คลอดประกาศกระทรวงคุมบัตรเครดิต...ใครได้ใครเสีย


ผู้จัดการรายวัน(12 พฤศจิกายน 2545)



กลับสู่หน้าหลัก

กระทรวงการคลังได้ออกประกาศกระทรวงเพื่อกำกับดูแลธุรกิจบัตรเครดิต โดยใช้อำนาจตามกฎหมายของคณะปฏิวัติ หรือ ปว. 58 มาตราที่ 5 โดยสาระสำคัญของประกาศกระทรวงการคลังได้ให้อำนาจในการกำหนดเพดานดอกเบี้ยผิดนัดชำระบัตรเครดิตไว้ที่ 18% ต่อปี การรวมสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารหรือ Nonbank เข้ามาอยู่ภายใต้การดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทยเช่นเดียวกับธนาคารพาณิชย์ การกำหนดรายได้ขั้นต่ำสำหรับผู้ที่สามารถถือบัตรเครดิตไว้ที่ 15,000 บาทต่อเดือน หลังจากที่เพิ่งปลดเพดานดังกล่าวไปเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา นอกจากนี้ ยังได้ให้อำนาจในการกำหนดคุณสมบัติของผู้ประกอบการให้มีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท การกำหนดเพดานดอกเบี้ยการเบิกเงินสดล่วงหน้าไว้ที่ 3%, การต้องแจ้งให้ผู้ถือบัตรทราบล่วงหน้าค่าธรรมเนียมอื่นๆในการใช้บัตร เช่น ค่าธรรมเนียมรายปีและค่าธรรมเนียมแรกเข้า ฯลฯ โดยทางธนาคารแห่งประเทศไทยจะเป็นผู้กำหนดรายละเอียดปลีกย่อยต่างๆ ที่เกี่ยวกับการกำกับธุรกิจบัตรเครดิตทั้งระบบ ทั้งของธนาคารพาณิชย์และสถาบันที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ ทั้งนี้ กฎหมายใหม่ดังกล่าวนับว่าเป็นทางออกเร่งด่วนที่จำเป็น อันเป็นการตอบรับกระแสสังคมและตรงกับความต้องการจากหลายๆ ฝ่ายที่อยากจะเห็นกฎหมายเฉพาะรองรับการขยายตัวอย่างรวดเร็วของบัตรเครดิตในปัจจุบัน และในอนาคต เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้จากผลข้างเคียงที่ได้รับจากความสะดวกสบายในการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ประเมินผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นต่อหลายฝ่ายจากการออกกฎหมายใหม่ครั้งนี้ไว้ดังนี้

ผลกระทบจากเพดานดอกเบี้ยใหม่

ในด้านของผู้ประกอบการบัตรเครดิตที่เป็นธนาคารพาณิชย์ สามารถแบ่งผลกระทบออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ กลุ่มธนาคารพาณิชย์ไทยจะมีขอบเขตของอัตราดอกเบี้ยที่แคบกว่า โดยดอกเบี้ยสินเชื่อบัตรเครดิตธนาคารพาณิชย์ไทยอยู่ที่ 16.5021.00% สาขาธนาคารพาณิชย์ ตปท. ในไทยและธนาคารพาณิชย์ลูกครึ่งอยู่ที่ 15.5027.50% (อัตราดอกเบี้ย ณ วันที่ 30 ตุลาคม 2545) ซึ่งผลกระทบจากการกำหนดเพดานดอกเบี้ยรวมค่าปรับค้างชำระไว้ที่ 18% นั้น มีดังนี้

