|
"แบงก์-นอนแบงก์" คัดเดนลูกหนี้ขายรัฐ ขายสินเชื่อบุคคลแคปปิตอล โอเค ได้เปรียบ
ผู้จัดการรายสัปดาห์(13 ตุลาคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
ผู้ประกอบการบัตรเครดิต-สินเชื่อบุคคล คัดลูกหนี้เสื่อมสภาพขายรัฐ ของดีขอเก็บไว้เอง ถามรัฐถ้าได้ไปแล้วตามหนี้ไม่ได้ หนี้สูญตกที่ใคร เผยมีลูกหนี้ดีแอบไปลงทะเบียนคนจนหลายราย หวั่นลูกหนี้ดีจะรอความหวังครั้งใหม่จากรัฐอีก ประเมินหากขายหนี้บุคคลแคปปิตอล โอเค ได้เปรียบ
การรัฐบาลกำลังดำเนินการเพื่อปลดเปลื้องภาระหนี้ประชาชนมูลค่ากว่า 2.7 แสนล้านบาทนั้น สร้างความกังวลให้กับบุคคลในแวดวงการเงินเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะผู้ประกอบการด้านบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล เนื่องจากเป้าหมายในการให้ความช่วยเหลือในครั้งนี้ได้พุ่งไปที่ผู้ที่ถูกฟ้องร้องจากเจ้าหนี้ที่มีคดีก่อนมิถุนายน 2548
ข้อมูลเบื้องต้นระบุว่ามีเงินต้นเพียง 7.4 พันล้านบาท ที่เหลือเป็นดอกเบี้ยที่ระบุว่าเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงเกิดวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 โดยรัฐมีแผนเจรจากับสถาบันการเงินในฐานะเจ้าหนี้จะขอซื้อในอัตราส่วนลด 50% เพื่อให้ผู้ที่เดือดร้อนราว 1 แสนราย ผ่อนชำระให้เสร็จสิ้นภายในระยะเวลา 6 เดือน และจะประกาศอย่างเป็นทางการในวันที่ 18 ตุลาคม 2548
แนวคิดดังกล่าวได้รับการวิพากษ์วิจารณ์จากบุคคลทางการเงินอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะเรื่องของหนี้ดังกล่าวนี้มีมาตั้งแต่ปี 2540 ซึ่งเกือบทุกคนมองเหมือนกันว่าไม่ใช่ เนื่องจากหนี้บัตรเครดิตหรือสินเชื่อส่วนบุคคลนั้นการฟ้องร้องจะต้องดำเนินการภายใน 2 ปี รายที่ตามไม่ได้ก็ตัดหนี้สูญไป
หนี้ดังกล่าวน่าจะเกิดในช่วงที่ตลาดบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลเฟื่องฟูสุดขีดช่วงปี 2545 ตรงกับแนวทางการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาลไทยรักไทย ที่สร้างความเชื่อมั่นในภาวะเศรษฐกิจและส่งเสริมให้ประชาชนใช้จ่าย เห็นได้จากตัวเลขหนี้สินต่อครัวเรือนในปี 2544 อยู่ที่ 68,279 บาท ปี 2545 ขยับขึ้นไปที่ 82,485 บาท ปี 2547 พุ่งขึ้นไปถึง 104,571 บาทต่อครัวเรือน
ตรงกับผู้ประกอบการที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน(Non Bank)เฟื่องฟูสุดขีด ขณะนั้นผู้มีรายได้ราว 7 พันบาทก็ทำบัตรเครดิตได้ ขณะที่สินเชื่อส่วนบุคคลรายได้แค่ 4-5 พันบาทก็สามารถใช้บริการได้แล้ว
ช่วยไม่ได้ทุกราย
