รัฐทุ่มงบกว่า 5 แสนล้าน กั้นน้ำท่วม"นครสุวรรณภูมิ"


ผู้จัดการรายสัปดาห์(20 ตุลาคม 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

รัฐเตรียมทุ่มงบ 5 แสนล้าน ป้องกันน้ำท่วมขัง"นครสุวรรณภูมิ" และบริเวณใกล้เคียง เล็งพลิกโฉมพื้นที่ลาดกระบัง ประเวศ บางพลี และบางบ่อ ขึ้นแท่นเมืองใหม่และเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ ศูนย์กลางทางการบินและขนส่ง แหล่งอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม เอ็นเตอร์เทนเมนท์ และที่อยู่อาศัยขนาดใหญ่ ชูเป็นจังหวัดที่ 77 ของไทย เทียบชั้นฮ่องกง และสิงคโปร์ ขณะที่ นักธุรกิจจัดสรรเตรียมผุด 200 โครงการ ด้านโยธาฯแนะกลยุทธ์เลือกซื้อบ้านในเขตนครสุวรรณภูมิ

ล่าสุด รัฐบาลภายใต้การนำของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มีดำริที่จะยกระดับนครสุวรรณภูมิ เป็นจังหวัด ที่ 77 ของไทย เพื่อให้การบริหารจัดการคล่องตัว และสามารถสู้กับคู่แข่งในภูมิภาคเดียวกันได้

เบื้องต้น รัฐบาลจะรวมพื้นที่ 4 เขต ใน 2 จังหวัด เข้าด้วยกัน ประกอบด้วย พื้นที่เขตลาดกระบัง และประเวศ ซึ่งตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ และบางพลี และบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ และยกระดับให้เป็นจังหวัดนครสุวรรณภูมิ หรืออาจจะเป็นแค่เขตปกครองพิเศษ เช่นเดียวกับ เขตปกครองพิเศษ พัทยา ซึ่งอยู่ในพื้นที่เขตจังหวัดชลบุรี เป็นต้น

ตั้งเป้าศูนย์กลางเศรษฐกิจแห่งใหม่

เมื่อรัฐบาลมีดำริ ได้สร้างความคึกคักให้กับภาครัฐและเอกชนอีกครั้ง โดยทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงภาคเอกชน ต่างขานรับนโยบายนายกฯ โดยภายในนครสุวรรณภูมิ จะเป็นศูนย์รวมความเจริญแห่งใหม่แห่งหนึ่งที่ทันสมัยทั้งด้านโครงสร้าง เทคโนโลยี การออกแบบตกแต่ง รวมถึงเป็นศูนย์รวมของหน่วยงานราชการ ศูนย์กลางทางการบินและขนส่ง ศูนย์ธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม ที่อยู่อาศัย ลอจิกติกส์ และมีแนวโน้มความเป็นไป ได้ ที่อาจจะเป็นที่ตั้งของรัฐสภาแห่งใหม่ เพราะมีบริษัท กฤษดามหาคร จำกัด (มหาชน) จะยกพื้นที่บริเวณใกล้เคียงกับสนามบินสุวรรณภูมิให้กับรัฐบาลฟรี เพื่อสร้างที่ตั้งของรัฐสภาแห่งใหม่

"บริษัท กฤษดาฯ ได้เสนอยกที่ดินในโครงการสุวรรณภูมิเซ็นเตอร์ พื้นที่ประมาณ 700 ไร่ ให้รัฐบาลไทยใช้เป็นที่สร้างรัฐสภาแห่งใหม่ด้วย แบ่งเป็นพื้นที่ก่อสร้างรัฐสภา 400 ไร่ และพื้นที่ใช้ก่อสร้างสาธารณูปโภค 300 ไร่ " วิชัย กฤษดาธานนท์ ประธานที่ปรึกษากลุ่ม บริษัทกฤษดานคร กรุ๊ป กล่าว

แหล่งข่าว ในวงการอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยว่า หากรัฐบาลต้องการให้สุวรรณภูมิ เป็นเขตปกครองพิเศษ จะทำให้บริเวณดังกล่าวมีความเจริญอย่างรวดเร็ว เพราะจะเป็นที่ตั้งของศูนย์กลางทางเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ของทั้งประเทศ และศูนย์รวมการลงทุน ติดต่อการค้าระหว่างประเทศ เนื่องจากที่ตั้งของพื้นที่อยู่ในทำที่มีศักยภาพ อยู่ใกล้นิคมอุตสาหกรรมทั้งในเขตชลบุรี และระยอง รวมถึงอยู่ใกล้ท่าเรือแหลมฉบัง ที่จะทำให้การขนส่งสะดวกสบาย และลดค่าใช้จ่ายด้านการขนส่ง ขณะเดียวกันยังอยู่ห่างจากรุงเทพฯเพียง 28 กิโลเมตร ซึ่งจะสนับสนุนให้นครสุวรรณภูมิเป็นเขตเศรษฐกิจหลักอย่างแท้จริง

