พูลวรลักษณ์หนังเรื่องเก่าในโรงใหม่


นิตยสารผู้จัดการ( กันยายน 2537)



กลับสู่หน้าหลัก

วิสูตร และ วิชัย พูลวรลักษณ์ วันนี้ได้เปิดมิติใหม่ของการบริหารงานดรงภาพยนตร์ยุคที่สามที่เรียกว่าระบบมัลติเพล็กซ์ โรงภาพยนตร์ที่ไม่ใช่เพียงธุรกิจในครอบครัวอีกต่อไป แต่เป็นการระดมเทคโนโลยีและทุนจากต่างชาติร่วมพันล้านบาท เพื่อปลุกตลาดของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ที่เก่าแก่ร่วมครึ่งศตวรรษ ให้คึกคักอีกครั้งหนึ่ง

ทุกค่ายไม่ว่าจะเป็น มงคลฟิล์ม ไฟว์สตาร์ เอเพ็กซ์ และนนทนันท์ ต่างระดมทุนครั้งใหญ่ เพื่อเข้าร่วมกระบวนการเปลี่ยนแปลงแห่งยุคที่สามของวงการโรงภาพยนตร์ไทย

หนึ่งในจำนวนผู้ที่รับคำท้าจาก 2 นักธุรกิจหนุ่มตระกูลพูลวรลักษณ์ ก็คือ จำเริญ พูลวรลักษณ์ ผู้เป็นอาและเคยร่วมก่อตั้งบริษัทกับพ่อของวิสูตรและวิชัยมาแล้ว มาครั้งนี้จำเริญให้วิชา เป็นผู้ถือธงลงสนามแข่งขันตระกูลพูลวรลักษณ์กับ 30 ปีที่เคยร่วมมือกันในรุ่นพ่อ มาวันนี้ในรุ่นลูกแม้ไม่แตกแต่ก็ไม่ประสาน

บิลล์ คลินตัน ประธานาธิบดี สหรัฐฯ นั้นมีฐานคะแนนเสียงส่วนหนึ่งเป็นนักธุรกิจในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ นโยบายในการสนับสนุนอุตสาหกรรมภาพบนตร์สหรัฐฯ จึงเป็นนโยบายชิ้นแรกๆ ของเขา เช่น การต่อรองเพื่อให้รัฐบาลหลายๆ ประเทศ รวมทั้งรัฐบาลไทย ให้การควบคุมในเรื่องของลิขสิทธิ์วิดีโอเทปภาพยนตร์ รวมทั้งการต่อรองเรื่องการลดภาษีนำเข้าภาพยนตร์จากสหรัฐฯ

จนกระทั่งในปี 2536 คระกรรมการพิกัดอัตราภาษีศุลกากรมีมติ ให้ลดภาษีนำเข้าฟิล์มภาพยนตร์ที่ถ่ายทำแล้วในต่างประเทศ จากอัตราเดิมเมตรละ 30 บาทเหลือเมตรละ 10 บาทต่อเรื่อง ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้ว ภาพยนตร์ความยาว 2 ชั่วโมง จะมีความยาวของฟิล์มประมาณ 3,000 เมตร จึงต้องเสียภาษีเรื่องละประมาณ 90,000 บาท เมื่อลดภาษีแล้วบริษัทที่นำเข้าจะเสียภาษีเพียง 30,000 บาทต่อเรื่องเท่านั้น

นอกจากนี้แล้วกระบวนการวิดีโอที่ละเมิดลิขสิทธิ์ก็ทำได้ยากขึ้น ทำให้ลูกค้าที่เคยมีวิดีโอเป็นสินค้าทดแทนการชมภาพยนตร์ เริ่มจะขาดแคลนสินค้า ในทางกลับกันภาพยนตร์ต่างประเทศกลับมีเข้ามาฉายในจำนวนที่มากขึ้น เพราะภาษีที่ถูกลงพฤติกรรมของคนที่ชอบดูภาพยนตร์เริ่มมีแนวโน้มที่จะเข้าโรงภาพยนตร์มากกว่าร้านเช่าวิดีโอ

สถิติของจำนวนโรงภาพยนตร์ในรอบ 1 ปีที่เพิ่มขึ้น ร่วม 100 โรง น่าจะยืนยันได้เป็นอย่างดีถึงการกลับมาอีกครั้งของธุรกิจโรงภาพยนตร์

ปัจจุบันภาพยนตร์ที่นำเข้าจากต่างประเทศรวมทั้ง ยุโรป สหรัฐ และฮ่องกง มีประมาณ 200 ถึง 300 เรื่อง เมื่อพิจารณาอัตราการเติบโตของตลาดแล้ว แนวโน้มมีอัตราที่สูงขึ้น กล่าวคือ ในปี 2536 มีอัตราการชมภาพยนตร์ของคนไทย 1.9 เรื่องต่อคนต่อปี ปี 2537 มีอัตราการเข้าชม 2.3 เรื่องต่อคนต่อปี และคาดว่าน่าจะเพิ่มเป็น 3.5 เรื่องต่อคนต่อปีภายในสิ้นปี 2538 นี้ แต่ก็ยังนับว่ามีจำนวนน้อยมากเมื่อเทียบกับต่างประเทศ เช่น ฮ่องกง มีผู้ชมมากถึง 12 เรื่องต่อคนต่อปี คนในวงการเชื่อว่าตลาดปี 2537 จะมีอัตราที่โตขึ้นประมาณ 20%

กลุ่มธุรกิจที่นำเข้าภาพยนตร์จากต่างประเทศก็มีแนวโน้มที่จะนำเข้าเพิ่มมากขึ้น กลุ่มบริษัทผู้สร้างภาพยนตร์ ถึงแม้จะหยุดการสร้างมานานร่วม 10 ปี อย่างสหมงคลฟิล์มก็หันกลับมาสร้างใหม่อีกครั้ง ที่น่าสนใจมากไปกว่านั้นก็คือการลงทุนที่สูงถึงพันล้านบาท นับเป็นการลงทุนที่สูงที่สุดในประวัติศาสตร์การสร้างโรงภาพยนตร์เมืองไทย

ย้อนกลับไปเมื่อ 61 ปีก่อน เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2476 นั้นคือ วันที่เมืองไทยมีโรงภาพยนตร์ติดแอร์แห่งแรกของประเทศ ในชื่อ ศาลาเฉลิมกรุง โดยรัชกาลที่ 7 ทรงมอบเป็นของขวัญแด่ประชาชนในโอกาสฉลองกรุงครบ 150 ปี เฉลิมกรุงในยุคนั้น นับเป็นโรงมหรสพที่ทันสมัยที่สุดในเอเซีย

โดยโครงสร้างทางธุรกิจของอุตสาหกรรมภาพยนตร์แล้วก็เหมือนกับการให้บริการอื่นๆ คือ มีผู้สร้างภาพยนตร์ (Producer) ผู้จัดจำหน่าย (Distributor) และ ผู้บริหารโรงภาพยนตร์ (Exhibitor)

การทำธุรกิจนั้นไม่ว่า ผู้สร้างจะเป็นบริษัทไทยหรือต่างประเทศ จะถูกติดต่อขอซื้อโดยผู้จัดจำหน่ายหรือผู้นำเข้าภาพยนตร์ ราคาเท่าใดก็แล้วแต่จะตกลงกัน โดยผู้นำเข้าต้องเสียภาษีเองหลังจากนั้นจะต้องมาลงทุนพริ้นฟิล์มเพิ่มตามจำนวนโรงภาพยนตร์ที่ไปติดต่อขอฉาย ชุดละประมาณ 30,000 บาท ถ้าจะฉาย 10 โรงก็ต้องลงทุนประมาณ 300,000 บาท นั่นคือความเสี่ยงของผู้จัดจำหน่าย

ส่วนผู้บริหารโรงภาพยนตร์นั้นก็เหมือนร้านค้าที่ต้องรับค่าใช้จ่ายในเรื่องค่าเช่าโรงภาพยนตร์ ในกรณีที่ไม่ใช่เจ้าของที่ ค่าอุปกรณ์ทั้งหมด ค่าไฟ ค่าเงินเดือนพนักงาน ค่าน้ำ และอื่นๆ
การแบ่งผลตอบแทน โดยเฉลี่ยมักจะอยู่ในอัตรา 50% ของรายได้หลังหักอากรแล้ว ระหว่างผู้จัดจำหน่ายและผู้บริหารโรงภาพยนตร์

ในส่วนของผู้สร้างภาพยนตร์ของเมืองไทย ในยุคแรกๆ นั้น มีน้อยมาก ที่เริ่มกันอย่างเป็นทางการก็คือ การถ่ายทำภาพยนตร์จากต่างประเทศในไทยและเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกของไทย คือ ภาพยนตร์เรื่อง นางสุวรรณ

