ไพรเวทเลเบลขึ้นทำเนียบสินค้าพรีเมี่ยม


ผู้จัดการรายสัปดาห์(20 ตุลาคม 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

ผลวิจัยชี้เทรนด์ไพรเวทเลเบลเตรียมขยับชั้นสู่ความเป็นพรีเมี่ยม เมื่อร้านค้าปลีกทั่วโลกเตรียมปรับกลยุทธ์เน้นสนองไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคควบคู่กับความคุ้มค่า โดยยุโรปเป็นผู้นำตลาดไพรเวทเลเบล ในขณะที่เอเชียแปซิฟิคยังไม่ประสบความสำเร็จ

เอซีนีลเส็น ได้ทำการสำรวจ The Power of Private Label 2005 Executive News Report โดยมีการเก็บข้อมูลสินค้าไพรเวทเลเบลกว่า 80 รายการจากสินค้า 14 หมวด ใน 38 ประเทศ ซึ่งพบว่าในรอบ 1 ปีสิ้นสุด ณ ไตรมาสแรกของปี 2548 พบว่าสินค้าไพรเวทเลเบลมีมูลค่าการขายคิดเป็นสัดส่วน 17% ของยอดขายทั้งหมดสูงกว่าการสำรวจเมื่อ 2 ปีที่แล้วที่มีสัดส่วนมูลค่าการขาย 15% ในขณะที่อัตราการเติบโตของสินค้าไพรเวทเลเบลมีอัตราการเติบโตสูงถึง 5% ซึ่งมากกว่าตราสินค้าของผู้ผลิตที่มีอัตราการเติบโตเพียง 2% เท่านั้น โดย 2 ใน 3 ของสินค้าที่ทำการสำรวจพบว่าสินค้าไพรเวทเลเบลมียอดขายแซงหน้าตราสินค้าชั้นนำในตลาดเดียวกัน

ยุโรปเจ้าตลาดไพรเวทเลเบล

ทวีปยุโรปถือเป็นผู้นำตลาดไพรเวทเลเบล โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดสูงถึง 17% จาก 17 ประเทศ และมีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 4% ทั้งนี้การสำรวจครั้งก่อนพบว่า 5 ประเทศแรกที่มียอดขายไพรเวทเลเบลสูงสุดล้วนมาจากยุโรปทั้งสิ้น ซึ่งได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์ (มียอดขายไพรเวทเลเบลเป็นสัดส่วน 45%ของยอดขายสินค้าทั้งหมดในประเทศ) เยอรมันนี (30%) อังกฤษ (28%) สเปน (26%) และเบลเยี่ยม (25%) ในขณะที่ตลาดใหม่ (Emerging Market) อย่าง โครเอเชีย สาธารณรัฐเช็ค ฮังการี สโลเวเนีย และแอฟริกาใต้ แม้จะเป็นตลาดที่ขนาดเล็กแต่ก็มีอัตราการเติบโตของไพรเวทเลเบลสูงที่สุดคือ 11% ส่วนเอเชียแปซิฟิคและละตินอเมริกานอกจากจะมีขนาดขอตลาดไพรเวทเลเบลที่เล็กแล้วยังไม่สามารถสร้างการเติบโตแบบดับเบิ้ลได้เหมือนตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) สำหรับอเมริกาเหนือยังคงรักษาสัดส่วนของสินค้าไพรเวทเลเบลไว้ได้ที่ 16% โดยมีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 7%

อาหารแช่เย็นนำไพรเวทเลเบลก้าวสู่ความเป็นพรีเมี่ยม

การสำรวจที่ผ่านมาของเอซีนีลเส็นพบว่าสินค้าประเภทกระดาษ พลาสติก และวัสดุที่ใช้หุ้มห่อ เป็นสินค้าไพรเวทเลเบลที่มีส่วนแบ่งทางการตลาดสูงที่สุดรวมถึงมียอดขายมากกว่าแบรนด์ดังในตลาดระดับเดียวกันด้วย แต่การสำรวจล่าสุดกลับพบว่าสินค้าประเภทอาหารแช่เย็นมีอัตราการเติบโตสูงกว่าสินค้าที่กล่าวมาถึง 3 เท่าตัว โดยอาหารแช่เย็นที่เป็นไพรเวทเลเบลมีการเติบโตถึง 9% ในขณะที่ไพรเวทเลเบลที่เป็นกระดาษ พลาสติก วัสดุหุ้มห่อมีกาเติบโตเพียง 2% เท่านั้น

ความสำเร็จของสินค้าไพรเวทเลเบลที่สามารถรุกเข้าสู่ตลาดอาหารแช่เย็น รวมถึงสินค้าประเภทนม เนย และอาหารปรุงสำเร็จรูป เป็นเครื่องยืนยันถึงทิศทางที่ชัดเจนว่าร้านค้าปลีกทั่วโลกพยายามปรับกลยุทธ์ในการทำไพรเวทเลเบลใหม่จากภาพลักษณ์เดิมที่เน้นขายราคาถูกเพื่อเอาปริมาณมากๆ เปลี่ยนไปสู่การทำให้ไพรเวทเลเบลเป็นสินค้าระดับพรีเมี่ยม ซึ่งการสำรวจพบว่าความแตกต่างด้านราคาของสินค้าไพรเวทเลเบลประเภทอาหารแช่เย็นกับสินค้าแบรนด์ดังมีเพียง 16% ในขณะที่ความแตกต่างด้านราคาของไพรเวทเลเบลกับแบรนด์อื่นๆมีจะแตกต่างกันถึง 31% ในสินค้าเกือบทุกประเภท

