ตลาดปราบเซียน

โดย พัฒนเดช อาสาสรรพกิจ
ผู้จัดการรายสัปดาห์(20 ตุลาคม 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

สิ้นปี พ.ศ.2547 ยอดจำหน่ายรถยนต์รวมทุกชนิดของประเทศไทย อยู่ที่ประมาณ 620,000 คัน และมีการพยากรณ์กันว่าปี พ.ศ.2548 นี้ อัตราการเติบโตของยอดจำหน่ายจะอยู่ที่ระดับ ร้อยละ 5 ถึง ร้อยละ 7 หรือมีการจำหน่ายรถยนต์เพิ่มขึ้นประมาณ 31,000 คัน ถึง 43,000 คัน เท่ากับว่ายอดจำหน่ายรถยนต์รวมทุกชนิดของปี พ.ศ.2548 นี้จะอยู่ระหว่างตัวเลข 651,000 คัน ถึง 663,000 คัน โดยที่ผมเองปัดให้เป็นตัวเลขกลมๆเพิ่มไปเป็น 670,000 คันด้วยซ้ำไป

ทั้งนี้การประเมินหรือการพยากรณ์หรือการคาดการณ์ตัวเลขสำหรับปี พ.ศ.2548 นี้ เป็นการประเมินตั้งแต่ช่วงปลายปี พ.ศ.2547 ดังนั้นเงื่อนไขและสถานการณ์ต่างๆยังคงแตกต่างไปจากปัจจุบันมากมาย โดยเงื่อนไขที่สำคัญที่สุดที่ทำให้มีนักวิเคราะห์บางส่วนเกิดความวิตกกังวลก็คือ เงื่อนไขเรื่องราคาน้ำมัน

ปลายปี พ.ศ.2547 ราคาน้ำมันเบนซินออคเทน 95 ยังอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 20 บาทต่อลิตรสำหรับตลาดกรุงเทพ ในขณะที่ราคาน้ำมันเบนซินออคเทน 95 ในกรุงเทพเมื่อสิ้นไตรมาสที่สามหรือสิ้นเดือนกันยายน ราคาลิตรละกว่า 27 บาทและเชื่อว่าก่อนถึงสิ้นปีราคาน่าจะถึงลิตรละ 30 บาท

เพียงแค่เงื่อนไขด้านราคาน้ำมันโดยไม่ต้องนับถึงอัตราเงินเฟ้อและดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น เงื่อนไขด้านลบสำหรับตลาดรถยนต์ในประเทศไทยที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ.2548 ยังล้วนแล้วแต่เป็นเงื่อนไขที่น่าจะส่งผลให้ยอดการจำหน่ายลดลงจากการประมาณการณ์ทั้งสิ้น เช่น สถานการณ์ทางด้านสามจังหวัดภาคใต้ เหตุการณ์ภัยพิบัติสึนามิ เหตุการณ์ทุบรถยนต์ฮอนด้า ซีอาร์วี เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2548 ซึ่งส่งผลลบต่อความเชื่อมั่นในผู้ผลิตรถยนต์ และควรมีผลกระทบด้านลบต่อการจำหน่ายรถยนต์รวมทุกยี่ห้อ

สถานการณ์ภัยแล้งทางภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สถานการณ์น้ำท่วมทางภาคเหนือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวัดเชียงใหม่ ที่ถือว่าเป็นจังหวัดหัวใจหลักของภาคเหนือ ที่มีกำลังซื้อสูงสุดมีตัวเลขการจำหน่ายสูงสุดในภาคเหนือ ปีนี้ถูกน้ำท่วมถึงสามครั้งซ้อน ฯลฯ

สถานการณ์ต่างๆที่บอกมา ล้วนแต่น่าจะทำให้ตัวเลขการจำหน่ายรถยนต์ในประเทศไทยตกลงไปจากการประมาณการณ์ไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบ หรือควรตกลงมากกว่าปี พ.ศ.๒2547 ประมาณร้อยละสิบขึ้นไป แต่ในข้อเท็จจริงจากตัวเลขการจำหน่ายที่ประกาศกันออกมาทุกเดือน กลับพบว่าตัวเลขการจำหน่ายรถยนต์รวมทุกชนิดสำหรับตลาดประเทศไทย ยังไม่ส่อว่าจะมีตัวเลขตกลงแม้แต่เพียงเดือนเดียว อัตราการเติบโตก็ยังอยู่ในระดับที่ประเมินเอาไว้

แม้บางเดือนอัตราการเติบโตจะลดลงบ้าง แต่บางเดือนก็ยังมีอัตราการเติบโตที่สูงกว่าประเมินมาช่วยเฉลี่ย ซึ่งเหตุผลของการเติบโตด้านตัวเลขการจำหน่ายรถยนต์รวมในประเทศไทยปีนี้ จึงยังคงเป็นสิ่งที่น่านำมาเป็นกรณีศึกษาสำหรับผู้ที่สนใจไม่น้อย

เหตุผลสำคัญที่ทำให้ตัวเลขการจำหน่ายยังคงเติบโตมากขึ้น เป็นผลมาจากการแข่งขันกันของรถยนต์กระบะ ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่ารถยนต์กระบะมีผลกระทบต่อตลาดรถยนต์ในประเทศไทยสูงมาก มีสัดส่วนอยู่ในตลาดเมืองไทยเกินร้อยละ 50 ทุกปี และสิ้นปี พ.ศ.2548 ปีนี้น่าจะมีสัดส่วนเกินกว่าร้อยละ 60 ของตลาดรวมค่อนข้างแน่