ดังนั้นส่วนมากแล้ว โรงภาพยนตร์ที่ฉายมักจะเป็นการฉายภาพยนตร์จากต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาพยนตร์จากสหรัฐอเมริกา เช่น พาราเมาท์ ยูนิเวอแซล ยูไนเต็ด อาร์ททิสต์ เอ็มจีเอ็ม ฟอกซ์ วอเนอร์ เป็นต้น เป็นกลุ่มผู้จัดจำหน่ายในยุคแรก ซึ่งเข้ามาตั้งตัวแทนในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งต่อมาได้รวมกันแบ่งเป็นสองกลุ่มที่เรียกกันในนามของ บริษัท เมเจอร์ และยูไอพี

การแบ่งผลตอบแทน โดยเฉลี่ยมักจะอยู่ในอัตรา 50% ของรายได้หลังหักอากรแล้ว ระหว่างผู้จัดจำหน่ายและผู้บริหารโรงภาพยนต์

ในส่วนของผู้สร้างภาพยนตร์ของเมืองไทย ในยุคแรกๆ นั้นมีน้อยมาก ที่เริ่มกันอย่างเป็นทางการก็คือ การถ่ายทำภาพยนตร์จากต่างประเทศในไทย และเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกของเมืองไทยคือ ภาพยนตร์เรื่องนางสุวรรณ

ดังนั้นส่วนมากแล้วโรงภาพยนตร์ที่ฉายมักจะเป็นการฉายภาพยนตร์จากต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาพยนตร์จากสหรัฐอเมริกา เช่น พาราเมาท์ ยูนิเวอแซล ยูไนเต็ด อาร์ททิสท์ เอ็มจีเอ็ม ฟอกซ์ วอเนอร์ เป็นต้น เป็นกลุ่มผู้จัดจำหน่ายในยุคแรก ซึ่งเข้ามาตั้งตัวแทนในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งต่อมาได้รวมกันแบ่งเป็นสองกลุ่มที่เรียกกันในนามของบริษัท เมเจอร์ และ ยูไอพี

ในส่วนสุดท้ายคือ ผู้บริหารโรงภาพยนตร์นั้น ได้เริ่มแพร่หลายทั้งในโรงภาพยนตร์ชั้นหนึ่งที่ฉายภาพยนตร์ใหม่ และโรงภาพยนตร์ชั้นสองที่นำภาพยนตร์ที่ฉายแล้วในโรงภาพยนตร์ชั้นหนึ่งมาจัดฉายสองเรื่องควบ โรงภาพยนตร์ในสมัยนั้นเป็นโรงภาพยนตร์ที่สร้างขึ้นอย่างโดดๆ เพื่อเป็นโรงภาพยนตร์เท่านั้น และโดยส่วนใหญ่ก็เป็นโรงเดี่ยว หรือที่เรียกว่าเป็นประเภท Stand Alone

"ผมมาทำงานให้กับบริษัทพาราเมาท์ ตั้งแต่ปี 2489 หลังสงครามโลกครั้งที่สอง เดิมทีโรงภาพยนตร์ชั้นหนึ่ง มีอยู่ที่วังบูรพาเท่านั้นคือ โรงภาพยนตร์ ควีน คิง และแกรนด์ ตระกูลเด่นๆ ที่ทำโรงภาพยนตร์ชั้นหนึ่งในช่วงนั้นก็มี ตระกูลเอี่ยมศุรีย์ และตระกูลตันสัจจา" อวบ ไตลังคะ อดีตผู้จัดการบริษัท ยูไอพี ผู้คร่ำหวอดอยู่ในวงการภาพยนตร์มานานร่วมครึ่งศตวรรษ เล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟัง

สำหรับโรงภาพยนตร์ชั้นสองมีหลายโรง ย่านที่ชุกชุมมากคือ ย่านเยาวราช และราชวงศ์ ที่มีโรงภาพยนตร์อย่าง ศรีราชวงศ์ ศรีเยาวราช ในจำนวนนี้มีโรงภาพยนตร์ ศรีตลาดพลู ตั้งอยู่ในย่านตลาดพลู ฝั่งธนบุรี ที่บริหารโดยตระกูลพูลวรลักษณ์ ซึ่งมีด้วยกัน 4 พี่น้องคือ เจริญ จำเริญ เกษม และจรัล พูลวรลักษณ์

"พ่อผมมาจากเมืองจีน ทั้งพ่อและแม่ผมท่านมีอาชีพทำสวนพูล ตั้งแต่เด็กๆ ผมชอบดูภาพยนตร์ แต่พ่อแม่ก็ไม่มีสตางค์ ค่าตั๋วหนังตอนนั้นราคา 3 บาท 50 สตางค์เป็นราคาต่ำสุด เราก็ไปดูตามงานวัดบ้าง ผมเริ่มต้นการทำงานเป็นลูกจ้างตั้งแต่อายุ 15 ปี ด้วยเงินเดือนๆ ละ 4 บาท ขายกาแฟ ขายผัก ขายถ่าน เริ่มมีร้านกาแฟเป็นของตัวเองตอนอายุ 18 ปี ตอนอายุ 30 เศษได้เข้าหุ้นกับเพื่อนทำโรงภาพยนตร์เฉลิมเกียรติ หลังจากนั้นจึงมาทำโรงภาพยนตร์ศรีตลาดพลูเป็นแห่งแรกของการเริ่มธุรกิจโรงภาพยนตร์" เจริญ พูลวรลักษณ์ พี่ใหญ่ของตระกูลพูลวรลักษณ์เล่าเรื่องราวเริ่มต้นธุรกิจโรงภาพยนตร์ของตระกูลก่อนที่จะขยายไปในจุดต่างๆ ของกรุงเทพ เช่น เมโทร เพชรรามา และแมคเคนน่า เป็นต้น

4 พี่น้องช่วยกันทำธุรกิจจนกระทั่งมีโรงภาพยนตร์ชั้นหนึ่ง คือ เมโทร และ เพชรรามา ที่ถนนเพชรบุรี ภายใต้การบริหารของ "กงสี" หรือ บริษัทโก บราเดอร์ (Co Brother) โดยมีเจริญเป็นประธานบริษัท จำเริญทำหน้าที่ในการบริหาร จึงเป็นสาเหตุให้คนในวงการรู้จักจำเริญมากกว่าพี่น้องคนอื่นๆ ในพูลวรลักษณ์ ส่วนเกษมทำหน้าที่ในการติดต่อซื้อภาพยนตร์ โดยมีจรัลช่วยบริหารงานทั่วไป

คำว่า CO หมายถึง แซ่โกวซึ่งเป็นแซ่ของตระกูล หรือหมายถึง ความร่วมมือ โลโก้ของโก บราเดอร์ จึงเป็นภาพมือ 4 ข้างจับกัน

"โรงที่สองของกงสีเราคือ โรงภาพยนตร์เมโทร เรื่องแรกที่ฉายคือ ซินแบดผู้พิชิต ต่อมาเราก็มีโรงภาพยนตร์เพชรรามา ซึ่งฉายเรื่องแรกคือ เกวียนมหาภัย ในรอบปฐมฤกษ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ได้ทรงเสด็จมาทอดพระเนตรด้วย" เจริญเล่าถึงบรรยากาศการเข้าสู่ธุรกิจโรงภาพยนตร์ชั้นหนึ่งของตระกูลให้ฟัง

ในระยะเวลาเดียวกัน ตระกูลตันสัจจา เป็นผู้บริหารโรงภาพยนตร์เฉลิมไทย และตระกูลอัศวานันท์ หรือ บริษัท นนทนันท์ เป็นผู้บริหารโรงภาพยนตร์กรุงเกษม

ในช่วงเวลานั้นที่โรงภาพยนตร์ชั้นสอง โรงภาพยนตร์นิยมไทย แถวเวิ้งนครเกษม มีผู้จัดการมือใหม่ชื่อ "สมศักดิ์ เตชะรัตนประเสริฐ" ซึ่งต่อมาคนในวงการภาพยนตร์เรียกเขาว่า เสี่ยเจียง แห่งสหมงคลฟิล์ม

