"โรบินสัน"เทรดอีกครั้ง เจ้าหนีคืนอำนาจซีอาร์ซี


ผู้จัดการรายวัน(19 พฤศจิกายน 2545)



กลับสู่หน้าหลัก

"โรบินสัน"กลับมาเทรดอีกครั้ง 26 พ.ย.นี้ หลังผ่าน แผนฟื้นฟู เจ้าหนี้กันหุ้น 21% ให้ "ซีอาร์ซี" ซื้อคืนเพื่อเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อีกครั้งในราคาตลาดบวกส่วนลด เผยรัฐบาลล้มพ.ร.บ.ค้าปลีกหันใช้กฎกระทรวงแทน เชื่อส่งผลดีต่อภาพรวม เพราะแก้ไขกฎระเบียบ ได้ง่ายกว่า พร้อมศึกษาพื้นที่กทม.-ตจว. ขยายสาขาใหม่

ศ.ดร.กนก วงษ์ตระหง่าน ประธานบริหารสายปฏิบัติการและกรรม การผู้จัดการใหญ่ บริษัทห้างสรรพสินค้าโรบินสัน จำกัด (มหาชน) เปิด เผยว่าบริษัทได้ร่วมมือกับบริษัทโรบินสัน แพลนเนอร์ จำกัด ในฐานะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการของห้างสรรพสินค้าโรบินสัน โดยมีความพร้อม ที่จะนำหุ้นห้างสรรพสินค้าโรบินสันกลับมาซื้อขายในหมวดพาณิชย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยอีกครั้งในวันที่ 26 พ.ย.นี้ โดยตลาดหลักทรัพย์ฯเปิดให้หุ้นของบริษัทซื้อขายได้อย่างเสรี โดยไม่กำหนดราคา สูงสุดหรือต่ำสุด

ทั้งนี้ เป็นไปตามระเบียบข้อบังคับของตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ได้ระบุให้ห้างสรรพสินค้าโรบินสันต้องดำเนินการตามข้อกำหนดของตลาด หลักทรัพย์ฯอย่างครบถ้วน จึงสามารถเข้ามาซื้อขายหุ้นได้อีกครั้ง ซึ่งข้อ กำหนดของตลาดหลักทรัพย์ฯประกอบด้วย มีส่วนของผู้ถือหุ้นเป็นบวก มีผลกำไรสุทธิจากการดำเนินงานในไตรมาสที่ผ่านมา มีความคืบหน้าใน การฟื้นฟูกิจการอย่างน้อย 50% ตามที่กำหนดไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการ

นายยรรยง ตันติวิรมานนท์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ บริษัทเฟอร์เรียร์ ฮอดจ์สัน จำกัด ในฐานะตัวแทนเจ้าหนี้ของห้างสรรพสินค้าโรบินสัน ในบริษัทโรบินสัน แพลนเนอร์ จำกัด ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากศาลให้เป็น ผู้ทำแผนและผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการเปิดเผยว่าเมื่อ วันที่ 30 ตุลาคมที่ผ่านมา ห้างสรรพสินค้าโรบินสันได้เพิ่มทุนจดทะเบียนจากเดิม 148 ล้านหุ้นเป็น 1,480 ล้านหุ้น ตามเป้าหมายที่ระบุในแผนฟื้นฟูกิจการ โดย การเพิ่มทุนจดทะเบียนดังกล่าวเป็นขั้นตอนหลัก ขั้นตอนหนึ่งของแผนฟื้นฟูกิจการที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อ ปรับโครงสร้างหนี้การเงินที่ไม่มีหลักประกันเป็นจำนวนเงินประมาณ 20,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นหนี้ก่อน เข้าฟื้นฟูกิจการ โดยจะแปลงหนี้การเงินที่ไม่มีหลักประกันส่วนหนึ่งเป็นทุน

หลังการเพิ่มทุนจดทะเบียนตามข้อกำหนดที่ระบุไว้ในแผนฟื้นฟู ห้างสรรพสินค้าโรบินสันได้ลดทุนจดทะเบียนลง 25% เพื่อปรับลดผลขาดทุนสะสม โดยหนี้ส่วนที่เหลือได้รับการปลดหนี้ ส่งผลให้หนี้ไม่มีหลักประกันซึ่งเดิมอยู่ในสกุลเงินเหรียญสหรัฐและสกุลเงินเยนเป็นส่วนใหญ่ถูกแปลงเป็นเงินบาทและมูลหนี้ทั้งหมดลดลงเหลือเพียง 3,700 ล้านบาท ถือว่าขั้นตอนการฟื้นฟูกิจการของห้างสรรพสินค้าโรบินสันดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว

โครงสร้างผู้ถือหุ้นใหม่ของห้างสรรพสินค้าโรบินสันขณะนี้ประกอบไปด้วย เจ้าหนี้ 60% บริษัทเซ็นทรัลรีเทล คอร์ปอเรชั่น (ซีอาร์ซี) หรือผู้ถือหุ้นใหญ่โรบินสัน 30% ผู้บริหาร 5% และบุคคลอื่นๆ 5%

