|

2 โมเดลเอสเอ็มอี สร้าง‘Value creation’แบบง่ายๆ
ผู้จัดการรายสัปดาห์(13 ตุลาคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
๐ Value creation ก่อเกิดนวัตกรรมสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ด้วยการคิดต่างจากคนอื่น
๐ 2 โมเดล ตัวอย่างจากผู้ประกอบการระดับเอสเอ็มอี นำคอนเซ็ปต์ Value creation แบบอ่อนๆ พัฒนาสินค้าธรรมดาๆ ของเดิมๆ ได้อย่างน่าดึงดูด
๐ แง้มไอเดียเล็กๆ รายแรกแปลงกระจกธรรมดาสู่งานศิลปะหลากแบบ รายสองพัฒนาจากขนมดูดวงสู่ขนมแฟนซี สร้างธุรกิจก้าวไกลกว่า
๐ 2 โมเดลง่ายๆ พิสูจน์ความสำเร็จมาแล้ว และคุณอาจเป็นรายต่อไป !
จะทำอย่างไรเมื่อดูเหมือนว่าอะไรๆ ก็มักจะมีคนทำอยู่แล้ว ? หรือถ้าทำให้แตกต่างก็จะต้องเพิ่มภาระในการบริหารจัดการและต้นทุนอีกมากมาย ? อีกทั้งตลาดจะตอบรับสักแค่ไหนกัน ? ล้วนเป็นคำถามที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมีอยู่ แต่อย่างไรก็ตาม คอนเซ็ปต์ Value creation ก็เป็นกุญแจสำคัญสู่ความสำเร็จที่น่าสนใจ
“ผู้จัดการรายสัปดาห์” นำเสนอ 2 ตัวอย่างธุรกิจระดับเอสเอ็มอี ซึ่งนำคอนเซ็ปต์ Value creation มาใช้ในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ แตกต่างจากแบบเดิมๆ เพื่อเป็นแนวทางสำหรับผู้ประกอบการหลายๆ ราย ที่ยังลังเลและกำลังมองหาช่องทางหรือโอกาสในการทำธุรกิจภายใต้การแข่งขันสูง
๐ แปลงกระจกเรียบๆ สู่ศิลปะเงินล้าน
จิรวัฒน ชวนะธิต กรรมการผู้จัดการ บริษัท LE VETROSA GLASS DESIGN จำกัด ผู้ประกอบการที่เล็งเห็นโอกาสการทำธุรกิจ ด้วยการนำเสนอสินค้าที่มีความแตกต่าง จากแรงบันดาลใจที่เกิดขึ้นเมื่อ 10 ปีก่อน เมื่อได้เดินทางไปต่างประเทศ เพื่อดูงานแก้ว ณ เมืองมูราโน ประเทศอิตาลี ซึ่งขึ้นชื่อในด้านงานดีไซน์กระจก
เขาเห็นว่า วัตถุดิบกระจก แก้ว ในเมืองไทยที่มีและทำตลาดกันอยู่นั้น ยังไม่มีผู้ประกอบการรายใด นำเสนอขายงานในรูปแบบของงานดีไซน์ ด้วยการเพิ่มลวดลาย รูปทรงใหม่ๆ เข้าไปในสินค้า
ดังนั้น ด้วยพื้นฐานการเรียนและการทำงานด้านงานดีไซน์มาก่อน เขาจึงเริ่มค้นคว้าหาข้อมูลความรู้ วิธีการทำจากต่างประเทศ ซึ่งสินค้าเริ่มแรก เป็นของใกล้ตัว เช่น ของขวัญที่ทำจากแก้ว กระจก ซึ่งมีลวดลายต่างๆ เพื่อเข้าถึงกลุ่มผู้ซื้อโดยง่าย