อาหารปรุงสำเร็จรูปแช่เย็น (Ready-to-eat food) เป็นหนึ่งในเซกเมนต์ย่อยของอาหารแช่เย็น ซึ่งอำนวยความสะดวกให้กับผู้บริโภคทำให้ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น 49% ของยอดขายของสินค้าไพรเวทเลเบลทุกประเภท ซึ่งเกือบจะเท่ากับส่วนแบ่งการตลาดของสินค้าแบรนด์ดังในกลุ่มที่เน้นในเรื่องคุณภาพ ความสดใหม่ และ"ดีต่อสุขภาพ" ซึ่งแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าร้านค้าปลีกสามารถใช้สินค้าไพรเวทเลเบลสร้างความจงรักภักดีต่อตัวสินค้าและร้านค้าให้เกิดขึ้นในใจผู้บริโภคได้

"ร้านค้าปลีกทั่วโลกพยายามใช้กลยุทธ์ในการทำให้สินค้าไพรเวทเลเบลสามารถตอบสนองกับวิถีชีวิตและความคุ้มค่าของผู้บริโภคไม่ว่าจะเป็นตราสินค้าหรือตัวผลิตภัณฑ์เอง แต่ความพยายามของร้านค้าปลีกในเอเชียแปซิฟิคดูจะไม่เป็นผลเนื่องจากปัจจุบันส่วนแบ่งทางการตลาดของสินค้าไพรเวทเลเบลในภูมิภาคนี้ยังอยู่ในระดับที่ต่ำ" จันทิรา ลือสกุล กรรมการผู้จัดการ เอซีนีลเส็น (ประเทศไทย) กล่าว

กลุ่มเป้าหมายของไพรเวทเลเบล มิใช่เพียงผู้ที่มีรายได้ต่ำเท่านั้น

นอกจากการวิเคราะห์เกี่ยวกับตัวสินค้าไพรเวทเลเบลแล้ว เอซีนีลเส็น ยังได้ทำการสำรวจถึงกลุ่มเป้าหมายหลักของสินค้าไพรเวทเลเบล ซึ่งจากการเก็บข้อมูลเกี่ยวกับผู้บริโภคจาก 14 ประเทศ ได้แก่ ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมัน สหราชอาณาจักร อิตาลี สเปน สวิตเซอร์แลนด์ แคนาดา สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย ฮ่องกง สิงค์โปร ชิลี และโคลัมเบีย พบว่าผู้บริโภคเกือบทุกครัวเรือนมีการซื้อสินค้าไพรเวทเลเบล โดย 2 ใน 3 ของกลุ่มตัวอย่างมีการซื้อสินค้าไพรเวทเลเบลถึง 100% แม้แต่ผู้บริโภคในสิงคโปร์ซึ่งมีส่วนแบ่งการตลาดของไพรเวทเลเบลที่เล็กที่สุดก็ยังมีการซื้อสินค้าไพรเวทเลเบลสูงถึง 77% ทั้งนี้การเติบโตของไพรเวทเลเบลในระดับพรีเมี่ยม สามารถขยายฐานลูกค้าไปสู่ผู้บริโภคกลุ่มอื่นๆด้วย เนื่องจากการสำรวจพบว่าผู้ที่มีรายได้ต่ำและครอบครัวขนาดใหญ่ซื้อไพรเวทเลเบลระดับพรีเมี่ยมเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่ไพรเวทเลเบลระดับพรีเมี่ยมกลับมีการเติบโตที่ดี นั่นแสดงให้เห็นว่าไพรเวทเลเบลเริ่มเป็นที่ยอมรับจากผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อสูงกว่า

อย่างไรก็ตามความเข้าใจที่ว่าสินค้าไพรเวทเลเบลเป็นสินค้าสำหรับครอบครัวที่มีงบประมาณจำกัดนั้นแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศทั่วเอเชียแปซิฟิค ถ้าพิจารณาถึงราคาของสินค้าไพรเวทเลเบลทั่วโลก สินค้าเหล่านี้จะมีราคาต่ำกว่าสินค้าของผู้ผลิตถึงสามเท่า แต่ในเอเชียแปซิฟิคมีความแตกต่างเพียง 25% เท่านั้น ซึ่งถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ เช่น ตลาดใหม่ (Emerging Market) (40%) หรือยุโรป (37%)

โอกาสและความสำเร็จของไพรเวทเลเบล

แม้ส่วนแบ่งการตลาดของสินค้าไพรเวทเลเบลทั่วโลกจะมีเพียง 17% แต่ในความเป็นจริงบางตลาดมีสัดส่วนที่สูงกว่ามาก เช่น สวิตเซอร์แลนด์มีส่วนแบ่งไพรเวทเลเบลสูงถึง 45% และตลาดอื่นๆก็มีโอกาสอีกมาก

การที่ร้านค้าปลีกจะสามารถสร้างไพรเวทเลเบลให้ประสบความสำเร็จได้หรือไม่นั้น ส่วนหนึ่งก็ขึ้นอยู่กับทัศนคติของผู้บริโภคที่มีต่อแบรนด์ ทั้งนี้จากการศึกษาเกี่ยวกับตัวผู้บริโภคในช่วงกลางปีที่ผ่านมาพบว่า 2 ใน 3 ของผู้บริโภค "เห็นด้วย" และ "เห็นด้วยอย่างยิ่ง" กับคำกล่าวทีว่า "สินค้าไพรเวทเลเบลเป็นทางเลือกที่ดีเหนือตราสินค้าอื่นๆ" ดังนั้นจึงเป็นคำตอบได้อย่างดีว่าไพรเวทเลเบลเป็นสินค้าที่มีโอกาสประสบความสำเร็จได้ไม่ยากนัก


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.