ยูนิมิต เอนจิเนียริ่งเตรียมIPO43ล้านหุ้น คาดเทรดตลาดmaiเดือนพฤศจิกายนนี้


ผู้จัดการรายวัน(14 ตุลาคม 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

ยูนิมิต เอนจิเนียริ่ง เตรียมขายหุ้นไอพีโอ 43 ล้านหุ้น คาดเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ mai ได้ในเดือนพฤศจิกายนนี้ โดยมี บล. เคจีไอ (ประเทศไทย) เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน ส่วนเงินที่ได้จากการ ขายหุ้นครั้งนี้จะนำไปซื้อที่ดินขยายโรงงานและเครื่องจักรเพิ่ม รองรับธุรกิจพลังงานขยายตัว ตั้งเป้ารายได้ 3 ปีข้างหน้าโต 15% ต่อปี

นายไพบูลย์ เฉลิมทรัพยากร ประธานกรรมการ บริษัท ยูนิมิต เอนจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ขณะนี้บริษัทฯ อยู่ระหว่างการ ขออนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ( ก.ล.ต.) เพื่อเสนอ ขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวน 43 ล้าน หุ้น คิดเป็นร้อยละ 30.07 ของทุนจดทะเบียนหลังเข้าตลาดหลักทรัพย์ มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท

โดยแบ่งเป็น ขายให้กับประชาชนทั่วไป 40 ล้านหุ้น และพนักงานของบริษัท 3 ล้านหุ้น ซึ่งคาดว่าจะสามารถจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ mai ภายในเดือน พฤศจิกายนนี้ โดยมีบริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน

สำหรับเม็ดเงินที่ได้จากการระดมทุนครั้งนี้ จะนำไปซื้อที่ดินสำหรับขยายพื้นที่โรงงานและซื้อเครื่องจักรเพิ่ม เพื่อให้สามารถรับงานจากลูกค้าได้เพิ่มขึ้น ซึ่งคาดว่าจะใช้เงินซื้อเครื่องจักรและอุปกรณ์เพื่อลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต ของโรงงาน ปัจจุบันประมาณ 50 ล้านบาท เพื่อซื้อที่ดินแห่งใหม่รองรับการ ขยายการดำเนินธุรกิจอีก 110 ล้านบาท สร้างโรงงานและซื้ออุปกรณ์เครื่องจักรเพื่อเน้นงานด้าน Steel Structure และ Heat Exchanger ประมาณ 84 ล้านบาท ส่วนเงินที่เหลือ สำหรับสร้างโรงงานและซื้ออุปกรณ์เครื่องจักรเพื่อเน้นผลิตภัณฑ์ใหม่ด้าน High Pressure Vessel เพื่อรองรับกับแนวโน้มการเติบโตของอุตสาหกรรม โดยเฉพาะกลุ่มพลังงานที่ขยายการลงทุนเพิ่มขึ้นทุกปี

ปัจจุบัน บริษัทฯเป็นหนึ่งในผู้นำที่เชี่ยวชาญในด้านการออกแบบ วิศวกรรมและการผลิตภาชนะความ ดันเพื่อใช้บรรจุก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) หรือก๊าซหุงต้ม คาร์บอนไดออกไซด์ แอมโมเนีย ฯลฯ โดยมีส่วน แบ่งมูลค่าการตลาดในประเทศประมาณร้อยละ 15

นอกจากนี้ บริษัทฯยังรับจ้างผลิตชิ้นส่วนเครื่องจักร โครงสร้างเหล็ก และภาชนะบรรจุสารเคมี รวม ถึงให้บริการติดตั้งเครื่องจักรและอุปกรณ์ในกระบวนการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรม โดยมีฐานลูกค้า อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานและอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่มีอัตราการเติบโตสูงตามความต้องการใช้พลังงานในประเทศ

ทั้งนี้ ในเดือนมิถุนายน 2548 พบว่าผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมในประเทศ ทั้งก๊าซธรรมชาติและน้ำมันทุกประเภท อาทิ น้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซล และน้ำมันเตา มีการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยร้อยละ 85.9 ซึ่งใกล้เต็มกำลังการผลิต ทำให้โรงงาน หลายแห่งมีแผนงานขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นในปี 2548-2552 อาทิ บมจ.ไทยออยล์ บมจ.บางจากปิโตรเลียม บมจ. ปตท. บมจ. ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม และบริษัทดังกล่าวเป็นฐานลูกค้าของ บริษัทฯอยู่แล้ว

สำหรับผลการดำเนินงานของ บริษัทฯนั้น ส่วนใหญ่รายได้หลักจะมาจากการรับจ้างผลิตภาชนะความดัน คิดเป็นอัตราเฉลี่ยมากกว่าร้อยละ 50 ในขณะที่ผลิตภัณฑ์และการบริการอื่นจะมีสัดส่วนรายได้ผันแปรไปในแต่ละปีขึ้นกับการสั่งผลิตของลูกค้า โดยในปี 2547 บริษัทมีรายได้รวมเท่ากับ 891.43 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2546 คิดเป็นร้อยละ 18 และมีกำไรสุทธิ 102.11 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2546 คิดเป็นร้อยละ 24.20 และไตรมาส ที่ 2 ปี 2548 มีรายได้รวม 645.22 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงไตรมาสเดียวกันของปี 2547 คิดเป็นร้อยละ 92.88 และมีกำไรสุทธิ 79.31 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงไตรมาสเดียวกันของปี 2547 คิดเป็นร้อยละ 112.59

นายไพบูลย์ กล่าวว่า บริษัทฯ ตั้งเป้าหมายรายได้เติบโตเฉลี่ยร้อยละ 15 ต่อปี ภายในระยะเวลา 3 ปีข้างหน้า โดยใช้เทคนิคด้านวิศวกรรม และความเชี่ยวชาญในการผลิตระดับมาตรฐานสากล เพื่อให้ผลิตภัณฑ์มีคุณภาพตรงตามความต้องการของลูกค้า รวมถึงการจัดส่งผลิตภัณฑ์ตามเวลาที่กำหนด เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ลูกค้า และบริษัทฯ มีแผนขยายฐานลูกค้าต่างประเทศเพิ่มขึ้น

โดยการออกแบบและผลิตผลิตภัณฑ์ โดยปัจจุบันบริษัทฯ ยังรับจ้างผลิตภาชนะความดัน ชิ้นส่วนเครื่องจักรและโครงสร้างเหล็กให้แกˆลูกค้าซึ่งเป็นผู้รับเหมาโครงการชั้นนำระดับโลก อาทิ ประเทศอังกฤษ สหรัฐอเมริกา และประเทศญี่ปุ่น เป็นต้น

ทั้งนี้ บริษัท ยูนิมิต เอนจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) ก่อตั้งโดยกลุ่มนักลงทุนคนไทยและวิศวกรชาวไต้หวัน เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2525 ด้วยทุนจดทะเบียน 9 ล้านบาท โดยเริ่มต้นประกอบธุรกิจวิศวกรรมด้านการรับจ้างออกแบบและการผลิตภาชนะความดันสำหรับบรรจุก๊าซปิโตรเลียมเหลว หรือก๊าซหุงต้มแห่งแรกของประเทศ

ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ของบริษัทแบ่งเป็น 5 ประเภท ได้แก่ ภาชนะความดัน ชิ้นส่วนเครื่องจักร โครงสร้างเหล็ก ภาชนะบรรจุสารเคมี การติดตั้งเครื่องจักรและอุปกรณ์


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.