"ตอนนั้นผมอายุ 21 เรียนอยู่โรงเรียนไพศาลศิลป์ปีสุดท้าย ผมเป็นเด็กอยู่หน้าโรงภาพยนตร์นิยมไทย บ้านผมอยู่แถวนั้น ก็เลยหาเงินด้วยการให้เช่าหนังสือกับกลุ่มคนดูที่มารอดูภาพยนตร์ขายตั๋วหน้าโรงภาพยนตร์บ้าง คุณอนุสรณ์ ทรัพย์มนู น้องชาย คุณอดิศัย ล่ำซำ มาเป็นเจ้าของโรงภาพยนตร์ เขาเกิดชอบผมและให้ผมเป็นผู้จัดการ ผลเลยไม่ได้เรียนต่อที่พาณิชย์พระนคร เงินเดือนตอนนั้น 600 บาท หน้าที่คือ การเลือกภาพยนตร์และไปเช่าภาพยนตร์ที่ตึกภาพยนตร์วังบูรพา ราคาเรื่องละ 400-700 บาท ช่วงนั้นตั๋วภาพยนตร์ราคา 3 บาท 5 บาท 7 บาท ผมทำรายได้ให้กับเจ้าของโรงจากเดือนละ 80,000-90,000 บาท เป็น 200,000 กว่าบาท" เสี่ยเจียงเล่าถึงงานบริหารโรงภาพยนตร์โรงแรกในชีวิตให้ "ผู้จัดการ" ฟัง

ต่อมาชะตาชีวิตได้นำพาให้เสี่ยเจียงต้องโคจรไปแข่งขันกับตระกูลพูลวรลักษณ์ เมื่อโรงภาพยนตร์นิยมไทย เกิดไฟฟหม้ในปี 2510 เสี่ยเจียงซึ่งเก็บเกี่ยวประสงการณ์พอสมควรพร้อมลูกน้องอีก 10 กว่าชีวิต จึงไปลงทุนขอเช่าโรงภาพยนตร์ชั้นสองที่ตลาดพลูชื่อศรีนครธน ซึ่งอยู่ติดกับโรงภาพยนตร์ศรีตลาดพลูของ โก บราเดอร์

"ผมเกิดปีเดียวกับคุณจำเริญ แต่คนละรอบ เราฟัดกันตรงนั้นอยู่นานพอสมควร แต่ตอนนั้นเขามีเมโทรด้วย สมัยนั้นมีหลายเรื่อยที่ทำเงินอย่างเข่น ภาพยนตร์ของสุรพล สมบัติเจริญ เรื่อง 16 ปีแห่งความหลัง ทำเงินมาก" เสียงเจียงกล่าวกับ "ผู้จัดการ" ถึงการแข่งขันกับตระกูลพูลวรลักษณ์เมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว

การพัฒนาของโรงภาพยนตร์ของไทยดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ในปี 2518-2519 นับเป็นปีที่ธุรกิจประเภทนี้ได้รับความนิยม จนกระทั่งสูงสุดในปี 2521-2522

กงสีโก บราเดอร์ ได้สยายปีกธุรกิจครอบคลุมทั่วกรุงเทพและฝั่งธนบุรี ด้วยจำนวนโรงภาพยนตร์ร่วม 50 โรง จะเห็นว่า โก บราเดอร์นั้นเน้นหนักกับการสร้างโรงภาพยนตร์เป็นหลัก โดยมีสัญญากับผู้จัดจำหน่ายภาพยนตร์จากสหรัฐคือ บริษัทเมเจอร์ และยูไอพี มาช้านาน โดยมีจำเริญ เป็นหลักในการบริหาร จนเป็นที่รู้จักดีกับผู้บริหารของบริษัทตัวแทนกลุ่มนี้

ตระกูลตันสัจจาได้ปักหลักที่ทำเลทองย่านสยามสแคว์ ด้วยโรงภาพยนตร์หลัก 4 แห่งคือ สกาล่า ลิโด้ สยาม และอินทรา และยังครองความยิ่งใหญ่ในเขตนั้นจนกระทั่งทุกวันนี้

นนทนันท์เป็นต้นตำหรับภาพยนตร์จีนตั้งแต่ต้น โดยมีกรุงเกษมเป็นโรงภาพยนตร์หลักและยังมีโรงอื่นๆ ในเครืออีก

ส่วนสมศักดิ์ ซึ่งถูกเรียกขานว่าเสี่ยเจียงเมื่อรุกคืบธุรกิจที่ครบวงจรมากกว่าใครเพื่อน โดยตั้งบริษัท มงคลฟิล์ม เพื่อจัดจำหน่ายภาพยนตร์ทั่วประเทศ และมีบริษัทสหมงคลฟิล์มเป็นบริษัทผู้สร้างภาพยนตร์

"ชื่อมงคลเป็นชื่อของคุณมงคล ตันติวงศ์ เจ้าของโรงภาพยนตร์เฉลิมศิลป์ ผมเคยร่วมลงทุนกับคุณโกวิทย์ลูกชายของเขา ทำโรงภาพยนตร์มงคลรามา เป็นการให้เกียรติพ่อของเพื่อน เมื่อผมตั้งบริษัท มงคลฟิล์ม ผมเริ่มซื้อภาพยนตร์ โดยซื้อจากตระกูลตันสัจจา หลังจากที่เขาฉายโรงภาพยนตร์ชั้นหนึ่ง อย่างเฉลิมไทยเสร็จแล้วเขาก็ขายให้ผมเพื่อไปขายต่อโรงชั้นสองหรือต่างจังหวัด ผมจัดจำหน่ายทั่วประเทศ รวมทั้งภาพยนตร์ฝรั่งเราก็บินไปซื้อกับผู้สร้างเองเลย ซึ่งตอนนั้นเรามีโรงภาพยนตร์ชั้นหนึ่งแล้ว โดยเริ่มที่เพรสซิเด้นท์ สเตลล่า สตาร์ และออสการ์ เมื่อ 20 ปีที่แล้ว" เสี่ยเจียงกล่าวถึงวิธีการทำธุรกิจจัดจำหน่ายภาพยนตร์

สหมงคลฟิล์มมีการสร้างภาพยนตร์ถึงปีละ 24 เรื่อง โดยมีผู้กำกับอาทิเช่น ท่านมุ้ย-หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล เพิ่มพล เชยอรุณ ศุภักษร และเชิด ทรงศรี เป็นต้น ธุรกิจการสร้างภาพยนตร์ที่ประสบความสำเร็จได้ ส่วนหนึ่งมาจากนโยบายของการสนับสนุนภาพยนตร์ไทยอย่างสุดขั้วของรัฐบาลสมัยธานินทร์ กรัยวิเชียร โดยการประกาศขึ้นภาษีการนำเข้าฟิล์มภาพยนตร์ที่ถ่ายทำแล้วจาก 2 บาทต่อเรื่องเป็น 30 บาทต่อเมตรต่อเรื่อง

ในช่วงนั้นภาพยนตร์ส่วนใหญ่จึงเป็นภาพยนตร์ไทยมากกว่าภาพยนตร์ต่างประเทศ คนดูจะมีภาพยนตร์ต่างประเทศให้เลือกดูน้อยมาก ส่วนหนึ่งก็จะฉายภาพยนตร์เก่า จนทำให้ความนิยมที่มีต่อโรงภาพยนตร์ลดน้อยลงไป เท่านั้นยังไม่พอธุรกิจโรงภาพยนตร์ยังถูกกดดันจากเทคโนโลยีวิดีโอเทป ที่มาพร้อมกับกระแสการละเมิดลิขสิทธิ์จนทำให้ธุรกิจไม่ว่าจะเป็นโรงภาพยนตร์หรือการสร้างต้องชะงัก เห็นได้ชัดจากการหยุดขยายจำนวนโรงภาพยนตร์ของทุกค่าย

ในช่วงแห่งความตกต่ำของธุรกิจโรงภาพยนตร์ สำหรับ โก บราเดอร์ แล้วนับว่าเป็นข้อต่อแห่งจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของความร่วมมือทางธุรกิจของตระกูล ที่ส่งผลมาถึงปัจจุบัน เมื่อโรงภาพยนตร์เอ็มจีเอ็มที่ข้างห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์ที่ถนนรามคำแหงนั้นเป็นการบริหารโดย จำเริญ พูลวรลักษณ์แต่เพียงผู้เดียว ไม่ใช่ในนามของ โก บราเดอร์ อีกต่อไป

"ในปี 2527 คุณศุภชัย อัมพุช บิดาของศุภลักษณ์ อัมพุช เจ้าของห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์ เขาเสนอให้พี่ชายผมคือ คุณเจริญ เช่าโรงภาพยนตร์เอ็มจีเอ็มที่เดอะมอลล์รามคำแหง แต่พี่ชายผมไม่เอา เพราะเห็นว่าช่วงนั้น ธุรกิจนี้ตกต่ำค่อนข้างมาก แม้ว่าค่าเช่าจะต่ำเพียง 10,000 บาทต่อเดือน สัญญาเช่า 30 ปี ถ้าเป็นปัจจุบันค่าเช่าต้องประมาณเดือนละ 200,000 บาท เขาถามผม ผมก็เลยรับมาบริหารเอง นับเป็นโรงภาพยนต์คู่แรกที่อยู่นอกกงสีของตระกูลพูลวรลักษณ์" จำเริญ พูลวรลักษณ์ กล่าวกับ ผู้จัดการ ถึงความเป็นมาของการแยกตัวออกมาลงทุนเช่าโรงภาพยนตร์เอง

