อัด2แสนล้าน ชุบชีวิตSME


ผู้จัดการรายวัน(4 พฤศจิกายน 2545)



กลับสู่หน้าหลัก

รัฐบาลเร่งชุบชีวิตธุรกิจ SME เพื่อสร้างความ อยู่รอดและความยั่งยืนของระบบเศรษฐกิจไทยผ่านเครือข่ายธนาคารของรัฐ ทั้ง แบงก์กรุงไทย บอย. บสย. ตามแผนยุทธศาสตร์ของธนาคารพาณิชย์ของรัฐ อัดสินเชื่อเต็มพิกัดเกิน 2 แสนล้านบาท หวังสสว.ต้องแสดงบทบาทอย่างเต็มที่ในการเชื่อมโยงการพัฒนา SME ให้เกิดการปรับ หวั่นรากเหง้าของปัญหาSME ยังเป็นอุปสรรค จี้รัฐต้องเร่งแก้ไขด่วน

วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ของไทยเป็น ธุรกิจที่มีการกระจัดกระจายครอบ คลุมทั่วประเทศ การดำเนินธุรกิจใช้เงินลงทุนจำนวนไม่สูง และมีการ ใช้วัตถุดิบภายในประเทศเป็นปัจจัย ต่อการผลิต มีขนาดเล็ก จึงมีความ คล่องตัวในการบริหารธุรกิจมากกว่าธุรกิจขนาดใหญ่ ขณะเดียวกัน ธุรกิจ SME ยังเป็นแหล่งที่ทำให้เกิดการจ้างงาน โดยเมื่อเปรียบเทียบกับธุรกิจขนาดใหญ่แล้ว ธุรกิจ SME มีสัดส่วนการจ้างงานถึง 79% ขณะที่ธุรกิจขนาดใหญ่มีเพียง 21% หน้ำซ้ำยังก่อให้เกิดมูลค่าต่อ GDP (นอกภาคเกษตร) ที่สูงถึง 1.7 ล้าน ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่เศรษฐกิจ ชะลอตัวอย่างรุนแรงตั้งแต่ปี 2540 ธุรกิจ SME ได้รับผลพวงจากผลกระทบจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าด้านสภาพคล่องทางการเงิน ปัญหาที่เกิดหนี้เสียในธุรกิจSMEจำนวนมาก ประกอบกับในการดำเนินธุรกิจหรือการสร้างผลิต ภัณฑ์ยังมุ่งตอบสนองต้องการภายในประเทศเป็นหลักซึ่งไม่สอดรับกับนโยบายการค้าแบบเสรี

และแรงกดดันที่สำคัญอย่างยิ่งคือ การที่ประเทศจีนได้เข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) แล้ว ทำให้สภาพของการแข่งขันทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น เพราะด้วยศักยภาพ ต้นทุน แรงงานที่ต่ำกว่า และการที่รัฐบาลของประเทศจีนพยายามส่งเสริมให้ธุรกิจหรือผู้ประกอบการในจีนปรับตัวให้สามารถแข่งขันทางด้านสินค้ากับตลาดต่างประเทศมากขึ้น ทำให้ธุรกิจ SME ต้องตระหนักถึงภัยทางด้านการแข่งขันที่มากขึ้น

รัฐบาลเข้าใจถึงปัญหาของการพัฒนาเศรษฐกิจว่า หากต้องการให้เศรษฐกิจไทยมีความ เข้มแข็งขึ้น สิ่งสำคัญคือ ธุรกิจระดับรากหญ้าอย่างธุรกิจ SME จะต้องพร้อมและแกร่งขึ้น เพื่อ รับกับกระแสการแข่งขันของตลาดโลก

พิจารณาได้จากในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 9 (พ.ศ.2545-2549) ในส่วนของ SME ได้กำหนดให้มีการพัฒนาSME เป็นระบบที่ครบวงจรผ่านสถาบันเฉพาะทางที่ได้รับการพัฒนาให้เข้มแข็ง ควบคู่ไปกับการปรับใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม เพื่อเพิ่มผลผลิตและประสิทธิภาพการบริหารจัดการ พัฒนาทักษะแรงงาน คุณภาพการผลิต