นอกจากนี้ หากรัฐบาลยอมรับที่ดินที่บริษัทกฤษดาฯเสนอให้เป็นที่ตั้งของรัฐสภาแห่งใหม่ จะยิ่งสร้างสีสัน และเป็นเสน่ห์ที่ทำให้นครสุวรรณภูมิแจ้งเกิดเร็วขึ้น จากที่มีการคาดการณ์ว่า จะใช้เวลาในการสร้างความเจริญตามเป้าหมายในเวลา 10 ปี

เล็งผุดบ้านจัดสรร 200 แห่ง รอบสุวรรณภูมิ

ขณะที่ภาคเอกชน โดยเฉพาะ ผู้ประกอบการบ้านจัดสรรต่างเข้าไปกว้านซื้อที่ดินรอพัฒนาจำนวนมาก ทั้งรายเล็ก และรายใหญ่ ที่ประเมินได้ว่ามีโครงการที่เปิดตัวแล้วในช่วงที่ผ่านมา ประมาณ 121 โครงการ และกำลังจะเปิดตัวหลังจากที่สนามบินเปิดให้บริการในกลางปี 2549 รวมมากกว่า 200 โครงการ ยังไม่รวมถึงบริษัทกฤษดาฯที่มีพื้นที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงสนามบินสุวรรณภูมิอีกราว 4,600 ไร่ ที่พร้อมจะพัฒนาโครงการขนาดยักษ์ที่ใช้เงินลงทุนจำนวนมหาศาล ใช้เวลาดำเนินการราว ๆ 10 ปี

ส่วนแผนการลงทุนของ บริษัทกฤษดาฯ เตรียมที่จะเนรมิตพื้นที่ดังกล่าวเป็น ศูนย์กลางทางด้านการเงินบนพื้นที่หลายร้อยไร่ซึ่งจะเป็นแหล่งรวมสำนักงานใหญ่ของสถาบันการเงิน, ที่อยู่อาศัย, และโซนอุตสาหกรรมปลอดภาษี บนพื้นที่ 1,000 ไร่ โรงพยาบาลและโรงแรม ขนาด 4-6 ดาว, ศูนย์กีฬาและสวนสนุกขนาดใหญ่ ในลักษณะเดียวกับที่ฮ่องกงเปิดให้บริการสวนสนุกดิสนี่ย์ แลนด์ และธุรกิจลอจิกติกส์

ชี้ฝั่งเหนือ-ใต้พื้นที่อันตราย

ด้านสมชัย ศรีวิบูลย์ ผู้อำนวยการกองผังเมืองเฉพาะ กรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวว่า พื้นที่ที่จะเหมาะที่จะพัฒนาเป็นที่อยู่อาศัยอยู่ทางบริเวณฝั่งตะวันออกและตะวันตกของสนามบิน เนื่องจากพื้นที่ทางตอนเหนือและใต้เป็นทางขึ้น-ลง ของเครื่องบิน ซึ่งจะได้รับผลกระทบด้านเสียงและความปลอดภัยของผู้พักอาศัย จึงไม่สมควรที่จะนำมาพัฒนาเป็นโครงการบ้านจัดสรร

ทั้งนี้ พื้นที่ฝั่งทิศตะวันตกเชื่อมกับ ถนนกิ่งแก้ว เป็นคันกันน้ำ ส่วนด้านตะวันออกมีลักษณะเป็นพื้นที่รับน้ำถึง 60-70% ดังนั้น การพัฒนาพื้นที่จึงต้องเป็นไปตามลักษณะกายภาพของพื้นที่โดยรวม โดยพื้นที่ส่วนหนึ่งจะทำหน้าที่รับน้ำและอีกส่วนมีการพัฒนาภายใต้กรอบที่จำกัด ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะออกแบบและพัฒนาเมืองให้เป็นลักษณะเมืองน้ำ เหมือนกรุงเวนิช ประเทศอิตาลี

อย่างไรก็ตาม ในช่วงนี้ ผังเมืองเฉพาะที่จะควบคุมการเติบโตของสุวรรณภูมิยังไม่มีผลบังคับใช้ จึงทำให้การเติบโตของเมืองเป็นไปอย่างไร้ทิศทาง ที่สำคัญผู้ประกอบการโครงการบ้านจัดสรร บางส่วนที่ซื้อที่ดินแล้วได้เร่งขอใบอนุญาตก่อสร้าง เพราะกลัวว่าเมื่อผังเมืองใหม่ออกมาคุมแล้วจะไม่สามารถก่อสร้างได้ตามที่วางแผนไว้

