ชาร์ปทุ่ม147ล้านบาทรับลูก BOI ดันไทยสู่ฐานการผลิตเพื่อส่งออก


ผู้จัดการรายวัน(18 ตุลาคม 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

ชาร์ปคอร์ปอเรชั่นประเทศญี่ปุ่นรับลูกนโยบายการส่งเสริมการลงทุนของ BOI ด้วยการทุ่มงบลงทุนเพิ่มกว่า 147 ล้านบาท หวังให้ชาร์ปแมนูแฟคเจอริ่งประเทศไทยเป็น 1 ใน 5 ฐานการผลิต เครื่องถ่ายเอกสารชาร์ปดิจิตอลมัลติฟังก์ชัน เพื่อส่งออกสู่ตลาดโลก เชื่อศักยภาพไทยด้วยการย้ายฐานการผลิตเครื่องถ่ายเอกสารบางรุ่นมาจากประเทศจีน ชี้ไทยเหนือกว่าจีนในแง่ความพร้อมด้านวัตถุดิบ แรงงาน สาธารณูปโภค และนโยบายภาครัฐที่สอดคล้องกับความต้องการของชาร์ป

ตัวเลขความสามารถในการดำเนินงานเต็มขั้นของชาร์ปแมนูแฟคเจอริ่งประเทศไทย (SMTL) แบ่งเป็นเครื่องถ่ายเอกสารขาวดำดิจิตอลมัลติฟังก์ชัน 220,000 เครื่องต่อปี โทรทัศน์สี 480,000 เครื่องต่อปี และโซล่าเซลล์ 60,000 แผงต่อปี โรงงานนี้ในอดีต เคยเป็นโรงงานผลิตทีวีสีในนามบริษัทชาร์ป เทพนครมาก่อน โดยชาร์ปประเทศญี่ปุ่นได้ตัดสินใจเข้าถือหุ้นเต็มตัวเมื่อเดือนมีนาคม เปลี่ยนชื่อเป็นชาร์ปแมนูแฟคเจอริ่งประเทศไทยด้วยทุนจดทะเบียน 340 ล้านบาท 1 ใน 5 ฐานผลิตเครื่องถ่ายเอกสาร

นายโทชิชิเงะ ฮามาโนะ ผู้อำนวยการบริหารอาวุโส ชาร์ป คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น กล่าวว่า การผลิตเครื่องถ่ายเอกสารในประเทศไทยของ SMTL นั้นเริ่มดำเนินการแล้วตั้งแต่เดือนมีนาคม ก่อนจะเปิด สายการผลิตเต็มรูปแบบในเดือนกันยายนที่ผ่านมา ใช้เป็นฐานการผลิตเครื่องถ่ายเอกสารระบบดิจิตอลมัลติฟังก์ชันขาว-ดำความเร็วต่ำเป็นหลัก

"สัดส่วนการผลิตเครื่องถ่ายเอกสารในประเทศไทยจะเท่าๆ กับ 4 โรงงานที่มีอยู่เดิม เราระบุสัดส่วนกำลังการผลิตเป็นเปอร์เซ็นต์ไม่ได้เพราะบางโรงงานผลิตเป็น Kit หรือเป็นชุด ยังไม่มีการประกอบ โดยกำลังการผลิตของชาร์ปทั่วโลกอยู่ที่ 800,000 ถึง 1,000,000 เครื่องต่อปี ประมาณอันดับ 4 ของโลก"

4 โรงงานซึ่งเป็นฐานการผลิตเครื่องถ่ายเอกสาร เดิมของชาร์ปอยู่ในประเทศญี่ปุ่น จีน ฝรั่งเศส และสหรัฐอเมริกา โทชิชิเงะกล่าวว่า โรงงานในจีนมีการผลิต 4 โมเดลหลัก ได้แก่ เครื่องถ่ายเอกสารขาว-ดำความเร็วต่ำ ปานกลาง สูง และเครื่องถ่ายเอกสารสี ระยะเริ่มแรกจะเป็นการย้ายโมเดลความเร็วต่ำเข้ามาผลิตในประเทศไทยแทนจีน โดยจะนำเข้าชิ้นส่วนจากประเทศจีนและญี่ปุ่นมารวมกับชิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศไทย

"ในอนาคตเราจะพยายามเพิ่มสัดส่วนการใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศไทยให้มากขึ้น จากตอนนี้มีเพียง 5 เปอร์เซ็นต์ ต่อไปจะเป็น 100 เปอร์เซ็นต์ โมเดลความเร็วต่ำที่เราย้ายการผลิตมาจากประเทศจีน เรามั่นใจว่าในประเทศไทยมีผู้ผลิตชิ้นส่วนที่สามารถซัปพอร์ตให้ได้ คาดว่าจะขยายเป็นโมเดลความเร็วปานกลางต่อไป" มั่นใจศักยภาพไทย

เรื่องนี้นายโคโซ อิโนอุเอะ กรรมการผู้จัดการ SMTL ผู้ดูแลฐานการผลิตในประเทศไทยของชาร์ปสรุปถึงเหตุผลของการยกสายการผลิตบางส่วนจากจีน ว่าการผลิตในไทยจะทำให้ชาร์ปมีศักยภาพในการแข่งขันมากขึ้น

"ชาร์ปมั่นใจเพราะไทยมีผู้ผลิตชิ้นส่วนมาก มีศักยภาพในเรื่องวัตถุดิบ คาดว่าจะทำให้เราสามารถแข่งขันด้านราคาได้มากขึ้น ประเทศจีนมีปัญหาค่าแรงแพง ขาดแคลนสาธารณูปโภค ไฟดับบ่อย ค่าเงินผันผวน"

นายณฐกร ทองส่งโสม ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายทรัพยากรบุคคลและธุรกิจทั่วไปของ SMTL กล่าวว่า ก่อนการตัดสินใจเลือกประเทศไทยของชาร์ป ตัวเลือกอื่นคือประเทศอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์

"ช่วงที่จีนมี SARS เราส่งออกไม่ได้เลย ไทยเราชนะอินโดนิเซียและฟิลิปปินส์มาได้ คุณภาพแรงงานเราเหนือกว่า จุดต่างสำคัญคือ นโยบายส่งเสริมการลงทุนของ BOI ด้วยเงื่อนไขของ BOI เราจึงแบ่งสัดส่วน 96 เปอร์เซ็นต์เป็นการผลิตเพื่อการส่งออก ส่วนอีก 4 เปอร์เซ็นต์เป็นการผลิตสำหรับจำหน่ายในประเทศ"

ชาร์ปนั้นส่งเครื่องถ่ายเอกสารออกวางจำหน่าย ทั่วโลก ตลาดใหญ่ที่สุดอยู่ที่ประเทศแถบยุโรป 36 เปอร์เซ็นต์ รองลงมาเป็นสหรัฐฯ 33 เปอร์เซ็นต์ ฐานการผลิตในฝรั่งเศสและสหรัฐฯจะเป็นการผลิตแบบ CTO หรือการประกอบเครื่องตามความต้องการ ของลูกค้า ขณะที่ตลาดจีนและเอเชียมีสัดส่วนรวมราว 30 เปอร์เซ็นต์ โดยโรงงานในญี่ปุ่นมุ่งที่การสร้างสรรค์ เทคโนโลยีขั้นสูงสำหรับอนาคต
นายโคโซกล่าวถึงการผลิตในส่วนโทรทัศน์สีและโซล่าเซลล์ว่า ผลิตภัณฑ์ระบบโซล่าเซลล์เป็น การนำเข้ามาผลิตเพื่อสนองนโยบายรัฐบาลไทย โดย รับชิ้นส่วนจากญี่ปุ่นแล้วเข้ามาประกอบในไทยเพื่อส่งออกทั้งหมด ส่วนการผลิตโทรทัศน์สีนั้น 25 เปอร์เซ็นต์จะเป็นการผลิตเพื่อส่งออกไปยังประเทศอินเดีย รัสเซีย มาเลเซียและประเทศอื่นๆ โดยจะไม่มีการลดการผลิตโทรทัศน์สีลง เนื่องจากชาร์ปคาดการณ์ว่า ตลาดในปีหน้าจะเติบโตเพราะเทศกาล ฟุตบอลโลก

สำหรับแผนการตลาด ผู้บริหารชาร์ปปฏิเสธที่จะให้ข้อมูลใดๆ โดยกล่าวเพียงว่าต้องการสร้างจุดต่างในผลิตภัณฑ์แบรนด์ชาร์ป

"ถ้าเปิดเผยแผนการตลาดก็จะไม่เป็นแผนการ ตลาด เราอยากให้รอดูต่อไปในอนาคต"


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.