|
คอนเทนต์รวมตัวยื่นหนังสือค่ายมือถือ เอไอเอสลดส่วนแบ่งทำตลาดวูบ200ล.
ผู้จัดการรายวัน(17 ตุลาคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
คอนเทนต์โพรวายเดอร์เดือดร้อนหนัก หลังเอไอเอสนำขบวนปรับส่วนแบ่งรายได้การดาวน์โหลดผ่าน SMS ใหม่ คอนเทนต์เหลือ 35% จากเดิมที่ได้รับ 50% รวมตัวยื่นหนังสือขอให้ทบทวนด่วน หลังตลาดวูบไป 200 ล้านบาทแค่ 2 เดือน ย้ำหากต้องการเติบโตไปพร้อมกับคอนเทนต์ พาร์ตเนอร์จริงโมเดลแบบนี้ไปไม่รอด รายเล็ก รายกลาง เจ๊งสนิท ด้าน เอไอเอสแจงต้องปรับให้สะท้อนต้นทุนแท้จริง
แหล่งข่าวจากผู้ให้บริการด้านเนื้อหาหรือคอนเทนต์โพรวายเดอร์กล่าวว่า หลังจากที่บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือเอไอเอส ได้ปรับส่วนแบ่งรายได้การให้บริการข้อมูลระหว่างโอเปอเรเตอร์กับ คอนเทนต์โพรวายเดอร์ เป็น 50:50 เดิม 35:65 ในช่วงประมาณ 2 เดือนที่ผ่านมาปรากฏว่าการให้บริการข้อมูลหรือการดาวน์โหลดผ่าน SMS เกิดภาวะชะลอตัวทันที และทำให้รายได้ในส่วนของคอนเทนต์โพร วายเดอร์หายไป 40% หรือประมาณ 200 ล้านบาท ซึ่งทำให้คอนเทนต์โพรวายเดอร์และ Content Aggregator หรือผู้รวบรวมคอนเทนต์เกิดความเดือดร้อนกันถ้วนหน้า
"เอไอเอสเป็นรายแรกที่ปรับส่วนแบ่งรายได้ หลังจากนั้นดีแทคกับทีเอออเร้นจ์ก็ปรับตาม แต่ในตลาดเอไอเอสมีส่วนแบ่งมากที่สุด เพราะฐานลูกค้าจำนวนมาก ซึ่งครั้งนี้คอนเทนต์โพรวายเดอร์เดือดร้อนหนักเพราะลดส่วนแบ่งลงเหลือแค่ 50% จากเดิมที่ได้ 65% ซึ่งเมื่อแบ่งกับเจ้าของลิขสิทธิ์แล้วมาร์จิ้นมันไม่พอที่จะอยู่ได้"
ทางออกของคอนเทนต์โพรวายเดอร์คือการรวมกลุ่มกันมากกว่า 10 บริษัท อย่างนายนิคคลาส สเตลเบิร์ค ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สยามทูยู, นายอิริค พอล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทเกอร์ม๊อบ โมบาล์ยและนายเฮนนิ่ง เบรคเก้ กรรมการ ผู้จัดการ ดีจิงดอทคอม ทำหนังสือยื่นต่อนายสุวิทย์ อารยะวิไลพงษ์ ผู้บริหารเอไอเอสที่ดูเรื่องบริการเสริม, นายสันติ เมธาวิกุล รองประธาน เจ้าหน้าที่บริหารด้านบริการลูกค้า บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่นหรือดีแทค และนายอาจกิจ สุนทรวัฒน์ ผู้อำนวยการกลุ่มสื่อสารไร้สาย บริษัท ทีเอ ออเร้นจ์ ชี้แจงถึงปัญหาที่เกิดขึ้น
นอกจากนี้ การปรับส่วนแบ่งรายได้ยังส่งผลกระทบต่อกลุ่มพันธมิตรที่ร่วมให้บริการด้านมีเดียหรือธุรกิจการพิมพ์ อาทิ การจัดพิมพ์ใบปลิวการลงโฆษณา ที่ต้องมีการแบ่งรายได้ภายหลังจากที่คอนเทนต์โพรวายเดอร์ได้รับส่วนแบ่งจาก โอเปอเรเตอร์แล้วการที่โอเปอเรเตอร์กระทำดังกล่าว เท่ากับลืมคิดถึงต้นทุน ของด้านคอนเทนต์โพรวายเดอร์ ดังนั้นเป้าหมายของโอเปอเรเตอร์ที่ต้องการผลักดันให้อุตสาหกรรมบริการเสริมเติบโตมากขึ้นก็ไม่น่าจะเป็นไปได้ หรือกลับทำให้เกิดภาวะชะลอตัวแทน และในเอกสารยังระบุอีกว่า
"หากผู้ให้บริการทั้ง 3 ราย กลับไปใช้รูปแบบโมเดลในสัดส่วนเดิม ก็จะทำให้ธุรกิจที่กำลังจะไปได้ดี กลับคืนมาในรูปแบบเดิม"