ส่วนผู้ประกอบการที่ยังไม่ได้ซื้อที่ดิน ส่วนใหญ่จะชะลอการซื้อที่ดินไว้ก่อน เพื่อรอความชัดเจนของผังเมืองที่จะคลอดออกมาบังคับใช้สำหรับการคมนาคมขนส่งที่เชื่อมเส้นทางเข้าสู่ท่าอากาศยานประกอบด้วย 5 เส้นทาง ได้แก่ ทิศเหนือ เป็นถนนยกระดับขนาด 8 ช่องจราจร จาก ถนน กรุงเทพ-ชลบุรีสายใหม่ เข้าสู่อาคารผู้โดยสาร ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ เป็นถนนขนาด 6 ช่องจราจร เชื่อมกับทางยกระดับจาก ถนน.ร่มเกล้าและ ถนน.กิ่งแก้ว ทิศใต้ เป็นถนนขนาด 4 ช่องจราจร เชื่อมกับ ถนน.บางนา - ตราด และทางด่วนบูรพาวิถี ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นถนนขนาด 4 ช่องจราจร เชื่อมกับ ถนน อ่อนนุช และทิศตะวันตก เป็นถนนขนาด 4 ช่องจราจร เชื่อมกับ ถนน.กิ่งแก้ว นอกจากนี้ กำลังจะมีรถไฟฟ้า สายพญาไท - มักกะสัน - สุวรรณภูมิ หรือแอร์พอร์ตลิ้งค์ ที่ได้คัดเลือกผู้รับเหมาก่อสร้าง เพื่อก่อสร้างทางเข้าสู่อาคารผู้โดยสาร โดยมีสถานีรถไฟฟ้าใต้อาคารผู้โดยสารเรียบร้อยแล้ว

แลนด์ฯศึกษามลภาวะก่อนซื้อที่ดิน

นพร สุนทรเจริญจิตต์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทได้ทำการศึกษาข้อมูลผลกระทบด้านมลภาวะทางเสียงไว้แล้วตั้งแต่พิจารณาซื้อที่ดิน เพื่อการลงทุนพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยในย่านดังกล่าว และยืนยันว่าทำเลที่บริษัทเข้าไปลงทุนพัฒนาโครงการในย่านสุวรรณภูมิทั้งหมดไม่มีมลภาวะทางด้านเสียง

ปัจจุบันมีโครงการที่อยู่ระหว่างเปิดการขาย 2-3 โครงการ เช่น โครงการนันทวัน สุวรรณภูมิ,โครงการมัณฑนา อ่อนนุช-วงแหวน ซึ่งแต่ละโครงการตั้งอยู่ห่างจากสนามบินสุวรรณภูมิในรัศมี 2-5 กิโลเมตร และในอนาคตมีแผนพัฒนาโครงการใหม่ให้ครบ 3-5 โครงการ โดยแต่ละโครงการจะตั้งอยู่ในรัศมี 2-5 กิโลเมตรจากสนามบินสุวรรณภูมิ

นพร กล่าวว่า บริษัทเห็นชอบในการจัดตั้งนครสุวรรณภูมิออกมาเป็นจังหวัดที่ 77 เพราะจะทำให้ประเทศชาติมีการพัฒนาที่รวดเร็วขึ้นเทียบเท่าประเทศเพื่อนบ้าน แม้ว่าการแยกนครสุวรรณภูมิออกเป็นจังหวัดที่ 77 จะเป็นเพียงแค่แนวคิด แต่หากภาครัฐทำการศึกษาระบบผังเมือง และระบบสาธารณูปโภคในพื้นที่ดังกล่าวและพบว่าถ้ามีความพร้อมเพียงพอที่จะรองรับการขยายตัวของเมืองใหม่ได้ ก็สามารถดำเนินการได้เลย โดยไม่จำเป็นต้องรอทำประชาพิจารณ์

ด้านธีระชน มโนมัยพิบูลย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค จำกัด (มหาชน)กล่าวว่า จากการศึกษาข้อมูลของบริษัทในเบื้องต้นพบว่าหากมีการจัดตั้งนครสุวรรณภูมิเป็นจังหวัดที่ 77 ของไทย ในหลักการจะมีหลักการจัดการคล้ายเคียงกับกรุงเทพฯ ซึ่งที่ผ่านมาสำนักงานเศรษฐกิจการคลังได้ทำการศึกษาและแบ่งรายละเอียดการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ดังกล่าว โดยกำหนดให้เป็นฮับของภูมิภาคเอเชีย ทั้งด้านลอจิสติกส์ คลังสินค้า เขตที่พักอาศัย ศูนย์กลางพาณิชยกรรมขนาดย่อม ธุรกิจโรงแรม ศูนย์การค้าและเอ็นเตอร์เทนเมนท์ และศูนย์รวมอุตสาหกรรมต่างๆ

โดยปัจจุบันบริษัทมีโครงการที่อยู่ระหว่างเปิดการขายในพื้นที่ดังกล่าวประมาณ 3 โครงการ เช่น โครงการเพอร์เฟค เพลส รามคำแหง สุวรรณภูมิ จำนวน 1,584 ยูนิต มูลค่า 2,626 ล้านบาท,โครงการเพอร์เฟค เพลส สุขุมวิท 77-สุวรรณภูมิ จำนวน 780 ยูนิต มูลค่า 4,524 ล้านบาท และโครงการเพอร์เฟค พาร์ค รามคำแหง-สุวรรณภูมิ มูลค่า 772 ล้านบาท ซึ่งจากการศึกษาผลกระทบก่อนการลงทุนพบว่าทั้ง 3 โครงการไม่ได้รับผลกระทบจากมลภาวะทางเสียง


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.