ชำแหละบัตร"อิออน" หนัก กฎใหม่


ผู้จัดการรายวัน(8 พฤศจิกายน 2545)



กลับสู่หน้าหลัก

ผู้บริหารบัตรกรุงไทยเปิดแถลงข่าวทันควันหลังคลังคลอดเกณฑ์คุมธุรกิจบัตรเครดิตหวังสกัดผลกระทบต่อราคาหุ้นของเคทีซีในตลาด หลักทรัพย์ ฯยังไม่มีผลกระทบอย่างรุนแรงจากเกณฑ์ดังกล่าว เว้นการเบิกเงินสดที่รายได้ของเคทีซีหายไป 25 ล้านบาทต่อปี เปรยลูกค้าบัตรที่มีรายได้ต่ำกว่า 10,000 บาทต่อเดือนมีแค่ 6% ของยอดบัตรทั้งหมด ด้านอิออนรับผลกระทบจังเบอร์รายได้หายไปทันที 7% โบรกเกอร์แนะเลี่ยงลงทุน ขณะที่เคทีซีจะขยายตัวได้น้อยลง

มาตรการควบคุมธุรกิจบัตรเครดิตที่กระทรวงการคลังจะนำมาบังคับใช้ ได้สร้างผลกระทบต่อการซื้อหุ้นของบริษัท ที่ดำเนินธุรกิจบัตรเครดิตที่จดทะเบียนในตลาดหลัก ทรัพย์แห่งประเทศไทยทั้ง บริษัทบัตรกรุงไทย จำกัด(มหาชน)หรือ KTC และ บริษัท อิออน ธนสินทรัพย์ ( ประเทศไทย ) จำกัด ( มหาชน ) AEONTS มาตลอดช่วงรอบ 1สัปดาห์ที่ผ่านมาแม้กระทั่งประกาศดังกล่าวได้ข้อยุติเมื่อวันพุธ(6พ.ย.) ความผันผวนของราคาหุ้นของสองบริษัทก็ยังดำเนินต่อไปเพราะนักลงทุนวิตกด้านรายได้ของธุรกิจนี้จะลดลงไป

นายนิวัตต์ จิตตาลาน กรรมการผู้จัดการ บริษัทบัตรกรุงไทย กล่าวว่า การเตรียมออกกฎเกี่ยวกับการคุมบัตรเครดิตหลังจากที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกล่าวที่ทำเนียบรัฐบาลเมื่อวันที่ 6 พ.ย. ที่ผ่านมา ว่าในส่วนของเคทีซีไม่ได้รับผลกระทบจากกฎเกณฑ์ดังกล่าว มีเพียงแต่การปรับลดการคิดค่าธรรมเนียมการใช้บัตรเครดิตเบิกเงินสดจากตู้เอทีเอ็มที่ปรับลดให้เหลือ 3% ซึ่งในส่วนของเคทีซีคิดการเบิกเงินสดแค่ 4% แสดงให้เห็นว่า ความแตกต่างที่หายไป 1% ทำให้รายได้ในส่วนนี้ของเคทีซีหายไปประมาณ 25 ล้านบาทต่อปี

ขณะที่สิ่งที่กระทรวงการคลังควบคุมไม่ว่าทุนจดทะเบียนในส่วนของเคทีซี ปัจจุบันมียอดทุนจดทะเบียน 1,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยที่กำหนดเพดานไม่เกิน 18% ในส่วนของเคทีซีกำหนดไว้ 17.75% เบี้ยปรับจากการชำระช้าที่กำหนดไว้ 2% เคทีซีไม่มีการกำหนดเบี้ยปรับและไม่มีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมแรกเข้า/รายปี

