ หรือเป็นเทรนด์ทั้งการบริการ การตกแต่งร้าน สินค้าที่วางจำหน่ายที่ครบวงจร ที่ใกล้เคียงกับต่างประเทศ
ถ้าดูปัจจัยดังที่กล่าวมาข้างต้น แล้วถามว่าธุรกิจร้านขายยาเป็นธุรกิจที่น่าลงทุนหรือไม่ และมีร้านไหนบ้างที่ขยายธุรกิจในรูปแบบเครือข่ายหรือแฟรนไชส์ เพื่อเปิดรับนักลงทุนหน้าเก่าที่ต้องการปรับโฉมใหม่ภายใต้แบรนด์ที่เข้มแข็งหรือนักลงทุนหน้าใหม่ เพื่อช่วงชิงโอกาสและตลาดที่มีแนวโน้มเติบโตไม่หยุดยั้ง
"ผู้จัดการรายสัปดาห์" ได้สัมภาษณ์ผู้บริหารในธุรกิจแฟรนไชส์ร้านขายยา 2 รายใหญ่ นำเสนอข้อมูลที่น่าสนใจดังนี้
องค์การเภสัชฯ ผุด 'GPO' 'Health & Life Style Store'
วีรวิทย์ ลิ่ว กรรมการผู้จัดการ บริษัท โอดีเอส จำกัด ผู้บริหารและจัดการร้านสะดวกซื้อ GPO กล่าวว่า GPO เป็นร้านขายยาแนวใหม่ ที่เกิดการร่วมทุนกันระหว่างองค์การเภสัชกรรมและบริษัท เพื่อนำเสนอร้านสะดวกซื้อภายใต้คอนเซ็ปต์ Health & Life Style Store หรือแนวสุขภาพเพื่อชีวิตประจำวัน ซึ่งเป็นเทรนด์การให้บริการที่ครบวงจร และเป็นที่นิยมในต่างประเทศ รวมถึงพฤติกรรมผู้บริโภคในไทยด้วย
ภายในร้านเน้นการขายที่ครบวงจร ยา อาหารเสริมเพื่อสุขภาพ เวชสำอางและเวชภัณฑ์ที่ผลิตจากสมุนไพร มีจำนวนสินค้าภายในร้านกว่า 8,000 รายการ และมีการบริการทางการแพทย์เบื้องต้นในการตรวจเช็คร่างกาย และการแนะนำการใช้ยา ขณะเดียวกันยังชูความครบวงจรด้วยการให้บริการพื้นฐานทั่วไปในชีวิตประจำวันคือไปรษณีย์ อินเทอร์เน็ตและการชำระค่าสาธารณูปโภค ซึ่งมีขนาดพื้นที่ให้บริการและลงทุน 3 ขนาดคือ S M และ L เงินลงทุนตั้งแต่ 3-10 ล้านบาท (อ่านตารางประกอบ)
สำหรับแผนการขยายสาขานั้น วีรวิทย์ กล่าวว่า ในปี 2549 ร้าน GPO จะขยายอีก 10 สาขา ซึ่งดำเนินการเองทั้งหมด จากนั้นจะเริ่มทยอยขายในรูปแบบแฟรนไชส์ ซึ่งมีผู้สนใจติดต่อเข้ามาประมาณ 30 ราย รวมถึงร้านที่ให้บริการในมหาวิทยาลัยต่างๆ ด้วย และภายใน 3 ปี ตั้งเป้าจำนวนสาขาที่ 110 สาขา โดยคงสาขาที่ดำเนินการเอง 20 แห่ง นอกนั้นในรูปแบบแฟรนไชส์ทั้งหมด ในเบื้องต้นนี้ จะเน้นชุมชนในเขตกรุงเทพมหานครจนครบ โดยพื้นที่ต่อจากนี้คาดจะเป็นย่านบางกะปิ ลาดพร้าวและโชคชัย 4