ความสำเร็จของเอ็มจีเอ็ม อยู่ที่การเป็นโรงภาพยนตร์ที่อยู่ใกล้ห้างสรรพสินค้าซึ่งเป็นธุรกิจที่กำลังบูม แม้กระทั่งวิสรรค์ วิศิลป์ และศรีจันทร์ ซึ่งเป็นลูก 3 คน ใน 5 คน ของจำเริญเอง ยังหันไปสนใจธุรกิจห้างสรรพสินค้ามากกว่าธุรกิจโรงภาพยนตร์ โดยตั้งห้างสรรพสินค้าเวลโกขึ้นมา

แต่ด้วยความที่เป็นคนมองการณ์ไกลของจำเริญ ที่พยายามต่อภาพปริศนาทางธุรกิจ เพื่อหาทางออกให้กับธุรกิจโรงภาพยนตร์ เขาจึงใช้ยุทธวิธีใช้ธุรกิจห้างสรรพสินค้าที่กำลังเติบโตมาช่วยธุรกิจโรงภาพยนตร์ โดยเข้าไปสร้างโรงภาพยนตร์เมเจอร์ ในห้างสรรพสินค้ามาบุญครอง ในห้างสรรพสินค้าของลูกคือ เวลโกทุกสาขา และกระจายไปในห้างสรรพสินค้าอื่นๆ ทั่วไป

จำเริญ พูลวรลักษณ์ จึงได้รับการยอมรับจากคนในวงการว่าเป็นผู้บุกเบิกยุคที่สองของวงการโรงภาพยนตร์เรียกว่ายุคของโรงภาพยนตร์มินิเธียร์เตอร์ ซึ่งเป็นโรงภาพยนตร์ต้นทุนต่ำลงเพราะขนาดเล็ก มีที่นั่งไม่ถึงพันที่นั่ง ส่วนมากมักจะอิงอยู่กับย่านที่มีคนคับคั่งอย่างเช่น ธุรกิจศูนย์การค้า

ไม่เพียงแต่จำเริญเท่านั้น ที่ทำโรงภาพยนตร์ประเภทมินิเธียร์เตอร์ แต่ค่ายอื่นๆ เช่น มงคลฟิล์มของเสี่ยเจียง ก็พ้นจากการเป็นไข้ความซึทเซาของธุรกิจโรงภาพยนตร์ โดยใช้โรงภาพยนตร์มินิเธียร์เตอร์ ประกอบกับความสามารถในการตลาดที่จะหาภาพยนตร์ที่จะเป็นที่นิยมมาฉายในเมืองไทยได้

"ช่วงนั้นเราเจ็บหนักมหาศาลแทบจะต้องลี้ภัย เราเป็นประเภททำอะไรใหญ่ ถ้าได้ก็ได้มาก ถ้าเสียก็จะเจ็บมาก ต่อมาก็มาทำโรงภาพยนตร์ในศูนย์การค้าต่างๆ ประกอบกับเราได้ภาพยนตร์คิงคองภาค 2 โหดเลวดีภาค 2 และแรมโบ้ภาค 2 ธุรกิจเราก็ฟื้นกลับมาก เดี๋ยวนี้มี 40 กว่าโรง" เสี่ยเจียง เล่าถึงความตกต่ำและการกลับมาอีกครั้งของธุรกิจโรงภาพยนตร์

ถ้าเรียกว่ามินิเธียร์เตอร์คือ จุดเริ่มต้นของโรงภาพยนตร์ยุคที่สองแล้ว โรงภาพยนตร์ในเครือของกงสีโก บราเดอร์แทบจะไม่ได้มีส่วนร่วมกับความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เลย อาจจะเป็นเพราะมือบริหารอย่างจำเริญ ออกมาทำธุรกิจของตนเอง จนไม่มีเวลาเข้าไปจัดการโรงภาพยนตร์ของกงสี

ดูเหมือนกับว่า เจริญ เกษม และจรัล จะพอใจกับความเป็นอยู่ของแต่ละคนที่ได้กลายเป็นเศรษฐีมีเงินฝากในธนาคารกินดอกเบี้ยอย่างสบาย มีเวลาว่างก็ทำธุรกิจอื่นบ้างที่นอกเหนือจากการทำโรงภาพยนตร์

เจริญ พูลวรลักษณ์ พี่ใหญ่ของโก บราเดอร์ ก็หันไปทำทางด้านสังคมสงเคราะห์ในหลายทางหลายประเทศ แม้กระทั่งที่เมืองโผวเล้งในประเทศจีนก็ยังมีโรงพยาบาล และรูปปั้นของเจริญนี่ยังไม่รวมโครงการการกุศลต่างๆ ในเมืองไทย

เมื่อพิจารณาในสายรุ่นที่สามของพูลวรลักษณ์ หรือรุ่นลูกของ 4 พี่น้องโก บราเดอร์แล้ว เกือบจะเรียกได้ว่าไม่มีใครสนใจดำเนินธุรกิจโรงภาพยนตร์ต่อจากรุ่นพ่อ ยกเว้นลูกชาย 2 คนของเจริญ นั่นคือ วิสูตร และวิชัย พูลวรลักษณ์

"ถ้าจะพูดถึงคนรุ่นใหม่ในวงการธุรกิจภาพยนตร์ในเมืองไทยในวันนี้ ชื่อแรกที่จะต้องกล่าวถึงก็คือ วิสูตร พูลวรลักษณ์ รวมทั้งคุณวิชัย น้องชายของเขา" อวบ ไตลังคะ ผู้ที่ใช้ชีวิตอยู่ในวงการภาพยนตร์มาตลอดชีวิตการทำงาน กล่าวแสดงถึงความชื่นชมในตัววิสูตร

"คุณวิสูตรเขาศึกษาจริงจัง เขาลงมาคลุก มาทำตั้งแต่ล่างสุดเลย เขารู้เรื่องดี เป็นคนที่น่าสนใจ" เสี่ยเจียง กล่าว

วิสูตรซึ่งเป็นลูกชายของเจริญคนนี้ หลังจากจบการศึกษาจากโรงเรียนสหคุณศึกษา ก็มารับหน้าที่เป็นมือการตลาดของครอบครัว โดยลักษณะแล้ว วิสูตรเป็นคนที่กล้าได้กล้าเสียอยู่พอสมควร กล้าลงทุน จากประสบการณ์ที่คลุกคลีกับธุรกิจโรงภาพยนตร์ตั้งแต่ล่างสุดจนถึงยอดสุดของโครงสร้างการบริหารธุรกิจ

"ผมเคยเป็นเด็กเดินตั๋ว แล้วก็มาทำโฆษณาภาพยนตร์ในครอบครัว ในตำแหน่งผู้จัดการโฆษณา คุณประโยชน์ รัตนชาดา เป็นหัวหน้าผมในตอนนั้นตอนนี้เขาอยู่ที่สหมงคลฟิล์ม เขาเป็นครูของผมทางด้านการทำอาร์ตเวิร์ค ดีไซน์ คุณยุวดี ไทยหิรัญ หลานของดอกดิน เจ้าของบริษัท ยูม่า ก็เคยเป็นพี่เลี้ยงตอนที่ผมมาทำภาพยนตร์ จนมาเป็นผู้อำนวยการสร้าง สำหรับประสบการณ์ทางด้านธุรกิจโรงภาพยนตร์ ผมเคยไปต่างประเทศกับอาเกษม อาคนที่ 3 ไปซื้อภาพยนตร์ต่างประเทศบ่อยๆ ในช่วงปี 2521-2528 นับเป็น 7 ปีแห่งการตักตวงประสบการณ์ที่ดีมากๆ สำหรับผม "วิสูตร เล่าประสบการณ์ของเขาให้ "ผู้จัดการ" ฟัง ก่อนที่จะมาตั้ง ไท เอ็นเตอร์เทนเมนท์ในปี 2528 โดยสร้างภาพยนตร์ที่เป็นที่รู้จักกันมากก็คือ เรื่องฉลุย และซึมน้อยหน่อยกะล่อนมากหน่อย

