แบงก์ต่างชาติรุกสินเชื่อบุคคล


ผู้จัดการรายวัน(11 พฤศจิกายน 2545)



กลับสู่หน้าหลัก

แบงก์ต่างประเทศแห่ขยายสินเชื่อ บุคคลอย่างหนักหลังเจอกม.คุมเข้มบัตรเครดิต สแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด โอดลำบากหนักจากข้อบังคับดอกเบี้ยบัตรไม่เกิน 18% เหตุต้นทุนสูง ด้านไทยทนุไม่หวั่นแจงเดินตามกฎ รวมทั้งไม่เน้นสินเชื่อบัตรเครดิต ขณะที่บริษัทบัตรกรุงไทยเล็งเริ่มสินเชื่อบุคคลต้นปีหน้า

แหล่งข่าวจากธนาคารไทยทนุ(DTDB)เปิดเผยว่า ธนาคารคงไม่ได้รับผลกระทบจากการออกกฎกระทรวงการคลังเพื่อมาควบคุมบัตรเครดิต เนื่องจากปัจจุบันธนาคารดำเนินการตามกฎระเบียบ ทุกอย่าง อีกทั้งธนาคารไม่ได้เน้นการขยายบัตรเครดิตแต่ให้ความสำคัญกับการขยายสินเชื่อบุคคล ซึ่งเชื่อว่าหลังจากนี้ระบบธนาคารพาณิชย์ทั้งธนา- คารพาณิชย์ไทยและธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศจะมีการแข่งขันของสินเชื่อบุคคลอย่างรุนแรง เพราะผลกระทบจากข้อกำหนดในเรื่องบัตรเดรดิต

"ที่ผ่านมาธนาคารไทยทนุไม่ได้เข้าไปเล่นเรื่อง บัตรเครดิตเหมือนธนาคารอื่นจึงไม่ได้รับผลกระทบจากกฎเกณฑ์ที่เกิดขึ้น อีกทั้งปัจจุบันธนาคารก็คิดอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 18% และคุณสมบัติผู้มีบัตรยัง อยู่ที่ 1.5 หมื่นบาท แต่เป็นห่วงเรื่องสินเชื่อบุคคลจะมีคนเข้ามาแข่งขันสูง โดยเฉพาะธนาคารต่างประเทศที่คิดดอกเบี้ยบัตรเครดิตสูงจะต้องปรับตัวเองโดยเน้นสินเชื่อบุคคลมากขึ้น"

ทั้งนี้การที่ธนาคารพาณิชย์จะหันมาหารายได้จากสินเชื่อบุคคลมากขึ้น เนื่องจากยังไม่มีข้อกำหนด เรื่องอัตราดอกเบี้ย แต่อย่างไรก็ตามหากมีการแข่งขันสูงผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นคือลูกค้าผู้ขอสินเชื่อ เพราะทุกธนาคารจะต้องลดดอกเบี้ยเพื่อดึงดูดลูกค้า

แหล่งข่าวจากธนาคารสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด นครธน(SCNB)กล่าวว่า ธนาคารได้รับผลกระทบจาก การกำหนดอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตไว้ไม่เกิน 18% เนื่องจากปัจจุบันธนาคารคิดดอกเบี้ยสูงกว่าระดับดังกล่าว เพราะมีต้นทุนการดำเนินธุรกิจที่สูง

อย่างไรก็ตาม ธนาคารคงต้องปรับตัวในการดำเนินธุรกิจโดยลดงบประมาณด้านกิจกรรมที่จะตอบแทนลูกค้าบัตร รวมทั้งลดการขยายฐานบัตรเครดิตลง และจะให้ความสำคัญกับสินเชื่อบุคคลมากขึ้น ซึ่งจะให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าเพราะยังไม่มีการตีกรอบดอกเบี้ย

"หากมีการประกาศใช้ข้อบังคับการคิดดอกเบี้ยบัตรเครดิตไม่ให้เกิน 18% ธนาคารจะได้รับผลกระทบโดยตรง เพราะปัจจุบันดอกเบี้ยของธนาคารอยู่ในระดับ 20 กว่า% ซึ่งการคิดดอกเบี้ยที่สูงเนื่องจาก ธนาคารมีต้นทุนการดำเนินธุรกิจมากมีข้อด้อยเรื่องสาขาจึงต้องจ้างพนักงานขายมาก อีกทั้งมีผลตอบ แทนด้านกิจกรรมการตลาดให้กับลูกค้ามาก ซึ่งต่อไป นี้คงต้องลดกิจกรรมตอบแทนลูกค้าลงเพื่อให้เหมาะสมกับต้นทุน"

นายนิวัตติ์ จิตตาลาน กรรมการผู้จัดการ บริษัทบัตรกรุงไทย(KTC) กล่าวว่า บริษัทได้ยกเลิกการอนุมัติบัตรเครดิตสำหรับลูกค้าที่มีเกณฑ์รายได้ต่ำกว่า 1.5 หมื่นบาทลงทันทีตั้งแต่วันที่ทางการประกาศกฎข้อบังคับออกมาเมื่อวันพฤหัสบดี(7 พ.ย.)

อย่างไรก็ตาม บริษัทได้ปรับเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ ทางการเงินให้เหมาะสมกับลูกค้ากลุ่มที่มีรายได้ต่ำกว่า 1.5 หมื่นบาท โดยในปีหน้าจะออกผลิตภัณฑ์สินเชื่อ ส่วนบุคคลแบบเฉพาะเจาะจง เช่น สินเชื่อสำหรับการศึกษา สามารถกู้ยืมภายในระยะเวลา 3 เดือน เนื่องจากบริษัทมีฐานข้อมูลลูกค้ากลุ่มรายได้ดังกล่าว อยู่และประเมินแล้วว่าลูกค้ากลุ่มนี้มีความเสี่ยงที่พอจะรับได้



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.