แกรมมี่เบาตัวภาระไต้หวันลด ขายหุ้นบ.ลูกไม่กระทบรายได้


ผู้จัดการรายวัน(14 พฤศจิกายน 2545)



กลับสู่หน้าหลัก

แกรมมี่ฟุ้งกำไรปีนี้โตไม่ต่ำกว่า 100% เพราะธุรกิจเพลงเติบโตต่อเนื่อง ขณะที่ภาระขาดทุนในการลงทุนที่ไต้หวันลดลง และเตรียมขายหุ้นให้พันธมิตรใหม่ ตั้งเป้าปีหน้าหารายได้จากการจัดเก็บลิขสิทธิ์ไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท รวมทั้งใช้มิวสิคมาร์เก็ตติ้งหนุนงานขายเพิ่มรายได้ แจงราคาไอพีโอบริษัทลูกที่ 30 บาท ไม่แพง นักลงทุนสถาบันสนใจจองซื้อล้น 25 เท่า ยันแยกขายหุ้นบริษัทลูกไม่กระทบรายได้บริษัทแม่

นายไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ประธานกรรมการบริหารบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GMM เปิดเผยว่า ในปีนี้บริษัทจะมีอัตรากำไรเพิ่มขึ้นจากปีก่อนไม่ต่ำกว่า 100% โดยในปี 2544 บริษัทมีกำไรสุทธิประมาณ 200 ล้านบาท สาเหตุที่กำไรเพิ่มขึ้นเนื่องจากบริษัทมีรายได้จากธุรกิจเพลงอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งในช่วงปีที่ผ่านมา บริษัทสามารถลดภาระจากการลงทุนในไต้หวัน ซึ่งจากเดิมบริษัทที่ขาดทุนอยู่ 250 ล้านบาท ได้ลดลงเหลือประมาณ 50 ล้านบาท

นอกจากนี้ บริษัทมีนโยบายหยุดการลงทุนในทุนในไต้หวัน แต่จะหาพันธมิตรเข้ามาถือหุ้นแทน ซึ่งจะทำให้บริษัทไม่ต้องใส่เงินลงทุนเข้าไปใหม่ โดยการดำเนินงาน จะใช้เงินจากพันธมิตรใหม่ที่เข้ามา ซึ่งบริษัทจะลดสัดส่วนการถือหุ้นจาก เดิมที่ถืออยู่ 100% จะลดสัดส่วนเหลือประมาณ 50% และบริษัทมีแผนที่จะเข้าไปลงทุนในประเทศจีน โดยใช้ฐานบริษัทในไต้หวันเข้าไปดำเนินธุรกิจ

"บริษัทพยายามที่จะตัดธุรกิจที่เป็นภาระกับบริษัทให้ลดน้อยลง ขณะเดียวกันก็พยายามที่จะรักษารายได้ให้มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง หรือให้อยู่ในระดับคงที่ต่อไป"

สำหรับแผนงานในปีหน้า บริษัทจะมีรายได้ใหม่ๆ เข้ามาหลาย ทาง ทั้งทางรายได้จากค่าลิขสิทธิ์ไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท รายได้จากการ ที่มีการแข่งขันในสินค้าต่างๆ ซึ่งจะต้องใช้มิวสิคมาร์เก็ตติ้งเข้ามาช่วยสนับสนุนการขาย จะทำให้บริษัทมีรายได้จากทางนี้ รวมทั้งรายได้หลัก ก็ยังเป็นรายได้จากธุรกิจเพลงอยู่

ส่วนโครงการซื้อหุ้นคืนของบริษัทจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ในช่วงที่ผ่านมาสามารถซื้อหุ้นคืนได้ประมาณ 100 กว่าล้านบาท ถ้าเห็นว่าราคา หุ้นต่ำกว่าปัจจัยพื้นฐาน และไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง บริษัทก็มีแผนที่จะซื้อหุ้นคืนอีกครั้งหนึ่ง เพื่อจะทำให้ราคาหุ้นมีเสถียร-ภาพ โดยปัจจุบันบริษัทยังมีเงินสดอยู่อีกจำนวนมาก