ประกาศกระทรวงการคลังเกี่ยวกับบัตรเครดิตซึ่งจะประกาศใช้ในวันจันทร์ที่ 11พ.ย.นี้ สาระสำคัญประกอบด้วย กำหนดให้ผู้มีบัตรเครดิตต้องมีรายได้ประจำไม่ต่ำกว่า 15,000 บาทต่อเดือน หรือหากไม่มีรายได้ประจำก็จะพิจารณายอดที่มีเงินฝากในธนาคารพาณิชย์ เพดานอัตราดอกเบี้ย ไม่เกิน 18% ของยอดคงค้าง อัตราค่าธรรมเนียมการกดเงินสดจากตู้เอทีเอ็มไม่เกิน 3% ต่อครั้ง และผู้ประกอบการธุรกิจบัตรเครดิตต้องมีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท

"ถ้ามองแล้วเราเคารพต่อกฎที่ออกมาซึ่งหากการออกมาคุมของรัฐบาลครั้งนี้เพื่อดูแลลูกค้าบางรายที่ถูกเอารัดเอาเปรียบหรือมองว่าลูกค้ากลุ่มนี้จะใช้จ่ายไม่ระมัดระวัง รัฐในฐานะตัวกลางควบคุม ซึ่งเห็นด้วย จริงๆแล้วการทำธุรกิจของเคทีซีไม่ได้ทำแค่ธุรกิจบัตรเครดิตอย่างเดียวแต่บริษัทกรุงไทยยังมีบริการด้านสินเชื่ออื่นๆ อีกหลายประเภท เช่น สินเชื่อบุคคล บัตรชำระค่าน้ำมัน บัตรทางด่วน เป็นต้น อีกทั้งเคทีซีมีแผนที่จะสร้างบริการสินเชื่ออื่นๆเพื่อเป็นแหล่งรายได้หลักอีกทางหนึ่งของบริษัทในอนาคต รวมถึงการปรับปรุง ด้านบริหารงานและบริหารความเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง" นายนิวัตต์กล่าว

ทั้งนี้หากพิจารณาโครงสร้างฐานบัตรเครดิตของเคทีซี ซึ่งปัจจุบันมีประมาณ 5 แสนบัตร แยกเป็น ผู้ถือบัตรที่มีรายได้ตั้งแต่ 15,000 บาทต่อเดือน คิดเป็น 80% ของจำนวนบัตรทั้งหมด รายได้ระหว่าง 10,000-15,000 บาทต่อเดือน คิดเป็น 15% ของจำนวนบัตรทั้งหมดและ 6% ในส่วนของผู้ถือบัตรที่มีรายได้ต่ำกว่า 10,000 บาทต่อเดือน อีกทั้งจากสถิติที่บริษัทฯมีอยู่พบว่า ผู้ถือบัตรมีรายได้ต่ำกว่า 10,000 บาทต่อเดือน มีความเสี่ยงไม่มากไปกว่าผู้ถือบัตรกลุ่มรายได้ระดับอื่นๆ ประกอบกับประสิทธิภาพในการบริหารความเสี่ยงและการอนุมัติบัตรเครดิตที่รัดกุมของบริษัทฯ ทำให้บัตรกรุงไทยมีความมั่นใจว่าจะไม่ได้รับผลกระทบในส่วนนี้อย่างแน่นอน

นอกจากนี้ หากพิจารณายอดผิดนัดชำระแล้วเมื่อเทียบกับทั้งตลาดที่อยู่ประมาณ 7% ของเคทีซีเฉลี่ยทั้ง 3 กลุ่มรายได้อยู่ที่ 2% กว่าเท่านั้น และหากแยกเป็นแต่ละกลุ่มรายได้จะพบว่าตั้งแต่ 15,000 บาทต่อเดือน ยอดค้างชำระอยู่ 1.71%

รายได้ระหว่าง 10,000-15,000 บาทต่อเดือน ยอดค้างชำระอยู่ที่ 1.42% และต่ำกว่า 10,000 บาทต่อเดือน อยู่ที่ 1.16%

ขณะที่ต้นทุนในการหาสมาชิกบัตรเครดิตใหม่ของบริษัทฯอยู่ที่ 7% ซึ่งในส่วนของต้นทุนการหาบัตรใหม่ของตลาดประมาณ 12,000 บาท และ บริษัทมีส่วนต่างรายได้หักรายจ่าย ( Net Profit After Tax ) แล้วยังมีส่วนต่างประมาณ 2-3% ต่อลูกค้าของบริษัททั้งหมด