ธนาคารพาณิชย์ไทย

ผลดี จะไม่ถูกผลกระทบมากนัก เพราะอัตราดอกเบี้ยส่วนใหญ่ต่ำกว่า ระดับ 18% อยู่แล้ว

ผลเสีย ธนาคารพาณิชย์ไทยไม่สามารถใช้ความได้เปรียบทางด้านราคา จากดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าในการแข่งขันกับธนาคารต่างชาติได้อีกต่อไป ซึ่งทำให้ธนาคารพาณิชย์ไทยอาจที่จะต้องหันความสนใจไปให้ความสำคัญกับการ บริการและการส่งเสริมการขายที่มากขึ้น เพื่อไม่ให้ลูกค้าเปลี่ยนไปใช้บริการธนาคารอื่น การส่งเสริมด้านบริการและการขายดังกล่าวก็เพื่อแข่งขันกับธนาคารต่างชาติที่เหนือกว่าในด้านเครือข่ายร้านค้าและโปรแกรมส่งเสริมการขายในช่วงที่ผ่านมา

ธนาคารพาณิชย์ต่างชาติและธนาคารพาณิชย์ลูกครึ่ง

ผลดี ความสามารถในการแข่งขันกับธนาคารพาณิชย์ไทยเพิ่มสูงขึ้น จาก ดอกเบี้ยที่ลดน้อยลง ในขณะที่ยังคงมีความได้เปรียบจากการทำการตลาดใน ช่วงที่ผ่านมา ธนาคารจะให้ความสำคัญทางด้านความเสี่ยงมากขึ้น โดยจะเคร่งครัดในการเลือกลูกค้าให้มากขึ้นเพื่อลดความเสี่ยง เนื่องจากไม่สามารถ คิดดอกเบี้ยที่สูงกว่าธนาคารพาณิชย์ไทยในการป้องกันความเสี่ยง เช่นที่เคยปฏิบัติมาแต่เดิมได้

ผลเสีย ธนาคารที่มีดอกเบี้ยสูงกว่า 18% ค่อนข้างมาก บวกกับที่มีปริมาณยอดคงค้างบัตรเครดิตในปริมาณที่สูง ย่อมได้รับผลกระทบที่มากจาก การตั้งเพดานดอกเบี้ยครั้งนี้ เนื่องจากสะท้อนให้เห็นถึงการพึ่งพิงรายได้จากดอกเบี้ยที่มากกว่าธนาคารอื่นๆ

จากการที่ธนาคารกลุ่มนี้มีต้นทุนการตลาดที่สูงอยู่ การตั้งเพดานดอกเบี้ยอาจจะส่งผลต่อกำไรในการดำเนินธุรกิจ

ในด้านของผู้ประกอบการที่เป็น Nonbank หรือ สถาบันที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ซึ่งดำเนินธุรกิจให้บริการบัตรเครดิตนั้น ย่อมจะมีการเปลี่ยน แปลงที่ค่อนข้างมากในการออกกฎใหม่ครั้งนี้ โดยจากการที่กลุ่ม Nonbank มีเป้าหมายการตลาดที่ลูกค้าระดับกลางและระดับล่างที่มีความเสี่ยงสูงกว่า การจำกัดเพดานดอกเบี้ยย่อมจะกระทบต่อธุรกิจของผู้ประกอบการกลุ่มนี้ แต่อย่างไรก็ดี จากการที่ผู้ออกบัตรในกลุ่ม Nonbank บางรายมีผลิต ภัณฑ์ที่หลากหลาย ทำให้น่าที่จะมีความยืดหยุ่นมากในการสร้างรายได้จากแหล่งอื่นๆมาทดแทนได้ เช่น สินเชื่อเช่าซื้อ สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อเงินสด เป็นต้น ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้ว่าผู้ออกบัตรกลุ่ม Nonbank อาจมีความ ต้องการที่จะรักษาฐานลูกค้าบัตรเครดิตไว้ให้มากที่สุด เพื่อประโยชน์เสริมใน การที่จะสามารถเสนอผลิตภัณฑ์อื่นๆ (Cross Sell) ของผู้ประกอบการให้ลูกค้าทดแทนรายได้ส่วนที่เสียไปจากธุรกิจบัตรเครดิตได้