นายไพบูลย์ กล่าวถึงการเสนอ หุ้นของบริษัทจีเอ็มเอ็ม มีเดีย จำกัด (มหาชน) ที่ราคาหุ้นละ 30 บาทนั้นถือว่าเป็นราคาที่เหมาะสมกับปัจจัยพื้นฐาน โดยจะมีค่า P/E raitoประมาณ 17 เท่า ขณะที่หุ้นที่อยู่ในกลุ่มบันเทิงจะมีค่า P/E raitoประมาณ 25 เท่า ขณะนี้นักลงทุน สถาบันและนักลงทุนทั่วไปแสดงความสนใจที่จะซื้อหุ้นเป็นจำนวนมาก จึงเชื่อว่าจะไม่มีปัญหาในการกระจายหุ้นแต่อย่างไร โดยจะเสนอขายหุ้นในวันที่14-15 พฤศจิกายนนี้

"ช่วงที่ผ่านมาก็ได้มีการสำรวจ ความต้องการซื้อ ของนักลงทุนสถาบัน ซึ่งพบว่าช่วงราคาที่นักลงทุนสถาบันต้องการซื้ออยู่ในราคา 30-38 บาท แต่บริษัทเลือกที่จะเสนอ ขายในระดับราคา 30 บาทเพื่อที่จะให้นักลงทุนได้รับผลตอบแทนจากการเข้ามาลงทุน"

สำหรับสัดส่วนการเสนอขายหุ้น จะจัดสรรให้กับนักลงทุนต่างประเทศประมาณ 40% ให้กับผู้ถือหุ้นเดิมของจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ เนื่องจากผู้ถือหุ้นเดิมต้องการที่จะถือหุ้นในจีเอ็มเอ็ม มีเดียและจะเสนอขายผ่านบริษัทหลักทรัพย์ที่เป็นผู้จัดจำหน่าย และประกันการจำหน่าย(อันเดอร์ไรเตอร์) ประมาณ 20% และบางส่วนก็จะจัดสรรให้แก่นักลงทุนสถาบัน ภายหลังจากเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนให้ประชาชนทั่วไป สัดส่วนถือหุ้นของ Grammy ในจีเอ็มเอ็มมีเดีย จะเหลือเพียง 78% จากปัจจุบันที่ถืออยู่ 100% ส่วนที่เหลือ เป็นผู้ถือหุ้นรายย่อยทั่วไป 22%

ที่ผ่านมา จีเอ็มเอ็ม มีเดียสามารถทำกำไรให้บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ประมาณ 48% ของกำไรรวมของจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ เมื่อ จีเอ็มเอ็ม มีเดียแยกเป็นบริษัทจดทะเบียน จะทำให้รายได้จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ส่วนหนึ่งหายไป ซึ่งบริษัทยืนยันว่า ไม่มีผลกระทบกับบริษัทแม่

"การที่กระจายหุ้นในขณะนี้ถึงแม้ภาวะตลาดหุ้นจะซบเซาแต่เชื่อ มั่นว่าจะไม่ส่งผลกระทบ เนื่องจากที่ผ่านมาบริษัทสามารถที่จะรักษาผลการดำเนินงาน ให้อยู่ในระดับที่ดี ได้ถึงแม้ว่าจะมีวิกฤษทางเศรษฐกิจในอดีตที่ผ่านมา แต่บริษัทก็ยังสามารถดำเนินธุรกิจให้มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง"

สำหรับผลการดำเนินงานของบริษัท 9 เดือนมีกำไรสุทธิประมาณ 280 ล้านบาท และเชื่อว่าทั้งปีจะ มีอัตราการเติบโตไม่ต่ำกว่า 10% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยบริษัทมีนโยบายที่จะจ่ายเงิน ปันผลประมาณ 70% ของกำไรสุทธิ ซึ่งถ้านักลงทุนเข้ามาจองซื้อและ ถือระยะยาวก็มีโอกาสที่จะได้รับเงิน ปันผล บริษัทมีฐานเงินทุนแข็งแกร่ง จะพยายามรักษาสัดส่วนหนี้สินต่อทุนให้อยู่ในระดับ 1 เท่า ปี 2546



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.