ส่วนวิชัยผู้น้องจบจากเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ หลังจากที่จบในปี 2527 เขาใช้เวลาศึกษาธุรกิจโรงภาพยนตร์อยู่ 4 ปี ก่อนที่จะร่วมมือกับวิสูตรพี่ชายตั้ง เอนเตอร์เทน เธียเตอร์ เน็ทเวอร์ค ในปี 2531 เพื่อทำธุรกิจโรงภาพยนตร์ โดยมีวิสูตรดูแลเฉพาะโปรแกรมมิ่งและการตลาดแต่ในส่วนของโรงภาพยนตร์จะมีวิชัยเป็นคนดูแล จนกระทั่งปัจจุบันมีโรงภาพยนตร์ 18 โรง ในห้างสรรพสินค้าหลายแห่ง เช่น เมอรี่คิงส์ เซ็นทรัล อิมพีเรียล ดีเซ็มเบอร์ บางลำภู และโรบินสัน

"จุดเริ่มแรกนั้นมาจากความสนใจของพี่ชายผมคือ คุณวิสูตร รักที่จะสร้างภาพยนตร์ไทย จนได้ตั้งบริษัท ไท เอ็นเตอร์เทนเมนท์ แต่พอเขาสร้างภาพยนตร์มาแล้วกลับไม่มีโรงฉายทั้งๆ ที่ ในกงสีของคุณพ่อมีโรงภาพยนตร์ประมาณ 50-60 โรง แต่ว่าเราติดเงื่อนไขสัญญากับผู้นำภาพยนตร์ อย่างเช่น บริษัทเมเจอร์ เราจำเป็นต้องนำภาพยนตร์ไทยที่เราสร้างไปฉายกับโรงภาพยนตร์ในเครือของคนอื่น เช่น ไฟว์สตาร์ ประกอบกับคุณพ่ออยากที่จะให้เราสานต่อมรดกทางความคิดของท่านในการทำธุรกิจโรงภาพยนตร์ต่อไป เราจึงเริ่มที่จะสร้างโรงภาพยนตร์ของเราขึ้นมาในนามของเอ็นเตอร์เทน เธียเตอร์ เน็ทเวอร์ค เริ่มโรงแรกที่เซ็นทรัลลาดพร้าว ในปี 2529 จนกระทั่งเรามี 18 โรงในปัจจุบัน" วิชัย พูลวรลักษณ์กล่าว

นับเป็นความเคลื่อนไหวของพูลวรลักษณ์อีกสายหนึ่งที่เกิดขึ้นในวงการโรงภาพยนตร์ แต่การเคลื่อนไหวครั้งนี้เป็นการแสดงให้เห็นว่าหลังจากปี 2527 เมื่อจำเริญ ออกมาดำเนินการเองอิสระจากกงสีแล้ว ต่อมาปี 2529 โรงภาพยนตร์ของวิชัย และวิสูตรก็เกิดขึ้นอีก ราวกับย้ำว่าบทบาทกงสีนั้นได้ถูกจำกัดอยู่เฉพาะรุ่นของพ่อเท่านั้นไม่ได้สืบทอดถึงรุ่นลูก

ภาพของพูลวรลักษณ์ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจภาพยนตร์วันนี้ ถ้าจะดูให้ชัดจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องแยกออกเป็น 2 สายใหญ่ๆ

สายแรกนั้นคือ สายของจำเริญ พูลวรลักษณ์ ส่วนสายที่สองคือ สายของเจริญ พูลวรลักษณ์

"เราเองก็ต้องการแยกภาพให้ชัดเจนขึ้นระหว่างธุรกิจโรงภาพยนตร์ของตระกูลพูลวรลักษณ์ เราควรแบ่งเป็น 2 ภาพคือ ธุรกิจของอาจำเริญ และธุรกิจของคุณพ่อเจริญ ณ ยุคนี้ ผมไม่อยากเรียกว่ากงสี เพราะมันดูไม่แฟร์สำหรับเรา กงสีนั่นเป็นยุคที่คุณพ่อทำกันมา แต่ปัจจุบันโรงภาพยนตร์ในกงสีหยุดการเพิ่มจำนวนไปแล้ว ในความเป็นจริงหรือการแข่งขันก็แล้วแต่ มันไม่ใช่กงสีเดียวกันอีกต่อไป" วิสูตร กล่าวกับ "ผู้จัดการ"

"ตอนนี้ผมยังไม่ได้วางมือ คอยเป็นที่ปรึกษาให้ลูกๆ พูลวรลักษณ์ก็เป็นเหมือนกับต้นไม้ ตอนนี้เราขยายสาขาแตกกิ่งก้านออกไป น้องชายเขาก็ไปทำอะไรก็เรื่องของเขา ผมก็ไปทำของผม แต่ส่วนที่เป็นกงสียังอยู่ เกษมไปทำอพาร์ทเมนท์ จรัลไปทำสนามกอล์ฟ เราก็ไปมาหาสู่กันเสมอ" เจริญพี่ใหญ่ โก บราเดอร์ กล่าวถึงความสัมพันธ์ของพี่น้องของเขา

"เราถือว่าเป็นการช่วยกันสร้างตลาดมากกว่า เพราะอัตราการเข้าชมภาพยนตร์ของคนไทยยังต่ำมาก ตลาดยังโตได้อีกมาก ทุกอย่างมีการเปลี่ยนแปลงได้ ยุคของลูกมีแนวคิดที่แตกต่างออกไป แต่ผลที่ออกมาคือ สร้างตลาด ต่อไปถ้าธุรกิจมันเอื้อก้นได้มันก็จะกลับมารวมกันใหม่ได้อีก มันอาจจะไม่ใช่คู่แข่งก็ได้" วิชัยกล่าว

ความเคลี่อนไหวในธุรกิจของโรงภาพยนตร์ทั้งในส่วนของจำเริญ และของวิสูตรและวิชัยในนามของบริษัท เอ็นเตอร์เทน เธียรเตอร์ เน็ทเวอร์ค ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งวันที่ 17 มีนาคมที่ผ่านมา 2 นักธุรกิจหนุ่มเชื้อสายของ เจริญ พูลวรลักษณ์ พร้อมกับประสบการณ์ 7 ปีในวงการ ก็ประกาศจังหวะก้าวครั้งสำคัญของวงการ ด้วยการเปิดโรงภาพยนตร์ที่ฟิวเจอร์พาร์ค บางแค จำนวน 10 โรงในที่เดียวกัน พร้อมกับระบบมัลติเพล็กซ์ (Multiplex) อีกทั้งยังมีโครงการต่อเนื่องไปอีกโดยใช้เงินทุนทั้งสิ้นประมาณ 1,200 ล้านบาท

"มัลติเพล็กซ์" นับได้ว่าเป็นการเริ่มต้นของการพัฒนาโรงภาพยนตร์ในยุคที่สาม

มัลติเพล็กซ์เกิดขึ้นในอเมริกาเมื่อ 3-4 ปีที่แล้วคือ ระหว่างปี 2532-2533 ที่ฮอลลีวู้ด ลอสแองเจลลิส นิวยอร์ค หรือแม้กระทั่งในยุโรปเช่น ที่อังกฤษ ระบบนี้เป็นระบบที่รวมโรงภาพยนตร์หลายๆ โรง ไว้ในที่เดียวกัน โดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ จะทำให้สามารถฉายภาพยนตร์เรื่องเดียวได้พร้อมกันครั้งละหลายๆ โรง โดยจะตั้งเวลาห่างกันประมาณ 15-30 นาที เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้มาใช้บริการที่ไม่จำเป็นต้องรอรอบนาน พร้อมทั้งระบบเสียงที่บันทึกเสียงด้วยระบบดิจิตอลอย่างระบบ DTS หรือ SRD (Special Recording Digital) พร้อมทั้งโรงภาพยนตร์ที่ถูกสร้างขึ้นมาด้วยระบบ THK (Tomilinson Holman Experiment) ซึ่งจัดว่าเป็นระบบที่ดีที่สุดระบบหนึ่งของโลก เพื่อให้ผู้ชมเข้าถึงอรรถรสของภาพยนตร์ได้ดีขึ้น อีกทั้งยังเสนอบริการทางด้านอื่นๆ เช่น ร้านอาหาร ร้านคอมพิวเตอร์เกมส์ ร้านหนังสือ และร้านขายของที่ระลึก เพื่อความสะดวกของผู้มาชมภาพยนตร์

การสร้างโรงภาพยนตร์ในระบบ THK นั้นราคาสูงมาก โดยปกติแล้ว โรงภาพยนตร์มินิเธียรเตอร์จะสามารถสร้างได้ในราคา 35- ล้านบาท