ในด้านของผู้บริโภคผู้ถือบัตรเครดิต ผู้ซึ่งย่อมได้ประโยชน์มากที่สุด จากกฎหมายใหม่นี้ เพราะสามารถที่จะทราบขอบเขตค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นจาก การค้างชำระบัตรเครดิตได้ อันจะสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการวางแผนการ ใช้จ่ายเงินได้ในระดับหนึ่ง จากในอดีตที่ความหลากหลายของดอกเบี้ยและค่า ธรรมเนียมปลีกย่อยต่างๆอาจทำให้ผู้บริโภคบางกลุ่มไม่ตระหนักถึงค่าใช้จ่าย ที่เกิดขึ้นจนกระทั่งใบแจ้งหนี้มาถึง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ถือบัตรเครดิตหลายๆใบ ที่อาจจะเกิดความสับสนได้จากอัตราดอกเบี้ยหลายรูปแบบ นอก จากนี้ ผู้บริโภคอาจได้รับประโยชน์และความสะดวกในการใช้บริการบัตรเครดิตมากขึ้น จากแนวโน้มที่ผู้ประกอบการอาจจะหันมามุ่งเน้นการให้บริการ ที่มีคุณภาพมากกว่าการแข่งกันตัดราคา รวมทั้งการตั้งเพดานดอกเบี้ยไว้ที่ 18% นั้น อาจจะช่วยลดการโยกย้ายหนี้บัตรเครดิตจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง (Balance Transfer/Refinance) จากความแตกต่างของดอกเบี้ยของผู้ออก บัตรที่น้อยลง เมื่อเทียบกับก่อนที่จะมีการประกาศเพดานดอกเบี้ยที่ 18% ออก มา อย่างไรก็ตาม การมีเพดานดอกเบี้ยก็อาจจะไม่สามารถลดความเสี่ยงใน การเพิ่มหนี้และใช้จ่ายเกินตัวผ่านบัตรเครดิตได้ ตราบใดที่ผู้ใช้บัตรยังมีนิสัยขาดระเบียบ มีบัตรเครดิตหลายใบ ขาดการวางแผนในการใช้จ่าย โดยไม่คำนึงถึงรายได้ของตนเอง

ผลกระทบจากการกำหนดรายได้ขั้นต่ำไว้อย่างเดิมที่ 15,000 บาทต่อเดือน

ผลกระทบต่อธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่ ย่อมมีไม่มากนักเนื่องจากผู้มีรายได้ขั้นต่ำ 15,000 บาทเป็นฐานลูกค้าเดิมของธนาคารพาณิชย์อยู่แล้ว จึงไม่น่าที่จะมีผลกระทบต่อปริมาณบัตรเครดิตทั้งหมดของธนาคารพาณิชย์โดยรวมมากนัก

ผลกระทบต่อผู้ออกบัตรในกลุ่ม Nonbank จากการสร้างความได้เปรียบตั้งแต่เริ่มทำธุรกิจบัตรเครดิตในการเจาะกลุ่มลูกค้ารายได้ต่ำกว่า 10,000 บาทต่อเดือนของผู้ออกบัตรในกลุ่ม Nonbank ซึ่งเป็นการเจาะกลุ่ม เป้าหมายคนละกลุ่มกับธนาคารนั้น ทำให้การกำหนดรายได้ขั้นต่ำที่ 15,000 บาทต่อเดือนนั้นมีผลให้ผู้ออกบัตรในกลุ่ม Nonbank ต้องอาศัยการปรับตัวที่ค่อนข้างมาก จากการที่กลุ่มเป้าหมายเดิมมีรายได้เฉลี่ยต่ำกว่า 15,000 บาทต่อเดือน ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่ผู้ออกบัตรในกลุ่ม Nonbank อาจที่จะเน้นการทำธุรกิจประเภทอื่นเพิ่มขึ้น มากกว่าการขยายฐานลูกค้าบัตรเครดิต เพิ่ม เพื่อทดแทนส่วนแบ่งในตลาดนี้ที่ขาดหายไป อย่างไรก็ตาม ผู้ออกบัตรในกลุ่ม Nonbank ก็ยังคงมีฐานรายได้เดิมจากค่าธรรมเนียมของฐาน ลูกค้าบัตรเครดิตเก่าที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งกฎหมายใหม่ไม่สามารถบังคับใช้ย้อนหลังกับลูกค้าเดิมได้ ทำให้พอที่จะชะลอผลกระทบดังกล่าวไปได้สักระยะหนึ่ง