แต่สินค้าที่เขาผลิตออกมา กลับเข้าตาตลาดต่างประเทศอีกด้วย โดยเฉพาะตลาดญี่ปุ่นซึ่งผู้ประกอบการไทยบอกว่าเป็นตลาดที่เข้ายากที่สุด เมื่อเป็นเช่นนี้ ในช่วงนั้นสินค้าของเขาจึงมุ่งเน้นตลาดต่างประเทศเป็นหลัก ทำให้เขาได้พัฒนาฝีมือขยายผลงานสู่งานตกแต่งบ้าน อาคาร สิ่งประดับภายใน เช่น โคมไฟ แจกัน ที่ผลิตจากกระจกด้วยการดีไซน์ รูปทรงใหม่ๆ อย่างเต็มตัว พร้อมทั้งพัฒนาคิดค้นและนำเสนอสินค้าด้วยเทคนิคการผลิตใหม่ ๆ ทำให้ไอเดียของเขาในสินค้านั้นๆ ได้รับการยอมรับในที่สุด
“ผลงานแต่ละชิ้นเป็นศิลปะ ภายใต้คอนเซ็ปต์ Value creation ที่ไม่ได้ว่าด้วยการสร้างสรรค์อย่างเดียว แต่สามารถเพิ่มมูลค่าได้หรือต้องขายได้ ผมมองว่าสินค้าภายใต้งานศิลปะมันสามารถนำมาใช้ในชีวิตจริงได้ เปลี่ยนจากกระจกธรรมดา นำมาดีไซน์ เพิ่มลวดลาย รูปทรงใหม่ๆ ทำให้สามารถนำมาประดับตกแต่งบ้าน อาคาร ด้วยวัตถุประสงค์การใช้งานที่หลากหลายขึ้น แตกต่างจากผู้ผลิตทั่วไปที่เน้นเพียงความแข็งแรงของกระจก ทนความร้อน และปลอดภัยสูงเท่านั้น”
10 ปีกับการสร้างชื่อในต่างประเทศ บวกกับการเติบโตของกลุ่มผู้บริโภคในไทย ทำให้จิรวัฒน วกกลับมาขยายเข้าสู่ตลาดในประเทศอีกครั้ง ขณะเดียวกัน ยังเพิ่มการมีส่วนร่วมของลูกค้าด้วยการตั้งแผนก Made to order ขึ้น เพื่อผลิตกระจกที่มีดีไซน์ตอบสนองความต้องการของลูกค้าแต่ละราย รวมทั้งกลุ่มสถาปนิก มัณฑนากร ที่ต้องการอะไรใหม่ๆ ไม่ซ้ำแบบใคร
สำหรับความสำเร็จในงานดีไซน์กระจก จิรวัฒน บอกว่า ด้วยความโดดเด่นของสินค้าที่นำศิลปะสากล การพัฒนาเทคนิคจากต่างประเทศผสมผสานกับเทคนิคที่คิดค้นเอง รวมแล้วกว่า 14 เทคนิค เช่น stack glass ซึ่งเป็นการนำกระจกมาเรียงซ้อนกัน มาพัฒนาด้วยการขลิบ เพื่อให้เกิดแสงสะท้อนที่ดีขึ้น รูปทรงงดงามแปลกตา และสร้างสรรค์รูปแบบงานใหม่ด้วยการรวมศิลปะไทย ที่พัฒนาจากความเป็นไทยด้วยการนำวัสดุต่างๆ มาผสมกับกระจก เช่น ใบโพธิ์ ทำให้เกิดเอกลักษณ์และสื่ออารมณ์ความรู้สึกที่แตกต่างไป
ดังนั้น สินค้าที่ได้จึงมีความแตกต่างเฉพาะตัวในเรื่องของรูปลักษณ์ เพราะใช้เทคโนโลยีที่คิดค้นขึ้นเอง และคุณค่าของงานที่ผลิตมีเพิ่มมากขึ้นจากการเป็นงาน handmade ทุกชิ้น ทำให้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวไม่เหมือนใคร รวมทั้ง ดีไซน์ใหม่ๆ ด้วยตนเอง จึงมีดีไซน์ใหม่ๆ ได้อย่างไม่จำกัด