"โรงภาพยนตร์ของเราที่บางแค จะราคาสูงกว่าเดิมประมาณ 5 เท่า เพราะเรามีระบบเครื่องเสียงสำหรับภาพยนตร์ที่บันทึกมาในระบบดิจิตอลสเตอริโออย่าง DTS หรือ SRD แต่ THX ที่เราสร้างเพียงโรงเดียวนี้ราคา 3-4 เท่าตัวของโรงภาพยนตร์ที่ดีที่สุดของเราที่นี่ เรียกได้ว่าถ้าจะสร้างโรงหนังในระบบ THX โรงหนึ่งสามารถสร้างโรงภาพยนตร์มินิเธียเตอร์ธรรมดาได้ประมาณ 12-15 โรง ที่แพงมากขึ้นกับการดูดซับเสียง ลำโพงห่างจากกำแพงเท่าไหร่ มุมก้มเงยกี่องศายังต้องคำนวณเลยครับ ทุกอย่างใช้ระบบคอมพิวเตอร์ แม้กระทั่งระบบไฟฟ้าในโรง" วิสูตร กล่าวถึงระบบและการลงทุนในโครงการแรกของเขา

โครงการเต็มรูปแบบที่ท้าทายวงการของวิสูตรและวิชัยนี้คือ การสร้างโรงภาพยนตร์ 46 โรงบนพื้นที่ 4 มุมเมือง ซึ่งเดิมพันด้วยเงินลงทุน 1,200 ล้านบาท

"โครงการทั้ง 4 มุมเมืองของโครงการในศูนย์การค้าฟิวเจอร์พาร์ค บางแค 10 โรง โครงการในศูนย์การค้าซีคอน สแควร์ จำนวน 14 โรง เปิดในเดือนกันยายน โครงการในศูนย์การค้าฟิวเจอร์รังสิต 14 โรง โครงการในแฟชั่น ไอร์แลนด์ที่รามอินทรา 8 โรง รวมแล้วโรงภาพยนตร์ 46 โรงนี้จะใช้เงินลงทุนประมาณ 1,200 ล้านบาท ทุกแห่งจะสร้างเสร็จภายในปี 2538 เป็น 4 โครงการภายใต้การบริหารของบริษัท เอ็นเตอร์เทน โกลเด้นท์ วิลเล็จ (Entertain Golden Villege - EGV)" วิชัย ซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการอีจีวี กล่าวถึงโครงการของเขาที่ร่วมลงทุนกับหุ้นส่วนอีก 2 บริษัทต่างชาติคือ บริษัทโกลเด้นท์ ฮาร์เวสท์ และบริษัท วิลเลจ โรดโชว์

"พาร์ทเนอร์เราเขาเข้ามาทำการศึกษาตลาดเมืองไทยเมื่อ 3 ปีแล้ว เขามีเทคโนโลยีของระบบโรงภาพยนตร์ที่ประสบความสำเร็จมาแล้วในออสเตรเลีย สิงคโปร์และนิวซีแลนด์ แล้วเขาก็เริ่มที่จะลงทุนทำเองที่ซีคอนสแควร์ ในขณะที่เราคุ้นเคยกับตลาดเมืองไทย และรู้จักกันดีกับกลุ่มโรบินสัน ทำให้เราได้พื้นที่เช่าในศูนย์การค้าฟิวเจอร์พาร์ค บางแค และรังสิต ต่างคนต่างก็ยึดสมรภูมิกันคนละที่และมีแนวโน้มว่าจะแข่งกันแน่ เราก็เลยมาคุยกันแล้วลงตัวมาเป็นอีจีวี โดยทางเราลงทุน 50% กับ "ทางเขาคือ อีก 2 บริษัทลงทุน 50%" วิชัยกล่าวเพิ่มเติมถึงความเป็นมาของการร่วมลงทุน

วิลเลจ โรดโชว์ (Villege Roadshow LTD) เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ประเทศออสเตรเลีย ดำเนินงานธุรกิจเอนเตอร์เทนเมนท์อย่างครบวงจรมานานกว่า 30 ปี มีธุรกิจโรงถ่ายภาพยนตร์ สวนสนุก สถานีวิทยุ มีเน็ทเวอร์คที่ใหญ่ที่สุดใน ออสเตรเลีย ทำธุรกิจทางด้าน Multi Screen Cinema Complexes ในออสเตรเลีย 131 โรง ในนิวซีแลนด์มี Multi Screen Cinema Complexes 8 แห่ง 30 โรง และประเทศอื่นๆ ในเอเซีย เช่น สิงคโปร์ ร่วมลงทุนกับ โกลเด้นท์ ฮาร์เวสต์ เปิด Multi Screen Cinema Complexes 10 แห่งที่เมือง Yishun ปัจจุบันเป็น Multiplex ที่ใหญ่ที่สุดในเอเซีย และกำลังสร้างอีก 8 แห่งในเมือง Tiong Bahru

สำหรับโกลเด้นท์ ฮาร์เวสต์ คนไทยจะรู้จักมากกว่า เริ่มจากภาพยนตร์เรื่อง "ไอ้หนุ่มซินตึ้ง" ซึ่งโกลเด้นท์ ฮาร์เวสท์สร้าง โกลเด้นท์ ฮาร์เวสท์เป็นผู้ผลิตภาพยนตร์แห่งฮ่องกง เรย์มอนด์ เชาท์ เป็นผู้ก่อตั้งในปี 2512 ผลิตภาพยนตร์มากว่า 200 เรื่อง ประสบความสำเร็จทั้งในเอเซีย และในสหรัฐฯ

คำถามที่เกิดขึ้นกับคนวงการก็คือ ในการลงทุนสร้างโรงภาพยนตร์ 4 มุมเมือง ของวิสูตรและวิชัยนั้น มีการจัดการในเรื่องของเงินทุนจำนวนมากที่สุดที่เคยมีการลงทุนมาในวงการภาพยนตร์กันอย่างไร

"พ่อฟมใช้เงินดอกเบี้ยจากธนาคารมาตลอด ไม่เคยกู้ธนาคาร เครดิตเราค่อนข้างดี ขณะนี้เราระดมทุนจากธนาคารในและนอกประเทศ ข้อดีอย่างหนึ่งก็คือ พาร์ทเนอร์เรามีความสัมพันธ์ที่ดีกับธนาคารต่างประเทศหลายแห่ง ทางบริษัทวิลเลจ โรดโชว์เอง เขาก็เป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ใน ออสเตรเลีย ดังนั้น เรื่องเงินตอนนี้ไม่ใช่ปัญหาหลัก" วิชัย กล่าว

วิชัยคาดว่า โรงภาพยนตร์ที่ฟิวเจอร์พาร์ค บางแค จะมีผู้ชม 1.8 ล้านคนต่อปี โรงภาพยนตร์ที่ซีคอนสแควร์จะมีผู้ชมประมาณ 2.5 ล้านคนต่อปี โรงภาพยนตร์ที่ฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต จะมีผู้ชมประมาณ 2 ล้านคนต่อปี และโรงภาพยนตร์ที่แฟชั่น ไอร์แลนด์ จะมีผู้ชม 1.4 ล้านคนต่อปี ตามลำดับ

ถ้าเช่นนี้ด้วยการจัดจำหน่ายค่าตั๋วชมภาพยนตร์ในราคา 70 บาทราคาเดียว หลังจากที่โครงการทั้ง 4 สร้างเสร็จสิ้นทั้งหมดในปี 2538 อีจีวีจะมียอดขายตั๋วประมาณ 8.1 ล้านใบ นั่นหมายถึงรายได้ประมาณปีละ 560 ล้านบาท การแบ่งผลประโยชน์กับผู้จัดจำหน่ายภาพยนตร์ โดยเฉลี่ยแล้วเท่ากับคนละเครึ่งของรายได้หลังหักค่าอากรแล้ว ดังนั้นรายได้ที่ตกเป็นของอีจีวี จะประมาณ 250 ล้านบาทต่อปี

รายได้นี้ยังไม่รวมรายได้ที่ได้จากการบริหารงานพื้นที่บริเวณโรงภาพยนตร์ ไม่ว่าจะเป็นร้านหนังสือ ร้านอาหารต่างๆ รวมทั้ง ค่าสื่อโฆษณาในโรงภาพยนตร์

คนในวงการโฆษณาเห็นว่า สื่อโรงภาพยนตร์เป็นสื่อที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ดี แต่มีการล็อกคิวที่ยาว มีเดียจะเข้ายากมาก เป็นสื่อที่สามารถบังคับให้คนดูได้โดยไม่เปลี่ยนไปไหน เหมาะสำหรับสินค้าที่ต้องการเจาะกลุ่มเป้าหมายที่เป็นวัยรุ่น ซึ่งมีสถิติการเข้าชมภาพยนตร์สูงกว่ากลุ่มอื่น