นายนิวัตต์ กล่าวว่า ในส่วนของลูกค้าบัตรเครดิตที่อยู่ในกลุ่มรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาทต่อเดือน คิดว่าต้องพิจารณาพฤติกรรมค้างชำระว่ามีการผิดนัดชำระอย่างต่อเนื่องหรือไม่ ซึ่งหากไม่มีพฤติกรรมดังกล่าวบริษัทฯ จะดูแลลูกค้าดังกล่าวต่อไป ส่วนลูกค้าที่ไม่ได้บริษัทฯคงไม่เก็บไว้

อย่างไรก็ตามในด้านรายได้ของบริษัทฯ ในส่วนลูกค้าที่มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาทต่อเดือนนั้น แม้ธนาคารได้มีการบันทึกลูกค้าดังกล่าวเมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา แต่ในด้านอัตราการเติบโตของการใช้จ่ายจากลูกหนี้กลุ่มนี้ยังอยู่ระดับที่ไม่มากนักและยังไม่สามารถประเมินเป็นรายได้ที่ชัดเจน คาดว่าต้องใช้เวลา 6-8 เดือน ถึงจะรู้ยอดรายได้จากลูกค้าที่มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาทต่อเดือน ส่วนรายได้จากผู้ถือบัตรที่เกิน 15,000 บาทต่อเดือน กำไรต่อรายจะอยู่ประมาณ 260 บาทต่อบัตรต่อปี

อิออนยันลูกค้าบัตรมีน้อย นายอภิชาติ นันทเทิม กรรมการบริหาร บริษัท อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) หรือ AEONTS ผู้ให้บริการบัตรเครดิต กล่าวว่า จากกรณีดังกล่าวได้ส่งผลกระทบกับราคาหุ้น AEONTS ที่ได้ปรับตัวในช่วงที่ผ่านมา แต่วานนี้ (7 พ.ย.) ราคาหุ้นได้ปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังจากที่หลักเกณฑ์มีความชัดเจนมากขึ้น

ปิดตลาดราคาหุ้นของอิออนอยู่ที่ 122 บาทเพิ่มขึ้นจากวันก่อนหน้า 11 บาท หรือ 9.91% โดยราคาขึ้นไปสูงสุดที่ 123 บาทและต่ำสุดที่ราคา 107 บาท

"บริษัทคงจะไม่ได้รับผลกระทบจากการประกาศใช้หลักเกณฑ์ดังกล่าวมากนัก แต่ก็ต้องมีการชี้แจงให้กับนักลงทุนเข้าใจ เพราะบริษัทดำเนินธุรกิจสินเชื่อสำหรับรายย่อย ไม่เฉพาะธุรกิจบัตรเครดินเพียงอย่างเดียว ซึ่งมีสัดส่วนรายได้ประมาณ 20% ของรายได้รวมทั้งหมด ขณะที่รายได้หลักกว่า 80% มาจากธุรกิจเช่าซื้อและสินเชื่อส่วนบุคคล"

สำหรับประเด็นในการคำนวณอัตราดอกเบี้ยนั้น ปัจจุบัน อิออนคิดอัตราดอกเบี้ยที่ 28% ต่อปี โดยจะเริ่มคำนวณภายหลังจากลูกค้าใช้บัตรไปแล้ว 1 เดือน ขณะที่สถาบันการเงินในระบบจะเริ่มคำนวณทำนทีในวันที่ใช้บัตร โดยเฉลี่ยอิออนเริ่มวันที่คิดดอกเบี้ยต่ำกว่าสถาบันการเงินในระบบเฉลี่ยประมาณ 15 วัน และต่อไปหากต้องคำนวณดอกเบี้ยตามกฎของทางการ ก็จะปรับเวลาในการคำนวณดอกเบี้ยลงไปเหมือนกับที่อื่นๆ