"ขณะนี้ยังสับสนว่าหนี้ที่รัฐจะเข้ามาดูแลนี้จะรวมถึงบัตรเครดิตด้วยหรือไม่ แต่ครั้งแรกบอกว่ารวม ทำให้เราทำงานลำบากโดยเฉพาะเรื่องการเตรียมข้อมูล นอกจากนี้จะรวมถึง Non Bank ด้วยหรือไม่ก็ไม่ชัดเจน" แหล่งข่าวจากวงการบัตรเครดิตกล่าว
เขากล่าวต่อไปว่า ก่อนที่รัฐบาลจะออกมาตรการใด ๆ ออกมาควรจะต้องพิจารณาให้รอบคอบก่อน ไม่ใช่นั้นจะเกิดความสับสนขึ้นอย่างที่เป็นอยู่ ทั้งเรื่องการขอล้มละลายตัวเอง หรือมาตรการห้ามยึดบ้านยึดรถ หากเกิดขึ้นจริงเชื่อว่าคงไม่มีผู้ประกอบการรายใดอยู่ได้ เมื่อนั้นประชาชนอาจต้องกลับไปพึ่งพาสินเชื่อนอกระบบอีกครั้ง
อย่างไรก็ตามการช่วยเหลือประชาชนในครั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะได้รับการช่วยเหลือทั้งหมด เพราะหากเป็นไปตามเงื่อนไขเดิมคือเป็นเรื่องของความสมัครใจของ ดังนั้นสถาบันการเงินหรือ Non Bank คงเลือกขายให้รัฐเฉพาะลูกหนี้รายที่ติดตามไม่ได้จริง ๆ เท่านั้น ส่วนที่ตามได้เราก็คงจะดำเนินการเอง
ที่ผ่านมาระบบการติดตามหนี้สินของผู้ประกอบการค่อนข้างรัดกุม เห็นได้จากหนี้เสียของธุรกิจประเภทนี้เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 3% เท่านั้น
ซื้อหนี้-หนี้สูญรัฐรับ?
ในภาพรวมของธุรกิจบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล เป็นการช่วยให้บุคคลสามารถแก้ไขปัญหาสภาพคล่องของตนเองได้ โดยที่ไม่ต้องไปพึ่งพาสินเชื่อนอกระบบ โดยที่อัตราดอกเบี้ยก็ถูกควบคุมจากทางการเช่นบัตรเครดิตไม่เกิน 18% สินเชื่อบุคคลไม่เกิน 28%
แม้ในอดีตอาจมีการคิดอัตราดอกเบี้ยสูงไปบ้างแต่เมื่อมีการประนอมหนี้เราก็ลดอัตราดอกเบี้ยให้ตามความสามารถของลูกหนี้อยู่แล้ว หากเป็นกรณีฟ้องร้องก็ต้องเจรจาเรื่องของเงินต้นและอัตราดอกเบี้ยกันใหม่ ซึ่งอัตราดอกเบี้ยก็คิดได้แค่ 7.5% เท่านั้น
แน่นอนว่าคนในวงการนี้ไม่เข้าใจว่ารัฐจะซื้อในราคาส่วนลด 50% นั้นจะเอาไปบริหารจัดการอย่างไร เพราะถึงอย่างไรก็ต้องมีต้นทุนในการจัดการ นั่นหมายความว่าลูกหนี้ที่ผู้ประกอบการขายให้นั้นคงไม่ใช่แค่รับผิดชอบเฉพาะเงินต้น 50% แค่นั้น ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกันระหว่างการขายให้รัฐที่ราคา 50% กับการติดตามหนี้เองนั้น เราคิดว่าเราทำได้ดีกว่า
"ที่สำคัญคือลูกหนี้ที่รัฐได้ไปนั้นจะมีความสามารถในการชำระหนี้ได้จริงหรือไม่ แม้รัฐจะไม่คิดดอกเบี้ยก็ตาม และถ้าตามไม่ได้ลูกหนี้รายนั้นจะกลายเป็นหนี้สูญของรัฐหรือไม่"