๐ คุกกี้ธรรมดาที่ไม่ธรรมดา
พิณทิพา วัฒนศิริพงษ์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ขนมดวงดี จำกัด อีกหนึ่งนักธุรกิจรุ่นใหม่ ที่เล็งเห็นโอกาสการทำธุรกิจด้วยการนำ Value creation มาใช้แบบง่ายๆ โดยการนำ ฟอร์จูน คุกกี้ คุกกี้ที่มีข้อความเชิงคำทำนายและข้อคิดต่างๆ ซ่อนอยู่ข้างในคุกกี้ จากอเมริกาเข้ามาวางจำหน่ายในไทย ภายใต้แบรนด์ เบสท์ฟอร์จูน คุกกี้
ประกายความคิดมาจากการที่ได้รู้ว่า ฟอร์จูน คุกกี้ เป็นที่นิยมมานานมากในอเมริกา เพราะร้านค้า ร้านอาหารจะมอบให้กับลูกค้าหลังชำระเงินค่าสินค้าแล้ว ซึ่งมองว่าในไทยยังไม่มีใครนำเข้ามา ขณะเดียวกันสินค้ายังได้รับความนิยมสอดคล้องกับพฤติกรรมของคนไทยที่ชื่นชอบคำทำนาย การเสี่ยงโชคต่างๆ อยู่แล้ว และหลังจากศึกษาตลาดในไทยพบว่ายังไม่มีใครทำตลาดมาก่อน จึงเห็นว่านี่คือโอกาสทอง
จากนั้น เธอจึงได้ร่วมทุนกับเพื่อน ตั้งบริษัท ขนมดวงดี จำกัด ขึ้น นำเข้าเครื่องทำฟอร์จูน คุกกี้ ราคา 1 ล้านกว่าบาทเข้ามา โดยระหว่างนั้นต้องไปเรียนทำคุกกี้ การใช้เครื่องและบำรุงดูแลจนเกิดความชำนาญ ก่อนเข้ามาทำตลาดได้ประมาณ 1 ปีที่ผ่านมา
“ตอนเรียนที่อเมริกาเห็นคนอเมริกันคุ้นเคยและรู้จักฟอร์จูน คุกกี้อย่างดี และนำไปใช้ในโอกาสต่างๆ พอเรียนจบจากอเมริกากลับมาเมืองไทย ต้องการทำธุรกิจของตัวเองขึ้นมา จึงเริ่มศึกษาตลาดจากสิ่งที่ชอบก็คือฟอร์จูน คุกกี้ เห็นว่าสอดคล้องกับนิสัยคนไทย และธุรกิจต่างๆ นิยมการจัดอีเว้นต์กันมาก ทำให้ฟอร์จูน คุกกี้ สามารถขยายช่องทางจำหน่ายได้มากขึ้น จึงตัดสินใจทำธุรกิจนี้”
การเริ่มทำธุรกิจ พิณทิพา กล่าวว่า สำหรับคนรุ่นใหม่ มองว่าแบรนด์เป็นสิ่งสำคัญ แต่ปัจจุบันแบรนด์ในประเทศและแบรนด์นำเข้าจากต่างประเทศมีเกือบครบทุกแบรนด์แล้ว ฉะนั้น การพิจารณาทำธุรกิจจะดูที่สินค้าว่ามี Value creation มากกว่า และมองว่าฟอร์จูน คุกกี้ น่าสนใจเพราะเป็นสิ่งใหม่ในตลาดไทยถึงแม้จะเป็นการนำไอเดียธุรกิจมาจากต่างประเทศก็ตาม พิณทิพา ยังได้คิดค้นรสชาติใหม่ๆ เพิ่มอีก 5 รสชาติคือ สตอเบอรี่ ส้ม ชอคโกแลต บลูเบอรี่และชาเขียว จากเดิมที่อเมริกาจะมีรสวนิลาเพียงอย่างเดียว นอกจากนี้ยังตกแต่งหน้าตาสินค้าให้เหมาะกับโอกาสต่างๆ เช่น แฟนซี หรือลูกค้าสามารถตกแต่งหน้าตาสินค้าให้เข้ากับthemeของงาน รวมทั้งการเปลี่ยนข้อมความในใบทำนายที่สอดอยู่ในคุกกี้ตาม Theme ของงานได้เช่นกัน เพื่อให้ลูกค้ามีส่วนร่วมและสร้างความพอใจในสินค้ามากขึ้น
