ธสน.-เอสเอ็มอีแบงก์หนุนส่งออก ตั้งเป้าขยายสินเชื่ออีกกว่าพันล้าน


ผู้จัดการรายวัน(18 ตุลาคม 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

ธสน. จับมือเอสเอ็มอีแบงก์ กระตุ้นภาคส่งออก มั่นใจการส่งออกปีหน้าโตเต็มที่ ตั้งเป้าขยายสินเชื่อผลักดันภาคการส่งออกกว่า 1,000 ล้านบาท แม้มีปัจจัยราคาน้ำมันแพงเป็นอุปสรรค เอสเอ็มอีตั้งเป้าเพิ่มผู้ประกอบการใหม่ 5 พันราย เล็งหาช่องดึงลูกค้าดีหลังถูกแบงก์พาณิชย์ ขนาดใหญ่ฉกไปกว่า 10 ราย มูลหนี้ 4-5 ร้อยล้านบาท

วานนี้ (17 ต.ค.) นายสถาพร ชินะจิตร กรรมการผู้จัดการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) และนาย โชติศักดิ์ อาสภวิริยะ กรรมการผู้จัดการธนาคารเพื่อการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม แห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) ร่วมลงนามในบันทึกความร่วมมือด้านบริการเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิต (L/C) และออกหนังสือค้ำประกัน และบริการประกันการส่งออก

นายสถาพร กล่าวว่า การ ลงนามในครั้งนี้มี 2 ฉบับ ฉบับแรก เป็นความร่วมมือด้านบริการเปิด L/C และออกหนังสือค้ำประกันที่เกี่ยวข้องให้แก่ผู้นำเข้า ซึ่งเป็นลูกค้าของเอสเอ็มอีแบงก์ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ธุรกิจ นำเข้าของผู้ประกอบการในประเทศที่เป็นลูกค้าของเอสเอ็มอี โดยบันทึกข้อตกลงฉบับนี้เป็นฉบับเพิ่มเติมจากความร่วมมือด้าน การเรียกเก็บเงินตามเอกสารส่งออก ที่มีอยู่เดิมระหว่างทั้งสองธนาคาร

ฉบับที่ 2 เป็นความร่วมมือภายใต้บริการประกันการส่งออกของธสน. ซึ่งครอบคลุมบริการวิเคราะห์ข้อมูลผู้ซื้อหรือธนาคาร ผู้ซื้อในต่างประเทศ เพื่อช่วยให้ลูกค้าของเอสเอ็มอีแบงก์มีความมั่นใจที่จะขยายการส่งออกในตลาดเดิม และบุกเบิกตลาดใหม่ รวมทั้งเพื่อเสนอเงื่อนไขการชำระเงินที่ผ่อนปรนให้แก่ลูกค้าได้ โดยไม่ต้องกังวลว่าจะไม่ได้รับชำระเงิน ค่าสินค้า

"ธสน.และเอสเอ็มอีแบงก์ จะทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด เพื่อวางรากฐานที่แข็งแกร่งของธุรกิจการส่งออก และนำเข้าของเอสเอ็มอี ไทยให้สามารถแข่งขันได้ และ เป็นขวัญกำลังใจในการขับเคลื่อนการเติบโต ทั้งในตลาดเดิม และตลาดใหม่ โดยอาศัยความเชี่ยวชาญ ของทั้งสองธนาคาร เพื่อประโยชน์ของผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะภาคส่งออกที่กำลังเติบโต"

นายโชติศักดิ์ กล่าวว่า เชื่อว่าในปี 2549 นี้ ภาคการส่งออกของไทยจะขยายตัวได้อย่างเต็มที่ แม้จะมีอุปสรรคเรื่องราคาน้ำมันแพงก็ตาม ซึ่งในส่วนของธนาคาร ได้ตั้งเป้าสินเชื่อในปี 2549 จำนวน 45,000 ล้านบาท เป็นเป้าสินเชื่อเพื่อการค้า จำนวน 2,700 ล้านบาท ในจำนวนนี้จะเป็นสินเชื่อเพื่อสนับสนุนภาคการส่งออกจำนวน 1,000 ล้านบาท ขณะที่ตั้งเป้าเพิ่ม ผู้ประกอบการใหม่ 5,000 ราย
นอกจากนี้ ธนาคารจะพยายามรักษาฐานลูกค้าที่ดีเอาไว้ หลังจากปีนี้ถูกธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่แย่งลูกค้าที่ดีไปแล้วประมาณ 10 กว่าราย คิดเป็นมูลหนี้ประมาณ 400-500 ล้านบาท ซึ่งธนาคารจะพยายามหาช่องทางแข่งขันกับธนาคารพาณิชย์ใน รูปแบบที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย เช่น การช่วยทางด้านการตลาดให้กับลูกค้า เพื่อให้ต้นทุนทางด้านการเงินของลูกค้าที่ใช้บริการกับธนาคารอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับธนาคารพาณิชย์แห่งอื่น

"สาเหตุที่ลูกค้าขอรีไฟแนนซ์ มี 2 สาเหตุหลัก คือดอกเบี้ยของเราสูงกว่า และเขาต้องการเงินสูงกว่า 100 ล้านบาท ซึ่งตามกฎหมาย ของเรากำหนดไว้ให้ไม่เกิน 100 ล้านบาท ซึ่งกรณีหลังก็คงต้องทำใจ เพราะเรามีหน้าที่สร้างผู้ประกอบการให้แข็งแกร่ง เพื่อส่งต่อให้กับธนาคารพาณิชย์ แต่กรณีต้นทุนของลูกค้า เราจะหาช่องทางเพื่อแข่งขันกับธนาคารพาณิชย์ให้ได้ เพราะการที่เราถูกดึงลูกค้าที่ดีไปจะทำให้สัดส่วนเอ็นพีแอลเมื่อเทียบกับสินเชื่อเพิ่มขึ้น"

สำหรับผลประกอบการของธนาคาร ณ สิ้นเดือนกันยายน 2548 ปล่อยสินเชื่อไปได้แล้ว 33,000 ล้านบาท จากเป้าหมายทั้งปี 35,000 ล้านบาท ส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล) อยู่ที่ 21% ซึ่งธนาคารได้ตั้งเป้าลดเอ็นพีแอลให้เหลือต่ำกว่า 20% ภายในสิ้นปีนี้ และเหลือต่ำกว่า 15% ภายในสิ้นปีหน้า ซึ่งขณะนี้ธนาคารอยู่ระหว่างหารือกับบริษัทบริหารสินเชื่อ สุขุมวิท จำกัด (แซม) เพื่อให้รับจ้างธนาคารบริหารเอ็นพีแอลที่มี อยู่ประมาณ 6,000-7,000 ล้านบาท


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.