เงินเฟ้อพุ่งเขย่าเศรษฐกิจ ธปท.อัดยาแรงขึ้นดอกเบี้ย0.50%


ผู้จัดการรายวัน(20 ตุลาคม 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

แบงก์ชาติกระชากดอกเบี้ยนโยบายขึ้นอีก 0.50% ติดกันเป็นครั้งที่ 2 ดันเท่ากับดอกเบี้ยสหรัฐฯ 3.75% เหตุต้องไล่สกัดเงินเฟ้อให้อยู่ในกรอบไม่เกินขีดอันตรายที่ 3.5% และหวังดึงอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงเป็นบวก ย้ำดอกเบี้ยอยู่ในทิศทางขาขึ้น "หม่อมอุ๋ย" มั่นใจเงินเฟ้อไตรมาส 4 ไม่ถึง 7% แม้เดือนตุลาคมจะทะยานถึง 6% เชื่อจะทยอยปรับตัวลดลง นักเศรษฐศาสตร์คาดแบงก์ชาติขยับอีก 0.25% แบงก์ทิ้งท้ายในการประชุมก่อนสิ้นปีนี้ ขณะที่ คลัง เตรียมใช้นโยบายการเงินดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจในปีหน้า

นายบัณฑิต นิจถาวร รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงผลการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ว่า ที่ประชุมมีมติให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตลาดซื้อคืนพันธบัตรระยะ 14 วัน(อาร์/พี) อีก 0.50% ต่อปี เป็น 3.75% ต่อปี จากเดิมที่อยู่ในระดับ 3.25% โดยมีผลทันที ซึ่งเป็นการปรับขึ้นในระดับ 0.50% ติดต่อกันเป็นครั้งที่ 2 จากการประชุมในครั้งที่แล้ว

ทั้งนี้ กนง. เห็นว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่อง และปัจจัยลบเริ่มคลี่คลาย แต่อัตราเงินเฟ้อมีโอกาสที่จะเร่งตัวมีมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2548 ซึ่งล่าสุดอัตราเงิน เฟ้อทั่วไปในเดือนตุลาคมขยายตัวในระดับ 6% และมีแนวโน้มที่อัตรา เงินเฟ้อพื้นฐานในปีหน้าจะขยายตัวสูงกว่า 3.5% ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดของ ธปท. ดังนั้น อัตราดอกเบี้ยนโยบายจึงควรอยู่ในทิศ ทางขาขึ้นต่อไปเพื่อช่วยรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจ "คณะกรรมการฯ เชื่อว่าการปรับขึ้นอาร์/พี 0.50% ทั้ง 2 ครั้งที่ผ่านมา จะช่วยดูแลแรงกดดันด้าน อัตราเงินเฟ้อที่คาดว่าจะเร่งตัวสูงในไตรมาส 4 ของปีนี้ได้ดีขึ้น และเชื่อว่าในช่วงไตรมาส 1 และไตรมาส 2 ของปีหน้าเงินเฟ้อจะค่อยๆ ปรับตัวลดลง แต่ขึ้นอยู่กับระดับราคาน้ำมันเป็นสำคัญด้วย"

จากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งละ 0.50% ติดต่อกัน 2 ครั้ง เป็นการส่งสัญญาณให้ภาค เอกชนเชื่อมั่นว่า ธปท.มีความมั่นใจที่จะดูแลไม่ให้อัตราเงินเฟ้อสูงกว่าที่ควรจะเป็น และทำให้การขยาย ตัวของเศรษฐกิจไทยขยายตัวต่อเนื่องไปได้ รวมทั้งเพื่อให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงในประเทศอยู่ในระดับที่เหมาะสมต่อการดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตาม การส่งผ่านจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายสู่ตลาดการเงินจริงอาจจะต้องใช้เวลา 6-8 ไตรมาส ธปท.จึงต้องมองล่วงหน้าในการดูแลนโยบาย การเงินของประเทศ โดยมองว่าจากส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย และต่างประเทศในขณะนี้ อาจจะส่งผลให้เกิดการไหลเข้าออกของเงินทุนต่างชาติ และการเก็งกำไรอัตราแลกเปลี่ยนบ้าง แต่เป็นจำนวนน้อยมาก ซึ่งไม่มีผลต่อการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศ และ ธปท.ได้วางมาตรการรองรับปัญหาดังกล่าวไว้แล้ว

ขณะเดียวกัน คณะกรรมการประเมินว่าการปรับขึ้นจะไม่ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจ และประชาชนที่กำลังผ่อนชำระที่อยู่อาศัย ซึ่งเป็นการปรับขึ้นในเวลาที่เหมาะสมแล้วเนื่องจากเสถียรภาพภายในประเทศปรับตัวดีขึ้นตามการนำเข้าที่ชะลอลง ขณะที่การส่งออกเร่งตัวขึ้นส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดปรับตัวดีขึ้นตั้งแต่เดือนกรกฎาคมเป็นต้นมา ประกอบกับผลผลิตทางการเกษตรเริ่มฟื้นตัวทำให้เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยมีความสามารถที่จะขยายตัวได้ต่อไปจากแนวโน้มการส่งออกและการลงทุนทั้งของภาครัฐและภาคเอกชน