นอกจากนี้ พิณทิพา ยังสร้างลูกเล่นให้กับสินค้า ด้วยการนำเสนอวิธีการทานในรูปแบบใหม่ๆ เช่น ทานคู่กับไอศกรีมด้วยการใช้ขนมดวงดีเป็นช้อนตักไอศกรีม หรือทานคู่กับกาแฟ
“การทำแบรนด์ต้องดีและโดดเด่นกว่าที่อื่น สร้างความแตกต่างได้ สินค้าของเราหน้าตาน่ารักกว่าต้นแบบจากอเมริกามาก เราสร้างความแปลกใหม่ แทนที่จะอยู่ภายใต้ฟอร์จูนคุกกี้เท่านั้น เราสร้างความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ เราพัฒนาให้แตกต่างจากของเดิมที่มีอยู่”
“เราไม่กลัวคู่แข่ง เพราะการทำธุรกิจทุกคนต่างแข่งขัน ก็ต้องพัฒนาตัวเองอยู่แล้ว แข่งที่ความชอบของลูกค้า สร้างความแปลกใหม่อยู่เสมอ เรามั่นใจเพราะเริ่มมาก่อนและไม่ใช่ทำกันง่ายๆ กว่าจะมาถึงตอนนี้ ในช่วงแรกสินค้าเสียหาย ไม่ได้มาตรฐาน รูปทรงไม่สวย รสชาติยังไม่ถูกใจ หรือบางทีลืมใส่คำทำนาย กว่าจะได้เป็นฟอร์จูนคุกกี้ไม่ใช่เรื่องง่าย”
สำหรับช่องทางการตลาด พิณทิพา กล่าวว่า ปัจจุบันมีร้านขายกาแฟ ร้านเบเกอรี่ นำไปวางจำหน่าย และเตรียมรุกตลาดสู่งานอีเว้นต์ต่างๆ รวมถึงบริษัทขายตรงที่จัดงานสัมมนาเพื่อให้กำลังใจกับลูกทีม สามารถใส่ข้อความในฟอร์จูน คุกกี้ ได้ ขณะเดียวกันยังเหมาะกับหลายๆ โอกาส เช่น งานแต่งงาน งานวันเกิด และปาร์ตี้ต่างๆ การจับฉลาก หรือรับประทานเล่นที่บ้าน
การนำ Value creation แบบอ่อนๆ มาก่อเกิดนวัตกรรมสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ด้วยการคิดต่างจากคนอื่นของ 2 โมเดลธุรกิจดังกล่าว จึงน่าจะเป็นประกายให้ผู้ประกอบการได้ปิ๊งไอเดีย หรือค้นหาจุดแกร่งให้สินค้าของตัวเองได้ด้วย
กูรูแนะให้คิดต่าง
“ซี.เค. ปราฮาลัด” กูรูบริหารจัดการชาวอินเดีย อธิบายว่า Value Creation คือ การสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าและบริการ เน้นว่า เอาลูกค้ามาเป็นศูนย์กลาง โดยขึ้นอยู่กับว่าลูกค้าจะให้คุณค่าหรือไม่ ต้องให้ลูกค้ามีส่วนสำคัญในการแสดงความคิดเห็น และมีส่วนร่วมในการออกแบบ ซึ่งจะทำให้เกิดนวัตกรรมสินค้าใหม่ๆ ไม่ใช่บริษัทไปคิดกันเองว่าลูกค้าต้องได้รับสินค้าและการบริการแบบนั้นแบบนี้ รวมถึงการต้องมองเรื่องความเสี่ยงด้วยว่าสินค้าจะเป็นที่ยอมรับหรือไม่