ส่วนเรื่องฐานรายได้ ของลูกค้ายอมรับว่ากลุ่มที่มีรายได้ต่ำกว่าเดือนละ 15,000 บาท มีมากกว่า 60% แต่ลูกค้าส่วนใหญ่ไม่ได้ใช้บริการบัตรเครดิต แต่ใช้บริการเช่าซื้อมากกว่า และไม่น่าจะมีปัญหาเรื่องการขยายฐานลูกค้า โดยบริษัทมั่นใจว่ายังจะมีอัตราการเติบโตต่อเนื่อง เพราะทางการยังเปิดช่องเอาไว้ให้นั่นคือหากฐานรายได้ลูกค้าต่ำกว่า 15,000 บาท ก็สามารถพิจารณาจากสมุดเงินฝากเพิ่มเติมได้

ด้านนายขวัญชัย โหมดประดิษฐ์ กรรมการบริหาร บริษัท อิออน กล่าวเพิ่มเติม ว่า บริษัทไม่เห็นด้วยกับการกำหนดอัตราเงินเดือนขั้นต่ำดังกล่าว เพราะจำกัดสิทธิของผู้ที่มีเงินเดือนน้อย แต่มีวินัยในการชำระหนี้ดี ให้ต้องหมดโอกาสในการสร้างเครดิตให้กับตัวเอง โดยภาครัฐควรให้ความสำคัญกับการจำกัดวงเงินมากกว่า ทั้งนี้ บริษัทคงต้องปรับเป้าหมายผลประกอบการ และปรับกลยุทธ์การตลาดให้เข้าไปเกณฑ์ใหม่ที่ออกมา

โบรกเกอร์ชำแหละอิออนหนักรายได้ลดกว่า 7%แนะทิ้งหุ้น ฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เกียรตินาคิน จำกัด ประเมินว่า การประกาศใช้หลักเกณฑ์ควบคุมบัตรเครดิต จะส่งผลกระทบในระยะสั้นต่อผู้ประกอบการรายใหญ่อย่างอิออนโดยตรง เนื่องจากในปัจจุบันรายได้จากธุรกิจบัตรเครดิตของอิออนมีสัดส่วนประมาณ 30% ของรายได้รวม และมีอัตราการเติบโตในช่วง 6 เดือนแรก (21 ก.พ.-20 ส.ค. 2545) สูงถึงจากงวดเดียวกันของปีก่อนถึง 90.59%

ทั้งนี้ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับอิอนจะเริ่มส่งผลต่อรายได้ในไตรมาส 4 ปีนี้ทันที ดังนั้นจึงได้ปรับลดประมาณการกำไรสุทธิลง 7.1% จากเดิมที่คาดว่าจะมีกำไรสุทธิประมาณ 421 ล้านบาท และกำไรสุทธิต่อหุ้น 8.42 บาท เหลือกำไรสุทธิเพียง 391 ล้านบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น 7.82 บาท

ขณะเดียวกันก็จะมีผลกระทบต่อเนื่องไปถึงไตรมาส 1 ปี 2546 แต่คาดว่า อิออนจะสามารถปรับตัวได้ตามภาวะการณ์ที่เกิดขึ้น แม้จะไม่สามารถชดเชยผลกระทบที่เกิดขึ้นจากรายได้จากบัตรเครดิตที่ลดลงไปได้ในทันที แต่เราคาดว่าผลประกอบการในปี 2546 จะไม่ลดลงจากปี 2545 มากนัก เนื่องจากบริษัทจะมีรายได้จากการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อและสินเชื่อส่วนบุคคลเข้ามาทดแทน ทั้งนี้คาดว่าในปี 2546 บริษัทจะมีกำไรสุทธิประมาณ 375 ล้านบาท และกำไรสุทธิต่อหุ้น 7.49 บาท

ณ สิ้นไตรมาส 2อิออนมียอดสินเชื่อเช่าซื้อ 6,972 ล้านบาท และสินเชื่อส่วนบุคคล 1,778 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนรายได้ 47.8% และ 19.6% ตามลำดับ ของรายได้รวม