แบงก์รัฐอัดสินเชื่อ 2 แสนล้าน เดินหน้าเต็มพิกัด

ตามที่ได้มีการประชุมมอบหมายนโยบายของรัฐบาลเรื่อง"การจัดทำแผนยุทธศาสตร์ของธนาคารพาณิชย์ของรัฐ" โดยมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงการคลังขณะนั้นเป็นประธานและมีผู้เข้าร่วมประชุมจากธนาคารพาณิชย์และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องเมื่อวันพุธที่ 5 มิ.ย.45 สามารถสรุปประเด็นในส่วนที่เกี่ยวข้องกับธนาคารกรุงไทย ซึ่งเป็นธนาคารของรัฐที่เป็นแกน หลักในการปล่อยสินเชื่อให้กับเอสเอ็มอี

ซึ่งสาระสำคัญของแผนดังกล่าวก็เพื่อให้ธนาคารของรัฐมีส่วนร่วมในแผนยุทธศาสตร์ของประเทศ ด้านสินเชื่อและเงินเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และชุมชนโดยในความช่วยเหลือของธนาคารรัฐจะมีแผนการสนับสนุนในหลายด้านผ่านโครงการที่จัดตั้งขึ้น มี 7 โครงการที่จะมีการกำหนดประเภทและแนวทางการปล่อยสินเชื่อให้กับธุรกิจ SME และการจัดตั้งกองทุนซึ่งแต่ละกองทุนจะมีลักษณะที่แตกต่างกัน

โดยหน่วยงานที่เข้าร่วมในโครงการดังกล่าว ประกอบด้วยสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เป็นแกนในการดำเนินงาน ธนาคารของรัฐ บรรษัทค้ำประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) บรรษัท เงินทุนอุตสาหกรรมขนาดย่อม (บอย.)

ทั้งนี้ จากการรวบรวมเป้าหมายในการปล่อยสินเชื่อจะพบว่า ยอดรวมที่มีการกำหนดเป้า ไว้รวมทั้ง 7 โครงการและ 3 กองทุนมียอดปล่อยกู้ ไม่ต่ำกว่า 2 แสนล้านบาท โดยในส่วน 7 โครงการ มียอดรวม 165,000 ล้านบาท

เฉพาะแค่ธนาคารกรุงไทย (KTB) ถือได้ว่า เป็นธนาคารหลักและเป็นกำลังสำคัญในการเข้าช่วยเหลือธุรกิจ SME ปล่อยกู้รวม 106,500 ล้าน บาท แบ่งเป็นในส่วนของ 7 โครงการ 78,500 ล้าน บาทและร่วมจัดตั้งกองทุน 3 กองเป็นเงินจำนวน 28,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ธนาคารจะร่วมประสานกับสสว. ในด้านสนับสนุนข้อมูลสินเชื่อและข้อมูลของลูกค้าที่ธนาคารให้การอำนวยสินเชื่อ ส่วนรวมในการปรับเปลี่ยนระบบงานและผังองค์กรของสสว.เพื่อให้การดำเนินงานตามโครงการได้ผล จึงให้มีการจัดตั้งฝ่ายตรวจสอบ ( Steering Committee) เพื่อบริการให้เป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์

มุ่งสินเชื่ออาจไร้ผล รัฐต้องแก้จุดอ่อน SME

อย่างไรก็ตาม โดยรากฐานและการดำเนิน ธุรกิจของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจำนวนไม่น้อย ยังไม่มีการปรับตัวให้เข้ากับกระแสของโลกการค้าแบบไร้พรมแดนที่นับวันการแข่งขันจากจะยิ่ง ทวีความรุนแรงอีกทั้งผู้บริโภคซึ่งเป็นผู้ซื้อมีช่องทางและมีอำนาจในการซื้อสินค้ามากขึ้น

การที่รัฐบาลจะคาดหวังให้การพัฒนาของเอสเอ็มอีก้าวสู่เอสเอ็มอีที่มีศักยภาพ และขยายผลของธุรกิจสู่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ของประเทศในอนาคต ยังมีหลายปัญหาที่ทั้งภาครัฐและตัวผู้ประกอบการยังต้องสะสางเพื่อให้บรรลุ เป้าหมายแห่งนโยบายของรัฐและการนำพาเศรษฐกิจของประเทศให้มีความเข้มแข็ง