"ด้วยคอนเซ็ปต์การให้บริการ คาดจะเหมาะกับพฤติกรรมของคนเมือง ซึ่งเราต้องการขยายสาขาครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย ก่อนที่จะรุกตลาดต่างจังหวัดในเมืองใหญ่ ทั้งนี้เพื่อสามารถเปิดบริการตลอด 24 ชั่วโมงในทำเลชุมชน โดยมีเภสัชกรประจำ" วีรวิทย์กล่าว
'ฟาสซิโน' ชูจุดแข็ง 'MP3' ขยายเครือข่าย เพิ่มการต่อรอง
สุรพล สุทธิโรจน์พัฒนา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท โปรฟาสซิโน จำกัด ผู้ให้บริการแฟรนไชส์ฟาสซิโน เปิดเผยว่า บริษัทดำเนินธุรกิจมานานกว่า 20 ปีจากร้านยาเล็กๆ หน้าโรงพยาบาลศิริราช จึงเห็นปรากฏการณ์การเปลี่ยนที่เกิดขึ้นค่อนข้างชัดเจน หากเปรียบเทียบเป็นปรากฏการณ์เดียวกันกับร้านขายของชำ เมื่อร้านสะดวกซื้อรูปแบบใหม่เข้ามา รายเก่าก็ต้องปรับตัว จากวางสินค้าระเกะระกะเจ้าของร้านรู้เพียงคนเดียว ก็จับแยกเป็นหมวดหมู่ ตกแต่งหน้าตาร้านให้ดูดี
เช่นเดียวกับร้านขายยา ปัจจุบันจะเห็นว่ามีการปรับเปลี่ยนลุคให้ดูทันสมัยขึ้นหรืออย่างน้อยก็ต้องติดแอร์คอนดิชั่น บริษัทเห็นเทรนด์ตรงนี้ทำให้ต้องปรับลุคใหม่เช่นกันเมื่อประมาณ 7-8 ปีที่ผ่านมาเรียกว่าเป็นรายแรกๆ
ด้วยลุคใหม่ที่โมเดิลขึ้น แต่ยังคงคอนเซ็ปต์หลักของการให้บริการคือสินค้าหลัก 5 หมวดคือ 1.ยาที่จำหน่ายโดยเภสัชกร คือเน้นความเป็นมืออาชีพด้วย 2.ยาสามัญประจำบ้าน 3.เวชศาสตร์ป้องกัน อาหารเสริมทั้งเพื่อความสวยงาม เช่น ลดน้ำหนักและอาหารเสริมเพื่อสุขภาพ 4.เวชสำอาง ซึ่งเป็นกลุ่มสินค้าที่กำลังได้รับความนิยมสูง เกี่ยวกับการบำรุงเข้าไปเกิดปฏิกิริยากับเซลของผิวให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เช่น ทำให้ผิวขาวขึ้น และ 5.อุปกรณ์ผู้ป่วย อุปกรณ์ทางการแพทย์ จึงเป็นสินค้าจุดแข็งของบริษัท แตกต่างจากร้านทั่วไป เพราะต้องลงทุนสินค้าในกลุ่มดังกล่าวสูงมาก
นอกจากนี้ยังเตรียมเสริมกลุ่มสินค้าประเภทของใช้ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพร่างกาย เช่น แปรงสีฟัน สำหรับผู้ที่จัดฟันหรือผู้ใส่ฟันปลอม สบู่สำหรับผู้มีปัญหาด้านผิวหนัง เป็นต้น นอกเหนือจากสินค้าเฮ้าส์แบรนด์ที่บริษัทผลิต สามารถแข่งขันด้านราคาในท้องตลาดได้