โดยปกติแล้ว การโฆษณาในโรงภาพยนตร์ระยะเวลา 3-6 เดือน คิดในอัตรา 30 วินาที ต่อโรงต่อเดือน 5,000 บาท หรือ 60 วินาที 10000 บาท การรับโฆษณา รับสินค้าได้ประมาณ 10 ตัว ตัวละ 30 วินาที หากลงโฆษณา 10 โรง ใช้เงิน 30,000 ลาท สื่อลงประมาณ 3 เดือน ซึ่งถูกกว่าโทรทัศน์

โรงภาพยนตร์ระบบใหม่ของอีจีวี เพิ่งเปิดได้ไม่ถึง 2 เดือน และยังไม่มีใครทราบว่าอีจีวีจะประสบความสำเร็จหรือไม่ก็ตาม แต่ก็มีเสียงขานรับพร้อมที่จะดำเนินรอยตามจากหลายๆ บริษัท ผู้เป็นเจ้าของ หรือผู้บริหารโรงภาพยนตร์จำนวนมาก

"หลายๆ คนในวงการ เรียกเราว่า เป็นผู้ท้าทายหรือ Challenger เพราะในวงการโรงภาพยนตร์ในเมืองไทยยังไม่เคยมีการปรับตัวครั้งไหนที่ลงทุนกันเป็นพันล้าน ร้อยล้านเหมือนครั้งนี้ ทุกคนตื่นและพร้อมที่จะสู้หมด เราเชื่อว่าในอนาคตโรงใดก็ตามที่เทคโนโลยีไม่ดี มันจะมีอายุของมันเอง การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ นับเป็นประโยชน์กับคนดูในรอบ 50-60 ปีนี้" วิสูตร กล่าวถึงการตื่นตัวจากกลุ่มเจ้าของโรงภาพยนตร์หลายๆ กลุ่ม

เจริญ เอี่ยมพึ่งพร กรรมการผู้จัดการกลุ่มไฟว์สตาร์ เคยกล่าวว่า ถึงเวลาที่โรงภาพยนตร์ยุคเก่าจะปฏิวัติตัวเอง ในปีนี้บริษัทมีแผนการลงทุนสร้างมินิเธียร์เตอร์ เพิ่มอีก 10 โรง งบการลงทุนประมาณ 100 ล้านบาท อีกทั้งมีแผนที่จะปรับปรุงโรงภาพยนตร์เก่าที่มีอยู่แล้ว 30 โรง โดยใช้งบประมาณ 300 ล้านบาท เพื่อสอดคล้องกับระบบเสียง ระบบการถ่ายทำ โดยเฉพาะที่ศูนย์การค้าเดอะมอลล์สาขา บางกะปิ 2 โรงเดอะมอลล์ บางแค 2 โรง เซ็นทรัล บางนา และรามอินทรา แห่งละ 1 โรง นอกจากนี้ยังใช้ระบบการจัดจำหน่ายบัตร และระบบสี เสียงเซนเซอร์ราวน์รอบทิศทาง

ค่ายมงคลฟิล์มของเสี่ยเจียงมีโครงการที่จะสร้างโรงภาพยนตร์ที่มีระบบเสียงที่ทันสมัยมากขึ้น และจากเดิมที่มีการขยายโรงภาพยนตร์แบบกระจายไปในศูนย์การค้าต่างๆ ก็เปลี่ยนมาเป็นรวมกลุ่มโรงภาพยนตร์ร่วม 10 โรงในที่เดียวกัน เริ่มที่รอยัล ซิตี้ อเวนิว พระราม 9 ใช้ชื่อว่า ซีนีม่า มงคลฟิล์ม โรงภาพยนตร์มีระบบดอลบี้ สเตอริโอ จะมีโรงภาพยนตร์ไม่ต่ำกว่า 10 โรง แต่ละโรงใช้งบประมาณ 8-10 ล้านบาท รวมแล้วมงคลฟิล์มจะมีโรงภาพยนตร์ประมาณ 60-70 โรงในปีหน้า

กลุ่มโรงภาพยนตร์โอเอที่มีแมน โชติชวาลา เป็นผู้บริหารโรงภาพยนตร์โรงภาพยนตร์โอเอ เซ็นเตอร์ 1 และ 2 กำลังมรการเตรียมงานต่างๆ ที่เป็นการรองรับตลาดและการแข่งขันในอนาคต แม้ว่ายังไม่มีรูปแบบที่ชัดเจน แต่คงต้องดำเนินการเปลี่ยนแปลง เพราะกลุ่มเป้าหมายคงต้องการความบันเทิงครบทุกรสชาติของการชมภาพยนตร์ แต่ต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งในการเตรียมพร้อม โดยทางบริษัทมีเพียง 3 โรงคือ โรงภาพยนตร์ โอเอ เซ็นเตอร์ 1 และ 2

ล่าสุดเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม ที่ผ่านมา โครงการใหม่ชื่อ เมเจอร์ ซินีเพล็กซ์ ก็ประกาศตัวร่วมขบวนพัฒนาระบบโรงภาพยนตร์ ด้วยคอนเซ็ปว่าเป็นแหล่งซอปปิ้งอารมณ์แห่งแรกของเมืองไทย มูลค่าโครงการนั้น 1,000 ล้านบาท เนื้อที่ 10 ไร่ บริเวณที่เคยเป็นที่ตั้ง ห้างสรรพสินค้าเวลโก ปิ่นเกล้าที่ประสบเหตุไฟไหม้ พื้นที่ 30000 ตารางเมตร เป็นที่ตั้งโรงภาพยนตร์ 8 โรง ขนาด 300-500 ที่นั่ง จำนวน 6 โรง ขนาด 800-1200 ที่นั่ง จำนวน 2 โรง

ที่สำคัญก็คือ เจ้าของโครงการคือ บริษัท เวลแลนด์ ดีเวลล็อปเมนท์ จำกัด ที่มีประธานบริษัทคือ จำเริญ พูลวรลักษณ์ แต่การแถลงข่าวครั้งนี้ ผู้ที่รับหน้าที่หลักกลับไม่ใช่จำเริญ ผู้ที่คร่ำหวอดในวงการนี้มากว่า 30 ปี แต่กลับเป็นวิชา พูลวรลักษณ์ ลูกชายอีกคนของเขา ผู้เป็นกรรมการผู้จัดการ บริษัท เวลแลนด์ ดีเวลล็อปเมนท์ จำกัด

จำเริญมีลูกทั้งหมด 5 คน 3 คนแรก คือ วิสรรค์ วิศิลป์ และศรีจันทร์ บริหารงานห้างสรรพสินค้าเวลโก อีก 2 คนคือ วิเศษกับวิทยา บริหารงานศูนย์การค้าส่งเซฟโก้ ส่วนวิชานั้นทำงานทางด้านอสังหาริมทรัพย์คือ เวลแลนด์ และส่าสุดมาบริหารงานให้กับซินีเพล็กซ์

วิชาผ่านงานการบริหารอสังหาริมทรัพย์มาแล้ว 2 โครงการคือ โครงการเอ็กซ์คลูซีฟ 39 และเวลเพลส เอ็กซ์คลูซีฟ อพาร์ทเมนท์ งานนี้เขาเปลี่ยนโครงการจากที่เคยบริหารงานที่พักอาศัยมาเป็นโรงภาพยนตร์ครบวงจร

"โรงภาพยนตร์ทุกโรงได้รับการออกแบบให้มีความสมบูรณ์ทั้งในระบบภาพและเสียง ระบบเครื่องฉายที่สามารถฉายได้อย่างต่อเนื่องม้วนเดียวตลอดระบบเสียงดิจิตอล ซึ่งเป็นระบบที่ทันสมัยที่สุดในโลก มีเสียงคมชัดเหมือนจริง มีระบบการขายตั๋วทุกๆ 10 นาที เพื่อให้เกิดความสะดวกไม่ต้องรอรอบ ยังมีการจัดฉายภาพยนตร์ตัวอย่างบนวิดีโอ วอลล์ พร้อมทั้งร้านอาหาร ซุปเปอร์มาเก็ต ร้านเทป เลเซอร์ ดิส ซีดี" วิชากล่าว

"เรายังจะทำโครงการเช่นนี้ที่ลาดพร้าว 87 และที่ศรีนครินทร์ เรามีที่เรียบร้อยแล้ว" จำเริญ กล่าวถึงโครงการในอนาคต