จากปัจจัยพื้นฐานของอุตสาหกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป และส่งผลกระทบต่อผลประกอบการของ อิออนโดยตรง โดยเฉพาะผลประกอบการในปี 2546 ดังนั้นจึงแนะนำให้"ขาย" สำหรับการลงทุนในระยะสั้น ส่วนการลงทุนในระยะกลางถึงยาว แนะนำ "ซื้อเมื่ออ่อนตัว" โดยมีแนวรับทางเทคนิคที่ประมาณ 80 บาท

คาดเคทีซีขยายตัวน้อยลง ด้านฝ่ายวิจัย บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) ให้ความเห็นที่ตรงกันข้าม โดยแนะซื้อเก็งกำไรในอิออนแม้ว่าจะได้ปรับประมาณการปี2545/2546 และ 2546/ 2547 ลดลงจากเดิม 10% และ 11% โดยคาดว่าจะมีกำไรสุทธิลดลงเหลือ 424 และ 545 ล้านบาท (กำไรสุทธิต่อหุ้น 8.9 และ 10.90 บาท) จากการปรับสมติฐานในด้านอัตราดอกเบี้ยในส่วนวงเงินบัตรเครดิต สำหรับการซื้อสินค้าลดลงจาก 25.6% เหลือ 18% ต่อปี

"เราเชื่อว่า AEONTS จะมีนโยบายในการขยายสินเชื่อส่วนบุคคลเพิ่มขึ้นในอนาคต เพื่อชดเชยกับอัตราการขายตัวธุรกิจบัตรเครดิตที่ลดลง ซึ่งในส่วนของลูกค้าที่มีฐานเงินเดือนต่ำกว่า 1.5 หมื่นบาทต่อเดือน ก็ยังสามารถใช้บริษัทของ AEONTS ได้โดยผ่านการใช้สินเชื่อเช่าซื้อสินค้าและสินเชื่อส่วนบุคคลแทนการใช้วงเงินบัตรเครดิต"

ดังนั้น บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส แนะนำให้ซื้อเก็งกำไรระยะสั้น โดยมีราคาเป้าหมายในระยะสั้น 3 เดือนที่ 131 บาท จาก PE เท่ากับ 12 เท่าในปี 2546/47 และมีแนวโน้มที่จะปรับประมาณการราคาเป้าหมายเพิ่มขึ้น เพราะบริษัทมีนโยบายที่ชัดเจนในการขยายธุรกิจในอนาคต

สำหรับเคทีซีแนะนำให้ขายเพราะเชื่อว่าผลจากการออกหลักทรัพย์ใหม่ในการทำธุรกิจบัตรเครดิตนี้จะส่งผลให้การขยายฐานลูกค้าบัตรเครดิตของ KTC ชะลอตัวลงมากในปี2546 ถึงแม้ว่าบริษัทจะไม่ได้รับผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยใหม่ที่ 18% เนื่องจากโดยรวมแล้วบริษัทคิดอัตราดอกเบี้ย 17.75 % ต่อปี แต่ด้านรายได้ค่าธรรมเนียมจะลดลงจากค่าธรรมเนียมเบิกถอนเงินสดจากบัตรเครดิต เหลือไม่เกิน 3% ต่อครั้ง จากเดิมที่บริษัทคิดค่าธรรมเนียมที่ 120 บาทต่อครั้ง

บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส ได้ประมาณการกำไรสุทธิของเคทีซีในปี 2546 ลดลง 13% เหลือ125 ล้านบาท(EPS=1.25 บาท) จากการปรับลดฐานลูกค้าบัตรเครดิตจากเดิมที่ 6.5 แสนใบเหลือ 6.0 แสนใบในปี 2546 จึงแนะนำขายในKTC โดยราคาเป้าหมายทางพื้นฐานที่เราประมาณการไว้ที่ 15.0 บาท (คิดจาก PE เท่ากับ 12 เท่าในปีนี้ 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.