ขณะที่นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กล่าวภายหลังการประชุม ว่า กนง.ให้ความสำคัญเรื่องอัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวสูงขึ้น เพื่อกำหนดทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ขณะที่ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2 ขยายตัวถึง 4.4% สูงกว่าประมาณการที่ธปท.คาดการณ์ไว้

"การปล่อยลอยตัวราคาน้ำมันดีเซลเป็นสาเหตุ หลักที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น ซึ่งครั้งนี้สูงขึ้นทั้งที่ อัตราเงินเฟ้อทั่วไป และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ดังนั้นการที่อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูงทำให้แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยยังอยู่ในขาขึ้น ซึ่งดอกเบี้ยยังปรับขึ้นได้ เพราะอัตราดอกเบี้ยของไทยในตอนนี้ยังต่ำกว่าหลายๆ ประเทศในโลก" นายจักรมณฑ์ กล่าว ผู้ว่าฯธปท.มั่นใจเงินเฟ้อ Q4 ไม่ถึง 7%

ม.ร.ว. ปรีดิยาธร เทวกุล ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า อัตราเงินเฟ้อจะเร่งตัวสูงขึ้นมากในช่วงไตรมาสที่ 4 ปีนี้เท่านั้น ซึ่งมีโอกาสที่จะเพิ่มขึ้นมากกว่า 6% จากที่ปัจจุบันอัตราเงินเฟ้อทั่วไปได้ปรับขึ้นมาอยู่ที่ 6% แล้ว แต่มั่นใจว่าจะไม่แตะที่ระดับ 7% เนื่องจาก ธปท. ได้ดำเนินนโยบายการเงินในทิศทางขาขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดย กนง.ได้ตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.50% ถึง 2 ครั้งติดต่อกันเพื่อสกัดการเร่ง ตัวของอัตราเงินเฟ้อดังกล่าว ทั้งนี้คาดว่าอัตราเงิน เฟ้อจะค่อยๆปรับลดลงหลังไตรมาสที่ 4 เป็นต้นไป

"อัตราเงินเฟ้อสูงแค่ไตรมาสที่ 4 นี้เท่านั้น ตอนนี้มัน 6% กว่าๆ แล้ว แต่การที่คณะกรรมการฯเขาขึ้น อัตราดอกเบี้ยนโยบายขนาดนี้ก็เชื่อว่าเงินเฟ้อไม่น่าจะถึง 7% และหลังจากไตรมาส 4 ไปแล้ว อัตราเงิน เฟ้อก็คงเป็นขาลง" ผู้ว่าการ ธปท. กล่าว

กรุงไทยทำกำไรในตลาดอาร์/พี

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย นโยบายของธปท. เป็นนโยบายของทางการที่จะดูแล เงินเฟ้อ รวมทั้งภาวะเศรษฐกิจโดยรวม ส่วนอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝากของธนาคารพาณิชย์นั้น ต้องขึ้นอยู่กับสภาพคล่องและการบริหารเงินของธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่ง

ส่วนธนาคารกรุงไทยนั้น ขณะนี้ยังมีสภาพคล่องเหลืออยู่อีกเป็นจำนวนมาก จึงไม่จำเป็นที่จะต้อง ปรับขึ้นดอกเบี้ย แต่หากธนาคารพาณิชย์อื่นปรับขึ้น ธนาคารอาจจะต้องปรับขึ้นตาม เพื่อรักษาฐานลูกค้าไว้

นายอภิศักดิ์ กล่าวว่า จากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธปท. ทำให้ธนาคารมีรายได้จาก ส่วนต่างดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น เนื่องจากธนาคารถือเป็นผู้ปล่อยกู้รายใหญ่ของตลาดอาร์/พีและอินเตอร์แบงก์ ดังนั้น ธปท.ปรับขึ้นดอกเบี้ยในแต่ละครั้งถือว่าเป็นรายได้ของธนาคารที่เพิ่มขึ้นจากการลงทุนในตลาดอาร์/พี คาด ธปท. ขยับก่อนสิ้นปีอีก 0.25%

นางสาวอุสรา วิไลพิชญ์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด ประเทศไทย กล่าวว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ ธปท.เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความกังวลเกี่ยวกับอัตราเงินเฟ้อ โดยเฉพาะ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่อยู่ใกล้เคียงกับเป้าหมายของทางการ และยังเป็นการรักษาเสถียรภาพของค่าเงินบาท เนื่องจากธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด คงจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น การปรับ ขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธปท.ครั้งนี้ ทำให้อัตราดอกเบี้ย ของไทยเท่ากับดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ทันที