ปี พ.ศ.2548 นี้ โตโยต้า ที่เป็นรองแชมป์มานานยี่สิบกว่าปี ประกาศก้องพร้อมกับโครงการณ์ IMV ว่า อยากจะได้ตำแหน่งแชมป์ยอดจำหน่ายรถกระบะมาครองให้ได้ จะได้เป็นแชมป์จำหน่ายรถยนต์ครบทั้งสามตำแหน่งคือ ตำแหน่งแชมป์จำหน่ายรถเก๋ง, แชมป์จำหน่ายรถกระบะ และ แชมป์จำหน่ายรถยนต์รวม

เมื่อต้องการล้มแชมป์ที่ครองตำแหน่งมานาน เป็นธรรมดาที่ โตโยต้า ต้องทุ่มเทกำลังพลทุกด้านลงมา ดังนั้นการเปิดตัวรถยนต์ใหม่รุ่น วีโก้ ของโตโยต้า บวกกับพลังการขับเคลื่อนผลักดันให้ ฟอร์จูนเนอร์ มียอดจำหน่ายเติบโตอย่างรวดเร็ว จนทำให้ อีซูซุ ต้องออกอาวุธมาต่อต้าน ด้วยการผลักเอา ดีแมคซ์ เครื่องยนต์ คอมอมนเรลล์ 3000 ซีซี. ออกมาสกัดในช่วงปลายปี 2547 และ ตามมาด้วยการส่ง ดีแมคซ์ เครื่อง 2500 ซีซี. ออกมาอีกครั้งหนึ่งในช่วงต้นปี 2548 จึงทำให้ยอดจำหน่ายรถกระบะพุ่งสูงขึ้นอย่างไม่มีใครคาดการณ์ได้ แม้แต่ยอดจำหน่ายทางด้านสามจังหวัดภาคใต้ ยังมีอัตราการเติบโตที่อยู่ในระดับน่าพึงพอใจ

และในช่วงก่อนจะสิ้นไตรมาสที่สามของปี มิตซูบิชิ ยังตามมาสร้างแรงขับเคลื่อนในตลาด ด้วยการส่งรถยนต์มิตซูบิชิ ไทรทัน ที่เปลี่ยนทั้งรูปโฉมโนมพรรณ และเครื่องยนต์ใหม่หมดลงมาร่วมวงในตลาดรถกระบะด้วยอีกรายหนึ่ง ยอดจำหน่ายรถกระบะจึงเติบโตจนสามารถชดเชยตัวเลขที่ลดลงของรถยนต์เก๋งในบางส่วนได้

ทางด้านรถเก๋งแม้ว่ายอดการจำหน่ายรถเก๋งขนาดใหญ่และกลาง ไม่สามารถทำตัวเลขการจำหน่ายได้ดีนัก แต่รถเก๋งขนาดเล็กที่มีจำหน่ายเพียงสองยี่ห้อสองรุ่น คือโตโยต้า วีออส และ ฮอนด้า ซิตี้ กลับแบ่งตัวเลขการจำหน่ายกันไปรายละไม่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ฮอนด้า แจ๊ส ที่เป็นส่วนหนึ่งของ ฮอนด้า ซิตี้ กลับกอบโกยตัวเลขเอาไว้ได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ เมื่อมาบวกกับตัวเลขของรถยนต์ มิตซูบิชิ แลนเซอร์ ซีเดีย ที่เทจำหน่ายชนิดไม่กลัวขาดทุน และ เชพโรเลท ออพตร้า ที่เสนอเงื่อนไขการขายชนิดล้างสต๊อค ทำให้ความสูญหายทางด้านตัวเลขการจำหน่ายรถยนต์เก๋ง จึงไม่ร้ายแรงอย่างที่น่าจะเป็น

ด้านบวกอีกด้านหนึ่งที่คนนอกวงการยานยนต์น้อยคนจะเข้าใจได้คือ เมื่อมีการประมาณการณ์ตัวเลขการจำหน่ายล่วงหน้าเอาไว้แล้ว ไม่เพียงผู้ผลิตรถยนต์เท่านั้นที่ต้องเตรียมการ แต่ยังมีหน่วยอื่นๆเช่นผู้ผลิตชิ้นส่วนทั้งหลาย และธุรกิจที่เกี่ยวข้องที่ต้องวางแผนเตรียมการเพื่อที่จะเดินทางไปให้ถึงตัวเลขที่ประมาณการเอาไว้ หรืออย่างน้อยก็ต้องใกล้เคียงที่สุด

ดังนั้นไม่ว่าจะเกิดอุปสรรคใดๆก็ตาม ผู้จำหน่ายรถยนต์ทุกยี่ห้อ ยังมีภาระที่จำเป็นอย่างยิ่งในการที่จะกระทำร่วมกัน คือผลักดันขับเคลื่อนยอดการจำหน่ายไปให้ได้ใกล้เคียงกับประมาณการมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ หากผิดพลาดจากตัวเลขที่ประมาณการเอาไว้มากเกินไป ย่อมหมายถึงระบบทั้งระบบของอุตสาหกรรมยานยนต์จะล้มเหลวไป กว่าทีจะกลับมาตั้งตัวกันได้อีกก็ต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่าห้าปี

จึงสรุปได้ว่าเมื่อถึงสิ้นปี 2548 นี้ ตัวเลขการจำหน่ายรถยนต์รวมทุกชนิดในประเทศไทย ไม่น้อยกว่า 650,000 คันอย่างแน่นอน ส่วนตัวเลขของปี พ.ศ.2549 จะปรับเพิ่มหรือลบอย่างไร คงต้องมาว่ากันภายใต้เงื่อนไขใหม่ เพราะหลายผู้ผลิตเริ่มหันมาพูดถึงตัวเลขปีหน้าในการส่งออกกันมากขึ้นแล้วครับ


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.