|

ประสิทธิ์พัฒนาแตกพาร์1บาท ไทยเอนจินฯดึงบิ๊กอีเอ็มซีฟื้นหุ้น
ผู้จัดการรายวัน(19 ตุลาคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
"ประสิทธิ์พัฒนา" แปลงพาร์จาก 10 เหลือ 4 บาท ก่อนแตกพาร์จาก 4 เป็น 1 บาท ระบุสิ้นไตรมาส 2/48 ส่วนผู้ถือหุ้นเหลือติดลบ 948 ล้านบาท พร้อมศึกษาการทำ Share Swap ก่อนเสนอ บอร์ด ด้าน "ไทยเอนจิน เมนูแฟ็คเจอริ่ง" แก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการ หันดึงบิ๊กอีเอ็มซี "สุทธิศักดิ์ โล่ห์สวัสดิ์" เข้าถือหุ้น
นายไกรวิน ศรีไกรวิน กรรมการ บริษัทประสิทธิ์พัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ PYT (โรงพยาบาลพญาไท) กล่าวถึงความคืบหน้าการปรับปรุงผลการดำเนิน งานและการดำเนินการฟื้นฟูกิจการของบริษัท ช่วงวันที่ 1 เม.ย. ถึง 30 ก.ย. 48
ทั้งนี้ บริษัทได้ดำเนินการลด ทุนจดทะเบียนชำระแล้วของบริษัทและเปลี่ยนแปลงมูลค่าหุ้นที่ตราไว้ โดยลดทุนจดทะเบียนจากเดิม 4,330,118,800 บาท เป็น 1,732,047,520 บาท โดยการลดมูลค่าที่ตราไว้จากเดิมหุ้นละ 10 บาท เหลือเป็นหุ้นละ 4 บาท ซึ่งทำให้บริษัทลดทุนจดทะเบียนไป 2,598,071,280 บาท และนำไปล้างขาดทุนสะสมจากทั้งหมดจำนวน 2,777,802,227 บาท ณ วันที่ 31 ธ.ค. 47 ทำให้บริษัทคงเหลือขาดทุนสะสมจำนวน 179,730,947 บาท
นอกจากนี้บริษัทได้เปลี่ยน แปลงมูลค่าหุ้นที่ตราไว้จากเดิม 4 บาท เป็น 1 บาท โดยกระจายหุ้นจากเดิม 1 หุ้นเดิมเป็น 4 หุ้นใหม่ เพื่อเตรียมความพร้อมเมื่อหุ้นสามารถกลับเข้ามาเทรดในหมวดปกติได้ และเป็นการเพิ่มสภาพคล่องให้กับการซื้อขาย โดย ได้มีการแจ้งต่อกระทรวงพาณิชย์เรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 1 ก.ย. 48 ที่ผ่านมา
นายไกรวิน กล่าวอีกว่า บริษัทฯได้ดำเนินการลดทุนจดทะเบียนและทุนชำระแล้วในบริษัทย่อย คือ บริษัทโรงพยาบาล พญาไท 2 จำกัด และบริษัท โรงพยาบาลพญาไท 3 จำกัด เพื่อ ล้างขาดทุนสะสม และจะทำให้ พญาไท 2 และพญาไท 3 สามารถ จ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นได้เร็วกว่ากำหนด
สำหรับ ส่วนของผู้ถือหุ้นของ บริษัท ณ วันที่ 30 มิ.ย.48 บริษัทขาดทุนสะสมเกินทุนจำนวน 948 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงวันที่ 31 ธ.ค. 47 บริษัทขาดทุนสะสมเกินทุนจำนวน 1,127 ล้านบาท
นอกจากนี้บริษัทอยู่ระหว่างการศึกษาขั้นตอนและวิธีการเกี่ยวกับการทำ Share Swap ร่วม กับที่ปรึกษาทางการเงินและที่ปรึกษาทางด้านกฎหมาย เพื่อนำเสนอคณะกรรมการบริษัทต่อไป
ด้านรายงานข่าวจากตลาด หลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) แจ้งว่าบริษัท ไทยเอนจิน เมนูแฟ็คเจอริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ TEM ได้รายงานความคืบหน้า แผนฟื้นฟูกิจการว่า ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างขั้นตอนการยกหนี้ที่เหลือบางส่วน และการนำหน่วยธุรกิจดำเนินงานเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์อีกครั้ง โดยขณะนี้บริษัทได้ผู้ร่วมลงทุนรายใหม่ได้แล้ว คือ บริษัท เอส.เอ.เอ็ม.ซี แอ็ดไวโซรี่ จำกัด โดยนายสุทธิศักดิ์ โล่ห์สวัสดิ์ ดังนั้นผู้บริหารแผนจึงได้จัดทำคำร้องเสนอขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการ
ทั้งนี้ เพื่อรองรับการร่วมทุนของผู้ลงทุนรายใหม่นำเสนอต่อเจ้าหน้าที่พิทักษ์ทรัพย์เมื่อวันที่ 16 พ.ค.48 และเมื่อวันที่ 4 ส.ค. 48 ที่ประชุมเจ้าหนี้มีมติเห็นชอบด้วยกับข้อเสนอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการ และศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบด้วยกับข้อเสนอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการเมื่อวันที่ 28 ก.ย. 48 ซึ่งผู้บริหารแผนจะรีบดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการที่ได้รับแก้ไขแล้วโดยเร็วที่สุด เพื่อให้บริษัทสามารถกลับมาดำเนินธุรกิจได้อย่างมีศักยภาพต่อไป
สำหรับแผนงานในอนาคตบริษัทฯ มีเป้าหมายในการเป็นผู้ผลิตเครื่องยนต์ดีเซลต้นกำลังที่มีความหลากหลายสามารถเลือก ใช้งานได้ตามความต้องการ บริษัทฯ มีโรงงานประกอบที่มีสมรรถนะพร้อมที่จะผลิตและพัฒนาสินค้าเพื่อสนองต่อความ ต้องการของตลาดได้ ดังนี้
1. เครื่องยนต์ดีเซลแบบสูบเดียวกำลังแรงม้า 13 แรงม้า และ 15 แรงม้า ซึ่งเป็นเครื่องยนต์ขนาด ใหญ่ เป็นที่นิยมของเกษตรกรในปัจจุบันนี้ 2. เครื่องยนต์เบนซิน ราคาเหมาะสมคุณภาพดีและประหยัดน้ำมัน แต่ราคาต่ำกว่าคู่แข่งขัน คาดว่าจะเริ่มผลิตได้ในปี 2549 ปริมาณผลิตไม่น้อยกว่าปีละ 30,000 เครื่อง
อย่างไรก็ตาม การดำเนินงาน ของบริษัทยังคงเป็นไปอย่างต่อเนื่อง แต่บริษัทปรับนโยบายการ ดำเนินงานใหม่ เพื่อให้รองรับการเสนอขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการ และรักษาระดับเงินทุน หมุนเวียนของกิจการให้สามารถ ดำรงอยู่ได้ ดังนั้น ในครึ่งปีแรกของปี 2548 บริษัทฯ จัดจำหน่ายเครื่องยนต์ดีเซลได้จำนวน 1,352 เครื่อง เป็นเงินรวม 32.90 ล้านบาท
ทั้งนี้นายสุทธิศักดิ์ โล่ห์สวัสดิ์ เป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นใหญ่ใน บริษัท อีเอ็มซี จำกัด (มหาชน) และบริษัท ซิโน-ไทย รีสอร์ซเซส ดีเวลลอปเมนท์
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|