รู้เงิน รู้ข้อสมมติฐาน (ตอนที่ 1)

โดย พันธ์ศักดิ์ ลีลาวรรณกุลศิริ
ผู้จัดการรายสัปดาห์(13 ตุลาคม 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

ก่อนหน้านี้ ผมได้กล่าวถึงผู้ประกอบการที่จะติดต่อแหล่งเงินกู้กับธนาคารให้ได้ผลอย่างมีประสิทธิภาพ ผู้ประกอบการพึงต้องทราบและดำเนินการ รู้เรา โดยผ่านการจัดทำแผนธุรกิจ รู้เขา โดยทราบหลักการพิจารณาของสถาบันการเงิน และให้ เขารู้เรา โดยให้สถาบันการเงินรู้เราจากงบการเงิน แผนธุรกิจ การเยี่ยมชมกิจการ และเทคนิคนำเสนอ

ผมได้เริ่มจากรู้เรา โดยผ่านการจัดทำแผนธุรกิจ กล่าวคือ รู้ตลาด รู้งาน รู้คน และสุดท้ายที่ผู้ประกอบการจะต้องรู้เงินที่เป็นคำตอบสุดท้ายว่าโครงการที่ทำได้ผลตอบแทนจากการลงทุน นอกเหนือจากผลตอบแทนที่ให้กับลูกน้อง ลูกค้า สังคมชุมชน เจ้าหนี้ รัฐบาล ว่าคุ้มค่าการตัดสินใจลงทุนเพียงไร

เนื่องจากแผนธุรกิจเป็นเรื่องราวของกิจการในอนาคต ผู้ประกอบการจะทำนายอนาคตให้ใกล้เคียงความเป็นจริง จำเป็นต้องรู้และกำหนด ข้อสมมติฐาน โดยรู้ข้อมูลที่เกี่ยวเนื่องธุรกิจและการเงิน เพื่อประกอบการจัดทำงบการเงินคาดการณ์ ได้แก่ งบกำไรขาดทุน งบกระแสเงินสด และ งบดุล

ข้อสมมติฐานที่ดี จะต้องเป็นข้อสมมติฐานที่มีความเกี่ยวข้องธุรกิจที่ทำ มีความเป็นไปได้ในภาคปฎิบัติ อนุรักษ์นิยม ไม่เกินเลย และมีเหตุผลที่สามารถอธิบายได้

ตัวอย่าง ธุรกิจโรงแรม ข้อสมมติฐานที่กำหนดได้แก่ เกรดของโรงแรม จำนวนห้อง เกรดของห้อง และราคาที่พักต่อคืนของแต่ละกลุ่มลูกค้า เช่น กลุ่มลูกค้าทัวร์ กลุ่มลูกค้าสัมมนา กลุ่มลูกค้าธุรกิจ กลุ่มลูกค้าข้าราชการ กลุ่มลูกค้าทั่วไป เป็นต้น ราคาเทียบกับคู่แข่งระดับเดียวกันได้ จุดได้เปรียบคือ ใหม่กว่า บริการดีกว่า

การกำหนดข้อสมมติฐานอัตราการใช้ห้องพักปีแรกเพียง 50 % เติบโตปีละ 10 % อัตราการใช้ห้องพักสูงสุดไม่เกิน 80% ของจำนวนห้องทั้งปี

ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างแผนธุรกิจด้านการเงิน โดยดำเนินการดังนี้:-

1. กำหนดข้อสมมติฐานด้านการลงทุน ด้านการเงิน
2. จัดทำงบการเงินคาดการณ์ล่วงหน้า 5 ปี
3. เครื่องมือที่ใช้วัดผลโครงการ 4 แบบ ได้แก่ การคำนวณหาระยะเวลาที่คืนทุน การคำนวณจุดคุ้มทุน การคำนวณมูลค่าปัจจุบันสุทธิ การคำนวณอัตราผลตอบแทนจากการลงทุน
4. ตัดสินใจลงทุน หรือ ไม่ลงทุน

1.กำหนดข้อสมมติฐานด้านการลงทุน ด้านการเงิน

ตัวอย่าง ธุรกิจเช่าโกดังเพื่อให้เช่าเก็บสินค้า (ตัวเลขสมมติเพื่อให้ผู้ประกอบการเข้าใจวิธีทำ)

1.แหล่งใช้ไปของเงินทุน คือ ต้นทุนโครงการที่ต้องใช้ แบ่งออกเป็น 4 เรื่อง
1.1 สินทรัพย์ไม่หมุนเวียน
( สินทรัพย์มีตัวตน ได้แก่ ที่ดิน อาคาร เครื่องจักร และอุปกรณ์ เป็นต้น
( สินทรัพย์ไม่มีมีตัวตน ได้แก่ ลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร สัมปทาน เป็นต้น

ในกรณีนี้เป็นการเช่าโดยสมมุติว่ามีการสร้างอาคารและตกแต่งเพิ่ม 800,000 บาท

1.2 ค่าใช้จ่ายก่อนเริ่มดำเนินงาน ได้แก่ ค่าใช้จ่ายต่างๆ ตั้งแต่เริ่มคิดโครงการ จนถึงวันจดทะเบียนตั้งกิจการ รวมถึงค่าใช้จ่ายและค่าธรรมเนียมจดทะเบียนนิติบุคคล ในข้อนี้สมมติว่า 100,000 บาท