สุรพล กล่าวถึง จุดแข็งของฟาสซิโนคือ MP3 ประกอบด้วย Modern การตกแต่งร้านด้วยรูปลักษณ์ที่ทันสมัย และการบริหารจัดด้วยด้วยระบบไอที Professional มีเภสัชกรประจำ รวมถึงบุคลากรที่ผ่านการอบรมในระดับผู้ช่วยเภสัชกร Product สินค้าครบวงกร และ Price ราคาสินค้ายุติธรรม และด้วยจำนวนสาขาอำนาจการต่อสูงกับซัพพลายเออร์มีสูง รวมถึงระบบสมาชิกได้รับส่วนลดราคาพิเศษ
สำหรับแผนการขยายธุรกิจ ปัจจุบันบริษัทดำเนินงานโดยมีสินค้า 2 แบรนด์คือ ลาซาโน โดยบริษัทลงทุนเองขยายสาขายังพื้นที่ทำเลพันธมิตรคือเทสโก้ โลตัส คาดจะมี 20 สาขาภายในสิ้นปี 2548 และ ฟาสซิโน ขยายรูปแบบแฟรนไชส์ ปัจจุบัน 52 สาขา(แฟรนไชซี 41 สาขา ร้านบริษัท 11 สาขา) และเตรียมเปิดแฟรนไชส์ในสิ้นปีนี้อีก 1-2 สาขา โดยส่วนใหญ่เป็นร้านในเขตกรุงเทพ และหัวเมืองใหญ่ภูเก็ต หาดใหญ่ ระยอง
"ปัจจุบันการขยายสาขารูปแบบแฟรนไชส์ยังมีติดต่อเข้ามาต่อเนื่อง เป็นทั้งนักลงทุนใหม่และผู้ประกอบการร้านขายยาอยู่แล้ว ส่วนหนึ่งเพราะชื่อของฟาสซิโนเป็นที่รู้จัก อยู่ในวงการมานาน ฉะนั้นระบบการบริหาร จัดการร้าน รวมถึงสินค้าบริการในร้าน และคำปรึกษาในการเตรียมเอกสารติดต่อหน่วยงานราชการ เช่น องค์การอาหารและยา (อย.) ซึ่งเป็นธุรกิจที่ต้องมีประกอบการทั้งการตลาด และอยู่ในวิชาชีพทางการแพทย์ ซึ่งเป็นโนฮาว์ที่ให้กับนักลงทุนที่ไม่มีประสบการณ์แต่สามารถประกอบธุรกิจนี้ได้" สุรพลกล่าว
ช่องทางธุรกิจ ผ่านมุมมอง 'คนวงใน'
วีรวิทย์ ผู้บริหารโอดีเอส ซึ่งเป็นบริษัทที่มีประสบการณ์และความชำนาญด้านการบริหารจัดการธุรกิจค้าปลีก ใช้เวลานานกว่า 1 ปี ในการศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภค โดยเฉพาะการจับจ่ายสินค้าผ่านร้านขายยา ทั้งในประเทศและต่างประเทศ สำหรับในประเทศนั้นเขาพบว่าต้องเป็นร้านขายยาที่ให้บริการครบวงจรมีสินค้าและบริการที่หลากหลายหรือเป็น one stop service ที่ไม่ใช่เพียงร้านขายยาอีกต่อไป ประกอบการการตกแต่งที่ดูทันสมัย จึงได้รวบรวมผลสำรวจดังกล่าวออกมาเป็น GPO
หากถามถึงโอกาสทางธุรกิจนั้น วีรวิทย์ ให้ความเห็นว่า เทรนด์ร้านจำหน่ายยาและสินค้าสุขภาพจะมาแรง เพราะทุกคนห่วงใยและใส่ใจสุขภาพมากขึ้น แต่ใช่ว่าจะทำเพียงสินค้าสุขภาพอย่างเดียวแต่ต้องมีสินค้าที่ตอบสนองการใช้ในชีวิตประจำวันได้ด้วย ซึ่งเทรนด์ของร้านในลักษณะนี้จะดีว่าร้านค้าปลีกทั่วไป ซึ่งเห็นความสำเร็จมาแล้วจากต่างประเทศ