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของหุ้นที่เจ้าหนี้ถืออยู่ 60% นั้น เจ้าหนี้ได้กันไว้ 21% เพื่อให้ซีอาร์ซีซื้อหุ้นคืนตามเงื่อนไขที่หากบริหารงานจนทำให้โรบินสันมียอดขายและกำไรโตได้ตามเป้าหมาย ก็สามารถซื้อหุ้นคืนได้ ซึ่งเงื่อนไขนี้จะครบกำหนดในไตรมาส 3 ปี 2546 โดยเจ้าหนี้จะขายให้ในราคาตลาดบวกส่วนลด หากซีอาร์ซีซื้อหุ้นคืนตามสิทธิที่ได้รับจากเจ้าหนี้ทั้งหมดก็จะกลับมาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 51% ในห้างสรรพสินค้าโรบินสันอีกครั้ง

กฎกระทรวงแก้ง่ายกว่าพ.ร.บ.

ศ.ดร.กนก กล่าวต่อว่า ปัจจุบันภาวะค้าปลีกไทยแตกต่างจากช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาอย่างเห็นได้ชัด โดยเปลี่ยนแปลงในแนวทางที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้บริโภคมากขึ้น ซึ่งทิศทางการพัฒนาธุรกิจค้าปลีก ที่มีอยู่ขณะนี้เป็นเรื่องดี ทั้งนี้ การยกเลิกพ.ร.บ.ค้าปลีกที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศยกเลิกไปแล้ว โดยจะนำกฎกระทรวงมาปรับใช้แทนนั้น ข้อดีคือในภาวะการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในภายหน้า หากจำเป็นต้องแก้ไขกฎระเบียบ ตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น กฎกระทรวงจะแก้ไขได้ง่าย กว่าพ.ร.บ.

ทั้งนี้สาระสำคัญของการใช้กฎกระทรวงมาควบ คุมธุรกิจค้าปลีกที่อาจะส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการได้ คือ เรื่องกำหนดโซนนิ่งการขยายสาขา,ระยะ เวลาเปิด-ปิด และขั้นตอนการขออนุญาตเปิดดำเนิน ธุรกิจ

สำหรับภาพรวมธุรกิจค้าปลีกช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ค้าปลีกรูปแบบดิสเคานต์สโตร์ได้ขยายสาขา ในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง มีจำนวนกว่า 200 แห่ง ครองส่วนแบ่งการตลาดค้าปลีก 42% ในแง่ของมูลค่า ยอดขายจำนวน 300,000 ล้านบาทในปีนี้ แต่สังเกตได้ว่ายอดขายสาขาเก่าของดิสเคานต์สโตร์ไม่ขยายตัวเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับห้างสรรพสินค้าที่ไม่มีการขยายสาขาเพิ่ม โดยครองส่วนแบ่งตลาด 32% แต่พบว่ายอดขายสาขาเก่าของห้างสรรพสินค้าทุกแห่งขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สำหรับส่วนแบ่งการตลาดของค้าปลีกที่เหลือประกอบด้วย ซูเปอร์มาร์เก็ต 8% คอนวีเนียนสโตร์ 11% และค้าส่ง 7% ศึกษาพื้นที่ขยายสาขาใหม่

ศ.ดร.กนกกล่าวต่อว่า หลังจากหุ้นโรบินสันกลับเข้าไปซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์อีกครั้งในวันที่ 26 พ.ย.นี้ รูปแบบการบริหารงานก็จะเป็นไปตามกระบวนการแผนฟื้นฟูที่กำหนดไว้ ซึ่งจะทยอยชำระหนี้คืนเจ้าหนี้ถึงปี 2548 โดยผลประกอบการของ โรบินสันในช่วง 5 ไตรมาสที่ผ่านมาประกอบธุรกิจและมีกำไรต่อเนื่อง โดย 3 ไตรมาสของปีนี้ทำยอดขายได้ 5,525 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ทำได้ 5,456 ล้านบาท โดยรายได้ของโรบินสัน มาจากยอดขาย 89% ค่าเช่า 8% และรายได้อื่นๆ 3% ในปีหน้าคาดการณ์ว่าจีดีพี ประเทศจะขยายตัวในระดับ 3-4% ซึ่งโรบินสันจะเติบโตสูงกว่าจีดีพี ประเทศ แน่นอน

นอกจากนี้บริษัทได้เตรียมศึกษาพื้นที่ทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด เพื่อกลับมาขยายสาขาใหม่ อีกครั้ง ซึ่งรูปแบบการขยายสาขาจะเป็นลักษณะเช่าพื้นที่ เพื่อลดการลงทุนในสาขาใหม่ๆ ให้ต่ำลง ปัจจุบัน โรบินสันมีสาขาทั้งหมด 18 แห่ง แบ่งเป็นกรุงเทพฯ 9 แห่ง ต่างจังหวัด 9 แห่ง ถือเป็นห้างสรรพสินค้าที่มีจำนวนสาขามากที่สุดในประเทศไทย



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.