SCCชูกลยุทธ์โตทางลัด ฮุบบ.ปรับโครงสร้างหนี้


ผู้จัดการรายวัน(31 ตุลาคม 2545)



กลับสู่หน้าหลัก

ปูนซิเมนต์ไทยเปิดกลยุทธ์โตทางลัด วางแผนร่วม ทุนกับบริษัทที่อยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างหนี้ โดยอาศัยช่องทางจากบสท.และบริษัทบริหารสิน ทรัพย์ของแบงก์ในฐานะเจ้าหนี้ ล่าสุดเจรจากับบริษัทฯที่ทำธุรกิจกระดาษ 2-3 แห่ง หวังใช้เป็นฐาน ขยายธุรกิจเยื่อและกระดาษให้แข็ง แกร่งขึ้น โดยจ่ายเงินน้อยกว่าลง ทุนเอง แย้มผลประกอบการไตร-มาส 4 กำไรพุ่งปี๊ด หลังรู้รับรายได้ จากการควบรวมกิจการเหล็กกับเอ็น.ที.เอส. จำนวน 2 พันล้านบาท

นายชุมพล ณ ลำเลียง กรรม การผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCC เปิดเผยว่า ปัจจุบันบริษัทฯได้มีการเจรจากับบริษัทบริหารสิน ทรัพย์ของสถาบันการเงินต่างๆ และบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย(บสท.) เพื่อพิจารณาว่าจะเข้าไปลงทุนในบริษัทที่อยู่ระหว่างการปรับโครง สร้างหนี้ ซึ่งจะเน้นเฉพาะบริษัทฯที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวข้องกับธุรกิจหลักของเครือฯ เช่น กระดาษและปิโตรเคมี

ขณะนี้บริษัทฯอยู่ระหว่างการเจรจากับบริษัทที่ดำเนินธุรกิจกระดาษแล้ว 2-3 ราย ซึ่งอยู่ระหว่าง การปรับโครงสร้างหนี้ แต่ยังไม่สามารถสรุปผลแน่นอนได้

การเข้าไปลงทุนในบริษัทดังกล่าวจะช่วยเสริมสร้างธุรกิจเยื่อกระดาษของเครือฯให้มีความแข็ง แกร่งขึ้น เนื่องจากขณะนี้ธุรกิจเยื่อ กระดาษและบรรจุภัณฑ์ จัดเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้สูงสุดให้เครือฯ รองลงมาคือ ปิโตรเคมี และปูนซีเมนต์

"ตอนนี้ยังสรุปไม่ได้ว่าจะใช้วงเงินลงทุนเท่าไหร่ เพราะจะต้องดูบริษัทที่จะเข้าร่วมทุนก่อน แต่เท่าที่ประเมินมูลค่าการลงทุน บริษัทคงไม่มีขนาดใหญ่เท่าบริษัท ฟินิคซ พัลพ แอนด์ เพเพอร์ (PPPC)"

สำหรับการพิจารณาธุรกิจที่ จะเข้าร่วมทุนจะพิจารณาจากธุรกิจ ที่มีความเกี่ยวข้องกับธุรกิจหลัก เช่น ปิโตรเคมีและเยื่อกระดาษ รวมทั้งประเมินจากผลตอบ แทนที่จะได้รับในอนาคตด้วย

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้บริษัทที่ดำเนินธุรกิจกระดาษและบรรจุภัณฑ์ ซึ่งอยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างหนี้มีหลายราย โดยหนึ่งในนั้นมีบริษัท ปัญจพล เปเปอร์ และบมจ.ไทยเคนเปเปอร์ เป็นต้น

นายอวิรุทธ์ วงศ์พุทธพิทักษ์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การเข้าไปร่วมทุนในบริษัทที่อยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างหนี้ ถือเป็นการขยายการลงทุนอีกรูปแบบหนึ่งที่ใช้เงินน้อยกว่าการขยายการลงทุนเอง และมีรายได้ทันทีหลังเข้าไปบริหารจัด การ