ผลกระทบต่อผู้บริโภค โดยการกำหนดรายได้ขั้นต่ำไว้ที่ 15,000 บาท ต่อเดือนนั้น ย่อมทำให้ผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาทนั้นต้องเริ่มที่จะหันไปใช้เงินสดในการใช้จ่ายแทนการใช้บัตรเครดิต ซึ่งอาจมีผลทำให้ความเสี่ยงของการก่อหนี้เกินกำลังลดลงได้บ้าง แต่ในมุมมองที่ตรงกันข้าม ก็อาจ ทำให้ผู้บริโภคที่มีรายได้ต่ำหันไปกู้ยืมจากธุรกิจเงินกู้นอกระบบมากยิ่งขึ้น เพราะไม่สามารถเป็นสมาชิกบัตรเครดิตในระบบได้

ผลกระทบต่อภาพรวมของธุรกิจบัตรเครดิต

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ประเมินสถานการณ์โดยรวมของธุรกิจบัตรเครดิตไว้ดังนี้

ธุรกิจบัตรเครดิตยังคงที่จะมีการขยายตัวต่อไป จากความนิยมและความสะดวกที่ผู้บริโภคได้รับในการใช้บัตรเครดิตแทนเงินสด และจาก รายการส่งเสริมการขายที่น่าสนใจ อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าอัตราการเติบโตนั้นจะเพิ่มในอัตราที่ลดลง เมื่อเทียบกับช่วงก่อนออกกฎหมายใหม่ ทั้งนี้ จากเหตุผลที่ว่ากลุ่มผู้บริโภคที่มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาท นั้นมีเป็นจำนวนมากและเป็นฐานลูกค้าที่ใหญ่ บวกกับผู้ที่มีรายได้มากกว่า 15,000 บาทนั้น ย่อมที่จะเป็นผู้ถือบัตรเครดิตอยู่ก่อนแล้ว นอกจากนี้ จากความเป็นไปได้ที่ผู้ประกอบการบางรายอาจที่จะกลับมาคิดค่าธรรมเนียม รายปี หรือค่าธรรมเนียมแรกเข้านั้น ย่อมมีส่วนทำให้ลูกค้าบางกลุ่มคืนบัตร ดังนั้น ปริมาณบัตรเครดิตในระบบคงจะไม่เติบโตอย่างรวดเร็วนัก ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้คาดการณ์จำนวนบัตรเครดิตทั้งระบบ (ธนาคารพาณิชย์และ Nonbank) ณ สิ้นปี 2545 ไว้ที่ประมาณไม่ต่ำกว่า 5 ล้านบัตร จากจำนวนบัตรเครดิตที่ประมาณ 3.6 ล้านบัตรในปีก่อนหน้า

นอกจากนี้ การใช้จ่ายผ่านบัตรจะยังคงมีแนวโน้มที่สูงขึ้น แต่เพิ่มในอัตราที่ลดลง เนื่องจากคาดว่าสถาบันต่างๆยังคงส่งเสริมการขายเพื่อการ ใช้จ่ายผ่านบัตรของลูกค้าที่มากขึ้น ซึ่งอาจมีแนวโน้มที่รุนแรงขึ้น ภายใต้แรงกดดันที่ยากลำบากขึ้นในการขยายฐานบัตรเครดิต โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคาดการณ์ว่า จากฐานบัตรเครดิตที่มีแนวโน้มการเติบโตในอัตราที่ลดลง จะส่งผลให้ปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรของผู้บริโภค ณ สิ้นปี 2545 จะมีการเติบโตไม่เกิน 30% เมื่อเทียบกับปี 2545 เมื่อเทียบกับการเติบโตที่ประมาณ 36% ในปีก่อนหน้า