1.3 เงินทุนหมุนเวียนที่จำเป็นต้องใช้ ได้แก่ เงินสดที่ต้องใช้ไปตั้งแต่วันที่เริ่มกิจการ จนถึงบาทแรกที่ได้รับจากลูกค้า หรือลูกหนี้ กิจการต้องเตรียมเงินสดไว้ให้เพียงพอ

1.4 เงินสำรองเผื่อบานปลายเมื่อฉุกเฉิน เผื่อขาดทุน ปกติควรเตรียมไว้ 5% -10% ของลงทุนโครงการ สมมติว่าเงินทุนหมุนเวียนและสำรองฯ 100,000 บาท

2. แหล่งได้มาของเงิน คือ เงินทุน และ เงินกู้ เพื่อสำรองเงินทุนโครงการ

2.1 เงินกู้ 500,000 บาท (ชำระคืนเงินต้น 5 ปี @ 100,000 บาท อัตราดอกเบี้ย 8%ต่อ ปี)

2.2 เงินทุน 500,000 บาท

3. แหล่งรายได้ ผู้ประกอบการพึงทราบ

3.1 กำลังผลิตเต็มที่

ในที่นี้ สมมติว่าโกดังให้เข้าเก็บสินค้าเต็มที่ 3,000 ม2

3.2 จุดที่คาดว่าจะขายได้

ในที่นี้สมมติว่าราคาให้เช่าเก็บสินค้า 100 บาท/ม2 รวม 2,000 ม2 / ปี ตลอดอายุ

โครงการ 5 ปี (ข้อเท็จจริงควรจะมีการเปลี่ยนแปลงตามสถานการณ์)

3.3 จุดคุ้มทุน คือจุดเท่าทุน หรือจุดที่ขายเท่าไรได้กำไรไม่ขาดทุน ผู้ประกอบการควร

ทราบเพื่อใช้ในการตัดสินใจ (โปรดติดตามตอนต่อไป)

4. แหล่งค่าใช้จ่าย แบ่งเป็น

4.1 ต้นทุนผันแปร ได้แก่ ต้นทุนที่ผันแปรไปตามยอดขาย ในที่นี้สมมติว่า 50 บาท/ม2

4.2 ต้นทุนคงที่ ได้แก่ต้นทุนที่ไม่เปลี่ยนแปลงไปตามยอดผลิต ยอดขาย ในระดับหนึ่ง

4.2.1 ค่าเช่าโกดัง ปีละ 360,000 บาท ตลอดอายุโครงการ (ข้อเท็จจริงควรจะมีการเปลี่ยนแปลงตามสถานการณ์)

4.2.2 เงินเดือน/ค่าใช้จ่าย ปีละ 360,000 บาท ตลอดอายุโครงการ (ข้อเท็จจริงควรจะมีการเปลี่ยนแปลงตามสถานการณ์)

4.2.3 ค่าเสื่อมราคาอาคาร ในที่นี้ ปีแรกคิด 52% ของ 800,000 บาท หรือ 416,000 บาท ปีที่สอง-ปี ที่ห้า @ 12% ต่อปี ของ 800,000 บาท หรือ 96,000 บาท/ปี ปกติถ้าคิดค่าเสื่อมราคาตามวิธีเส้นตรง 5 ปี @ 20% ของ 800,000 บาท หรือ 160,000 บาท/ปี

4.2.4 ค่าใช้จ่ายก่อนเริ่มดำเนินงาน ตัดจ่ายเป็นค่าใช้จ่าย 5 ปี @ 20 % ของ 100,000 บาท หรือ 20,000 บาท/ปี

4.2.5 อัตราดอกเบี้ยจ่าย 8% ต่อปี โดยสมมติว่า จ่ายคืนเงินกู้ 100,000 บาท/ปี ดังนั้น ดอกเบี้ยจ่าย ปีแรก 500,000 x 8% เท่ากับ 40,000 บาท / ปี ปีสอง 400,000 x 8% เท่ากับ 32,000 บาท / ปี ปีสาม 300,000 x 8% เท่ากับ 24,000 บาท / ปี ปีสี่ 200,000 x 8% เท่ากับ 16,000 บาท / ปี ปีห้า 100,000 x 8% เท่ากับ 8,000 บาท / ปี

5. อัตราภาษีเงินได้ สมมติว่า 20% ของกำไรสุทธิ

6. อัตราผลตอบแทนโครงการที่ต้องการ 30% ของต้นทุนโครงการ

จากข้อสมมติฐานข้างต้นนี้ ผู้ประกอบการสามารถจัดทำงบการเงินคาดการณ์ 5 ปี โดยผมจะแสดงเป็นตัวอย่างในฉบับหน้า กรณีศึกษานี้ผมสมมติไม่มีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องรายได้ ต้นทุนผันแปร และค่าใช้จ่ายตลอดช่วงอายุโครงการเพื่อให้เข้าใจวิธีคิด และวิธีตัดสินใจการลงทุน

ข้อคิด

ข้อสมมติฐานที่ครบถ้วนเป็นไปได้ในภาคปฎิบัติ อนุรักษ์นิยม จะนำไปสู่แผนธุรกิจที่เป็นไปได้


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.