|

โยกหนีเน่าเข้า"ออมสิน"
ผู้จัดการรายวัน(14 ตุลาคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
คลังทุบโต๊ะแก้หนี้เอ็นพีแอลส่วนบุคคลระหว่างฟ้องร้อง มูลหนี้เงินต้นไม่เกิน 2 แสนบาท มัดมือแบงก์ลดหนี้เงินต้น 50% ขีดเส้นลูกหนี้ที่มีเงินต้องชำระก้อนเดียวภายใน มิ.ย.ปีหน้า พร้อมเปิดทางลูกหนี้ สามารถกู้รีไฟแนนซ์จากแบงก์ออมสินตามโครงการธนาคารประชาชน อัตราดอกเบี้ย 1% ต่อเดือน ขุนคลังคุยลูกหนี้จะได้หลุดแบล็กลิสต์จากเครดิต บูโร ด้านแบงก์พาณิชย์ยันไม่ให้ลูกหนี้กลุ่มนี้กู้ใหม่
นายทนง พิทยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังประชุมหารือ แนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคประชาชนร่วมกับทางสมาคมธนาคารไทยว่า ที่ประชุมในครั้งนี้ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนในแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้ส่วนบุคคลที่เป็นหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ระหว่างฟ้องร้องดำเนินคดี มูลหนี้เงินต้นไม่เกิน 200,000 บาท ตัด ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2548 ซึ่งรวมถึงยอดหนี้เอ็นพีแอลที่อยู่ในบริษัทบริหารสินทรัพย์ (เอเอ็มซี) ด้วย แต่จะไม่นับรวมหนี้ภาคเกษตร เคหะ และหนี้บัตรเครดิต
ทั้งนี้ ทางสถาบันการเงินทุกแห่งจะกลับไปรวบรวมตัวเลขหนี้ใหม่ทั้งหมด ซึ่งคาดว่ามูลหนี้จะเพิ่ม ขึ้นจาก 7,000 ล้านบาทมากพอสมควร และหลังจากนั้นจะมีการลงนามสัญญาความร่วมมือ (MOU) ร่วมกันให้เร็วที่สุด ถ้าไม่ติดปัญหาอะไร คาดว่าน่าจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาได้ในวันอังคารที่ 18 ตุลาคม 2548 นี้
สำหรับเงื่อนไขในการชำระหนี้นั้น ลูกหนี้สามารถติดต่อธนาคารเจ้าหนี้ได้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2549 เพื่อขอชำระหนี้ โดยธนาคารจะตัดหนี้เงินต้นให้ทันที 50% หากหนี้นั้นอยู่ในหลักเกณฑ์ที่กำหนดดังกล่าว ขณะที่ลูกหนี้จะต้องชำระหนี้ครั้งเดียวทั้งจำนวน แต่มีเวลาให้ชำระได้จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2549
ส่วนลูกหนี้ที่ไม่มีความสามารถในการชำระหนี้ ได้ หากมีเงินเดือนหรือมีรายได้สามารถใช้วิธีรีไฟแนนซ์จากธนาคารออมสินได้ โดยตกลงเงื่อนไขกับธนาคารออมสินตามกรณี แต่ต้องผ่อนชำระกับธนาคารออมสินให้หมดภายใน 3 ปี และต้องชำระอัตราดอกเบี้ยในอัตราปกติของธนาคาร ส่วนคนที่ไม่ติดต่อขอชำระหนี้เลยจะต้องถูกฟ้องร้องดำเนินคดี