ทั้งนี้ คอนเทนต์โพรวายเดอร์ อยากให้โอเปอเรเตอร์ทั้ง 3 รายคำนึงถึงผู้บริโภคที่ยอมรับอัตราค่าบริการในภาวะการแข่งขันที่รุนแรงในปัจจุบัน ซึ่งหากต้นทุนของคอนเทนต์โพรวายเดอร์สูงขึ้นก็อาจจะส่งภาระดังกล่าวไปให้ผู้บริโภคเท่ากับเป็นการขึ้นราคา และจะทำให้จำนวนผู้ใช้บริการจากเดิมที่กำลังเริ่มใช้บริการมากขึ้นกลับจะต้องลดจำนวนการดาวน์โหลดลง
"อย่างค่าบริการดาวน์โหลดผ่าน SMS 30 บาท หากโมเดลใหม่ คอนเทนต์โพรวายเดอร์จะได้ส่วนแบ่ง 15 บาทซึ่งยังต้องไปแบ่งกับพันธมิตร อีก 2-3 ราย ซึ่งกำไรที่แต่ละคนได้รับมันอยู่ไม่ได้"
แหล่งข่าวกล่าวว่า การที่โอเปอเรเตอร์บอกว่าต้องการเติบโตไปพร้อมกับคอนเทนต์พาร์ตเนอร์ และหวังที่จะเห็นคอนเทนต์พาร์ตเนอร์มีรายได้ที่มากขึ้น แต่โมเดลธุรกิจใหม่ การแบ่งรายได้ที่ลดลงมันสวนทางกับสิ่งที่ประกาศไว้ ซึ่งอาจเป็นไปได้ ที่การแข่งขันด้านราคาที่รุนแรงในช่วงไตรมาส 2 ทำให้โอเปอเรเตอร์ต้องหันกลับมารีดเลือดกับปูเพื่อสร้างรายได้เพิ่มโดยอ้างว่าเป็นต้นทุนการดูแลโครงข่ายที่สูงขึ้น ทั้งที่ความเป็นจริงมีการปรับระบบน้อยมากและเพียงแค่ใช้กลไกทางการตลาดเข้ามาช่วยสนับสนุน ส่วนแบ่งรายได้ที่ลดลงเท่ากับโอเปอเรเตอร์ตั้งใจฆ่ารายกลางและรายเล็กในตลาดก็ว่าได้
นายธีรัตน์ นิชิด้า รองกรรมการ ผู้จัดการ บริษัท จีเอ็มเอ็ม ดิจิตอลโดเมนกล่าวว่า อยากให้โอเปอเรเตอร์ คำนึงถึงอุตสาหกรรมที่กำลังจะเติบโต เนื่องจากยอดดาวน์โหลดผ่าน SMS เป็นสัดส่วนที่มากถึง 70-80% ของทั้งตลาดที่มีอยู่
"บริษัทไม่ได้รับผลกระทบ มากนักเพราะขายเหมาในลักษณะโฮลเซล แต่คนที่รับช่วงต่อต้องแบกภาระในส่วนที่โอเปอเรเตอร์ปรับส่วนแบ่งใหม่"
ด้านนายสมชัย เลิศสุทธิวงศ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ ธุรกิจบริการสื่อสารไร้สาย เอไอเอส กล่าวว่า เอไอเอสลงทุนด้านโครงข่ายและแพล็ตฟอร์มการให้บริการด้านข้อมูลกว่า 1 พันล้านบาท การปรับส่วนแบ่ง รายได้ใหม่ก็เพื่อสะท้อนต้นทุนที่แท้จริงในการให้บริการ ซึ่งรวมค่าใช้จ่าย ด้านต่างๆ ในการดำเนินการ ไม่ว่าจะเป็นค่าการตลาด หรือค่าคอนเทนต์ ส่วนการเปิดให้บริการในช่วงแรกที่ยอมลดส่วนแบ่งรายได้ลงก็เพื่อทำ ให้ตลาดเติบโตก่อน เนื่องจากการให้บริการข้อมูลถือเป็นเรื่องใหม่จึงต้องสร้างแรงจูงใจให้ผู้ผลิตคอนเทนต์ แต่เมื่อตลาดเติบโตมากขึ้นก็ต้อง มีการปรับส่วนแบ่งรายได้เพิ่มมากขึ้นด้วย
เขาย้ำว่า ที่ผ่านมาเอไอเอสขาดทุนในการให้บริการข้อมูลมาอย่างต่อเนื่อง เพราะส่วนแบ่งรายได้ ที่คิดกับคอนเทนต์โพรวายเดอร์ต่ำกว่าต้นทุนที่แท้จริง ส่วนรายได้ที่หายไปของคอนเทนต์โพรวายเดอร์ไม่ได้เกิดจากการปรับส่วนแบ่งรายได้ ใหม่เพียงอย่างเดียว แต่ยังมาจากการที่คอนเทนต์โพรวายเดอร์ไม่มีการพัฒนาคอนเทนต์ใหม่ๆ ที่ตรงกับความต้องการลูกค้า ที่ผ่านมาพออะไรได้รับความนิยมก็มักจะให้บริการเหมือนๆ กัน
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|