|
เร่งหาแหล่งเงิน ปล่อยกู้คนซื้อบ้าน
ผู้จัดการรายสัปดาห์(13 ตุลาคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
เป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่า ในช่วงไตรมาสสุดท้าย ทั้งสถาบันการเงิน และผู้ประกอบการ ต่างก็เร่งประเมินสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในปีหน้า เพื่อเตรียมรองรับมืออย่างแม่นยำ
ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เป็นสถาบันการเงินของรัฐแห่งหนึ่งที่ต้องเร่งหาแหล่งเงินสำรอง ไว้เพื่อปล่อยกู้คนซื้อบ้าน เพราะได้ตั้งเป้าหมายปล่อยสินเชื่อไว้มากถึง 100,000 ล้านบาท ในปี 2549 ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องหาแหล่งเงินสำรองไว้ก่อน เพราะถ้าไม่รีบหาแหล่งเงินจะเสียโอกาสในการปล่อยสินเชื่อ หรืออาจจะทำให้ปล่อยสินเชื่อได้ไม่ถึงเป้าหมาย
ส่วนแนวทางการหาแหล่งเงินทุนนั้น ขรรค์ ประจวบเหมาะ เอ็มดีอารมณ์ดี แห่งธอส. บอกว่า จะใช้ทุกแนวทางที่จะหาเงินมาปล่อยกู้คนซื้อบ้าน แต่จะพยายามเลือกแหล่งเงินที่มีต้นทุนต่ำ ซึ่งจะใช้ทั้งการระดมฝาก กู้จากธนาคารออมสิน รวมถึงการออกพันธบัตรทั้งในและต่างประเทศ
ในเบื้องต้น ธอส.ได้เจรจากับธนาคารออมสิน เพื่อนำเงินฝากระยะ 3 ปี ซึ่งเป็นพอร์ตที่ใหญ่ที่สุดของธนาคารออมสิน ที่มีสัดส่วนประมาณ 75% ของวงเงินฝากราว 30,000 ล้านบาท มาปล่อยสินเชื่อให้กับลูกค้าของธอส.
นอกจากนี้ ยังมีแหล่งเงินทุนมาจากหลายแห่ง อาทิ จะมาจากการเพิ่มยอดเงินฝาก 15,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นสัดส่วนประมาณ 5% จากฐานเงินฝาก 3 แสนล้านบาท การชำระเงินกู้ 36,000 ล้านบาท การทำซีเคียวริไทเซชั่น 20,000 ล้านบาท การออกพันธบัตร 13,000 ล้านบาท และการออกพันธบัตร จำหน่ายให้นักลงทุนต่างประเทศ ด้วยการใช้พอร์ตสินเชื่อค้ำประกันอีกประมาณ 10,000 ล้านบาท และในประเทศอีก 10,000 ล้านบาทรวมทั้งการกู้จากธนาคารออมสินด้วย นอกจากนี้ ทางธอส.ยังหาแนวทางป้องกันปัญหาของแหล่งเงินทุนในระยะยาว โดยจะระดม
ทุนด้วยวิธีการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ (เคียวริไทเซชั่น) โดยใช้สินเชื่อดีหนุนหลังการออกพันธบัตร วงเงิน 20,000 ล้านบาท ในปี 2549 ซึ่งจะนำไปขายในต่างประเทศ เป็นเงินสกุลดอลลาร์เพื่อจูงใจนักลงทุน และจะจำหน่ายในประเทศอีกราว 8,000-10,000 ล้านบาท ซึ่งการออกพันธบัตรในครั้งนี้ ธอส.จะต้องปรับโครงสร้างองค์กร โดยเฉพาะการเคลียหนี้เอ็นพีแอล ให้ผู้อื่นบริหาร
สุดท้าย ขรรค์ ฝากบอกว่า ธนาคารเตรียมปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝากอีกครั้ง หลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน ในวันที่ 19 ต.ค.นี้ หลังจากที่ในเดือน ต.ค.ได้ปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ไปแล้ว 2 ครั้ง รวม 0.5% ส่งผลให้ดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อย (MRR) อยู่ที่ 6.75% ดอกเบี้ยลูกค้ารายใหญ่ (MLR) อยู่ที่ 6% และดอกเบี้ยเงินกู้เบิกเกินบัญชี (MOR) อยู่ที่ 9% โดยบอกว่าแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่ปรับสูงขึ้นส่งผลให้ส่วนต่างดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ของธนาคารลดลงมากเหลือเพียง 1.5% เท่านั้น ซึ่งจะส่งผลต่อการทำกำไรของธนาคาร ดังนั้น จึงต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยให้สอดคล้องกับภาวะตลาด
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|