นายบุญศักดิ์ เจียมปรีชา อธิบดีกรมบัญชีกลาง ในฐานะประธานธนาคารออมสิน กล่าวว่า เชื่อมั่นว่าประชาชนที่มาขอกู้จากธนาคารออมสินเพื่อนำไปชำระหนี้คืนธนาคารพาณิชย์นั้นจะสามารถชำระคืนธนาคารออมสินได้แน่ เพราะเป็นการปลดภาระที่ได้รับการตัดดอกและคิดเงินต้นเพียงแค่ร้อยละ 50 โดยลูกหนี้ที่ขอกู้จากธนาคารออมสินในวงเงิน 100,000 บาท เพื่อนำเงินไปชำระหนี้คืนจะมีภาระในการผ่อนเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยคืนธนาคารออมสินเพียงเดือนละ 3,000 บาทเท่านั้น
"วันนี้แบงก์เห็นชอบในหลักการทั้งหมดแล้ว ซึ่ง แบงก์ก็ได้ประโยชน์ด้วย เพราะมีทุนที่จะนำไปเพิ่มรายได้ได้มากขึ้น ส่วนกรณีที่ให้กู้ออมสิน ผมไม่เกรงข้อครหาว่าผลักหนี้ให้ออมสิน เพราะออมสินเขามีสิทธิ์ที่จะพิจารณาได้อย่างรอบคอบ โดยดูความสามารถในการชำระหนี้ และก็ได้รับดอกเบี้ยด้วย เหมือนกับการปล่อยสินเชื่อปกติ" นายทนง กล่าว
นายวรวิทย์ ชัยลิมปมนตรี รองผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า ธนาคารคงจะใช้โครงการสินเชื่อธนาคารประชาชนในการให้สินเชื่อสำหรับประชาชนที่มาขอรีไฟแนนซ์เงินเพื่อนำไปชำระหนี้ เพราะเป็นโครงการที่รองรับการปล่อยสินบุคคลรายย่อยตามนโยบายรัฐบาลอยู่แล้ว ซึ่งอัตราดอกเบี้ยโครงการนี้อยู่ที่ 1% ต่อเดือน หรือ 12% ต่อปี
นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า เป็นสิ่งที่ดีที่ธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งให้ความร่วมมือกับภาครัฐ ธนาคารจะได้รับประโยชน์ในแง่ที่ทำให้ปัญหาที่ค้างคาอยู่จบสิ้นลงได้
นายทนง กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากลูกหนี้ชำระหนี้คืนให้กับธนาคารพาณิชย์หมดเรียบร้อยแล้ว ลูกหนี้ดังกล่าวจะถูกปลดออกจากบัญชีดำ (แบล็กลิสต์) ของเครดิตบูโร ซึ่งทำให้สามารถทำธุรกรรม ทางการเงินกับธนาคารอื่นได้ต่อไป
ด้านแหล่งข่าวจากธนาคารพาณิชย์ กล่าวว่า การเจรจาแก้ไขหนี้ในครั้งนี้ ธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งจะต้องมีการตัดหนี้สูญทันที 50% เฉพาะเงินต้น ที่ยังไม่รวมกับดอกเบี้ยค้างชำระ ดังนั้น หากคำนวณคร่าวๆ แล้ว ธนาคารพาณิชย์ต้องตัดหนี้สูญออกไปทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยรวมเกือบ 90% นอกจากนี้ประเด็นของจำนวนหนี้ในแต่ละแห่งไม่มีความเท่าเทียมกันอยู่แล้ว โดยมีธนาคารพาณิชย์บางแห่งมีการขายหนี้เอ็นพีแอลให้กับ บสก.และ บบส. บ้างแล้ว จึงเป็นการตัดความเสียหายที่เล็กน้อยเท่านั้น
ส่วนประเด็นของลูกหนี้ที่จะกลับเข้ามาขอกู้เงิน ใหม่นั้น ธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งจะต้องมีการพิจารณา กันใหม่ทั้งหมด ซึ่งปัจจุบันเงื่อนไขของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในการปล่อยสินเชื่อมีความเข้ม งวดมากอยู่แล้ว เชื่อว่าลูกหนี้ที่ถูกการผ่อนผันเข้าเกณฑ์แก้ไขหนี้ดังกล่าว จะไม่ได้รับการอนุมัติจากธนาคารพาณิชย์หากมาขอสินเชื่อใหม่
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|