ปัจจุบันมีการเปลี่ยนในนวัตกรรมใหม่ๆ มีสินค้าและบริการหลายอย่าง มีตัวอย่างมากมาย เช่น การสร้างตุ๊กตาหมี แทนที่จะมีหน้าตาเหมือนกัน สีน้ำตาลเหมือนกันหมด บริษัทผลิตหมีเปิดทางให้ลูกค้าสามารถเลือกได้ตามต้องการ อยากได้ขนาดอ้วนหรือผอม สีอะไร เสียงอะไร แต่งตัวอย่างไร ใส่หัวใจไว้ในหมี และอาจจะมีการให้ลงทะเบียนเก็บไว้ ทำให้บริษัทได้ฐานข้อมูลของลูกค้าอีกด้วย หรือแชมพู ยากสีฟัน ซึ่งต่อไปลูกค้าสามารถเลือกกลิ่นเลือกแบบที่ชอบได้เอง ก็เริ่มทำกันแล้ว
นอกจากนี้ โตโยต้า ซึ่งผลิตรถยนต์สำหรับคนรายได้น้อย ก็ข้ามเขตมาทำสินค้าระดับบนด้วย ตอนนี้ลูกค้าอเมริกาเปลี่ยนใจมาใช้เลกซัส เพราะสามารถทำได้ดีเท่าหรือแทบจะดีกว่าเบนซ์ ในราคาที่ถูกกว่า แม้กระทั่ง การผลิตขาเทียม ในอเมริการาคา 10,000 เหรียญสหรัฐ ขณะที่ในอินเดียขาย 20 เหรียญแต่คุณภาพดีกว่า
รวมทั้ง ร้านกาแฟสตาร์บัคส์ ที่ทำให้ลูกค้าติดใจด้วยประสบการณ์ว่านั่งแล้วบรรยากาศดี เป็นแหล่งคุยกับเพื่อน ก็มีให้บริการนมถั่วเหลืองแทนนมสด ซึ่ง 8% ของกาแฟที่ขายในอเมริกามีส่วนผสมจากนมถั่วเหลือง
โรงแรมอินดี้วันในอินเดีย มองเห็นตลาดมหาศาลจากการเดินทางของชาวอินเดียในแต่ละวัน ด้วยการทำให้ล็อบบี้สะอาด มีอินเตอร์เน็ต เช็คอินตอนไหนก็ได้ไม่บังคับว่าต้องกี่โมง มีทีวีจอแบน ตู้เอทีเอ็มให้บริการ เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่า อย่าคิดอะไรแบบเดิมๆ อย่าสวมหมวกผู้จัดการ แต่ให้สวมหมวกลูกค้าว่าต้องการอะไร แล้วพยายามหาให้ได้ ด้วยราคาคืนละ 20 เหรียญ แต่ได้คุณภาพเดียวกับโรงแรมแมริออท ซึ่งต้องจ่ายคืนละ 300-400 เหรียญ
...ต้องคิดและทำให้ได้อย่างนั้น
“เมื่อเราสร้างสิ่งใหม่ๆ เกิดเป็นความผูกพันระหว่างสินค้าและประสบการณ์ลูกค้า และสามารถทำกำไรได้ด้วย เพราะเป็นสิ่งพิเศษและไม่ได้มีต้นทุนมากมาย ครั้งนี้ผลิตสินค้าเป็นหมี ครั้งหน้าอาจจะคิดผลิตต้นคริสมาสต์ก็ได้ ไม่ได้หยุดแค่หมี แต่มีต่อไปเรื่อยๆ และกลายเป็นสิ่งที่พิเศษ”
ซี.เค. ปราฮาลัด ฝากข้อคิดว่า Value Creation สำเร็จได้ไม่ยาก ขอให้คิดแตกต่าง เล็กน้อยก็ยังดี
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|