หากรัฐใช้ข้อมูลจากการลงทะเบียนคนจนเป็นหลักนั้น จะพบว่าคนที่ไปลงทะเบียนส่วนใหญ่จะเป็นลูกค้าของกลุ่ม Non Bank เป็นหลัก เนื่องจากหลักเกณฑ์เรื่องรายได้ต่ำกว่าของธนาคารพาณิชย์ ถือเป็นฐานใหญ่ของสินเชื่อส่วนบุคคล ถ้ารัฐต้องการแก้ปัญหาหนี้ภาคประชาชนให้ได้มาก ถึงอย่างไรก็ตามเข้ามาดูแลสินเชื่อในกลุ่มนี้เป็นพิเศษ
ประวัติล้างไม่ได้
ขณะนี้คนในวงการการเงินเห็นตรงกันนั่นคือ กรณีนี้จะเป็นลูกหนี้ต้นแบบ แม้ลูกหนี้บางรายจะไม่ได้อยู่ในเงื่อนไขนี้ ถึงวันนี้หลายคนก็คิดว่าชำระหนี้ไปทำไม รอให้รัฐบาลเข้ามาลดหนี้ให้ 50% ดีกว่า กรณีอย่างนี้เริ่มมีบ้างแล้ว เช่น ลูกค้าที่ชำระตรงตามงวดปกติ กลับไปพบว่าไปลงชื่อในทะเบียนคนจนด้วย นี่กำลังจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ของระบบการเงิน
ในอีกด้านหนึ่งมาตรการดังกล่าวถือเป็นการช่วยผู้ประกอบการอีกทาง คือลูกหนี้ที่คิดว่าตามไม่ได้แทนที่จะตัดเป็นศูนย์ ก็ได้เงินคืนมา 50% ขณะที่ลูกหนี้บางรายที่เคยหวังว่าจะไม่ต้องใช้หนี้แล้วก็ต้องกลับมาคุยกับเจ้าหนี้รายใหม่อีกครั้ง
"สิ่งที่รัฐมองว่าเมื่อลูกหนี้กลุ่มนี้ผ่อนชำระได้หมด ก็จะดำรงชีวิตหรือขอสินเชื่อใหม่ได้ตามปกตินั้น เราเชื่อว่ารัฐคิดผิด เพราะถึงอย่างไรประวัติการผิดนัดชำระหนี้ก็ยังติดอยู่ในระบบเครดิตบูโรอยู่ดี ถามว่าผู้ประกอบการรายไหนจะกล้าปล่อยกู้อีก"
OK สำรองหนี้สูง
หากพิจารณาจากจำนวนสินเชื่อบุคคลของผู้ประกอบการ Non Bank 3 ราย ทั้งในช่วงไตรมาส 1 และ 2 (30 มิ.ย.)ของปี 2548 พบว่ารายใหญ่อย่างเคทีซีมีอัตราการเพิ่มเพียง 3.27% และมีการตั้งหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้นจากเดิมที่ 5.92% ส่วนอิออนธนสินทรัพย์มีอัตราการเพิ่มถึง 44.79% และตั้งสำรองหนี้เพิ่ม 11.08%
ขณะที่แคปปิตอลโอเค ที่มีบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น ถือหุ้น 60% ที่เริ่มเปิดดำเนินการเมื่อ 1 สิงหาคม 2547 มีอัตราขยายตัวของสินเชื่อสูงถึง 54.29% ขณะที่มีการตั้งสำรองหนี้เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 1 ถึง 135.29%
หากทั้ง 3 รายนี้ขายหนี้ให้รัฐบาล ค่ายที่น่าจะได้ประโยชน์สูงสุดคงเป็นค่ายแคปปิตอลโอเค แม้จะมีวงเงินไม่สูงนัก เนื่องจากภาระที่ต้องตั้งสำรองสูง หากสามารถเลือกลูกหนี้ที่ตามไม่ได้จริง ๆ แล้ว ย่อมถือเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายในการติดตามหนี้ได้ดี แต่ทั้งนี้คงต้องขึ้นอยู่กับความสมัครใจของผู้ประกอบการเองว่าจะเลือกร่วมมือกับโครงการนี้หรือไม่
อ่านเพิ่มเติม "แก้หนี้ประชาชน ฤาแค่วิมานในอากาศ
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|