โดยก่อนหน้านี้ บริษัท เยื่อกระดาษสยาม จำกัด (มหาชน) หรือSPP ซึ่งเป็นบริษัทในเครือฯใช้วิธีดังกล่าวมาตลอด 2-3 ปีในการสร้างความเข้ม แข็งในธุรกิจ โดยเข้าไปเทกโอเวอร์บริษัทที่ดำเนินธุรกิจบรรจุภัณฑ์ต่างๆ รวมไปถึงบมจ.ฟินิคซ พัลพฯ และบมจ.ไทยบริติช ซีเคียวริตี้ พริ้นติ้ง เป็นต้น

"เครือซิเมนต์ไทยปฏิเสธข่าวที่จะเข้าไปซื้อกิจการของปัญจพล เปเปอร์ แต่ถ้าเป็นบมจ.เยื่อกระดาษสยามไปหารือนั้น ผมไม่ร้" นายอวิรุทธ์กล่าวแบบแบ่งรับแบ่งสู้

คาดไตรมาส 4 กำไรกระฉูด

นายชุมพล กล่าวถึงผลการดำเนินงานในไตรมาส 4/2545 ว่า บริษัทจะรับรู้กำไรจากการรวม ธุรกิจเหล็กของเครือฯกับบริษัท เอ็นทีเอส สตีลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) โดยใช้ชื่อใหม่ว่าบริษัท มิลเลนเนียมสตีล จำกัด (MS) ประมาณ 2 พันล้านบาทในปลายพฤศจิกายนนี้

ทำให้ผลกำไรสุทธิในไตรมาส 4 ปีนี้สูงกว่าทุกไตรมาสของปีนี้ แม้ว่าในช่วงเดือนธันวาคม การส่งออกสินค้าในช่วงนั้นจะมีการชะลอตัวลง เนื่อง จากเป็นช่วงเทศกาลวันหยุดสิ้นปี ขณะที่รายได้รวมจะใกล้เคียงกับไตรมาส 3/2545

สำหรับผลการดำเนินงานไตรมาส 3/2545 บริษัทฯและบริษัทย่อย มีรายได้รวม 34,412 ล้านบาท เทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน จำนวน 31,972 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8%

โดยเครือฯมีกำไรจากการดำเนินงานรวม 3,129 ล้านบาท แม้ว่าจะลดลง 11% จากไตรมาสที่ผ่านมา เพราะได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วม และความผันผวนของราคาปิโตรเคมีในตลาด โลก แต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เครือฯ มีกำไรจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้นถึง180% เนื่องจากเกือบทุกธุรกิจมีผลประกอบการดีขึ้น ธุรกิจปิโตรเคมีมีกำลังผลิตเพิ่มขึ้น ค่าใช้จ่ายด้านดอกเบี้ยลดลง และรายได้จากธุรกิจ อื่น ๆ ที่เครือฯ ร่วมลงทุนเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ เครือฯมีกำไรสุทธิรวมรายการพิเศษ 3,674 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5% จากไตรมาสที่ผ่านมา และเพิ่มขึ้น165% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากมีรายได้จากการขายเงินลงทุน และสินทรัพย์อีก 545 ล้านบาท

ผลการดำเนินงานโดยสรุป แยกตามรายธุรกิจมีดังนี้ คือธุรกิจกระดาษและบรรจุภัณฑ์ มียอดขายเพิ่มขึ้น 14% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากราคาเยื่อและกระดาษเพิ่มขึ้น

ธุรกิจปิโตรเคมี มียอดขายเพิ่มขึ้น 38% เนื่องจากปีนี้มีปริมาณการขายเพิ่มขึ้น จากการเพิ่มกำลัง ผลิตของโรงงานโอเลฟินส์ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา

ธุรกิจซีเมนต์ มียอดขายเพิ่มขึ้น 18% เนื่อง จากมีปริมาณการขายเพิ่มขึ้น 27% ตามการฟื้นตัวของภาคการก่อสร้างที่พักอาศัย

สำหรับผลการดำเนินงานของเครือซิเมนต์ไทยในงวด 9 เดือน มีรายได้รวม 100,232 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 9,508 ล้านบาท เทียบกับงวด เดียวกันของปีก่อน 6,621 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 44%