สำหรับปัญหาที่เป็นอุปสรรคพื้นฐานของธุรกิจ SME สามารถแยกออกได้ คือ

1) ปัญหาด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม SMEส่วนใหญ่ไม่ลงทุนในกิจกรรมการวิจัยและพัฒนา ทำให้คุณภาพสินค้าต่ำลงเป็นอุปสรรค ต่อการนำเทคโนโลยีระดับสูงมาใช้ผลิตสินค้าใหม่, SMEมีขนาดเล็กจนไม่สามารถพัฒนาหรือจัดหาเทคโนโลยีที่ทันสมัยได้เอง, เอสเอ็มอีที่เป็นผู้ส่งออกยังขาดความสามารถในการปรับเปลี่ยนรูปแบบสินค้าตามความต้องการของลูกค้า

2) ปัญหาด้านการตลาด SME ไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันด้านราคาสินค้า ในระดับที่ต่ำกว่าจีน เวียดนาม อินเดีย อินโดนีเซีย, SME เสียเปรียบธุรกิจขนาดใหญ่ในการเข้าถึงการจัดซื้อ/จัดจ้างของภาครัฐ ทั้งด้านเงื่อนไข การ รับข้อมูล และค่าใช้จ่ายในการดำเนินการต่อหน่วย ที่สูงกว่า, SME ส่วนใหญ่ยังขาดบุคลากร ตลอด จนความรู้ ความสามารถในการเจาะตลาดทั้งในและต่างประเทศ

3) ปัญหาด้านสภาพแวดล้อมในการทำธุรกิจ SME ส่วนใหญ่ไม่ทราบถึงนโยบายส่งเสริม ของภาครัฐ ตลอดจนหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง, SME ไทยมักขาดระบบข้อมูลที่เชื่อมโยงถึงกัน ทำให้เป็นอุปสรรคในการช่วยเหลือได้ตรงจุดและรวดเร็ว, SME ไทยมักไม่เสนอขอรับการส่งเสริมจากบีโอไปเนื่องจากยังไม่มีความพร้อมมากนักต่อการเข้าสู่ระบบข้อมูลที่ดี และโปร่งใส

4) ปัญหาด้านทรัพยากรมนุษย์ SMEส่วนใหญ่ขาดแคลนบุคลากรที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะด้านวิศวกรรมรวมทั้งยังขาดการบริหารจัดการที่ดี, การฝึกอบรมและหลักสูตรที่เหมาะสม และสามารถนำไปใช้ได้จริงในปัจจุบันยังมีน้อยธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่ยังไม่สามารถขยายฐาน การดำเนินงานในเรื่องนี้ให้สอดคล้องกับความพยายามในการขยายสินเชื่อ

ที่สำคัญคือ ผู้ประกอบการ SME ส่วนใหญ่ ยังเผชิญกับปัญหาและอุปสรรคในการขอสินเชื่อ จากสถาบันการเงิน กล่าวคือสภาพการณ์หลังเกิด วิกฤติเศรษฐกิจทำให้สถาบันการเงินเปลี่ยนวิธีการพิจารณาสินเชื่อโดยเน้นด้านเอกสารประกอบ การจัดการที่โปร่งใส ระบบบัญชีมาตรฐานและหลักทรัพย์ค้ำประกันทำให้ SME ส่วนหใญ่ไม่ผ่านการพิจารณาและต้องเผชิญกับปัญหาที่รุนแรงขึ้นเพราะขาดสภาพคล่องทางการเงินอยู่แล้ว มีภาระหนี้สินสูงเมื่อเทียบกับทุน

อย่างไรก็ตาม การกำหนดให้สสว.เป็นแกน หลักในการประสานและกำหนดนโยบายในการช่วยเหลือธุรกิจ SME จะต้องเข้าใจถึงปัญหาและจะต้องกำหนดแผนที่ชัดเจนที่ไม่เป็นอุปสรรค ต่อการขยายสินเชื่อของธนาคารของรัฐ



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.