สำหรับการประชุม กนง. ครั้งสุดท้ายในเดือน ธันวาคมปีนี้ คาดว่า ธปท.จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย อีก 0.25% ทำให้อัตราดอกเบี้ยอาร์/พี ขยับขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 4.00% ส่วนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์น่าจะมีการทยอยปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะสภาพคล่องในระบบเริ่มทยอยหายไป จากนโยบายดูดซับสภาพคล่องของทางการ บวกกับการบริหารต้นทุนดอกเบี้ยเงินฝากไว้คงที่ เพราะมอง ว่าอนาคตดอกเบี้ยในช่วงขาขึ้นจึงต้องหาเงินฝากระยะยาวเพื่อรักษาอัตราดอกเบี้ยคงที่เอาไว้

ไทยธนาคารขึ้นดบ.กู้-ฝาก0.25-0.50%

ด้านธนาคารไทยธนาคาร ได้ประกาศปรับอัตรา ดอกเบี้ยเงินฝากประจำขึ้น 0.25-0.50% โดยเงินฝากประจำ 3 เดือน ปรับเป็น 2.00-2.25% จากเดิมที่อยู่ 1.50-2.25% เงินฝากประจำ 6 เดือน ปรับเป็น 2.25-2.50% จาก 2.00-2.50% เงินฝากประจำ 12 เดือน ปรับเป็น 2.50-2.75% จาก 2.25-2.75% เงินฝากประจำ 24 เดือน 3.25-3.50% จาก 2.75-3.25% และเงินฝาก ประจำ 36 เดือน 3.50-3.75% จาก 3.25-3.75% โดยมีผลตั้งแต่วันนี้ (20 ต.ค.) เป็นต้นไป

พร้อมกันนี้ ธนาคารได้ปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ 0.25% ทำให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี (MLR) อยู่ที่ระดับ 6.50% จากเดิม 6.25% อัตราดอกเบี้ยเงินกู้เบิกเกินบัญชี (MOR) ปรับเป็น 6.75% จากเดิม 6.50% และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อย (MRR) 7.00 % จากเดิม 6.75% ธ.ก.ส.เสนอบอร์ดชี้ขาดสิ้นเดือนนี้

ด้านนายธีรพงษ์ ตั้งธีระสุนันท์ ผู้จัดการธนา-คารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า ภายในสิ้นเดือนนี้ ธ.ก.ส.จะเสนอให้ที่ประชุม คณะกรรมการพิจารณาปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ จากก่อนหน้านี้ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก ส่งผลให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น รวมทั้งสถาบันการเงินอื่นได้มีการปรับขึ้นหมดแล้วทั้งดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝาก

"เราไม่อยากขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพราะลูกค้าของ เราก็เกษตรกร แต่การขึ้นดอกเบี้ยจะคำนึงถึงผลกระทบของลูกค้าด้วย แต่ภาวะในปัจจุบันดอกเบี้ยมีแนวโน้มสูงขึ้น ทำให้ต้องมีการพิจารณาปรับขึ้น แต่จะเป็นอัตราใดนั้น ต้องนำเข้าหารือกันในบอร์ดก่อน" นายธีรพงษ์ กล่าว ใช้นโยบายการเงินผลักดันศก.

นายทนง พิทยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการ คลัง กล่าวภายหลังการประชุมผู้บริหารระดับสูงกระทรวงการคลัง ว่า ในปี 2549 นโยบายการเงินจะมีส่วนสำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจ เพราะในภาวะที่ระบบเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะปกติสภาพคล่องไม่ล้นตลาด นโยบายการเงินของธปท.จะมีอิทธิพลในการสร้างดุลยภาพทางเศรษฐกิจให้ขับเคลื่อนไปตามความสามารถของประเทศ โดยจะส่งผลต่อปริมาณเงินที่อยู่ในตลาด อัตราดอกเบี้ย การออม และการบริโภค ซึ่งหากธปท. สามารถดำเนินการจนเกิดผลสำเร็จ จะส่งผลให้ผลประกอบการของประเทศในปี 2549 มีตัวเลขที่ดีขึ้น

สำหรับแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนั้น นายทนง กล่าวว่า เป็นหน้าที่ของธปท. ที่จะดูแลให้เหมาะสม เพื่อให้ระบบเศรษฐกิจมีดุลยภาพและมีเสถียรภาพ ซึ่งการปรับขึ้นหรือลงของอัตราดอกเบี้ย จะต้องขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคณะกรรมการกำกับดูแลนโยบายการเงิน ขณะที่สถาบันการเงินเอง ควรจะมีการปรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากให้อยู่ในระดับใกล้เคียงกับอัตราการขยายตัวของเงินเฟ้อพื้นฐาน เพราะจะทำให้ประชาชนหันมาออมเงินกันมากขึ้น เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในการออมในอนาคต

นายทนง กล่าวเพิ่มเติมถึงความเสี่ยงของภาวะ เศรษฐกิจไทย ในปี 2549 ว่า สิ่งที่ไม่สามารถควบคุม ได้ก็คือ ราคาน้ำมัน ซึ่งหากมีความผันผวนมากขึ้นก็จะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ แต่สิ่งที่สำคัญก็คือจะต้องมีการกำกับดูแลระดับอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.