"ในช่วง 3-4ปีที่ผ่านมา รายได้ของเครือฯแทบ ไม่โต เนื่องจากมีการจำหน่ายธุรกิจออกไป ทำให้รายได้ลดลงไปด้วย ซึ่งในช่วง 3 ปีนี้ขายธุรกิจออกไปแล้ว 5-6 หมื่นล้านบาท ยอดขายถูกตัดออก ไป 3 หมื่นล้านบาท แต่ธุรกิจหลัก เรามียอดขายเพิ่มขึ้น และต้นทุนลดลง ทำให้มีกำไรเพิ่ม"

จ้องลดส่วนลดเอเย่นต์ปูน

นายชุมพล กล่าวถึงธุรกิจปูนซีเมนต์ว่า บริษัทไม่มีนโยบายที่จะปรับขึ้นราคาปูนซีเมนต์ แต่จะปรับลดส่วนลดที่ให้กับเอเย่นต์ปูนซีเมนต์ลง จากเดิมที่เคยให้ส่วนลดสูงถึง 30% มาให้อยู่ในระดับปกติ โดยจะให้ส่วนลดเอเย่นต์เพียง 10-15% แทน

การเปลี่ยนแปลงส่วนลดที่ให้กับเอเย่นต์ดังกล่าวนี้ ไม่ถือเป็นการขึ้นราคาขายปลีกปูนซีเมนต์ แต่มีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการลดผลขาดทุนของธุรกิจในช่วงที่ภาวะการแข่งขันไม่รุนแรงมากนัก

"ปลายปีที่แล้ว ธุรกิจปูนซีเมนต์แข่งขันรุน แรงมาก ทำให้มีการแข่งขันให้ส่วนลดกับเอเย่นต์สูง บางรายให้ส่วนลดถึง 50% ทำให้ผู้ประกอบการรายกลางและเล็กต้องปรับส่วนลดตามไปด้วย แต่ขณะนี้สภาพการแข่งขันปกติ จึงเห็นว่าควรปรับส่วนลดให้กับเอเย่นต์ใหม่ และไม่ถือว่าเป็นการปรับขึ้นราคาขายปลีกปูนซีเมนต์"

สำหรับยอดขายปูนซีเมนต์ในช่วงไตรมาส 3 นี้ บริษัทฯส่งออกปูนซีเมนต์ 1.5 ล้านตัน และขาย ในประเทศ 2 ล้านตัน

สิ้นปีนี้หนี้หดเหลือ 1.33 แสนล้าน

นายอวิรุทธ์ กล่าวถึงกรณีที่ธนาคารปรับลดอัตราดอกเบี้ยว่า ไม่ส่งผลต่อการลดดอกเบี้ยจ่ายของบริษัทฯมากนัก เนื่องจากหนี้สินส่วนใหญ่ของเครือฯเป็นหนี้หุ้นกู้สกุลบาทที่มีอัตราดอกเบี้ยจ่ายคงที่ แต่การทยอยชำระคืนหนี้และไถ่ถอนหุ้นกู้ที่ครบกำหนด ทำให้บริษัทฯลดดอกเบี้ยจ่ายลงปีละ 1พันล้านบาท

อย่างไรก็ตามภายในสิ้นปีนี้ บริษัทฯคาดว่าจะมีหนี้สินรวมประมาณ 1.33-1.35 แสนล้านบาท จากปัจจุบันที่มีหนี้สินรวม 1.38 แสนล้านบาท โดยเป็นหนี้หุ้นกู้สกุลบาทถึง 9.25 หมื่นล้านบาท

สำหรับหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดไถ่ถอนครั้งต่อไปจำนวน 1.2 หมื่นล้านบาท ดอกเบี้ยคงที่ 4.5%ในเดือนมีนาคม 2546 บริษัทฯยังไม่ได้สรุปว่ารีไฟ-แนนซ์หนี้หุ้นกู้รูปแบบใด แต่จะพิจารณาจากกระ แสเงินสดเพียงพอที่จะชำระหนี้เท่าไร และภาวะตลาดที่เหมาะสมอีกครั้งหนึ่ง



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.