โครงการของเวลแลนด์แตกต่างไปจากโครงการของบริษัทอื่นๆ ตรงที่เป็นการลงทุนโดยบริษัท เวลแลนด์ เองทั้งหมด ไม่ใช่เป็นการเช่าที่จากห้างสรรพสินค้า อาจจะเนื่องมาจากพื้นที่ในห้างสรรพสินค้าใหญ่ๆ ที่มีโครงการจะสร้างมีไม่มากคือ ประมาณ 6 โครงการหลัก แต่พื้นที่ก็ถูกจับจองจากบริษัทบริหารโรงภาพยนตร์บริษัทอื่นหมดแล้ว ซึ่ง 4 ใน 6 โครงการนั้น ถูกขอเช่าพื้นที่ไปโดย บริษัท อีจีวี แต่อย่างไรก็ตาม เวลแลนด์ก็มีประสบการณ์ในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ รวมความคิดกับจำเริญ และผู้บริหารบริษัทตัวแทนจำหน่ายภาพยนตร์อย่าง เมเจอร์ และยูไอพี ซึ่งทำธุรกิจกับจำเริญตั้งแต่ต้น เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ จึงน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับธุรกิจโรงภาพยนตร์ของจำเริญ ซึ่งก็ไม่ได้น้อยหน้าไปกว่าบริษัทอื่นๆ เลย

ที่น่าสนใจไปกว่านั้นก็คือ ย่านที่เหมาะสมกับการตั้งโครงการของจำเริญในนามเวลแลนด์ กับห้างสรรพสินค้าที่มีโรงภาพยนตร์ของวิสูตรและวิชัยในนามอีจีวี ก็ไม่ได้ห่างกันมากนัก รวมทั้งโปรแกรมภาพยนตร์ที่จะฉายในโรงภาพยนตร์ของทั้งสองฝ่าย ดูเหมือนว่าเป็นการยากต่อการหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากันอย่างแน่นอน

ยกตัวอย่างที่บางแคในขณะที่ อีจีวี มีโรงภาพยนตร์ในฟิวเจอร์พาร์ค เลยไปหน่อยไม่เกิน 4 ป้ายรถเมล์ซึ่งเป็นที่ตั้งของ เซฟโก้ หนึ่งในธุรกิจของลูกของจำเริญ ก็มีโรงภาพยนตร์ของจำเริญอยู่ด้วย

"หลายๆ โครงการที่บอกว่าเป็นมัลติเพล็กซ์หรือบอกว่าระบบเสียง หรือ ใช้ระบบคอมพิวเตอร์ในการจองหรือซื้อบัตรที่ทันสมัยนั้น ผู้ที่จะใช้ยังไม่เคยมีใครที่มีประสบการณ์มาก่อนยกตัวอย่างเช่น การขายบัตรโดยใช้คอมพิวเตอร์ เราเองก็ไม่ใช่เป็นบริษัทแรกที่ทำในเมืองไทย แต่ที่เชียงใหม่เขาก็มีการทำมาก่อนแล้วแต่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ถ้าเราทำเองก็คงเป็นอย่างนั้น แต่เรามีหุ้นส่วนที่มีประสบการณ์ เราจึงมั่นใจว่าของเราไม่มีปัญหาบางสิ่งบางอย่างถ้าเราดู เราก็อาจจะรู้ แต่พอทำจริงๆ เราอาจจะทำไม่เป็นก็ได้" วิชัยกล่าวถึงโครงการต่างๆ ที่เริ่มนำระบบทันสมัยต่างๆ มาใช้ในโรงภาพยนตร์

"การแข่งขันของอากับหลานก็อาจจะเกิดขึ้นแน่จะมาแตกกันหรือเปล่า เราไม่รู้เขาหรอก จะเป็นเรื่องของศักดิ์ศรีเขามาเกี่ยวข้องหรือเปล่า เขาไม่อยากพูดเพราะว่ามันกินใจกันเพราะต้องมาแข่งกันเองในคนนามสกุลเดียวกัน ทั้งๆ ที่รุ่นพ่อก็ทำธุรกิจด้วยกันมา บางแคก็มาชนกัน ศรีนครินทร์ก็จะมาเจอกันอีก ถ้าเป็นหนังฝรั่งก็คงไม่ต่างกัน ก็น่าสนใจดี" แหล่งข่าวในวงการโรงภาพยนตร์กล่าวกับ "ผู้จัดการ"

การแข่งขันทางธุรกิจระหว่างคน "พูลวรลักษณ์" ที่กำลังเกิดขึ้นและจะเกิดขึ้นต่อไปราวกับย้ำว่า พูลวรลักษณ์วันนี้ แม้ไม่แตกแต่ก็ไม่ประสานอีกต่อไป

ที่น่าจะลองคิดกันต่อก็คือ สถานะภาพของกงสีโก บราเดอร์ วันนี้ดำรงผูกพันกันได้ก็เพราะคนรุ่นเจริญ จำเริญ เกษม และจรัลเท่านั้น ไม่ใช่คนรุ่นหลังอย่าง วิเศษ วิศิลป์ ศรีจันทร์ วิชา วิทยา ซึ่งเป็นลูกของจำเริญ หรือ วรรณี วรรณา วิเชียร วัลลี วิสูตร สุชาดา และวิชัย ซึ่งเป็นลูกของเจริญ

อะไรจะเกิดขึ้นหลังจากที่การบริหารจะต้องผ่านมือไปถึงคนรุ่นลูก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับโรงภาพยนตร์จำนวนร่วม 50 โรงเหล่านั้น

"แนวโน้มการแข่งขันในเรื่องของโรงภาพยนตร์นั้นไม่น่ามีปัญหาอะไร เพราะเป็นเรื่องของเทคโนโลยีที่แต่ละบริษัทสามารถลงทุนให้ทัดเทียมกันได้ อีกทั้งกระจายโรงภาพยนตร์ของตนเองไปในที่ต่างๆ เพื่อบริการลูกค้า แต่ในเรื่องของภาพยนตร์ที่จะฉายนั้นน่าคิดว่า ถ้าบริษัทที่มีโรงภาพยนตร์มากกว่า เกิดยื่นข้อเสนอถึงผู้นำเข้าภาพยนตร์ว่า ถ้าทำธุรกิจด้วยกันก็จะมีโรงภาพยนตร์ทั้งหมดของตนฉายภาพยนตร์ให้ แต่ต้องไม่มีภาพยนตร์เรื่องเดียวกันนี้ฉายในโรงภาพยนตร์ของบริษัทอื่นเรื่องมันก็จะใหญ่ขึ้น และแนวโน้มของบริษัทที่มีจำนวนโรงภาพยนตร์มากกว่าจะได้เปรียบกว่าบริษัทที่มีโรงภาพยนตร์น้อย" แหล่งข่าวในวงการภาพยนตร์ท่านหนึ่งกล่าวแสดงความคิดเห็นกัน "ผู้จัดการ" ซึ่งไม่แน่ว่าแนวโน้มอาจจะเป็นเช่นที่ว่านี้ก็ได้ หากพิจารณาในมุมของผู้จัดจำหน่ายย่อมต้องการที่เสี่ยงต่อการขาดทุนน้อยที่สุด ดังนั้นถ้าข้อเสนอนี้มาจากผู้บริหารโรงภาพยนตร์ที่มีจำนวนโรงภาพยนตร์ที่มากและมีทำเลที่ดี ก็น่าจะเป็นข้อเสนอที่ไม่น่าปฏิเสธ

ไม่ว่าบริษัทไหนจะมียุทธศาสตร์หรือยุทธวิธีในการทำธุรกิจอย่างไร สำหรับอีจีวีนั้น มีเป้าหมายอยู่ที่การเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัยพ์เหมือนอย่างที่ วิชัย พูลวรลักษณ์ กรรมการผู้จัดการเคยกล่าวว่า อีก 3-5ปีข้างหน้า บริษัทจะนำบริษัทอีจีวี เข้าตลาดหลักทรัยพ์ เพื่อระดมเงินสร้างโรงภาพยนตร์มัลติเพล็กซ์ขนาดใหญ่ต่อไปทั้งในกรุงเทพและในต่างจังหวัด

ความคิดนี้ไม่อาจถูกมองข้ามไปได้เลย ไม่ว่าคู่แข่งขันของอีจีวีจะเป็นบริษัทของลุง หรือเป็นบริษัทของเสี่ยคนใดในวงการภาพยนตร์ เพราะทั้งวิสูตร และวิชัย พูลวรลักษณ์ สองพี่น้องคู่นี้เป็นตัวแทนของผู้บริการที่ใช้เทคโนโลย ีและทุนสมัยใหม่ทั้งในและต่างประเทศที่ไม่มีใครทำมาก่อนเลยในวงการภาพยนตร์เมืองไทย



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.