"วัฒนา"แก้โจทย์บ้านเอื้อฯช้า ระดมพลผู้รับเหมา100รายรับหลักเกณฑ์ใหม่


ผู้จัดการรายวัน(20 ตุลาคม 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

"วัฒนา เมืองสุข" ถกผู้รับเหมาในโครงการบ้านเอื้ออาทรวันนี้ ( 20 ) แจงหลักเกณฑ์รับงานบ้านเอื้ออาทร หลังผู้รับเหมาจำนวนไม่น้อยเบี้ยวสัญญา ชี้การวางหนังสือค้ำประกัน 5% เพื่อสร้างหลักประกันให้แก่กคช.และผู้จองสิทธิ์ในโครงการ รวมถึงการล็อตที่ดินก่อนขึ้นโครงการ ยอมรับต้องหามืออาชีพเข้ามา

ตามนโยบายการเสริมสร้างความมั่นคงให้แก่ประชาชน โดยการผลักดันโครงการบ้านเอื้ออาทร ซึ่งถือเป็นแนวทางของการสร้างความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้แก่ประชาชน โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยให้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง ซึ่งแนวคิดดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงที่นายกรัฐมนตรี ได้เดิมทางไปเยือนประเทศรัสเซีย และเห็นโครงการของรัฐบาลรัสเซียที่สร้างที่อยู่อาศัยให้แก่ประชาชน จึงได้นำแนวคิดดังกล่าวมาประยุกต์ให้เกิดประโยชน์กับประชาชนคนไทย โดยการเคหะแห่งชาติ(กคช.) เป็นองค์กรหลัก ในการสร้างที่อยู่อาศัยภายใต้ชื่อโครงการ"บ้านเอื้ออาทร " ซึ่งได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2546 โดยกำหนดให้ภายใน 5 ปี ต้องมีการส่งมอบบ้านให้แก่ผู้ที่ได้สิทธิ จากการจับสลากในโครงการถึงปี 2551 จำนวน 600,000 หน่วย

นางชวนพิศ ฉายเหมือนวงศ์ ผู้ว่าฯกคช. เปิดเผยว่าในช่วงที่ผ่านมา กคช.ได้พยายามที่จะเข้าไปช่วยเหลือผู้รับเหมาโครงการบ้านเอื้ออาทร เพื่อให้ผู้ประกอบการมีความคล่องตัวมากขึ้น อาทิ การเจรจากับผู้ผลิตวัสดุก่อสร้างต่างๆ เพื่อคงราคาวัสดุไม่ให้ปรับตัวสูงขึ้น ขณะเดียวกันได้ปรับวิธีการก่อสร้างบ้านเอื้ออาทร โดยให้ผู้รับเหมารายใหญ่เข้ามารับงานเพื่อก่อสร้างบ้านเอื้ออาทรจำนวนมาก และรวมถึงให้ผู้รับเหมารายย่อยเข้ามารับงานในโครงการเขตต่างจังหวัด ใช้วิธีการก่อสร้างแบบเทิร์นคีย์ โดยบริษัทที่รับงานบ้านเอื้ออาทร ได้เปิดจองบ้าน(พรีเซลส์) ก่อนที่จะจับฉลากการได้สิทธิ์ และค่อยดำเนินการก่อสร้างเพื่อขายโครงการต่อให้แก่กคช.

แต่ระบบและวิธีการดังกล่าว เริ่มส่งผลกระทบต่อการสร้างบ้านเอื้ออาทร เนื่องจากมีปัญหาการเบี้ยวสัญญาก่อสร้างของผู้รับเหมาก่อสร้างรายย่อย ทั้งในกทม.และต่างจังหวัด ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าจะมีประมาณ 30,000 หน่วย หรือประมาณ 20 โครงการ จากจำนวนที่มีการอนุมัติไปทั้งหมด 70,000 หน่วย ทั้งนี้ เพื่อเป็นการป้องกันปัญหาเกี่ยวกับการก่อสร้าง รวมถึงไม่ทำให้ประชาชนที่จองสิทธิ์ในโครงการบ้านเอื้ออาทรเกิดความสับสน จึงได้ออกมาตรการใหม่ คือ ผู้รับเหมาใหม่ที่จะเข้ามารับงาน จะต้องวางหนังสือค้ำประกัน 5% ของมูลค่างาน เพื่อแก้ไขปัญหาการไม่ปฎิบัติตามสัญญา ซึ่งหนังสือค้ำประกันจะให้ไถ่คืนเมื่อสามารถส่งมอบงานแล้วเสร็จ

" กคช.เข้าใจและเห็นใจบริษัทรับเหมาที่เข้ามารับงาน ซึ่งเท่าที่ประเมินแล้วคาดว่าน่าจะเกิดจากปัญหา ไม่สามารถจัดหาที่ดินได้ วัสดุก่อสร้างมีราคาที่สูงขึ้นมาก หรือเจ้าของที่ดินที่ผู้รับเหมาตรงกันไว้ไม่ยินยอมที่จะขาย หรือบางผู้รับเหมามีปัญหาเรื่องการเงิน อีกทั้งที่พรีเซลส์ไปและโครงการชะลอ ประชาชนก็ตำหนิกคช. ซึ่งจากนี้ไปเราพยายามที่จะหาบริษัทที่มีความเป็นมืออาชีพเข้ามา โดยการหาที่ดินและล็อตที่ดินไว้ก่อน เพื่อลดปัญหาในอนาคต แต่นั่นหมายความว่าผู้รับเหมารายนั้นจะต้องมีฐานะการเงินที่ดี ต้องมีการกำหนดแผนงานที่ชัดเจน ซึ่งจากนี้ไปการสร้างบ้านเอื้ออาทรจะเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรมมากขึ้น "นางชวนพิศกล่าว

ปัจจุบันกคช.มีการอนุมัติให้เซ็นสัญญาก่อสร้างโครงการไปแล้ว 170,000 หน่วย จากจำนวนทั้งหมด 600,000 หน่วย และตั้งแต่เริ่มดำเนินการในปี 46 จนถึงปัจจุบัน กคช.มีการเปิดให้ประชาชนจองสิทธิ์บ้านเอื้ออาทรรวม 15 ครั้ง จองสิทธิ์ 555,522 ราย จากจำนวนโครงการที่เปิดให้จองทั้งสิ้น 109 โครงการ คิดเป็นจำนวน 102,173 หน่วย และมีผู้ทำสัญญาไปแล้ว 90,182 ราย โดยในเดือนส.ค.ที่ผ่านมา สามารถส่งมอบให้แก่ผู้ที่ได้สิทธิ์ไปแล้ว 8,193 หน่วย

อย่างไรก็ตาม ในวันนี้( 20 ต.ค.) ในเวลา 14.00 น. นายวัฒนา เมืองสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้เรียกผู้ประกอบการโครงการบ้านเอื้ออาทรประมาณเกือบ 100 ราย เข้ารับฟังนโยบายการกำหนดแนวทางใหม่ ในการนำเสนอโครงการบ้านเอื้ออาทร รวมถึงทางผู้บริหารของกคช.จะชี้แจงรายละเอียดและแนวทางในการนำเสนอโครงการ


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.