MFCฝันเป็นบลจ.ระดับภูมิภาค ส่งกองทุนใหม่ควบการหาพันธมิตร


ผู้จัดการรายวัน(19 ตุลาคม 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

เอ็มเอฟซีฟิตจัด ตั้งเป้าดันผลตอบแทนกองทุนในพอร์ตอยู่เหนือเกณฑ์มาตรฐานทั้งหมด 100% พร้อมเดินหน้าจับมือพันธมิตร บลจ.ต่างประเทศ ใช้เป็นเกณฑ์อ้างอิงเปรียบเทียบผลตอบแทนกองทุนอีกทาง หวังดันเอ็มเอฟซีให้เป็นบลจ.ระดับภูมิภาค รองรับการแข่งขันหลังเปิดเสรีทางการเงิน เผยจ่อคิวส่งกองทุนใหม่ๆ ควบคู่กับการแสวงหาพันธมิตรอีกเพียบ

นายพิชิต อัคราทิตย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ผลตอบแทนเฉลี่ยจาก การลงทุนสำหรับกองทุนภายใต้การบริหารของเอ็มเอฟซีทั้งหมด ปัจจุบันให้ผลตอบแทนสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานประมาณ 60-70% ของกองทุนทั้งหมด โดยในส่วนที่เหลืออีก 30-40% นั้นยังเป็น อัตราส่วนกองทุนที่ให้ผลตอบแทนต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานอยู่ ซึ่งในปีหน้า เชื่อว่าอาจจะมีศักยภาพพอที่จะดันผลตอบแทนที่ยังต่ำอยู่ขึ้นมาเหนือ เกณฑ์มาตรฐานได้ทั้งหมด 100% ซึ่งคงต้องอาศัยความพยายามเป็นอย่างมาก แต่อย่างไรก็ตาม ต้อง เพิ่มสัดส่วนให้ได้อย่างน้อย 75% ของกองทุนทั้งหมดหรือสูงกว่าอุตสาหกรรม

โดยในอนาคต บริษัทมีแผนที่จะนำผลตอบแทนกองทุนของบริษัทจัดการกองทุนในต่างประเทศที่เป็นพันธมิตรระหว่างกัน เป็นเกณฑ์มาตรฐานในการเปรียบเทียบผลตอบแทนกองทุนของเอ็มเอฟซีอีกด้วย ทั้งนี้ เพื่อดัน บลจ.เอ็มเอฟซีให้เป็น บลจ.ระดับภูมิภาค และเพื่อเตรียมความ พร้อมในการรองรับการแข่งขันที่จะมีคู่แข่งต่างประเทศเข้ามาในตลาดมากขึ้น จากการเปิดเสรีทาง การเงิน นอกเหนือจากการแข่งขันที่เรามีอยู่แล้วสำหรับตลาดต่างประเทศ

"ปัจจุบันการแข่งขันในตลาดต่างประเทศ เรา ทำอยู่แล้ว ซึ่งในเมื่อมีคู่แข่งที่เข้ามาหาเรามากขึ้น เราก็ต้องเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการแข่งขัน ซึ่ง ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า เราเชื่อว่าจะสามารถสร้างความแข็งแกร่งในด้านการบริหารจัดการกองทุนได้ พอสมควร ทั้งในเรื่องข้อมูลที่เรามีเท่าๆกันหรือมากกว่าเขา มีวิธีการบริหารพอร์ต การใช้ฟันด์ แมเนเจอร์ รวมถึงเทคโนโลยีที่ทันสมัยเทียบกับต่างประเทศได้ แต่เรายังไม่มีโอกาสได้แสดงให้เขา เห็นเท่านั้น" นายพิชิตกล่าว

นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนที่จะหาพันธมิตรใหม่ให้มากขึ้นกว่าในปัจจุบันที่อยู่ประมาณ 10 ราย ซึ่งเป็นพันธมิตรเดิมอยู่แล้ว จากกองทุนประเภทคันทรี่ฟันด์จำนวน 7 กองและกองทุนที่ไปลงทุนต่างประเทศ (FIF) อีก 2 กองทุน ทั้งนี้ ในการหาพันธมิตรใหม่นั้น บริษัทมีแผนที่จัดตั้งกองทุน FIF อีกจำนวน 3 กองทุนในปีนี้ ซึ่งจะทำให้มีพันธมิตรใหม่เพิ่มขึ้นมาอีก โดยในอนาคตก็จะมีการจัดตั้งกองทุนและหาพันธมิตรใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง

ส่วนพอร์ตการบริหารกองทุนสำรองเลี้ยงชีพและกองทุนส่วนบุคคลนั้น ในส่วนของกองทุนส่วนบุคคล ล่าสุดได้มีการลงนามในการบริหารจัดการให้กับสภากาชาดไทย โดยมีมูลค่าประมาณ 5,000 ล้านบาท ขณะที่กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ก็มีพอร์ตของการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เข้ามาอีก 4,000 ล้านบาท

สำหรับ บลจ.เอ็มเอฟซีนั้น มีแผนที่จะจัดตั้งกองทุนในรูปแบบใหม่ออกมาอีกหลายกองทุน เช่น กองทุนเพื่อสังคม (Social Responaibility Investment Fund : SRI) ที่จะระดมทุนในปีหน้า โดยกองทุนดังกล่าวจะใช้ชื่อว่า กองทุน MFC Environmental And Social Responaibility Investment Fund หรือ MSRI ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 1,000 ล้านบาท โดยจะเน้นการลงทุนใน หุ้นเป็นหลัก รวมถึงตราสารหนี้ด้วย ซึ่งหลัก-ทรัพย์ที่จะเข้าไปลงทุนนั้น จะเลือกอุตสาหกรรมที่ ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสังคมหรือสร้างความเสียหายให้แก่สิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ ยังมีกองทุนที่จะเข้าไปลงทุนในโครงการเมกะโปรเจกต์อย่างกองทุนไทยแลนด์ อินฟราสตรัคเจอร์ฟันด์ (Thailand Inflastructure Fund) มูลค่าโครงการ 1.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็น กองทุนประเภทคันทรี่ฟันด์ที่ระดมทุนจากต่างประเทศ โดยจะเน้นการระดมทุนในประเทศแถบตะวันออกกลางเป็นหลัก รวมถึงประเทศในแถบยุโรปด้วย นอกจากนั้น ยังมีแผนจัดตั้งกองทุนแมทชิ่งฟันด์ ซึ่งเป็นการระดมเม็ดเงินจากนักลงทุน ไทยผสมกับนักลงทุนต่างชาติ โดยมีนโยบายลงทุนในโครงการเมกะโปรเจกต์เช่นเดียวกัน


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.