"ผมคาดว่าการให้บริการของร้านดังกล่าวจะเติบโตต่อเนื่องตลอด 3 ปีนี้ คาดจะเปิดเป็นดอกเห็ด ฉะนั้นการแข่งขันก็สูงตามมา อยู่ที่ว่าจุดแข็งของแต่ละราย ถึงแม้ว่าตอนนี้ยังต้องสร้างการรับรู้ของผู้บริโภคอยู่ก็ตาม ซึ่งต่อไปร้านขายยาจะไม่ใช่ร้านขายยาอีกต่อไป แต่ถ้าใครต้องการความสุขให้มาที่นี้ต่างหาก" วีรวิทย์กล่าว
ด้าน สุรพล ผู้คร่ำหวอดในวงการธุรกิจยามานาน มองว่า การลงทุนธุรกิจร้านยายังเป็นธุรกิจที่น่าสนใจ แม้จะไม่หวือหวาเหมือนธุรกิจอื่นแต่เมื่อยาเป็นปัจจัย 4 เป็นสิ่งจำเป็น ฉะนั้นเป็นธุรกิจที่ไม่ขึ้นลงตามภาวะเศรษฐกิจ จึงเป็นธุรกิจที่ไม่มีความเสี่ยงหรือเทียบธุรกิจอื่นก็มีความเสี่ยงน้อยมาก
และรูปแบบการลงทุนก็จะเปลี่ยนไป ทั้งการนำเสนอในรูปลักษณ์ร้านที่โมเดิล และการขยายในรูปแบบเครือข่ายแทนร้านค้าเดี่ยวๆ เพื่อเสริมศักยภาพด้านอำนาจการต่อรองและการแชร์บุคลากร
ขณะเดียวกันการสร้างรายได้ โดยสินค้ามีผ่านร้านขายยามีจำหน่ายหลากหลายขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มพรีเวนทีฟหรือการป้องกันก่อนการเกิดโรคจำพวกอาหารเสริมต่างๆ ไม่ขายเฉพาะยาเท่านั้น ด้วยความหลากหลายของกลุ่มสินค้าประเภทดังกล่าวที่กำลังได้รับความนิยมสูงมากจะผ่านช่องทางการจำหน่ายนี้เป็นส่วนมาก ทำให้โอกาสการขายสินค้ามีเพิ่มมากขึ้น
3 ขนาดการลงทุน 'GPO'
-ขนาด L 10 ล้านบาท พื้นที่ประมาณ 200 ตร.ม. ขึ้นไป คืนทุน 3 ปี
-ขนาด M 5 ล้านบาท พื้นที่ 2-4 คูหา หรือ 150 ตร.ม. คืนทุน 2 ปี
-ขนาด S 3 ล้านบาท พื้นที่ 1-2 คูหา หรือ 50-100 ตร.ม. คืนทุน 2 ปี
-วางระบบบริหารจัดการภายในร้าน
-ฝึกอบรมบุคลากร
ลงทุน 'ฟาสซิโน'
-ขนาดพื้นที่ 2-3 คูหาลงทุน 2-3 ล้านบาท
-ค่าแฟรนไชส์ฟี 350,000 บาท
-สัญญา 3 ปี (ต่อทุก 3 ปีไม่เสียค่าแฟรนไชส์ฟีครั้งต่อไป )
-ปีที่ 4 จ่ายค่ามาร์เก็ตติ้งฟี 30,000-40,000 บาทต่อปี
-ค่าตกแต่ง 700,000-800,000 บาท
-สินค้าตั้งต้น 800,000-900,000 บาท
-ระยะคืนทุน ขึ้นกับทำเลอยู่ระหว่าง 2-3 ปี (ชุมชนหนาแน่น) และ 3-5 ปี (ทำเลปกติทั่วไป)
-ฝึกอบรมบุคลากรต่อเนื่อง
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|