ยอดคงค้างบัตรเครดิตที่มีแนวโน้มที่จะชะลอตัวลงกว่าในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งมีผลจากปริมาณบัตรเครดิตในระบบและปริมาณการใช้จ่ายผ่าน บัตรที่เพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลง และส่วนหนึ่งจากค่าใช้จ่ายในการใช้บัตรเครดิต ที่ลดลงจากการกำหนดเพดานดอกเบี้ยที่ต่ำลง โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่ายอดคงค้างบัตรเครดิต ณ สิ้นปี 2545 จะมีการเติบโตที่ประมาณ 25% จากการเติบโตที่ 26% ในปีก่อนหน้า

การแข่งขันระหว่างผู้ออกบัตรจะยังคงเข้มข้น ทั้งนี้ แม้ว่าจะมีการกำหนดเพดานอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 18% และรายได้ขั้นต่ำที่ 15,000 บาทต่อเดือน ซึ่งอาจจะกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของผู้ออกบัตรบางรายที่ต้องปรับตัว รวมทั้งอาจนำมาสู่การพยายามลดต้นทุนหรือหารายได้เพิ่ม เพื่อชดเชย กับดอกเบี้ยที่ถูกจำกัด แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยก็มองว่า การแข่งขันในธุรกิจบัตรเครดิตจะยังคงเข้มข้นต่อไป โดยผู้ออกบัตรก็จะยังคงจะทุ่มมาตรการทาง การตลาดเพื่อขยายฐานธุรกิจของตน และเพื่อรักษาลูกค้าเดิมเอาไว้ ตลอดไปจนถึงกระตุ้นให้ลูกค้ามียอดการใช้บัตร ซึ่งจะนำมาสู่รายได้ของผู้ออกบัตร ในขณะเดียวกัน ลูกค้าหรือผู้ถือบัตรก็จะยังคงมีอำนาจต่อรองที่จะเลือกใช้บริการและผลิตภัณฑ์ที่มีเสนอให้อย่างหลากหลาย ความแตกต่างอาจจะอยู่เพียงที่ว่า การขยายตัวของธุรกิจบัตรเครดิตคงจะเป็นไปอย่างมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น ขณะที่ความสำเร็จของผู้ออกบัตรคงจะขึ้นอยู่กับความสามารถทางการตลาด การรักษาฐานลูกค้า ตลอดจนการบริหารต้นทุนค่าใช้จ่ายและความเสี่ยงให้เหมาะสม

สรุป

ประกาศกระทรวงการคลังเรื่องกิจการที่ต้องขออนุญาตตามข้อ 5 แห่ง ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 ได้ถูกนำมาใช้ในการควบคุมดูแลธุรกิจบัตรเครดิต จากกระแสสังคมรอบด้านที่ต้องการจะให้มีกฎหมายเฉพาะดูแล ธุรกิจบัตรเครดิตที่เป็นธนาคารพาณิชย์และที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ หรือ Nonbank ซึ่งประเด็นหลักที่ประกาศกระทรวงดังกล่าวได้ให้อำนาจไว้ ได้แก่ การกำหนดเพดานดอกเบี้ยที่ 18%, การกลับไปใช้เกณฑ์รายได้ขั้นต่ำที่ 15,000 บาทต่อเดือนในการสามารถสมัครบัตรเครดิต โดยไม่มีผลบังคับใช้ย้อนหลัง, การกำหนดทุนจดทะเบียนผู้ประกอบการไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท ฯลฯ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ประเมินผลกระทบที่มีต่อผู้ประกอบการและผู้บริโภคจากการกำหนดเพดานดอกเบี้ยที่ 18% และการกำหนดรายได้ขั้นต่ำที่ 15,000 บาทต่อเดือน โดยผลกระทบจะแยกออกจากกันตามประเภทของ ผู้ประกอบการ ได้แก่ ธนาคารพาณิชย์ไทย, ธนาคารพาณิชย์ต่างชาติและธนาคารลูกครึ่ง, สถาบันที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ หรือ Nonbank ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังเห็นว่า ผู้บริโภคยังคงได้รับประโยชน์สูงสุดจากการออก กฎหมายในครั้งนี้

นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีความเห็นว่าประกาศกระทรวงการคลังได้สร้างกรอบควบคุมธุรกิจบัตรเดรดิตที่เหมาะสม ซึ่งนอกจากสร้างการ กำกับดูแลที่ทั่วถึงแล้ว ยังสร้างแบบแผนที่เป็นหลักปฏิบัติอันเป็นมาตรฐานเดียวกัน การขยายตัวของธุรกิจนี้จึงจะเติบโตอย่างมีคุณภาพมากขึ้นดังนั้นจาก แนวโน้มดังกล่าว ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ธุรกิจบัตรเครดิตคงจะมีแนวโน้มขยายตัวที่ชะลอลง แต่เป็นการขยายตัวอย่างมีคุณภาพมากขึ้น โดยศูนย์ วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ณ สิ้นปี 2545 จำนวนบัตรเครดิตทั้งระบบจะอยู่ที่ประมาณไม่ต่ำกว่า 5 ล้านบัตร จากจำนวนบัตรเครดิต 3.6 ล้านบัตรในปีก่อนหน้า การใช้จ่ายผ่านบัตรที่ยังคงมีแนวโน้มที่สูงขึ้นแต่เป็นการเพิ่มในอัตราที่ชะลอตัวลง จากการเพิ่มขึ้นของจำนวนบัตรเครดิตในอัตราที่ลดลง โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรของผู้บริโภค ณ ปลายปี 2545 จะมีการเติบโตไม่เกิน 30% จากการเติบโตที่ 36% ในปีก่อนหน้า ยอด คงค้างบัตรเครดิตที่มีแนวโน้มที่จะชะลอตัวลงกว่าในช่วงที่ผ่านมา โดยส่วน หนึ่งจากการกำหนดเพดานดอกเบี้ยใหม่ที่มีผลต่อค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยโดยรวม ที่ลดลง และจากการเติบโตที่ชะลอลงของบัตรเครดิต ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่ายอดคงค้างบัตรเครดิตสิ้นปี 2545 จะมีการเติบโตที่ประมาณ 25% จาก การเติบโตที่ 26% ในปีก่อนหน้า และท้ายที่สุด รูปลักษณ์การแข่งขันของผู้ประกอบการในธุรกิจนี้ก็จะยังคงเข้มข้น โดยลูกค้าจะเป็นผู้มีอำนาจต่อรองใน ตลาดนี้ ซึ่งผู้ประกอบการต่างๆย่อมที่จะต้องพยายามรักษาฐานลูกค้าเดิมไว้ ให้ได้ การเสนอบริการและรายการส่งเสริมการขายที่ดีจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก ขึ้นในตลาดนี้ ในการสามารถครองใจผู้บริโภคให้ได้มากกว่าคู่แข่งในตลาดเดียวกัน

ท้ายที่สุด แม้ว่าจะมีการออกกฎควบคุมเพดานอัตราดอกเบี้ยและกำหนดรายได้ขั้นต่ำ แต่ความยั่งยืนและคุณภาพของสินเชื่อบัตรเครดิตในระบบ ยังคงจะขึ้นอยู่กับวินัยในการใช้จ่ายของผู้ถือบัตร ในขณะเดียวกัน ผู้ออกบัตรก็ควรจะต้องติดตามข้อมูลและความเสี่ยงจากการใช้จ่ายของลูกค้า เพื่อมิให้เกิดปัญหาฟองสบู่ในอนาคต ดังเช่นที่กำลังเกิดกับบางประเทศในขณะนี้



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.